พอจะเล่าชีวิตในวัยเด็ก ความเป็นคนชอบคิดชอบสร้างสรรค์เป็นมาอย่างไร
คุณประวิทย์ : เด็กๆ ชอบเขียนกลอน มีคนเคยบอกว่าผมเป็นพวกโรแมนติกหรือเปล่า เพราะชอบแต่งกลอน ชอบคิดอะไรแปลกๆใหม่ๆ อายุไม่ถึง 10 ขวบก็เริ่มอยากค้าขายแล้ว เคยขอเงินเตี่ยมา 2 - 3 บาท เพื่อซื้อลูกอมลูกกวาดถุงใหญ่มาแบ่งขาย เด็กวัยนั้นไม่มีใครคิดแบบนี้ ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนพล นิกร กิมหงวน การ์ตูนหนูจ๋า เบบี้ อ่านเสร็จก็เอาหนังสือเหล่านั้นไปให้เช่าต่อ เพื่อหาเงินไปซื้อหนังสือเล่มใหม่มาเพิ่ม คิดอะไรที่ไม่เหมือนเด็กวัยเดียวกัน หรืออย่างเวลาเรียนศิลปะ คุณครูบอกให้สกรีนภาพบนเสื้อฝั่งหน้าอก เราก็ว่าเอ๊ะทำไมต้องอยู่บนด้านหน้าอก เพราะเราเดินไปนี่คนไม่ได้มองภาพวาดบนหน้าอกเราอย่างเดียว บางคนอาจมาจากข้างหลังก็จะมองข้างหลัง น่าจะวาดภาพอยู่ข้างหลังบ้างนะ ช่วงวัยทำงานหลังจากจบมาใหม่ๆ ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่ธนาคารเชสแมนฮัตตัน ก็ชอบทำโน่นทำนี่เป็นงานอดิเรกเช่น ออกแบบ ส.ค.ส. เข้าประกวดชิงเงินรางวัล นั่งออกแบบจนดึกๆดื่นๆ มักได้รางวัลแต่ไม่ได้ชนะเลิศนะครับ เพราะผลงานที่ออกแบบมาไม่สามารถนำไปพิมพ์จริงๆได้ สวยแต่ไม่เหมาะเป็น ส.ค.ส. ธนาคาร
คุณประวิทย์เรียนมาจากที่ไหนคะ
คุณประวิทย์ : ผมเรียนจบพาณิชย์ก่อน หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วอยากจะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยแต่ฐานะครอบครัวไม่เอื้ออำนวย เพราะผมมีน้องๆอีก 4 คนที่ผมต้องการให้เรียนจนถึงระดับปริญญา เตี่ยอพยพมาจากเมืองจีนตั้งแต่เด็กๆฐานะธรรมดาหาเช้ากินค่ำ ผมจึงหันมาเรียนระดับอาชีวะ หลักสูตรภาษาอังกฤษ ที่อัสสัมชัญคอมเมิร์ซหรือ ACC เพื่อจะได้จบมาทำงานเร็วๆ เรียน 3 ปีจบก็เริ่มทำงานที่ธนาคารเชสแมนฮัตตันซึ่งเป็นสาขาจากสหรัฐอเมริกาอยู่ 5 ปี โดยใช้เวลาหลังเลิกงานเรียนต่อระดับปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นนักศึกษาภาคค่ำรุ่นแรก หลังจากจบก็อยากรู้กฎหมายอีก ด้วยความอยากรู้โน่นรู้นี่จึงสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต ไปเรียนอยู่ปีเดียวก็รู้สึกเบื่อ ประกอบกับที่ทำงานและมหาวิทยาลัยอยู่ไกลกันมากจึงตัดสินใจเลิกเรียน กลับมาสอบเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพอีกครั้ง ช่วงนั้นเขาเปิดสอน MBA ภาคภาษาอังกฤษเป็นรุ่นแรก ต่อมาพักใหญ่ก็หันกลับไปศึกษาต่ออีกครั้งในระดับปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน ภาคนอกเวลาราชการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างเรียนมีโอกาสเปลี่ยนงานอีก 2 แห่งคือ ที่บริษัท วอร์เนอร์-แลมเบิร์ท และบริษัท โฟรโมสต์อาหารนม ก่อนออกมาทำธุรกิจส่วนตัวเป็นบริษัทด้านคอมพิวเตอร์
ในอดีตผมยังมีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรสั้นๆทั้งจากสถาบันในประเทศ และต่างประเทศอีกหลายด้านเช่น ด้านคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรม การบริหารจัดการ การวางแผนการผลิต การสร้างแบรนด์ เป็นต้น
ช่วงที่ศึกษาปริญญาโทนิเทศฯ คุณประวิทย์เข้ามาทำธุรกิจแบล็คแคนยอนหรือยังคะ
คุณประวิทย์ : เริ่มทำธุรกิจ ”แบล็คแคนยอนคอฟฟี่” เมื่อเรียนนิเทศศาสตร์ การศึกษาต่อครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์อยู่ 2-3 ประการด้วยกันคือ อยากทราบว่าจะสามารถนำวิชาการสื่อสารมวลชนมาใช้กับธุรกิจได้อย่างไร อีกประการหนึ่งคือมองหาเพื่อนร่วมงานเพราะอยากได้ผู้ที่มีพื้นฐานนิเทศศาสตร์มาช่วยธุรกิจ ประการสุดท้ายคือตั้งใจหาโอกาสเรียนคณะนิเทศศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ แล้วเพิ่งจะมีโอกาสตอนอายุมากนี่แหละ! เวลาอาจารย์สอนมักจะไปนั่งข้างหลัง ได้รู้จักคุณกรรณิการ์ที่นิเทศศาสตร์ เธอเป็นคนเอาจริงเอาจัง ขยันขันแข็ง มีความกระตือรือร้นในการเรียนมีอัทธยาศัยดี จึงชักชวนมาทำงานที่แบล็คแคนยอนในตำแหน่งผู้จัดการแผนกการตลาด และเคยส่งเธอไปร่วมอบรมนพลักษณ์ด้วย จึงทราบว่าเป็นลักษณ์ 3 ทำงานด้วยกันสนุกมาก
สมัยมัธยมเรียนอยู่มงฟอร์ตเป็นดาวเด่นหรือทำกิจกรรมอะไรบ้างไหมคะ
คุณประวิทย์ : ไม่ค่อยมีครับ ส่วนใหญ่ชอบเที่ยวกับเพื่อนๆมากกว่า โดยใช้รถมอเตอร์ไซค์ขับไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ ไม่ได้เกเรนะครับ เพียงแต่สนุกสนานแบบวัยรุ่นทั่วๆไป ส่วนกีฬาก็เล่นฟุตบอล และวอลเลย์บอล
ช่วยเล่าถึงงานที่ดูแลอยู่ในขณะนี้
คุณประวิทย์ : ธุรกิจที่บริหารอยู่ แบ่งเป็น 2 ธุรกิจหลักๆคือ ด้านไอทีคอมพิวเตอร์ จัดจำหน่ายระบบฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์เพื่อโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อธุรกิจจัดจำหน่าย และซอฟท์แวร์สำหรับสถาบันการเงิน เช่น ระบบเช่าซื้อ ระบบลีสซิ่ง อีกธุรกิจหนึ่งเป็นเครือข่ายของร้านกาแฟ และอาหาร
นอกเหนือจากนี้เป็นกรรมการสมาคมหรือมีกิจกรรมอะไรอีกไหมคะ
คุณประวิทย์ : ผมเป็นที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจแฟรนส์ไชส์และเอสเอ็มอีแห่งประเทศไทย กรรมการของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และเคยเป็นกรรมการของสมาคมชาวเหนือด้วย เป็นอดีตสมาชิกสโมสรโรตารี่คลับ แต่ปัจจุบันลาออกแล้วเพราะมีภารกิจอื่นๆอีกหลายอย่าง คือยังเป็นกรรมการบริษัทอีกหลายบริษัทครับ
แบล็คแคนยอนตอนนี้มีทั้งหมดกี่สาขาคะ
คุณประวิทย์ : มีประมาณ 120 สาขาในประเทศไทย และต่างประเทศอีก 6 สาขาคือ อินโดนีเซีย 1 สาขา สิงคโปร์ 1 สาขา มาเลเซีย 3 สาขา และพม่า 1 สาขา ในไตรมาสแรกของปี 2548 จะเปิดที่บาหลีอีก 1 สาขา
ธุรกิจนี้กำเนิดในเมืองไทยแล้วคุณประวิทย์ขยายสาขา
คุณประวิทย์ : ใช่ครับ เป็นธุรกิจของคนไทยที่บริหารงานด้วยระบบแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจร้านกาแฟรายแรกๆของประเทศไทย เราบุกตลาดตั้งแต่ยุคที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักกาแฟคั่วบด จนปัจจุบันคนหันมาทำร้านกาแฟกันเกร่อไปหมด เราได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ นอกจากนั้นกองทุนเอสเอ็มอีของรัฐบาลยังเข้ามาถือหุ้น 15% ด้วยครับ อาจกล่าวได้ว่าเป็นตำนานหนึ่งของธุรกิจกาแฟในประเทศไทย
ขยายในช่วงที่คุณประวิทย์บริหาร
คุณประวิทย์ : ผมซื้อกิจการมาบริหารขึ้นปีที่ 11 แล้วครับ เมื่อก่อนเป็นธุรกิจเล็กๆ เจ้าของเดิมทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ผมจึงซื้อกิจการแล้วพัฒนารูปแบบขึ้นมาใหม่ทั้งโลโก้ เครื่องแบบ สูตรกาแฟ สูตรอาหาร ภาชนะบรรจุภัณฑ์ การตกแต่ง การฝึกอบรม การผลิต การบริหารจัดการ ทุกอย่างปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่หมดครับ เราได้รับเครื่องหมาย “เชลล์ชวนชิม” จาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ได้รับตรารับรอง “Super Brands” และถูกยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศหลายแห่งด้วยกัน
โปร-ลายน์ล่ะคะ
คุณประวิทย์ : โปร-ลายน์เป็นธุรกิจขนาดกลาง มีพนักงานในเครือเกือบ 100 คน จำหน่ายฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์สำหรับธุรกิจหลายประเภท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศที่มีสาขาในไทย เราเข้าไปให้บริการจัดวางระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเช่น ระบบบัญชี การเงิน ลูกหนี้ เจ้าหนี้ คุมสต็อก วางแผนการผลิต การจัดจำหน่าย เป็นต้น สถาบันการเงินบางแห่งเช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เราก็ช่วยพัฒนาซอฟท์แวร์บางระบบ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยก็ได้ขายซอฟแวร์ให้บางส่วน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ซื้อฮาร์ดแวร์จากโปร-ลายน์ บริษัทที่ทำธุรกิจเช่าซื้อเช่น โตโยต้าลิสซิ่ง เดมเลอร์-ไครส์เลอร์ลิสซิ่ง ฮอนด้าลิสซิ่ง หรือบริษัทเงินทุนธนชาติก็ใช้ระบบซอฟท์แวร์ของเรา บริษัทซูซูกิมอเตอร์ก็ให้เราไปติดตั้งระบบงานให้ สาขาต่างประเทศเช่น ไทย อเมริกา อินเดีย เวียดนาม เป็นต้น บริษัทยูนิลีเวอร์ บริษัทมิตซูบิชิ อีเลเวเตอร์ บริษัท 3Mก็ใช้บริการเรามากว่า 10 ปีแล้วครับ
มีพนักงานรวมทั้งหมดประมาณสักกี่คนคะ
คุณประวิทย์ : กลุ่มธุรกิจอาหารเครื่องดื่มเป็นพันนะครับ ส่วนด้านคอมพิวเตอร์อีกประมาณเกือบร้อยคนครับ
มีหลักการบริหารงานยังไงคะ
คุณประวิทย์ : ใช้วิธีกระจายงานออกไปครับ กระจายอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ ผมเป็นคนคิดโครงการ แล้วมีทีมงานมารับช่วงไปปฏิบัติต่อ บางอย่างก็สำเร็จบางอย่างก็ไม่สำเร็จ บางทีเพ้อฝันเกินไป ไม่สามารถนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงทางธุรกิจได้ อย่างไรก็ตามเรามีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำหนดนโยบายอีกที ผมชอบคิดโครงการใหม่ๆ อยู่เรื่อยครับ หลายครั้งก็รู้สึกเหนื่อยนะครับเหมือนกับสมองถูกใช้งานตลอดเวลา ครั้นจะหยุดคิดก็หยุดได้สักพักนึงก็จะมีอะไรใหม่ๆผุดขึ้นมาอีกตลอดเวลา
แสดงว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์มองอะไรไปข้างหน้า
คุณประวิทย์ : จะว่าวิสัยทัศน์ก็ไม่น่าใช่ครับ เพราะตนเองก็มิได้มีวิสัยทัศน์ยาวเท่าไหร่ แต่ที่อาจแตกต่างจากคนอื่นคือ เมื่อคิดโครงการอะไรขึ้นมาก็จะทดลองทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มิใช่คิดแล้วแต่ไม่เคยลงมือทำ
คุณประวิทย์รู้จักนพลักษณ์ครั้งแรกยังไง
คุณประวิทย์ : เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2546 ผมอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ มีฉบับแทรกที่เป็นแทบลอยด์ เห็นหน้าปกเขียนเรื่องนพลักษณ์ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์คุณฐิติมา คุณติรานนท์ เราเป็นคนมีนิสัยอยากรู้อยากเห็นอะไรใหม่ๆอยู่แล้ว ก็เอ๊ะ! นพลักษณ์คืออะไรหนอไม่เคยได้ยินศัพท์คำนี้มาก่อน อ่านไปงงไป แต่ก็เกิดความสนใจว่าวิชานพลักษณ์เกี่ยวข้องกับคน เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ นิสัยใจคอของคน และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง
ผมได้โทรเข้าไปสอบถามรายละเอียดกับสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ทางนั้นบอกว่าจะจัดฝึกอบรมแล้วนะเวลากระชั้นมาก ผมจึงจำเป็นต้องละงานอื่น และตัดสินใจเข้าร่วมสัมมนา วันแรกที่เข้าร่วมสัมมนาที่วังยางรีสอร์ท จ.สุพรรณบุรี รู้สึกบรรยากาศแปลกออกไปเช่น ให้นั่งพื้นตามสบาย แต่งกายลำลอง ไม่มีโปรเจคเตอร์ฉาย ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก แต่สัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่อบอุ่นด้วยมิตรภาพ ความเป็นกันเอง เพื่อนๆนพลักษณ์ที่เรียนด้วยกันมาจากหลากหลายอาชีพนะครับ ส่วนใหญ่ไม่ใช่นักธุรกิจ มีคนที่ทำธุรกิจอยู่ไม่กี่คนที่เข้าเรียนด้วยกัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรู้จักนพลักษณ์ เมื่อเรียนแล้วก็ปรารถนาอยากให้คนอื่นๆรู้จักวิชานี้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้รู้เท่าทันตนเอง และเข้าถึงผู้อื่นด้วย
คุณประวิทย์บริหารธุรกิจหลายกิจการ นอกจากวิชานพลักษณ์แล้ว คงมีการศึกษาและอบรมหลักสูตร หรือวิชาอื่นๆมาพอ
สมควร
คุณประวิทย์ : ผมสนับสนุนคนของเราให้เรียนรู้หลักการบริหารหลายด้านเช่น การบริหารจัดการ การตลาด การเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี บัญชีการเงิน คอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งการดูโหงวเฮ้ง หรือฮวงจุ้ย แต่ยังไม่เคยมีใครสอนด้านการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันอารมณ์ตนเองกับเท่าทันอารมณ์ของคนอื่น หรือรู้จักบุคลิกภาพของคนอื่นเหมือนวิชานพลักษณ์เลยครับ นพลักษณ์มีการใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาผสมผสานด้วย เพื่อดูแง่มุมของบุคลิกมนุษย์แต่ละประเภท แต่เป็นจิตวิทยาที่เรียนรู้ และเข้าใจได้ง่ายสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์อะไรให้ลึกซึ้ง ไม่ต้องเอาทฤษฎีต่างๆมาจับ ไม่มีคำศัพท์เทคนิคัลเข้าใจยาก แต่นพลักษณ์ใช้คำพูดง่ายๆใกล้ตัว ยอมรับว่าการรู้จักวิชานี้ทำให้เกิดความปลื้มปีติ และรู้สึกยินดีในการเรียนรู้ครับ
ตอนที่คุณประวิทย์อบรมแล้วรู้ว่าเราเป็นลักษณ์ 7 รู้สึกตรงกับตัวเรา หรือรู้สึกยังไงหลังจากอบรมแล้ว
คุณประวิทย์ : ระหว่างที่เรียนก็รู้สึกว่ามีคุณลักษณะหลายประการที่ตรงกับนิสัยของเรา วันแรกยังงงๆอยู่ ยังไม่ค่อยมั่นใจว่านี่คืออะไร มีลักษณ์ย่อย มีปีก มีอะไรต่อมิอะไร พอกลางคืนก็อ่านหนังสือทบทวน วันต่อมาเมื่อไปฟังเพิ่มเติมจึงเริ่มตระหนักว่าตนเองน่าจะอยู่ลักษณ์ 7 นะ ตอนแรกที่เรียนก็ยังสับสนคิดว่าอยู่ลักษณ์ 2 หรือเปล่า เพราะเป็นคนชอบเสียสละ ชอบให้คนนั้นคนนี้ ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนมาตลอด บางครั้งก็คิดว่าหรือเราเป็นลักษณ์ 8 นะ เพราะเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำคนอื่น แต่ก็ไม่ใช่ พอไปศึกษามากขึ้น ก็รู้ว่ามันคนละเรื่องกัน บางครั้งก็คิดว่าเราเป็นลักษณ์ 3 หรือเปล่า เพราะเมื่อทำอะไรอยากจะทำให้มันเสร็จนะครับ แต่เมื่อทบทวนนิสัยใจคอตัวเองจึงตระหนักว่าที่เราอยากทำให้มันสำเร็จลุล่วงจริงๆแล้วบางอย่างก็ไม่สำเร็จ แต่คนอื่นมาช่วยสานงานต่อให้เสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นพอศึกษาละเอียดขึ้นจึงพบว่าลักษณ์ 7 น่าเป็นตัวเรามากที่สุดครับ
คุณประวิทย์บริหารแบล็คแคนยอนจนประสบความสำเร็จ อะไรเป็นจุดสำคัญของความสำเร็จที่เกิดขึ้นคะ
คุณประวิทย์ : ผมว่าสำเร็จเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ถึงจุดหมายที่ผมพอใจที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่ผมบริหารธุรกิจมาได้จนทุกวันนี้นั้น เพราะผมหาคนเก่งๆ มาช่วย โชคดีที่ผมมีผู้ช่วยระดับคีย์เป็นลักษณ์ 3 หลายคนที่มาผลักดันสานต่อให้งานต่างๆสำเร็จด้วยดี เดิมเราก็ไม่ทราบว่าเขาเป็นลักษณ์ 3 แต่เมื่อได้ศึกษานพลักษณ์ และเริ่มวิเคราะห์คนแต่ละประเภทได้ดีขึ้น ประกอบกับได้ส่งเขาไปเรียนจึงรู้ว่าเป็นลักษณ์ 3 เมื่อก่อนเราไม่ทราบว่าทำไมบางคนที่เรามอบหมายงานอะไรไปก็ไม่ทำไม่ตัดสินใจซะที พอมาเรียนรู้ว่าเขาอาจจะอยู่ลักษณ์ 9 หรือลักษณ์ 6 ดังนั้นเมื่อมอบหมายงานให้ทำบางทีก็ต้องใช้วิธีจี้ ติดตาม ให้ข้อมูลชัดเจน รุกเร้าให้เขาตัดสินใจ ซึ่งก็ทำให้เขาปรับปรุงตัวเองได้ด้วย
ผมชอบคนลักษณ์ 3 มาช่วยทำงาน แต่ไม่ใช่คนลักษณ์อื่นไม่เหมาะสมนะครับ เพราะผมก็มีผู้ช่วยครบทุกลักษณ์ เช่นบางคนเป็นคนลักษณ์ 2 เขาเหมือนในตำราเลยก็คือทำงาน แต่ไม่ชอบแสดงออก แต่หากใช้เขาทำงานอะไรเขาจะทำงานสำเร็จเพื่อให้เราพอใจ เขาจะมีความสุขมากถ้าเราชมเขาเช่น คุณทำงานชิ้นนี้ได้ดีนะ แต่หากจะสนับสนุนให้ขึ้นไปแถวหน้า เขาไม่ชอบ ขอทำงานอยู่ข้างหลัง แต่คนลักษณ์ 3 ก็อาจมีวิธีการทำงานซึ่งมุ่งถึงความสำเร็จของงานมาก จนบางครั้งละเลยความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆบ้าง
ทราบว่ามีการส่งพนักงานเข้าร่วมอบรมนพลักษณ์แล้วหลายท่าน อยากทราบว่าทำไมถึงใช้ศาสตร์นี้ในการพัฒนาบุคลากร
คะ
คุณประวิทย์ : เราใช้หลายๆ ศาสตร์เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการนะครับ แต่ศาสตร์ที่เคยใช้ในอดีตจะเป็นการให้ความรู้เรื่องบริหารจัดการ การตลาด แนวคิดเรื่องการเป็นผู้บังคับบัญชา แต่เรายังไม่เคยส่งใครมาเรียนรู้เกี่ยวกับเบื้องลึกของคน เกี่ยวกับความเข้าใจบุคลิกภาพของคนที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น ผมเคยไปเรียนหลักสูตรบริหารจัดการซึ่งใช้ทฤษฎีต่างๆมาสอน แต่พอมาใช้ในชีวิตจริงแล้ว ไม่เห็นผลเท่านพลักษณ์ครับ แต่ก็อยู่ที่ความสนใจของแต่ละคนด้วย ถ้าผู้บริหารรู้จักใช้ประโยชน์จากนพลักษณ์อาจทำให้งานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้คนทำได้ราบรื่นขึ้น ได้ทราบว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ควรจะมอบหมายงานอะไร สำหรับบางคนถ้าให้ทำงานแบบนี้ไปอาจทำได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ก็จะให้งานอย่างอื่นไปทำเช่น ให้เขาไปคอยคิดโครงการใหม่ๆ ขึ้นมา บางคนรู้สึกเบื่อหน่ายที่ต้องพบปะ หรือไม่ชอบพบผู้คน ก็มอบหมายให้เขาไปรวบรวมข้อมูล งานด้านวิจัยสำรวจ เป็นต้น บางคนไปเรียนกลับมาแล้วยังสับสนอยู่ หรือไม่แน่ใจ เพราะเขายังไม่ได้ทบทวนศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้น อาจเนื่องจากไม่สนใจ หรือไม่รู้จักพัฒนาตนเอง
ตามประสบการณ์ หลังจากที่อบรมแล้วได้เรียนรู้อะไร เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในตัวเองและคนรอบข้าง
คุณประวิทย์ : ทำให้รู้เท่าทันตัวเองมากขึ้นนะครับ บางทีมีหลายๆเรื่องเข้ามาในสมองพร้อมๆกัน เราก็รู้จักสกรีนทิ้งบางอย่างออกไปบ้างแล้วหันมาตั้งใจทำงานที่สำคัญให้สำเร็จลุล่วง ดีกว่าที่จะไปฟุ้งซ่านกับหลายเรื่องเกินไปก็มามุ่งเน้นถึงการทำให้งานสำเร็จดีกว่า รู้จักควบคุมตนเอง เพราะเข้าใจพื้นฐานบุคลิกภาพคนอื่นมากขึ้น
มีบางช่วงที่กระจายงานออกไป และงานเริ่มเบาลงก็มีความรู้สึกว่าชอบความสงบ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่สงบไม่เป็น ช่วงสงบนี่ไม่ต้องการยุ่งกับใครเลย เริ่มใช้เวลาพักผ่อนบ้าง เพื่อทำให้สมองดีขึ้น แต่พอเริ่มพักผ่อน หรือว่ามีความสงบอยู่ได้ไม่นานปรากฏว่าสมองเริ่มจะฟุ้งซ่านอีกแล้ว ไม่รู้เพราะอะไรเหมือนกัน อาจแสดงว่าไม่ได้สงบจริง อาจต้องเรียนรู้การนั่งสมาธิให้มากขึ้น
อยากจะย้อนกลับไปคำถามเดิม การขยายตัวของบริษัทแบล็คแคนยอนต้องมีอะไรที่เป็นความเป็นคุณประวิทย์ แสดงว่าไม่
จำเป็นเสมอไปว่าความสำเร็จต้องอยู่ที่คนลักษณ์ 3 คนลักษณ์อื่นๆ ก็ทำได้ อะไรเป็นจุดผลักดันที่ทำให้คุณประวิทย์สามารถ
ทำให้กิจการต่างๆขยายตัว หรือตอบความต้องการของสังคมได้
คุณประวิทย์ : อย่างที่ผมเรียนให้ทราบ พอคิดแล้วต้องลงมือปฏิบัติ เราทำหน้าที่เป็นคนคิดโครงการแล้วก็หาคนมาศึกษาวิจัยแล้ว ก็มีคนมาทำงานสานต่อจนสำเร็จ ต้องกระตุ้นให้ทำงานเป็นทีม เมื่อมีคนมาช่วยแล้วก็ต้องคิดต่อไปว่าจะพัฒนาอย่างไรให้ดีขึ้นเช่น จะมีผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ๆ กาแฟประเภทไหน หรือไปเปิดสาขาเพิ่มตรงไหนดี จะใช้กลยุทธ์ในการตลาดอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจสำเร็จมากยิ่งขึ้นต่อไป ผมว่าคนทุกลักษณ์สามารถพัฒนาเป็นผู้นำได้ทั้งสิ้นถ้าเขาเอาชนะกิเลส หรือนิสัยที่ไม่ดีได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับประเภทของงาน หรืออาชีพด้วยครับ
เป็นลักษณะเด่นของคุณประวิทย์หรือเปล่าที่จะครีเอทอะไรได้ตลอดเวลาจึงทำให้เหมือนกับทำอะไรได้เร็วกว่าคนอื่น
คุณประวิทย์ : อันที่จริงผมว่าอยู่ตรงที่เราคิดแล้ว มีการวิเคราะห์แล้ว หากพบว่ามีโอกาสสำเร็จสูงก็ลงมือทำโดยไม่ลังเล ประกอบกับผมกล้าเสี่ยงทำงานหัวปักหัวปำ มีพลังตลอดเวลา หากเจอปัญหาก็คิดหาทางออกเพื่อแก้ไขได้เร็ว ทีมงานของผมทำงานด้วยกันมานาน แค่สบตาก็รู้ใจว่าต้องปฏิบัติงานอย่างไรให้เป็นผลสำเร็จ และทุกคนก็ทราบบทบาทหน้าที่ของตนอยู่แล้ว
ตรงนี้สอดคล้องกับความเป็นลักษณ์ของเราด้วยนะคะ แต่ไม่แน่ใจว่าเรื่องการใช้คน
คุณประวิทย์ : ครับ พยายามใช้คนให้ทำงานเป็นทีมมากกว่า จะไม่ทำด้วยตัวเองทั้งหมด คือไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ถ้าผมทำงานด้วยตัวเองโดยขาดทีมเวิร์คที่เข้มแข็งแล้ว ไม่มีทางที่งานจะสำเร็จได้อย่างราบรื่น เรารู้จุดอ่อนของเราตรงนั้นไงครับ แต่ในการใกล้ชิดกับผู้อื่นนั้น ผมจะมีความจริงใจกับผู้อื่นสูงมาก แต่หากเกลียดหรือไม่ชอบใครแล้วละก้อขอสาบส่งไปเลย
แล้วมีไหมคะ ความที่เป็นคนช่างคิด ช่างสร้างสรรค์ตลอด บางทีลูกน้องอาจจะตามงานที่เราคิดไว้ไม่ทัน
คุณประวิทย์ : แน่นอนครับ เป็นเรื่องปกติที่เขามักตามไม่ทัน เขาจะมีความรู้สึกว่าทำไมผมจึงมีจินตนาการและคิดโครงการมากมายเหลือเกิน สิ่งที่เรามอบหมายไปมีมากมายหลายอย่าง นึกอะไรออกปุ๊บจะบอกความคิดของเราออกมาเลย ถ้าไม่บันทึกไว้บางทีจะลืม เพราะฉะนั้นอยู่ที่บ้านหรือที่ทำงานจะมีเศษกระดาษหรือเทปคอยเตือน อาจจะเพราะอายุมากแล้วด้วย จึงสมองไม่เฉียบไวเหมือนตอนหนุ่มๆ
ก่อนหน้านี้เคยสงสัยตัวเองไหมคะว่าทำไมถึงได้เป็นคนช่างคิด ช่างฝัน ช่างจินตนาการ
คุณประวิทย์ : ไม่ได้สงสัยตัวเอง อาจเพราะมันเป็นสิ่งที่ติดมากับตัวตั้งแต่เด็ก แต่รู้สึกหงุดหงิดกับคนอื่นว่า เมื่อเราคิดหรืออยากจะทำโครงการอะไรขึ้นมา ทำไมคิดตามเราไม่ค่อยทัน ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราบอกไป เกิดความรำคาญว่าทำไมหนอจึงไม่สามารถปฏิบัติงานได้ดังใจ ทั้งๆที่ผมดูแล้วไม่ยากเลย แต่ทำไมพวกเราจึงหาทางออกเองไม่ได้ ต้องให้เราช่วยชี้แนะ กระตุ้นตลอดเวลา ในอดีตจึงเป็นคนขี้หงุดหงิด และขี้รำคาญ
แล้วเดี๋ยวนี้เป็นยังไงบ้างคะ
คุณประวิทย์ : ตอนนี้ดีขึ้น นพลักษณ์มีข้อดีคือทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าคนทุกคนมีความแตกต่างกัน ทั้งบุคลิกภาพ และความคิด เราจะหวังให้คนอื่นมาคิดแบบเราก็ไม่ได้ ให้เราไปคิดแบบคนอื่นก็ไม่ได้เช่นกัน อีกทั้งตัวเราเองก็ยังมีกิเลส และความคิดยึดติดที่ต้องเอาชนะให้ได้อีกมากมาย
เห็นว่างานเยอะ ธุรกิจก็รัดตัวนะคะ แต่ดูไม่ค่อยเครียด
คุณประวิทย์ : รู้ได้ยังไง ใจนี้ร้อนรุ่ม แต่เนื่องจากอายุมากขึ้นก็ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น จริงๆแล้วผมน่าจะรู้จักนพลักษณ์ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว จะได้ทำอะไรรอบคอบ ระมัดระวัง และใจเย็นมากกว่านี้
บริหารงานหลายๆ อย่างแบบนี้เคยรู้สึกเบื่ออยากจะเลิกบ้างไหมคะ
คุณประวิทย์ : โอ้โห อยากเลิกมาก เพราะเป็นคนขี้เบื่อ คิดว่าถ้าใครมาซื้อกิจการ หรือมีใครบริหารได้ดีกว่าเราก็ยินดีที่จะผลักดันให้ขึ้นมาช่วย เพราะไม่อย่างนั้นมีความรู้สึกว่าอยู่กับงานประจำแล้วทนไม่ค่อยได้ ซ้ำซากมาก เวลาเรียกประชุมนี่ผมจะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญตนเอง แต่บางทีก็ต้องอยู่ในที่ประชุมเพราะเป็นประธานที่ประชุม ยิ่งมาพูดเรื่องตัวเลขหรืออะไรที่เยิ่นเย้อ ยืดยาดแล้วละก็จะบ้าตาย อยู่กับงานประจำซ้ำๆซากๆไม่ได้เลย จึงต้องคอยเตือนตนเอง และพยายามอดทนมากขึ้น
ยังโชคดีที่ลักษณะงานทุกวันนี้ยังมีอะไรที่ท้าทาย และมีสิ่งแปลกใหม่ให้เราได้คิด ได้ปฏิบัติตลอดเวลา ทีมงานผมมีประสบการณ์ และความมุ่งมั่นสูง ทำให้ทำงานแล้วสนุกไม่เบื่อง่าย จะเบื่ออย่างเดียวคือ ไม่ชอบประชุมนานๆ หรือทำอะไรซ้ำๆซากๆตลอดเวลา
แต่ก็ได้ยินว่าเวลาเจออุปสรรคถือเป็นโอกาส ต้องวิ่งเข้าหา
คุณประวิทย์ : ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแม้ธุรกิจร้านกาแฟยังไปได้ดี แต่ธุรกิจไอทีเราก็เจอปัญหาเหมือนที่คนอื่นก็เจอนั่นแหละครับ เราประสบปัญหา ทั้งจากหุ้นส่วน ยอดขายต่ำกว่าเป้าปัญหาหนี้สิน แม้แต่ผู้บริหารที่เราไว้ใจ และมอบหมายความรับผิดชอบมาตลอด บางคนนอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้วยังซ้ำเติม หรือก่อปัญหาซ้ำลงไปอีก ก็พยายามใช้ความอดทน ใช้สติปัญญาเท่าที่มีอยู่ เข้าไปแก้ปัญหาทีละเปราะๆ ผิดบ้างถูกบ้างแต่ก็สามารถผ่านวิกฤตในหลายๆ ครั้งมาได้ บางทีรู้สึกอัศจรรย์เมื่อมองย้อนไปว่าทำไมปัญหาที่มันวิกฤตมากๆจนไม่น่าจะแก้ได้เราก็ยังผ่านพ้นมาได้ เช่นมีช่วงหนึ่งที่วิกฤตมากจนผู้บริหารชุดเดิมที่เราให้เขาบริหารอยู่บอกว่าธุรกิจมันเจ๊งแล้ว ทุกคนทิ้งเลย ทิ้งภาระและปัญหาที่พวกเขาก่อมาให้เราหมด
เราเห็นสิ่งที่เขาก่อขึ้นมาแล้วก็ปาดเหงื่อว่าไปไม่รอดแน่ แต่แล้วก็ต้องมานั่งรวบรวมสมาธิ ลงมือแก้ไขปัญหาทีละเปลาะๆว่าถ้าปัญหาเป็นแบบนี้เราควรแก้ตรงไหน บางครั้งก็เดินไปคุยกับสถาบันการเงิน ไปคุยกับเจ้าหนี้ ไปคุยกับลูกค้า เรียกประชุมลูกน้อง คุยกับเพื่อนร่วมงานที่ยังพร้อมร่วมสู้กับเรา ช่วยกันแก้ไขทีละอย่างๆ ก็สามารถแก้ได้ครับ หลายคนพอเขาเจอปัญหาแล้วเขาทิ้งบริษัทไปก็มี หรือคิดว่าไม่เอาแล้วไปทำงานที่อื่นดีกว่า คนประเภทนั้นผมเจอมาไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่กับเราจนผ่านพ้นวิกฤติ และฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คิด อาจจะเพราะว่าเราสะสมความดีไว้มากก็ได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงช่วยให้เราเอาชนะปัญหาอุปสรรคมาได้ตลอด คนที่เคยก่อกรรมก่อปัญหา หรือทุจริตมาก็เห็นประสบเคราะห์กรรมต่างๆนานา โดยเราไม่ต้องไปทำอะไรเลย
อันนี้อาจจะเป็นลักษณะหนึ่งของคนลักษณ์ 7 ด้วยไหมคะที่มี Positive Thinking
คุณประวิทย์ : น่าจะมีส่วนนะครับในการมองโลกแง่ดี แต่การที่คิดในแง่ดีหลายครั้งก็ทำให้เราเจ็บปวด เพราะมองแต่แง่ดีของคน เมื่อไปเจอคนไม่ดีหักหลังเรา ทรยศเรา เอารัดเอาเปรียบ เอาแต่ประโยชน์จากเราเพียงฝ่ายเดียวตลอดเวลา โดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อเขา ไม่ได้มองความดี หรือความช่วยเหลือเกื้อกูลที่มีให้เขามาตลอดเลยก็รู้สึกเจ็บปวดบ้าง แต่ก็ไม่อาฆาต หรือนำมาคิดให้รกสมองนานหรอกครับ
เคยมีประสบการณ์
คุณประวิทย์ : เจอประสบการณ์ทั้งดีกับไม่ดี ที่ไม่ดีเช่น บางครั้งให้เขามาตลอดนะครับ หุ้นส่วนบางคนเงินเดือนเป็นแสน พอเจอปัญหาช่วงวิกฤติเราบอกว่าไม่ไหวแล้วช่วยกันลดเงินเดือนสัก 20% เพื่อประคองธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤติ เขารู้สึกไม่พอใจ ไม่ให้ความร่วมมือ เห็นแก่ตัวมาก ไม่รู้จักการเสียสละ ไม่มีน้ำใจต่อลูกน้องด้วย จะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ก็รู้ว่าบริษัทไปไม่ไหวกำลังจะเจ๊งอยู่แล้ว จึงเกิดการไม่เข้าใจกัน เราก็ไม่คิดว่าเขาจะมาทอดทิ้งเราได้ในช่วงวิกฤตเช่นนั้น บางคนเราเชื่อใจ และไว้ใจเขามาตลอด พอลาออกไปจึงพบปัญหามากมายที่ถูกนั่งทับสะสมไว้ บางคนตั้งใจให้ธุรกิจเจ๊ง เพราะเขาแอบสร้างธุรกิจส่วนตัวขึ้นมาแข่งขันไว้แล้ว โดยเราไม่ระแคะระคายมาก่อนเลย เพราะช่วงก่อนวิกฤติใครมาชวนลงทุนอะไรผมก็เข้าไปช่วยลงทุนกับพวกเขาหลายบริษัท ตอนหลังวิกฤติก็ตัดสินใจปิดบริษัทเน่าๆไปหลายบริษัท แต่โชคดีครับที่ผมเจอคนดีมากกว่าคนไม่ดี หุ้นส่วน และผู้บริหารที่ดีๆส่วนใหญ่จึงยังอยู่กับเรา และฝ่าฟันอุปสรรคจนมาถึงวันนี้ได้ ก็เป็นบทเรียนที่อยากสอนน้องๆว่าการทำธุรกิจใดๆ หากไม่แน่ใจเรื่องหุ้นส่วนแล้ว ทำเองดีกว่า
ย้อนกลับไปตรงโครงการส่งพนักงานเข้าอบรมนพลักษณ์นะคะ อยากทราบว่ามีการติดตามผลไหมคะ ว่าหลังจากอบรมแล้ว
มีการเปลี่ยนแปลงกับพนักงาน หรือองค์กรอย่างไรบ้างคะ
คุณประวิทย์ : เรียนให้ทราบตรงๆ ว่ายังไม่ได้ติดตามเขาอย่างใกล้ชิด นอกจากกลุ่มแรกที่ไปเรียนกลับมาเขาคุยกัน รู้สึกว่าเขาปรับตัวเองให้ชีวิตเขามีความสุข ความเข้าใจกันมากขึ้น แต่ทุกคนก็รู้สึกว่าคุ้มกับการที่บริษัทส่งไปเรียน และทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่ามากขึ้น
ส่งไปกี่รุ่นนะคะ
คุณประวิทย์ : 2-3 รุ่นครับ ตั้งใจจะส่งไปทุกรุ่นที่เปิดสอน ถ้าทราบนะครับ
ที่ส่งไปเป็นระดับไหน
คุณประวิทย์ : เริ่มจากผู้บริหารระดับสูง และระดับกลาง อยากจะส่งไปให้มากกว่านี้แต่ส่วนใหญ่พอจัดคิวแล้วก็มักจะมีภารกิจติดโน่นติดนี่ มีข้ออ้างกันตลอด เวลาที่จัดอบรมมักจะเป็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ คนที่ไม่มีความมุ่งมั่นก็อ้างว่าเป็นเวลาพักผ่อนบ้าง เป็นเวลาครอบครัวบ้าง ก็แปลกดีนะเราอุตส่าห์จ่ายค่าเรียน เพื่อให้เขาพัฒนาตนเองเขายังไม่อยากไป ขาดความกระตือรือร้น แต่ไม่บอกหรอกนะว่ามักจะเป็นคนลักษณ์ใด!(ยิ้ม)
ล่าสุดวันเกิดคุณประวิทย์ได้แจกหนังสือนพลักษณ์เบื้องต้นให้คนที่มาในงาน คิดอย่างไรคะ
คุณประวิทย์ : อยากให้ผู้คนรู้จักคำว่านพลักษณ์มากๆ เขาไม่สนใจก็ไม่เป็นไรแต่ต้องการให้คำว่านพลักษณ์เข้าไปอยู่ในความคิดเขาก่อน ถ้าเขาสนใจเขาก็ขวนขวายเปิดอ่านเอง บางคนเราส่งไปเรียนเพื่อจุดกระแสให้เขาอยากเรียนรู้ยิ่งขึ้น ยอมรับว่ามีหลายคนที่ไม่กระตือรือร้นเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตอนนี้ก็พยายามแนะนำนพลักษณ์ให้บรรดาเพื่อนฝูงทางธุรกิจฟัง ปีที่แล้วมีสัมมนางานหนึ่ง ซึ่งคนเข้าร่วมเกือบ 3,000 คน ชื่องาน The Power Of Change คุณศุภกิจเจ้าของพิซซ่าทูเดย์ที่เป็นเพื่อนกันเขาจัดหลักสูตรเกี่ยวกับการปลุกระดมให้คนมีกำลังใจ แล้วให้เวลาผมครึ่งชั่วโมงไปพูดเรื่องการบริหารจัดการ ผมจึงถือโอกาสเอาความรู้เรื่องนพลักษณ์เข้าไปเผยแพร่ ผู้ฟังก็สนใจกันดีนะครับ
คุณประวิทย์ได้พูดถึงนพลักษณ์ในแง่ไหนในงาน The Power Of Change และมันไปโยงกันยังไงคะ
คุณประวิทย์ : คือครึ่งชั่วโมงนี่น้อยมาก เราเลยเพียงแต่อธิบายว่านพลักษณ์คืออะไร แล้วก็เล่าว่าลักษณ์ทั้ง 9 มีอะไรบ้าง เอาแผนภาพนพลักษณ์ให้เขาดูกระตุ้นความสนใจผู้ร่วมงาน ตบท้ายเราก็ขึ้นสไลด์ว่าหากสนใจให้ติดต่อสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง หมายเลขโทรศัพท์นี้ ให้ไปซื้อหนังสือชื่อนี้ๆ มีอยู่ 4-5 เล่มที่เป็นภาษาไทย ครึ่งชั่วโมงมันไม่รู้จะพูดอะไรมากนัก ทราบว่าก็มีคนติดต่อไปที่สำนักพิมพ์อยู่บ้าง
ผมว่าอาจจะเป็นครั้งแรกนะครับที่คน 3,000 คนมารวมกันแล้วได้ยินคำว่านพลักษณ์พร้อมๆกัน ผมเคยไปพูดให้ผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ประมาณ 20 กว่าคนที่ธนาคารจัดฝึกอบรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแนวความคิดของผู้จัดการเขต ผู้จัดการเขตคนหนึ่งจะดูประมาณ 15-20 สาขา เขาไม่สามารถปรับตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของธนาคาร มีอะไรก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ โยนเรื่องมาสำนักงานใหญ่ ผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานใหญ่บอกว่าไม่ไหวนะเรื่องไม่เป็นเรื่องก็โยนมาให้พิจารณา ต้องรู้จักตัดสินใจกันเองบ้าง
ธนาคารอยากให้ผู้จัดการเขตมีความคิดเป็นผู้ประกอบการ ให้ผมไปพูดซัก 2-3 ชั่วโมง ผมบอกผมพูดไม่เก่งขอพูดแค่ 1 ชั่วโมง และสอดแทรกความรู้เรื่องนพลักษณ์ลงไป แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสนใจในเรื่องที่ผมพูด อาจเพราะผมเป็นคนลักษณ์ 7 ก็ได้นะ จึงมักจะสนใจเรื่องราวต่างๆมากกว่าคนอื่น
คิดว่าทำไมผู้บริหารบุคคลหรือใครต่างๆ ควรจะเรียนรู้ จุดเด่นของนพลักษณ์อยู่ตรงไหนหรือคะ
คุณประวิทย์ : การบริหารจัดการนี่ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวอยู่ที่คน บางทีเราไม่ใช้คนให้ตรงกับงาน หรือบางทีเราไปบังคับคนที่เขาไม่เหมาะกับงานให้ทำในสิ่งที่เราต้องการ เขาก็อาจทำด้วยความฝืนใจทำไปต่อต้านไป ทำแล้วก็ไม่ดี หรือทำเพียงครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่ทราบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ตอนหลังพอเริ่มรู้เท่าทัน เราก็พยายามใช้คนให้ตรงกับงานมากขึ้น ในการคัดสรรบุคคลากรใหม่ๆเข้ามา ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของเราที่รับผิดชอบการสัมภาษณ์ต้องรู้จักดูคน รู้จักอ่านคน ใช้นพลักษณ์ในการอ่าน และวิเคราะห์คนด้วยครับ
ยิ่งถ้าเจ้าตัวได้รู้จักตัวเองก็ยิ่งจะสามารถดึงศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ออกมามากขึ้น
คุณประวิทย์ : ถูกต้อง เอามาใช้ได้เต็มที่ หรือถ้าเขารู้ว่าจุดอ่อนของเขาคือตรงนี้ เขาก็ต้องเอาชนะจุดอ่อน หรือความคิดยึดติดให้ได้ด้วยตัวเขาเอง แล้วนำสิ่งนี้ไปประยุกต์ใช้กับครอบครัว หรือเพื่อนฝูง เพื่อจะมีความสุขกับการทำงาน มีความสุขกับชีวิตส่วนตัว ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้
เราไม่ได้เอาตรงนี้ไปใช้เพื่อทำร้ายใคร แต่ใช้เพื่อจะเพิ่มศักยภาพของทุกคน ทั้งต่อหน่วยงาน องค์กร ครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย ตลอดจนสังคมที่เราเป็นสมาชิก
คุณประวิทย์บอกว่ามันเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างง่าย
คุณประวิทย์ : ครับใช่ เพราะคนยังรู้จักนพลักษณ์กันน้อยจึงอาจไม่เข้าใจ และมองว่าเป็นศาสตร์ลึกลับหรือเปล่า เพราะฟังแต่ชื่อแล้วก็คงไม่รู้ว่ามันคืออะไร หากศึกษากันมากๆ และรู้จักนำนพลักษณ์มาใช้ มาเผยแพร่ให้มากขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติด้วย อยากให้คนรู้จักเยอะๆ
เมื่อพูดถึงคนทั้ง 9 ลักษณ์ เราจะเห็นโทนของลักษณะการมองอะไรที่ Positive คุณประวิทย์เป็นคนที่เวลามองอะไรมอง Positive หรือเปล่า
คุณประวิทย์ : ค่อนข้างมากครับ เพราะมองด้านเดียวเกินไป ทำให้หลายต่อหลายครั้งตัวเองต้องเจ็บปวด หรือผิดหวังกับการมองคนแต่ในแง่ดี จนละเลยอีกด้านหนึ่งของเขา
แล้วเวลาเจอเรื่องเจ็บปวด ปกติจะใช้วิธีใด
คุณประวิทย์ : ในอดีตมักไม่ยอมรับว่ามีปัญหา คิดว่าไม่สำคัญช่างมันเถอะ คือไม่เข้าไปเผชิญกับมันตรงๆคอยหลบเลี่ยง กลัวความเจ็บปวดที่จะตามมา
นพลักษณ์ทำให้เรารู้เท่าทันมากขึ้นไหม
คุณประวิทย์ : แน่นอนครับ นพลักษณ์สอนให้ตระหนัก และรู้เท่าทันครับ เวลาเจอความเจ็บปวดหรือไปเจอสิ่งที่เป็นปัญหาจึงต้องหัดเข้าไปชนบ้าง อย่าไปหนีมัน เพราะหนีแล้วมันก็ค้างเติ่งอยู่ตรงนั้นนะ อยู่ในปมลึกๆ ของหัวใจ ต้องกล้าเผชิญกับความเป็นจริงของชีวิต และสู้กับมัน
พูดเรื่องเกี่ยวกับความเจ็บปวดไปแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องความสนุกละคะเวลาทำงานหรือใช้ชีวิตคุณประวิทย์รู้สึกว่าตัวเองเห็นแง่
มุมสนุกหรือเห็นแง่มุมของความเพลิดเพลินอะไรยังไงบ้างคะ
คุณประวิทย์ : เวลาทำอะไรขึ้นมา ถ้าเป็นงานที่แปลกๆ ใหม่ๆ จะสนุกสนานกับมันมากแบบถึงไหนถึงกันเลย อย่างมีครั้งหนึ่งยกตัวอย่างนะครับ มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจะให้ช่วยดูงานแปลหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวสตาร์บัค เราก็สนใจ เพราะเคยอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษมาแล้ว เขาแปลไม่ค่อยถูกต้องอยู่บ้าง อาจเพราะเขาไม่เข้าใจศัพท์เรื่องกาแฟ หรือมีเวลาจำกัด เราบอกเอามาเลย แล้วก็ใช้เวลา 2 เดือนทุกคืนเลยนะ นอนตี 3 ตี 4 ไม่หลับไม่นอนเลย บางวันก็มาทำต่อที่ทำงาน เพื่อช่วยตรวจทาน และเรียบเรียงให้ถูกต้อง แปลออกมาพออ่านดูแล้วไม่ถูกใจก็แก้ไขใหม่ มีความรู้สึกเพลิดเพลินสนุกกับมันมาก
อะไรเป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้จดจ่อกับงานอย่างนั้นได้
คุณประวิทย์ : คิดว่าตัวเองชอบงานเขียน หรืองานเรียบเรียงอะไรให้ถ้อยคำออกมาไพเราะสวยงาม จะรู้สึกหงุดหงิดมากถ้าใครเขียนอะไรมาให้อ่านแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง
หรือถ้าทำงานใหม่ๆที่ท้าทาย และตนเองชอบละก้อ ถึงไหนถึงกัน ทำแบบไม่รู้จักความเหน็ดความเหนื่อย งานที่เป็นการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ด้วยกันผมชอบมาก แต่ขอทำ และช่วยอยู่เบื้องหลัง ไม่ชอบออกหน้าเป็นกรรมการ เพราะถ้าเป็นกรรมการแล้วจะเบื่อง่าย ไม่ชอบประชุม ให้ช่วยงานอยู่ข้างหลังดีกว่า สนุก และมีความสุขมากกว่า
รู้สึกสนุกกับการแปลใช่ไหมคะ
คุณประวิทย์ : สนุกกับการแปล การเขียนนะครับ แต่จะให้แปลตั้งแต่ต้น A–Z ไม่เอา รู้ตัวเองว่าไปไม่รอดแน่ เพราะไม่มีเวลาเพียงพอ แต่ถ้าใครเขียนมาบ้างแล้วตัวเองมาทำให้มันดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้นจะสนุกกับมัน
ลูกสาวคุณประวิทย์ก็เป็นคนลักษณ์ 7 สังเกตยังไงคะ
คุณประวิทย์ : สังเกตว่าเค้าก็เป็นคนชอบสนุกสนาน อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี ชอบทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ แต่พอทำสักพักหนึ่งจะรู้สึกเบื่อ ทำงานอะไรไปสักพักหนึ่งเค้าจะบ่นแล้ว เมื่อก่อนเราก็ไม่รู้ไม่เคยสังเกตตรงนี้ ตอนนี้เริ่มรู้แล้ว เค้าก็เริ่มรู้ตัวเองเหมือนกันว่าอันนี้มันเป็นเปลือกที่ไม่ดีนัก ต้องพยายามชนะใจตนเองให้ได้ เคยส่งไปเข้าคลาส 3 วันกับเพื่อนเค้า เค้าก็สนุกกับการเรียนนพลักษณ์นะ กลับมาเขาก็บอกคลาสนี้ดีจังเลย เพื่อนที่ไปเรียนก็สนใจ เคยบอกให้ไปชวนเพื่อนๆ ที่เรียนอยู่ที่จุฬาฯ หรือเพื่อนเก่ามัธยม เค้าก็บอกว่าอย่าไปชวนเลยพวกนั้นไม่สนใจหรอก ลูกสาวมีพัฒนาการในเรื่องรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองมากขึ้น มีสมาธิ และจดจ่อกับงานของตนเองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และคงเข้าใจในตัวผมดีขึ้นด้วย ว่าทำไมผมจึงทำงานหนัก และมีอะไรทำมากมาย ไม่รู้จักจบสิ้น
คำถามสุดท้ายค่ะ คุณประวิทย์มีอะไรจะฝากถึงคนที่ศึกษานพลักษณ์ไหมคะ
คุณประวิทย์ : ฝากเพื่อนๆนพลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงศึกษามาลึกซึ้งมากกว่าผมว่า เนื่องจากศาสตร์นี้เป็นศาสตร์ใหม่สำหรับคนไทย แม้ว่าเป็นสิ่งที่รวบรวมค้นคว้ามาตั้งแต่อดีตกาลยุคโบราณมาแล้ว แต่ผู้ที่ศึกษามาแล้วควรนำเอาศาสตร์นี้ไปช่วยเผยแพร่ให้คนรู้จักกันเยอะๆ แล้วก็ต้องหมั่นมาทบทวนวิชานพลักษณ์บ้าง เข้ามารับการอบรมอย่างสม่ำเสมอ แม้กระทั่งคลาสเบื้องต้น ถ้าเรามาเข้าอีกก็ยังเรียนรู้ได้ดีอีกมาก ได้รู้จักคนเยอะ เสริมความรู้ของเราให้แน่นขึ้นนะครับ
ผมเองถ้าสามารถจะทำอะไรให้วงการนพลักษณ์มีการตื่นตัวและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็ปวารณาตัวเองที่จะช่วยเท่าที่จะทำได้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีอะไรที่ผมช่วยได้ ผมช่วยเต็มที่อยู่แล้ว แต่อย่าคาดหวังเรื่องเวลา เพราะผมเป็นมนุษย์ที่ยุ่งกับภารกิจต่างๆ ตลอดเวลา จนเหมือนแบ่งเวลาไม่เป็น