enneagramthailand.org

Helen Palmer


บ่ายวันหนึ่งของฤดูหนาว ... ของเดือนมกราคมต้นปี 46 ที่เมืองเล็กๆ ใกล้กับเมืองซานฟรานซิสโก บรรณาธิการ เอ็นเนียแกรมไทยแลนด์ของเราได้รับเกียรติในการสัมภาษณ์คุณเฮเลน พาล์มเมอร์ [1] อาจารย์เอ็นเนียแกรมคนสำคัญของโลกท่านหนึ่ง ร่วมกับบรรณาธิการสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Enneagram Professional Training Program ในครั้งนี้ด้วย ในหนึ่งชั่วโมงของการสนทนาที่เข้มข้นไปด้วยความคิดและมิตรภาพที่อบอุ่น เฮเลนได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจของเธอในหลายประเด็นตั้งแต่การได้มารู้จักกับเอ็นเนียแกรมของเธอ ไปจนถึงแก่นของทฤษฏี ประสบการณ์จากชีวิตจริง และคำแนะนำที่มอบให้คนไทยที่ศึกษาเอ็นเนียแกรมเป็นการพิเศษ สำหรับการนำความรู้นี้ไปใช้ในภาคปฏิบัติ นอกจากเธอจะมีความรู้ที่ลึกซึ้งทั้งด้านเอ็นเนียแกรม จิตวิทยาและจิตวิญญาณแล้ว เรายังสัมผัสได้ถึงความเอื้ออาทรที่เธอมีต่อผู้อื่นได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรากำลังสนทนาอยู่กับผู้ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นครูทั้งทางด้านเอ็นเนียแกรมและด้านจิตวิญญาณ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นการสนทนาที่ทรงคุณค่าทางปัญญาและความเป็นอิสระทางจิตวิญญาณมากที่สุดชิ้นหนี่งที่เราเคยมีมา ต่อไปนี้คือคำพูดของเฮเลน ที่ฝากถึงคนไทยโดยตรง

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณที่ให้โอกาสที่หาได้ยากเช่นนี้กับเรา อย่างที่คุณทราบ พวกเราในเมืองไทยจำนวนมากนับถือคุณในฐานะที่เป็นครูผู้รู้เอ็นเนียแกรมและเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ  คำถามแรกของเราจึงอยากเริ่มจากว่า คุณเริ่มต้นกับเอ็นเนียแกรมได้อย่างไร

เฮเลน : ตอนที่ฉันเป็นอาจารย์ทางจิตวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเจเอฟเค (เบริ์คเลย์ สหรัฐอเมริกา)  ฉันก็ให้การฝึกอบรมในด้านญาณสังหรณ์ (intuition) อยู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ฉันให้ความสนใจอย่างมาก   สิ่งที่ฉันสังเกตเห็นในตัวคนที่มาเรียนกับฉัน ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัย หรือที่ศูนย์ฝึกอบรมด้านญาณสังหรณ์ของฉันก็คือ  เมื่อแต่ละคนพัฒนาความสามารถมาถึงจุดหนึ่ง ก็จะต้องพบกับปฏิกิริยาบางอย่างที่ทำให้ก้าวหน้าต่อไปไม่ได้ เป็นอย่างนี้ทุกคน  แต่ฉันก็อธิบายไม่ได้ว่า มันเกิดจากอะไร เหมือนกับว่า มีอะไรบางอย่างที่ขวางกั้นพวกเขาไว้ไม่ให้เติบโต 

ต่อจากนั้น ฉันก็เกิดคำถามขึ้นในใจ ฉันสังเกตว่าอุปสรรคนี้จะเป็นสิ่งเดียวกับที่ทำให้เราไม่สามารถก้าวหน้าได้ในด้านต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นทางจิตวิญญาณ ทางจิตใจ การพัฒนาญาณสังหรณ์ ความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น รวมทั้งทางความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน

ในตอนแรก ฉันคิดว่า ทุกคนจะเจอกับอุปสรรคนี้ในแบบที่แตกต่างกันไปตามตัวบุคคล คือ แบบของใครของมัน ไม่มีใครเหมือนกันเลย  และเมื่อฉันมองตัวเอง ฉันก็มีปัญหานี้ในแบบของฉัน ซึ่งก็ไม่เหมือนกับของคุณหรือของใคร ตอนนั้น ฉันยังไม่รู้จักเอ็นเนียแกรม ซึ่งแบ่งลักษณะของอุปสรรคเหล่านี้ออกเป็น 9 ประเภทด้วยกัน   เราต่างคนก็มีอุปสรรคในประเภทใดประเภทนึ่งดังกล่าว ฉันจึงเริ่มมองเห็นรูปแบบของอุปสรรคเหล่านี้

ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับเอ็นเนียแกรมในปี 1970 - 1971  ซึ่งตอนนั้น ก็ยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างมากนัก เอ็นเนียแกรมที่คุณเห็นในวันนี้ ซึ่งผ่านจากจุดนั้นมา 30 ปีแล้วนั้น เป็นความรู้ที่สะสมกันมาจากครูหลายคนที่เขียนเรื่องนี้ออกมา ในตอนแรก มันหยาบและก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมาก นับว่าเป็นโชคดีของฉันอย่างมาก ที่ฉันสามารถสัมภาษณ์คนในลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะดูว่า พวกเขาต่างกันอย่างไร ตรงนั้นก็เป็นที่มาของมันทั้งหมด

ฉันศึกษาจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานก็คือคน แล้วฉันก็เรียนรู้ทักษะที่จะค้นหาว่า คน
แต่ละลักษณ์นั้นใช้ชีวิตอย่างไร  และแตกต่างกับคนลักษณ์อื่นอย่างไร นั่นเป็นการเริ่มต้น แล้วฉันก็เริ่มสัมภาษณ์คนเป็นจำนวนพัน ๆ กันอย่างต่อเนื่อง  ฉันไปประเทศต่าง ๆ เพื่อจะทำการสัมภาษณ์นี้ ไปแม้กระทั่งในต่างประเทศซึ่งฉันต้องใช้ล่ามแปลคำถามของฉัน แล้วให้เขาแปลคำตอบกลับมาให้ฉันรู้ ฉันได้ยินเรื่องราวเหมือน ๆ กันไม่ว่าจะไปที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย เยอรมันนี สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ และอีกสองสามประเทศ ในอเมริกาเอง ฉันไปทั่วทุกรัฐ

 คุณพบว่า ศาสตร์เอ็นเนียแกรมมีความเป็นสากลใช่ใหม

เฮเลน :  มันเป็นความรู้ที่เป็นสากล  ประสบการณ์ของฉันบอกให้ฉันรู้ว่า มันเป็นเช่นนั้นจริง   แน่นอนว่า แต่ละที่ ก็มีมิติทางวัฒนธรรมอยู่  คนไทยก็จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนออสเตรเลีย ซึ่งก็มีมิติทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมอยู่ต่างออกไป   แต่โครงสร้างของลักษณ์ทั้งเก้านั้นยังเหมือนกัน  ฉันพบว่า นี่เป็นเรื่องวิเศษ คือเราในฐานะที่เป็นมนุษย์นั้น ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากอย่างที่คิด  เรามีโครงสร้าง(ของลักษณ์)ที่เหมือนกันทั่วโลก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนในประเทศไหน ผู้คนในประเทศนั้นจะเหมือนกับผู้คนในประเทศอื่น ๆ  ฉันว่านี่เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ

 ตอนนี้คุณทำอะไร และมีโครงการในอนาคตอย่างไร

เฮเลน : ฉันมีสถาบันที่สอนเรื่องนี้  ฉันเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อจัดเวิรค์ช็อพที่ผสมผสานจิตวิทยาและจิตวิญญาณไว้ด้วยกัน โดยเน้นเรื่องเอ็นเนียแกรม   และฉันก็คิดว่า ฉันจะทำสิ่งนี้ไปตลอดชีวิต   ถึงแม้จะไม่ได้ทำการสอนมากเท่าเดิมก็ตาม ฉันเขียนหนังสือเกี่ยวกับจิตสำนึกของมนุษย์ออกมา 5 เล่ม ซึ่งเป็นเรื่องเอ็นเนียแกรม 4 เล่ม  ตอนนี้ฉันอยากเขียนอีกเล่มหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับการใช้เอ็นเนียแกรมเป็นหลักในการค้นคว้าเรื่องที่รวมจิตวิทยากับจิตวิญญาณไว้ด้วยกัน  โดยจะใช้ลักษณ์ทั้ง 9 ประเภทนั้นเป็นหัวข้อย่อยในการแสดงให้เห็นถึง ความเป็นหนึ่งเดียวกันของ 2 สิ่งนี้  ตอนนี้ฉันกำลังเขียนต้นฉบับอยู่ นอกจากนี้ ตอนนี้ฉันกับเดวิด แดเนียลส์ครูที่สอนเอ็นเนียแกรมร่วมกันมากับฉัน  กำลังร่วมกันพัฒนาสถาบันซึ่งประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ๆ อันแรกเน้นทางด้านกลุ่มธุรกิจ ด้านที่สองก็คือทำ Enneagram Professional Training Program อย่างที่เราทำกันมา และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นทางด้านจิตวิญญาณที่เน้นเรื่องญาณสังหรณ์ของคนแต่ละลักษณ์ตามเอ็นเนียแกรม ดังนั้น ทั้ง 3 ด้านนี้ก็จะรวมอยู่ภายใต้สถาบันเดียวกันที่เราเรียกว่า “The Trifold School of Enneagram Studies” [2]

 ขอย้อนกลับไปที่ประเด็นหลักของเรา  ก็อย่างที่เราทราบกัน คำว่า เอ็นเนียแกรมอาจมีความหมายแตกต่างกันไปหลายอย่างขึ้นอยู่กับแต่ละคน  คุณเองให้ความหมายกับคำนี้อย่างไร

เฮเลน : สำหรับฉัน เอ็นเนียแกรมคือแผนที่ซึ่งมีที่มาตั้งแต่สมัยโบราณ  ในยุคของเรานี้ มันได้รับการหยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ด้วยภาษาทางจิตวิทยาและมีทิศทางของจิตวิญญาณร่วมสมัย  เอ็นเนียแกรมไม่ได้เป็นของใหม่  เราฟื้นฟูมันขึ้นมาอีกครั้ง จากสิ่งซึ่งอาจจะเป็นศาสตร์ในด้านการพัฒนามนุษย์ที่เก่าแก่และมีความถูกต้องมากที่สุดในโลก

ปกติ เรามักจะคิดถึงคำว่า “การพัฒนามนุษย์” ในความหมายอย่างเช่น การพัฒนาทีมงาน  การพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว และการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในงานหรือโครงการต่าง ๆ   นอกจากที่เอ็นเนียแกรมจะสามารถช่วยในสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกแล้ว  มันยังมีประโยชน์ในการนำไปใช้ที่ละเอียดและลึกซึ้งกว่ามาก

โลกที่เป็นการดำเนินชีวิตตามปกติของเรา ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละลักษณ์จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างมากกับ วิธีที่เรามีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกอีกใบหนึ่ง ที่เราสามารถเป็นหนึ่งเดียวกับโลก เป็นหนึ่งเดียวกับผู้อื่น   เราจะใช้ชีวิตของเราอย่างมีส่วนร่วมในโลกที่เป็นเอกภาพนี้มากกว่าการดำเนินชีวิตตามปกติของเรา

จุดพบกันของประสบการณ์ใน 2 โลกนี้ทำให้ความรู้นี้ไม่เหมือนความรู้อื่น และทำให้มันมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคสมัยของเรา ซึ่งเต็มไปด้วยสงคราม การแบ่งแยก และอคติระหว่างกัน  เราหวาดระแวงและกลัวคนต่างเชื้อชาติ ต่างแดน ต่างศาสนาจากเรา   เกิดความไม่สงบอยู่ในที่ต่าง ๆ ของโลก  และเราจำเป็นต้องเข้าใจปฏิกิริยาของเราเองที่มีต่อเรื่องเหล่านี้   เราจะเป็นต้องลด ต้องผ่อนคลายปฏิกิริยาเหล่านี้ เพื่อให้จิตของเราโล่งโปร่ง ปราศจากการเอาความคิดความกลัวที่เกิดในหัวของเราไปโยนใส่คนอื่น (projection)  เราจะได้มองคนอื่นอย่างที่เขาเป็นจริง ๆ  ฉันคิดว่า  ศาสตร์ของเอ็นเนียแกรมนี้ได้รับการฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์จำเป็นต้องเข้าใจกัน ต้องจัดการกับปฏิกิริยาและแบบแผนชีวิตที่ตายตัวของตนเอง  ทั้งนี้ เพื่อที่พวกเราจะสามารถเปิดรับที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น

 ช่วยเจาะจงลงไปหน่อยนะครับว่า เอ็นเนียแกรมจะช่วยให้เราบรรลุสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร

เฮเลน :  เอ็นเนียแกรมเป็นความรู้ที่ผนึกมิติทางจิตวิญญาณกับลักษณะของปฏิสัมพันธ์ของเรากับสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน

 ช่วยยกตัวอย่างหน่อยได้ไหมครับ อย่างเช่น สำหรับลักษณ์ห้า หรือลักษณ์หก

เฮเลน :  ชีวิตด้านในของคนแต่ละลักษณ์นั้นวนเวียนอยู่กับความเคยชินซ้ำซากที่เรียกว่า กิเลสทางอารมณ์ [3] (passion of the heart หรือ emotional passion)  สำหรับลักษณ์หก มันก็มีที่มาจากความกังวล เอ็นเนียแกรมอาจช่วยลักษณ์หกได้ ตัวอย่างเช่น ให้เขาปล่อยวางตัวเองจากกิเลสนี้ ผ่อนคลายมากขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องต่อต้านหรือมีปฏิกิริยาต่อผู้อื่นด้วยแรงผลักของกิเลสนี้

 จากที่พูดคุยมา ผมได้ยินคำว่า จิตวิญญาณหลายครั้ง   คุณคิดว่า เอ็นเนียแกรมกับจิตวิญญาณจะต้องไปด้วยกัน  ไม่สามารถแยกจากกันได้ใช่ใหม

เฮเลน :  ใช่ ถ้าคุณมีความเข้าใจในเรื่องประเภทบุคลิกภาพในทางทางจิตวิทยา คุณจะเห็นสิ่งนี้ได้ชัดเจน  เอ็นเนียแกรมรวมความเข้าใจในเรื่องบุคลิกภาพทางจิตวิทยากับเรื่องจิตวิญญาณไว้เป็นหนึ่งเดียวจนแยกออกจากกันไม่ได้  เรามักจะคิดว่า จิตวิญญาณเป็นเรื่องที่แยกออกจากชีวิตตามปกติของเรา  แต่เอ็นเนียแกรมทำให้สองสิ่งนี้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 เราสามารถพัฒนาด้วยการฝึกจิตวิญญาณโดยไม่ต้องใช้เอ็นเนียแกรมได้หรือไม่   ยกตัวอย่างเช่น การเข้าถึงสภาวะรู้ตัวทั่วพร้อมด้วยการทำสมาธิ โดยไม่ต้องรู้เรื่องโครงสร้างของลักษณ์ของเรา

เฮเลน :  ได้ และที่เป็นมา คนเราก็เรียนรู้การทำสมาธิโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับลักษณ์ของตัวเอง  แต่ฉันเชื่อว่า มันจะเร็วกว่ามาก ถ้าเรารู้ว่าจะทำสมาธิเมื่อไรและในแบบไหนเพื่อจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในชีวิตที่เกิดขึ้น  เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นทุกข์ เราก็สามารถปล่อยวางความทุกข์ด้วยการเข้าสู่สภาวะของสมาธิโดยทันที แทนที่จะใช้ชีวิตใน 2 โลกที่แยกจากกัน คือ โลกทางจิตวิญญาณหรือสมาธิ ซึ่งดูเหมือนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับโลกของชีวิตประจำวันที่เราอยู่ตามปกติ  เอ็นเนียแกรมเชื่อมโยงชีวิตในโลกทั้ง 2 นี้เข้าไว้ด้วยกัน

 ในทางตรงกันข้าม ก็จะมีคนที่สนใจเรื่องเอ็นเนียแกรมในแง่มุมทางจิตวิทยาเท่านั้น คือ ไม่ได้มองด้านที่เป็นจิตวิญญาณเลย

เฮเลน :  คุณต้องเริ่มจากจุดที่คุณสนใจ  ต้องเริ่มจากจุดที่คุณอยู่  คนที่เป็นนักจิตวิทยา ซึ่งก็มีหลายคนที่มาอบรมกับเรา จะเข้าใจได้อย่างรวดเร็วว่า การที่จะเป็นอิสระจากวงจรของลักษณ์นั้น จำเป็นจะต้องหลุดออกจากสภาวะของการคิดไปสู่สภาวะซึ่งคุณรู้สึกสงบและมั่นคง   ถ้านักจิตวิทยาสามารถทำให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายจนความทุกข์เบาบางลง มันก็จะย่นย่อเวลาในการจัดการกับปัญหาได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์   นักจิตวิทยาหลายคนไม่รู้จักการทำสมาธิ ไม่รู้ว่ามันช่วยบรรเทาความทุกข์ได้อย่างไร  คำสอนของเอ็นเนียแกรมซึ่งจะช่วยได้อย่างมากในเรื่องนี้คือ ความทุกข์ของฉันเกิดจากความคิด  ความทุกข์ของฉันเกิดจากอารมณ์  ความทุกข์ของฉันมาจากโครงสร้างของลักษณ์ของฉัน  อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยามักไม่ได้คิดในเรื่องการผ่อนคลายเรื่องโครงสร้างของลักษณ์นี้  ในการนี้ คุณจำเป็นต้องใช้วิธีการทางจิตวิญญาณ

ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้นำทางจิตวิญญาณแขนงต่าง ๆ เช่น ทางพุทธ ทางคริสต์ ทางจูได ซึ่งไม่ได้รู้จิตวิทยามากนัก   ท่านเหล่านี้ไม่ได้สนใจเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตตามปกติอย่างที่จิตวิทยาเน้น  ท่านไม่เข้าใจว่า ถ้าฉันเป็นลักษณ์ห้า ความเป็นลักษณ์ห้าของฉันมันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์   จริงอยู่ที่ว่า ความทุกข์นี้อาจผ่อนคลายได้ด้วยคำสอนทางจิตวิญญาณเมื่ออยู่ในสภาวะของสมาธิ แต่ความเป็นลักษณ์และทุกข์ที่เกิดขึ้นจากมันก็จะหวนกลับมาใหม่ในโลกของชีวิตประจำวัน  แล้วฉันจะทำอย่างไรในตอนที่ฉันดำเนินชีวิตตามปกติ

ผู้นำด้านจิตวิญญาณจำเป็นต้องรู้ว่า  ในการฝึกสมาธินั้น คนแต่ละลักษณ์จะมีปัญหาเฉพาะแบบ  เราจะผ่านสภาวะต่าง ๆ ในการนั่งสมาธิเหมือนๆ กัน แต่คนแต่ละลักษณ์จะมีปัญหาที่เป็นไปตามลักษณ์ของตน เป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นความก้าวหน้าในทางจิตวิญญาณ  เราจะก้าวหน้าได้เร็วขึ้นถ้ารู้ว่า อะไรเป็นอุปสรรคนั้น เพื่อที่เราสามารถคิดออก  เข้าใจและเป็นเพื่อนกับมัน แทนที่จะมองไม่เห็นและเป็นอวิชาของเรา  การเจริญสมาธิจะทำได้เร็วขึ้นมาก ถ้าเราสามารถบอกได้ว่า อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญทางจิตวิญญาณตามลักษณ์ของเรา   และมันก็ไม่ใช่เป็นเพียงการใช้ความคิด มันไม่พอ  คุณจะต้องสัมผัสรู้ด้วยประสบการณ์ เพื่อที่คุณจะสามารถจดจ่อกับมันและผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปได้

  ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมใน “Trifold School of Enneagram Studies” ของคุณจึงประกอบด้วย 3 ส่วน

เฮเลน :  อย่างที่ฉันพูดก่อนหน้านี้ สถาบันนี้มี 3 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกสำหรับภาคธุรกิจ  ส่วนที่สองเป็นการฝึกอบรมครูเอ็นเนียแกรม ซึ่งเป็นส่วนที่ฉันอยากเพิ่มบางมิติเข้าไป  ส่วนที่สามเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณที่เป็นเรื่องญาณสังหรณ์และลักษณ์

เราต้องจับตาดูในส่วนที่เป็นภาคธุรกิจ เพราะมีความโน้มเอียงที่มันจะถูกใช้เป็นเพียงเรื่องทางจิตวิทยาเหมือนอย่างที่คุณถามมา  เราต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการวางกรอบ เพื่อจะให้คนเข้าใจว่า เอ็นเนียแกรมเป็นอะไรที่มากไปกว่าเครื่องมือในการสร้างทีมงานให้ดีขึ้น

สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนรับรู้  คำพูดที่ฉันใช้บ่อยคือ “เอ็นเนียแกรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการกิจกรรมต่าง ๆ   เป็นเรื่องเกี่ยวกับการหยุดปฏิกิริยาโต้ตอบผู้อื่นในที่ทำงาน หรือในงานบางอย่าง  เพื่อให้สามารถจัดการกับส่วนลึกของตนเอง”  ก็นับว่า เป็นเรื่องที่น่าท้าทายมากที่จะรวมจิตวิทยากับจิตวิญญาณไว้ด้วยกันในที่ทำงาน

 ในบริบททางพุทธศาสนา เรามักจะให้คำอธิบายเอ็นเนียแกรมโดยโยงเข้ากับเรื่องความทุกข์ว่า “เอ็นเนียแกรมเป็นตัวช่วยดับทุกข์ของเรา”  คุณมีความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองนี้อย่างไร

เฮเลน :  เอ็นเนียแกรมชี้ให้เราเห็นวิธีที่จะผ่อนคลายความทุกข์ ให้เราปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ  แต่การที่จะผ่อนคลายความทุกข์นั้น เราจะต้องรู้ว่าอะไรทำให้เราทุกข์  ทำไมเราจึงทุกข์ และรูปแบบความทุกข์ของเราเป็นอย่างไร  มันแตกต่างกันไปตามตัวบุคคล ทุกข์ของฉันไม่เหมือนของคุณ ไม่เหมือนของคนนั้นหรือคนนี้  และการเข้าใจในความแตกต่างนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง   ทั้ง 9 ลักษณ์มีความทุกข์ในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน  ฉันไม่ได้เป็นทุกข์จาก “ความอิจฉา” เหมือนอย่างคนลักษณ์สี่ที่คร่ำครวญว่า “สิ่งที่ฉันถวิลหาไปอยู่ที่ไหน  มันไม่ได้อยู่ที่นี่”

 หมายความว่า สิ่งสำคัญที่เอ็นเนียแกรมช่วยเราเป็นอันดับแรกคือ ช่วยให้เรา “เห็น” ความทุกข์ของเรา ใช่ไหม

เฮเลน :  ใช่  คนเจ็ดที่ไปฝึกนั่งสมาธิก็ยังคิดว่า “ฉันไม่ได้ทุกข์อะไร”  เขาจำเป็นต้องรู้รูปร่างหน้าตาของความทุกข์ของเขา  คือต้องรู้โครงสร้างของมัน  และอยู่กับมัน เข้าใจมัน  แล้วจัดการกับความทุกข์นั้น แทนที่จะมองไม่เห็นความทุกข์  นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้น

 ใช่ครับ การชี้ให้เห็นนี้เป็นประโยชน์ที่ชัดเจนอย่างมากของเอ็นเนียแกรม

เฮเลน :  มันบอกถึงกิเลสชนิดต่าง ๆ  มันบอกถึงความทุกข์ของคุณ  คนจำนวนมากไม่รู้ว่าตนเองทุกข์  พวกเขาไม่มีวิธีที่จะมองเห็นและเข้าใจ

 ใช่ ถ้าพวกเขามองไม่เห็นความทุกข์ของตัวเอง  ก็จะไม่ทำอะไรกับมัน

เฮเลน :  ใช่ เอ็นเนียแกรมบอกให้รู้ถึงกิเลสและความทุกข์เฉพาะตัวของพวกเขา

 เรามีคนจำนวนมากที่ในตอนแรก ตื่นเต้นกับเอ็นเนียแกรมในแบบที่เป็นความรู้ใหม่  แต่หลังจากที่เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณ์ตามศาสตร์นี้ หลายคนก็หยุดไป  เขาไม่ได้ติดตามเอ็นเนียแกรมต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นที่เป็นจิตวิญญาณ

เฮเลน :  ถ้าเป็นเช่นนั้น ในการสอนเรื่องเอ็นเนียแกรม เราจำเป็นต้องบอกตั้งแต่ตอนต้นว่า ความรู้เรื่องลักษณ์
ต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งนั้นบอกเราว่า การพ้นทุกข์ของเรานั้นจะทำได้ประการเดียว คือการปล่อยวาง (กิเลสและความคิดยึดติด) ด้วยการทำสมาธิและการฝึกจิตวิญญาณเท่านั้น เริ่มแรกเลย เราควรนำเสนอเอ็นเนียแกรมทั้ง 2 ด้าน คือด้านที่เป็นความรู้เกี่ยวกับลักษณ์หรือบุคลิกภาพ ที่จะทำให้เข้าใจมนุษย์ และด้านที่เป็นศาสตร์ทางจิตวิญญาณ  เพราะวิถีทางจิตวิญญาณจะทำให้เราคลี่คลายจากความทุกข์ของลักษณ์   คุณจะต้องพูดเช่นนี้ตั้งแต่แรก  คนส่วนใหญ่จะไม่สนใจเรื่องนี้ ดังนั้น ผู้สอนจึงสอนคนทั่วไปในด้านที่เป็นจิตวิทยาทางบุคลิกภาพเท่านั้น ไม่ได้สอนในแบบองค์รวมแต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องไปฝึกสมาธิ  อย่างไรก็ตาม เขาควรจะรู้จักเอ็นเนียแกรมในด้านนี้ เพราะถ้าไม่ เขาก็จะคิดว่า มันก็เป็นเพียงความรู้ทางจิตวิทยา ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่   เพราะเหตุนี้เมื่อเห็นท่านสันติกโร [4] เราก็จะรู้ได้เลยว่า นี่แหละคือครูเอ็นเนียแกรมผู้รู้จริง

 อย่างไรก็ตาม ก็มีคนจำนวนมากที่ตระหนักดีว่า เอ็นเนียแกรมเป็นอะไรที่มากไปกว่าบุคลิกภาพ คือด้านที่เป็นจิตวิญญาณผ่านการทำสมาธิ เป็นต้น แต่พวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ พวกเขายังคงคิดว่า ที่เป็นอยู่นั้นก็ดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนแปลงไปทำไม จะทำอะไรให้มันมากไปทำไม

เฮเลน : งั้นพวกเขาก็คงจะหยุด ซึ่งก็เป็นทางเลือกของพวกเขา ฉันไม่สามารถทำให้ใครก้าวหน้าหรือค้นหาตัวเองให้ลึกลงไปได้  และฉันก็ไม่ได้ต้องการที่จะทำเช่นนั้น มันเป็นเรื่องที่เกิดจากความต้องการของแต่ละคนเอง คุณต้องเลือกเอาเองว่า “ฉันจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ฉันต้องการหลุดพ้นจากทุกข์เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำสิ่งต่าง ๆ อย่างอัตโนมัติเหมือนหุ่นยนต์อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่รู้ตัว ฉันก็ก่อให้เกิดทุกข์ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น ฉันต้องยินดี ต้องเต็มใจที่จะทำสิ่งนี้ด้วยตัวเอง”  ฉันไม่สามารถไปบังคับให้คุณเปลี่ยนแปลง  และคุณก็ไม่สามารถทำให้ฉันเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

 ผมเดาว่า การมองเห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความเป็นลักษณ์ของเราจะทำให้เราทำอะไรบางอย่างให้กับตัวเอง  ในคำบรรยายคุณพูดถึงคำว่า คุณหมายความว่า “เสียงที่ปลุกเราให้ตื่น” (wake-up call) ทุกคนจะต้องมาถึงจุดของเขาที่มีเสียงนี้ร้องออกมา ก่อนที่เขาจะพร้อมที่จะก้าวสู่ขั้นถัดไปใช่หรือไม่

เฮเลน :  “เสียงปลุกให้ตื่น” เกิดขึ้นเมื่อเราเห็นการปรากฏขึ้นของความเป็นลักษณ์และทุกข์ที่เกิดจากมัน  ในทางพุทธศาสนา วงจรการเกิดขึ้นนี้เรียกว่า “ปฏิจสมุทบาท” หรือการเกิดขึ้นซ้ำอย่างเป็นวงจร ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องนี้ เราก็จะไม่อยากตกอยู่ในวงจรนี้อีก  เราจะต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง  มันเป็นการปลุกจากการหลับไหลที่มีพลังมาก

 เสียงปลุกให้ตื่นนี้มีความแตกต่างกันไปตามลักษณ์แต่ละลักษณ์หรือไม่

เฮเลน :  แน่นอน มันแตกต่างกันอย่างลึกซึ้ง 
  
 ขอให้ช่วยยกตัวอย่างสักลักษณ์หนึ่ง 
  
เฮเลน :  ลักษณ์เจ็ด เมื่อเห็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ นี้ก็จะตระหนักว่า เรื่องตื่นเต้นในชีวิตและทางเลือกทั้งหลายของเขานั้นมันเกิดอยู่ในหัวของตัวเอง เมื่อเห็นแล้ว ก็จะรู้ตัวว่า เขาหลอกตัวเองมาตลอด

ลักษณ์ห้า ซึ่งสนใจแต่การคิด ใช้มันเพื่อปกป้องและแยกตัวเองออกจากผู้อื่น ก็จะเห็นเองว่า เขาถูกตัดขาดจากโลกของความรู้สึกอย่างไร แล้วก็จะรู้สึกโดดเดี่ยว เสียงปลุกเรียกสำหรับเขาก็คือ "ฉันจะตื่นขึ้นเพื่อรับรู้ประสบการณ์ในทุก ๆ ด้าน"

ลักษณ์หก ซึ่งกลัว, กระวนกระวาย, และเป็นทุกข์จากความกลัวนั้น เมื่อเห็นวงจรที่สร้างความกระวนกระวายและเข้าใจมันดีแล้ว ก็ไม่อยากจะตกอยู่ในความกลัวนั้นอีก เขาไม่อยากที่จะเป็นอย่างนั้นอีกแล้ว แล้วก็ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง

 ทีนี้ สำหรับคนซึ่งเอาชนะอุปสรรคในขั้นแรกนี้แล้ว และต้องการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า คุณจะให้คำแนะนำอย่างไร เพื่อให้เขาสามารถนำเอ็นเนียแกรมไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน

เฮเลน :  เอ็นเนียแกรมเป็นเครื่องมือในการสังเกตตัวเองที่ดีมาก เป็นนักสังเกตการณ์ภายในที่เฝ้าดูโครงสร้างของลักษณ์ของคุณ คือความคิด ความรู้สึก ปฏิกิริยา นิสัยต่าง ๆ ของคุณ มันเป็นเครื่องมือที่วิเศษสำหรับการสังเกตตัวเอง 
  
แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคือ การฝึกสังเกตตัวเองจนรู้ว่า โครงสร้างตามลักษณ์ของคุณแสดงออกมาอย่างไร และอะไรคือสาเหตุของความทุกข์ในตัวคุณ จากนั้นก็ใช้หลักธรรมะในการปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ที่เป็นไปตามลักษณ์เของคุณ 
  
คำสอนทางพุทธชี้ให้เห็นความเป็นสมมติที่อยู่ในรูปของความทรงจำ แผนการ ความรู้สึกทางร่างกาย จินตนาการ และความรู้สึกตามแต่ละลักษณ์ พุทธศาสนาบอกให้คุณเฝ้าสังเกต และปล่อยวาง ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ คุณจะเหมือนถูกขังอยู่ในกล่อง ถ้าไม่ปล่อยวาง ลักษณ์ของคุณก็จะขวางกั้นคุณไว้และทำให้คุณไปไหนไม่ได้
  
 ดังนั้น การฝึกสังเกตตัวเองนี้ก็เพื่อหลุดพ้นจากกับดักของลักษณ์อย่างที่คุณพูดว่ามัน "เหมือนเป็นกลไกอัตโนมัติ" หรือ "หดเกร็ง แล้วแสดงความเป็นลักษณ์ของคุณไปปะทะกับคนอื่น" ขอให้คุณช่วยอธิบายโดยละเอียดในเรื่องความเป็นกลไกอัตโนมัตินี้ มันเป็นเรื่องเดียวกันกับสิ่งที่เรียกว่า "กลไกป้องกันตนเองทางจิต" (Defense Mechanism) หรือไม่

เเฮเลน :  กลไกป้องกันตนเองทางจิตนี้จะต่างออกไป แต่คุณพูดถูกว่าแบบแผนตามลักษณ์ของเรานั้นจะทำให้เราเกร็งตัวโดยอัตโนมัติ และแสดงพฤติกรรมออกมาเพื่อปกป้องตัวเองในแบบที่ทำให้เรารู้สึกมั่นคงยิ่งขึ้น 
  
ฉันคอยปกป้องตัวเอง เมื่อความเป็นลักษณ์ของฉันแสดงปฏิกิริยาออกมา ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น แต่กลไกป้องกันตนเองทางจิตทั้ง 9 ประเภทนั้น เป็นวิธีการภายในจิตใจ ซึ่งเราใช้เมื่อเราตึงเครียดจากกิเลส (passion) และความทุกข์ของเรา ซึ่งเป็นเรื่องข้างในจิตใจและแตกต่างกันไปตามลักษณ์ "กลไกป้องกันตนเองทางจิต" นี้เป็นศัพท์เทคนิคทางจิตวิทยา (defense mechanisim) เราจะไม่ใช้คำนี้ถ้าเราหมายถึงการปกป้องหรือคุ้มครองตัวเอง หรือทำอะไรไปตามกลไกอัตโนมัติ มันเป็นคนละเรื่องกัน
  
กลไกป้องกันตนเองทางจิตของฉันในแบบลักษณ์หกคือ การโยนใส่ (Projection) ของลักษณ์ห้าจะเป็นการแยกตัวจากความรู้สึก ส่วนของลักษณ์เจ็ดคือการหาเหตุผลมาอธิบาย เหล่านี้เป็นวิธีการที่เราใช้เมื่อตึงเครียดอยู่ภายในจิตใจ เมื่อเกิดขึ้น มันบีบให้เราเป็นไปตามลักษณ์และแสดงพฤติกรรมออกมาตามลักษณ์นั้น 
  
ส่วนการปกป้องตัวเองจะเป็นอย่างที่เราทำกันในลักษณะหรือท่าทีแบบว่า "ฉันถูก คุณเป็นฝ่ายผิดต่างหาก" คำที่สำคัญคือ "กลไก" (mechanism) ซึ่ง "กลไกการปกป้องตนเองทางจิต" นั้นมีอยู่ 9 แบบในการจัดการกับสิ่งที่เกิดภายในจิตใจของเรา แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราต้องการปกป้องตัวเองจากผู้อื่น หรือเมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น นั่นจะเป็นพฤติกรรมตามปกติของลักษณ์ ซึ่งมีลักษณะการปกป้องตัวเอง แต่มีทิศทางสู่ภายนอกตัว
  
 สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเอ็นเนียแกรมโดยลำพัง คือไม่สามารถไปเข้าอบรมหรือเข้าเวิร์คชอบ จะมีวิธีการศึกษาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอย่างไร

เฮเลน :  คุณจะต้องตั้งเป็นภารกิจหรือโครงการของคุณเอง เป็นโครงการส่วนตัวของแต่ละคน แต่ปกติแล้ว เราจำเป็นต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นด้วย เพราะเราอาจสะท้อนตัวเอง หรือสังเกตเห็นตัวเองได้ไม่ดีพอ ดังนั้นเราจึงต้องให้เพื่อนของเรามีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วย ฉันเป็นลักษณ์นี้ และฉันต้องการเปลี่ยนแปลง ฉันต้องการให้คุณเตือนฉันเวลาที่ฉันทำอะไรหรือเป็นไปตามอัตโนมัติ ฉันจะบอกให้คุณรู้ว่า ปฏิกิริยาที่แสดงออกมาตามลักษณ์ของฉันเป็นอย่างไร ฉันกำลังพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงมันด้วยการปล่อยวาง แทนที่หดเกร็งและแสดงความเป็นลักษณ์ของฉันออกมา 
  
เรื่องนี้คุณต้องช่วยฉัน แต่ไม่ใช่ด้วยการมาบอกว่า ฉันต้องทำอะไร และก็ไม่ต้องมาวิเคราะห์ให้ฉันฟังว่า ฉันกำลังทำอะไร เพียงแค่เตือนฉันเท่านั้นพอ คุณต้องเตือนฉันแบบที่ว่า "เฮเลน เมื่อวานเธอไม่ได้แสดงความกลัวเลยนะ แต่ตอนนี้ฉันเห็นเธอตกอยู่ในสภาพที่กลัวอย่างที่ฉันเคยเห็นมาก่อน" เพื่อนและคนรอบข้างจะเตือนความจำของฉัน "เฮเลน เมื่อวานฉันเห็นเธอเป็นอิสระ แต่ตอนนี้เธอกำลังกลัว ฉันกำลังเตือนว่า เธอเคยเป็นอย่างนี้มาก่อน แต่เธอจะผ่านพ้นมันไปได้ และเธอจะผ่านมันไปได้เร็วขึ้นมาก ถ้าเธอจะผ่อนคลาย และค่อย ๆ ปล่อยวางโครงสร้างตามลักษณ์ของเธอ นั่นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องอนิจจังที่ไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป" การได้เข้าถึงประสบการณ์ของความอนิจจังนี้ เปรียบเสมือนการได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ของชีวิต
  
 เครือข่ายของกัลยาณมิตรทางจิตวิญญาณนี้ เป็นแนวคิดเดียวกับเรื่อง "สังฆะ" ในความหมายทางพุทธใช่หรือไม่

เฮเลน :  ใช่แล้ว คุณเป็นสังฆะหรือกัลยาณมิตรทางจิตวิญญาณของฉัน คุณต้องไว้ใจในตัวเพื่อนคุณ คุณต้องไว้ใจใครสักคน มิฉะนั้น คุณจะโดดเดี่ยว และการอยู่โดดเดี่ยวก็มักทำให้คุณดำเนินชีวิตไปตามอัตโนมัติ สังฆะเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับพุทธะ หรือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา และธรรมะซึ่งเป็นคำสอนที่เป็นสัจธรรม เป็นคำสอนเพื่อการพัฒนาตนเองจากลักษณ์ของเราผ่านการภาวนา เราจำเป็นต้องมีสังฆะด้วย เราจำเป็นต้องมีธรรมะของพระพุทธเจ้า ต้องมีคนซึ่งก้าวหน้ากว่าเราในเรื่องสมาธิ มิฉะนั้นเราอาจผิดพลาดได้ ในเรื่องนี้ พวกคุณมีท่านสันติกโรที่มีบทบาทนั้น 
  
 คำถามสุดท้าย คุณมองภาพในอนาคตของเอ็นเนียแกรมว่าเป็นอย่างไร จะพัฒนาไปในทางใดบ้าง

เฮเลน :  ฉันไม่ได้คิดไกลขนาดนั้น แต่มองที่ขั้นถัดไปเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ฉันสามารถทำได้ในตอนนี้ ฉันเพียงหวังว่า ฉันจะสามารถช่วยสร้างเครื่องมือชิ้นสำคัญนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และสอนให้คนรู้จักใช้มันให้ดี โดยใช้ร่วมกับเรื่องการทำสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลังจากนั้น ผู้ที่ศึกษาก็จะผลักดันสิ่งนี้ต่อไปข้างหน้า ดังนั้น ฉันจึงไม่อยากจะทำนายอะไร 
  
 มีอะไรที่คุณอยากจะบอกกับคนไทยเป็นการพิเศษหรือไม่

เฮเลน :  คนไทยก็เหมือนกับคนในทุกประเทศ ในประเทศไทยก็มีคนเก้าลักษณ์ เหมือนกับที่มีในประเทศอื่น ดังนั้น จึงไม่ได้มีแต่คุณที่เป็นทุกข์ในแบบที่คุณเป็น ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีมุมมองเหมือนกับคุณ เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ความเป็นลักษณ์ของเราและความทุกข์ทรมานที่เกิดจากมันนั้นสามารถผ่อนคลายได้ 
  
ฉันอยากจะบอกไปยังคนไทยด้วยว่า ขออย่าได้เกรงกลัวที่จะเปิดอกคุยกัน ในการศึกษาเรื่องนี้ เราไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหน้ากัน ไม่ต้องอาย การพูดคุยกันเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะคุณจะได้ไม่โดดเดี่ยว ในอเมริกา คนจะไม่ยอมนิ่งเงียบ แต่ในเมืองไทย ฉันคิดว่าคุณมีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัวและสงวนความเห็นมากกว่าที่จะมาเปิดเผยแบ่งปันกันในเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น ฉันจึงอยากบอกว่า คุณควรจะพูดคุยกัน พูดกับคนรอบตัวที่คุณไว้ใจ และก็รับฟังที่เขาพูดด้วย แล้วคุณจะเห็นว่า พวกคุณแตกต่างกันขนาดไหน 
  
อีกเรื่องหนึ่งคือ อย่ามองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องที่จีรังยั่งยืน ความทุกข์ทรมานของลักษณ์เป็นอนิจจัง เราจะหยุดทุกข์ทันทีที่มันผ่อนคลาย ความจริงในเรื่องนี้ทำให้เรามีความหวังอย่างมาก 
  
เรื่องที่สามคือ อย่าละอายกับอารมณ์ด้านลบของคุณ ไม่เป็นไรเลยถ้ามันเกิดขึ้น เพราะมันก็มีที่มา มีสาเหต แทนที่จะละอายในเรื่องนี้ ขอให้สังเกตและค่อย ๆ ปล่อยวางมัน แล้วมันก็จะหายไป ขออย่าได้เก็บกดมัน นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลยในทางจิตวิทยา เราไม่สามารถใช้การเก็บกดได้เลย อารมณ์ด้านลบจะยิ่งมีพลังมากขึ้นถ้าคุณยิ่งเก็บกดมัน แต่มันจะหายไปถ้าคุณปล่อยวางมัน นี่เป็นคำสอนทางพุทธที่วิเศษมาก

เรื่องสุดท้าย ฉันอยากจะกล่าวว่า ฉันเคยมีอาจารย์ทางพุทธท่านหนึ่งซึ่งฉันเคารพ
นับถืออย่างมากสมัยที่ฉันเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นฉันมีความเครียดในเรื่องการเรียนอย่างมาก ท่านเป็นอาจารย์เซนชาวญี่ปุ่น เดี๋ยวนี้เราก็ยังติดต่อกันอยู่ ท่านสอนฉันให้รู้จักการปล่อยวางและยอมรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวินาทีปัจจุบัน ถ้าฉันไม่ได้พบวิถีปฏิบัติแห่งพุทธะเช่นนี้ฉันก็คงไม่ได้เป็นอย่างที่ฉันเป็นอยู่ในเวลานี้ได้เลย