enneagramthailand.org

บทสัมภาษณ์ ครูโรงเรียนรุ่งอรุณ


สัมภาษณ์ คุณอัจฉรา สมบูรณ์ (ครูอุ๊)

 

อยากให้ครูอุ๊  ช่วยเล่ารายละเอียดของโรงเรียนรุ่งอรุณ

ครูอุ๊:   เรามี 3 โรงเรียน  โรงเรียนเล็กดูแลอนุบาล ถึง ป.1  โรงเรียนประถมดูแลป.2 ถึง ป.6  กับชั้นคละ คือ ป.3, ป. 4  เรียนรวมกัน  กับโรงเรียนมัธยมดูแลมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย   สูงสุด คือ ม.6  แต่ตอนนี้เรามีนักเรียนถึง ม.5  ปีหน้าถึงจะขึ้น ม.6   โรงเรียนเปิดมาตั้งแต่ปี 4๐  เริ่มเตรียมการกันมา 3 ปี  ตั้งแต่ปี 37  สำหรับการก่อตั้งโรงเรียน   มีฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ  เช่น อาจารย์หมอประเวศเป็นผู้จุดประกายความคิด  มีอาจารย์เอกวิทย์   อาจารย์สุมน  อาจารย์กิติยวดี   ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ในวงการศึกษา  เป็นที่ปรึกษา  ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก เป็นที่ปรึกษาสูงสุด

นอกจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว  ก็ยังมีทีมทำงาน  ทีมทำงานนี้จะเป็นบุคคลไฟแรงที่อยากจะเห็นทางรอดของการศึกษา  อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นกลุ่มผู้ปกครองที่อยากเห็นทางรอดของเด็ก  ทั้งหมดนี้เข้ามาช่วยกัน  โรงเรียนนี้จึงเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนหลายกลุ่ม

  แนวทางหลัก ๆ ของเราคืออะไร  มาจากไหน  มีอะไรเป็นโมเดล หรือต้นแบบหรือไม่  นพลักษณ์เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร

ครูอุ๊:   เราคิดว่า เราทำการศึกษากันบนพื้นฐานของพุทธธรรม  จุดแรกที่ทำให้เราสนใจการทำโรงเรียน  ก็คือ  เราสนใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้มาก  และเราเชื่อว่า การเรียนรู้เป็นธรรมชาติของคน เป็นสิ่งที่ถ้าคนรู้จักมัน   และใช้มันเป็น  ก็เรียนรู้ได้เองตลอดชีวิต  และก็เกิดการพัฒนา  พอเรียนรู้เป็น  ก็มีความสุข  เกิดความสุขได้  คือจุดตั้งต้นตรงนี้  มันก็ทำให้ครู ต้องพาเด็กลงไปหาความจริง หาความดี ความงามของชีวิต  ไม่ได้เพ่งอยู่กับตำรา  เพ่งอยู่ที่สาระของมัน  ที่นี่ครูจะต้องพาเด็กไปถึงตรงนั้น  และพาไปไม่ใช่ด้วยใจธรรมดา  แต่ด้วยใจที่ต้องการพัฒนาคน

ที่นี่ครูต้องเขียนหน่วยการเรียนการสอนเอง  หน่วยการเรียนการสอนที่ครูต้องทำนี้  ทั้งหมดต้องใช้ความเป็นตัวตนของครูทำออกมา  การที่ต้องใช้ตัวตนตรงนั้นนี่  ครูก็เริ่มที่จะเห็นทุกข์นะ  คนเราเมื่องัดตัวตนออกมา  เผชิญกับอะไรบางอย่าง  ก็เริ่มเจ็บปวด  ทำให้ครูเริ่มหาเครื่องมือที่จะรู้จักตัวเอง  มันเป็นเงื่อนไขกันมา  นี้คือที่มาว่า  ทำไมนพลักษณ์จึงเข้ามา

แต่ละคนก็อาจจะได้จุดเริ่มต้น หรือการไปพบนพลักษณ์ต่างกัน  คุณต้อยพบผ่านท่านสันติกโร คุณหมอจันทร์เพ็ญ  และอาจารย์สุมนา    อย่างอุ๊นี่  รู้จักผ่านหนังสือที่จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมล  เรียกว่าศึกษาผ่านหนังสือมากกว่า  แต่ขณะนั้นไม่ได้ศึกษาจริงจัง  เริ่มเห็นว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าใจตัวเราได้ชิ้นหนึ่ง  มองมันเป็นเครื่องมือ

ตอนที่รู้สึกว่ามันมีประโยชน์จริง ๆ มากกว่าที่ได้จากการอ่าน  คือตอนที่พระดุษฏีท่านมาช่วยจัดอบรมครู ที่ผ่านมาโรงเรียนมักพาครูไปรู้จักตัวเอง  ให้ทำความเข้าใจกับตัวเอง   โดยพาไปปฏิบัติธรรมกันหลายรอบ  ศึกษาจากหลายอาจารย์ทีเดียว  สำหรับพระดุษฎีครั้งแรกที่ท่านเข้ามาช่วย  ก็ทำให้ที่สวนพุทธธรรม อยุธยา  ครั้งที่สองก็มาทำให้ที่โรงเรียน  ในครั้งนี้ท่านก็เอาเรื่องนพลักษณ์เข้ามาประยุกต์

ประโยชน์ที่ได้ มันไม่ใช่เพียงเนื้อหาความรู้นพลักษณ์อย่างเดียว  แต่กระบวนการที่ใช้สำคัญมาก  เพราะมันทำให้เกิดการรู้เขา รู้เรา  ความเข้าอกเข้าใจ  ที่ทำให้เกิดกับทีมงาน  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วย  มันน่าจะเอามาใช้ได้เลย  กับที่ทำงาน  กับคนที่ต้องทำงานด้วยกัน

ต่อจากนั้น คนที่สนใจอยู่แล้วก็เริ่มออกไปศึกษาต่อ  แล้วก็เริ่มที่จะจัดอบรมหรือศึกษากันเองด้วย   เอาสิ่งที่ท่านดุษฎีใช้ในระหว่างที่อยู่ด้วยกัน  2-3 วัน  ลงไปใช้กับทางทีมงาน  ก็เกิดผลดี  แต่ทีนี้ผลดีตรงนั้น   จะสรุปว่าเกิดจากการที่เรานำเอากระบวนการทำความเข้าใจในเรื่องนพลักษณ์ลงไป  ก็ไม่ใช่ทีเดียว  เพราะมันก็มีอย่างอื่นที่เรานำมาใช้ประกอบกันด้วยหลายอย่าง  ใส่ไปเป็นเหตุเป็นปัจจัยอยู่ตลอดเวลา  เพราะว่าเราต้องทำงานกับคนเยอะ  ก็ต้องหาทุกวิถีทางที่จะทำให้เขารู้จักกันให้มาก  เพื่อที่คุยกันเองให้ได้มากที่สุด  มันก็ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ

แต่ตัวที่บอกได้ว่า  นพลักษณ์ก็ติดตลาด  เพราะพอผ่านการอบรมนี้  คนก็จะคุยกันแบบ relax มากขึ้น  ด้วยการใช้ลักษณ์นั้น  ลักษณ์นี้มาอ้างอิงเป็นในทำนองเกิดความเข้าใจ  ในลักษณะที่มันมีคำอธิบาย  ก็เลยทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ  และทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน  ด้วยท่าทีสบาย ๆ  แต่เราก็ไม่ได้บังคับว่าทุกคน ต้องเข้าร่วม  บางคนก็อาจจะยังไม่มั่นใจก็มี  ขอแค่เริ่มศึกษา  ถ้าประจักษ์กับตัวเองจริง ๆ แล้ว  จึงค่อยลงลึกต่อไป

ในภาพรวมตอนนี้ก็อยู่ในระดับที่ทำให้ครูเริ่มที่จะเท่าทันตนเอง  รู้จักตัวเองมากขึ้น  รู้ว่าสติเป็นเรื่องสำคัญ  และขั้นต่อไปที่เราจะได้จากนพลักษณ์  เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว  ก็คือ เราจะมีหนทางที่จะก้าวข้ามตัวเองไปได้อย่างไร  อย่างที่ครูต้อยเจอ  ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ  คือการวางความเป็นลักษณ์ของตัวเองลงไปได้อย่างไร  รู้จักเอาลักษณะดี ๆ ของลักษณ์อื่น เอามาใช้ให้เป็น

   เป็นธรรมชาติของการศึกษานพลักษณ์  คือตอนแรกช่วยทำให้เรารู้จักตนเอง  หลังจากนั้น ก็ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น

ครูอุ๊:   ในกระบวนการตรงนี้  อยากจะบอกว่า ถ้าเราศึกษาเอาเองจากในหนังสือ  แล้วก็มาบอกตัวเอง  ลึก ๆ แล้วไม่ชัด  จริง ๆ แล้วนพลักษณ์ทำให้รู้ตัวเอง จากการสะท้อนของผู้อื่นด้วย  มันต้องมีปฏิสัมพันธ์  ส่วนประกอบที่สำคัญ คือ การนำเอาทฤษฎีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในลักษณะแบบกัลยาณมิตร  เพราะฉะนั้น มันจะสนุกมาก  ถ้าเราได้กลุ่มคนที่คุยกันถึงลักษณะ ถึงปัญหาของตัวเองได้  และก็บอกถึงการเรียนรู้ของตัวเอง  แลกเปลี่ยนกัน  เราสามารถใช้ตัวนี้สร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน  สร้างความอบอุ่นใจว่าเรามีเพื่อนร่วมงานจริงได้

  หลังจากที่ท่านสันติกโรเข้ามาในครั้งนั้น  ทางโรงเรียนได้มีการจัดกิจกรรมอะไรต่อเนื่องในการเรียนรู้นพลักษณ์ต่อหรือไม่

ครูอุ๊:   ตรงประถม  ก็มีการเอานพลักษณ์ไปแนะนำกับทีม

  ลูกทีมก็คือ ครูประถมด้วยกัน  ครูที่เข้าร่วมอบรมกับท่านสันติกโร  ก็แค่ส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดใช่ไหม

ครูอุ๊:   ครูของเราทั้งหมด  มี 132 คน  เป็นครูโรงเรียนเล็ก 34 คน  ครูประถม 5๐ กว่าคน  นอกนั้น ก็เป็นครูมัธยม  ในส่วนของโรงเรียนเล็กก็ทำกัน  หลังจากที่ท่านดุษฎีเข้ามาทำในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายนแล้ว ท่านสันติกโรก็เข้ามาเดือนพฤษภาคม  โรงเรียนประถมเพิ่งทำไปเมื่อเดือนมิถุนายน

  ครูประถมก็ทำกันเอง

ครูอุ๊:   ใช่  ทำกันเอง

  แล้วใครเป็นคนทำ

ครูอุ๊:   ครูใหญ่ประถม คือ ครูต้อย

ครูต้อย:  อบรมครูครั้งนี้ก็ทำกันเอง โดยใช้หนังสือและเอกสารที่มีอยู่ แต่ก็ได้อาศัยเวบไซด์นพลักษณ์นี้ด้วย โดยได้ print บทความของท่านสันติกโร เกี่ยวกับการให้อภัย และ เรื่องจรรยาบรรณนพลักษณ์ ก็เอาตรงนั้นมาคุยกับครูเขา ก็ชัดเจนขึ้น ช่วยการอธิบายของเรา ซึ่งบางทีเราเองยังไม่ชัดทั้งหมด

  นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่า เวบไซด์ลานนพลักษณ์นี้น่าจะช่วยได้ บางกลุ่มที่ได้ศึกษามาบ้างแล้ว ก็เก็บเป็นข้อมูลได้ บางกลุ่มที่ไม่ได้เข้าอบรม ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ได้ศึกษา และที่มีมากกว่าการอบรมหรือข้อมูลในหนังสือ คือเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายเข้ามาตั้งคำถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

ครูต้อย: ที่นี่เราจะเลือกเอาข้อมูลที่ตัองการใช้ เช่น เพื่อความชัดเจนในเบอร์ ก็มีครูวิทยาศ่าสตร์ที่ไป print รายละเอียดลักษณะของคนแต่ละเบอร์ออกมา แต่ในส่วนที่ต้อยใช้ เป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนกันในชุมชนนพลักษณ์ ในส่วนของประสบการณ์ และกระทู้ มันทำให้เราเหมือนกับ ได้เข้าไปแลกเปลี่ยนกับเขาด้วย อ่านดูแล้วบางอันใช่ บางอันก็ไม่ใช่ อันไหนที่ตรงกับตัวเรา เราก็เอาไปใช้

ครูอุ๊:   เรามีเป้าหมายเฉพาะ ในการที่จะสร้างทีมทำงาน เป็นการปูพื้นฐานให้เขารู้จักตัวเอง  รู้จักคนอื่น  กระบวนการทำความเข้าใจกับนพลักษณ์มันสอดคล้อง  ครูสามารถเอาไปใช้ในการเรียนการสอนและการทำงานร่วมกับเพื่อนครูได้ สำหรับคนจัดการอบรมเองก็ได้เรียนรู้เพิ่ม  มีสายตา ในการที่จะยอมรับความแตกต่างของคนอย่างง่ายดายขึ้น

  สรุปแล้ว  ตอนนี้เท่าที่ฟังก็คือ  ประโยชน์ข้อแรก  เพื่อเอามาพัฒนาตนเอง   ข้อที่สอง เพื่อประโยชน์การทำงานร่วมกันของทีมงาน  สามารถสามัคคี  และ ร่วมมือกันได้ดีขึ้น

ครูอุ๊:   ทีนี้  การทำงานไม่ใช่เพื่อให้ผลงานออกมาแค่นั้น  ในการทำงาน มันก็ต้องช่วยตัวเองและผู้อื่น ซึ่งคิดว่า นพลักษณ์  น่าจะมีประโยชน์ในส่วนตรงนี้

  แล้วมองว่า อนาคตต่อไป จะเอามาประยุกต์ใช้กับหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนยังไง

ครูอุ๊:   ตอนนี้ยังไม่ได้คิดไกลถึงขั้นนั้น   ยังเป็นเรื่องเฉพาะคน  คนนำไป apply กันบ้าง  แต่ก็ยังเป็นเรื่องเฉพาะคน

  ตัวแกนที่สนใจแล้วเริ่มนำมาแพร่หลาย นอกจากครูต้อยแล้ว  มีครูท่านไหนอีกบ้าง

ครูอุ๊:   ผู้อำนวยการท่านเป็นหลักสำคัญ  ท่านอื่น ๆ ก็มีครูจิ๋ว  ซึ่งเป็นครูอีกท่านหนึ่งที่สนใจมาก  ครูจูทำงานในสายผู้ปกครอง  ครูยุ้ย  ครูดา อยู่ในฝ่ายโรงเรียนประถม

  ที่พูดตอนต้นว่า โรงเรียนเน้นเรื่องกระบวนการเรียนรู้  อันนี้อาจจะนอกเรื่องนพลักษณ์ไปบ้าง  อยากทราบว่า ตอนนี้มองยังไง  แล้วได้ข้อสรุปยังไง  ว่ากระบวนการเรียนรู้ ที่เราทำที่นี่ต่างกับของคนอื่นอย่างไร

ครูอุ๊:   คำว่าเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของเรา  ก็คือ เราไม่ได้สอนเด็กตามตำราเล่มใดเล่มหนึ่ง  แต่เราพยายามที่จะพาเด็กเข้าไปรู้ ไปเข้าใจธรรมชาติ ไปรู้จักธรรมชาติ  แล้วก็รู้จักตัวเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  ไม่จำเป็นต้องเรียนเฉพาะในห้องเรียน การพาเข้าไปหาเรื่องพวกนี้  ก็ต้องพาไปพบกับเรื่องจริง ปฏิบัติจริง ไปเจอคนจริง

กระบวนการเรียนก็ไม่ใช่แต่รับเข้าอย่างเดียว  ก็คือเมื่อคนเรารู้แล้วว่า เรียนเรื่องหนึ่งเรื่องใด  รู้อะไร เข้าใจอะไร เขาก็ต้องบอก ถ่ายทอดให้เป็นได้  มันถึงจะครบถ้วนกระบวนความ  ซึ่งตรงนี้หากโรงเรียนที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้  ก็เพ่งให้จำ ให้รู้เฉพาะองค์ที่จัดมาให้  จะเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตก็ไม่สนใจ  แต่ตรงนี้ เมื่อเราตั้งโจทย์ไว้อย่างนี้  ครูก็ต้องพาเด็กไปสู่เรื่องจริงอยู่เสมอ

สุดท้ายของบทเรียน เด็กจะต้องรู้ว่า ส่วนใหญ่แล้ว ตัวเขาอยู่ตรงจุดไหนของเรื่องนี้  มีทางออกกับเรื่องเหล่านั้นได้อย่างไร  คือมันเรียนอยู่บนสถานการณ์จริง  โดยที่ตัวเองมีชีวิตที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์จริง  และรู้ว่า ตัวเองจะมีบทบาท จะทำอย่างไร และก็พูดเรื่องนั้น จากความเข้าใจจริง

สัมภาษณ์ คุณสุวรรณา ชีวพฤกษ์ (ครูต้อย)

ครูอุ๊:   ครูต้อย เป็นครูใหญ่โรงเรียนประถม  ดูแลชั้นเรียน ตั้งแต่ ป. 2 ถึง ป. 6

  จุดเริ่มต้นของเรื่องนพลักษณ์  เข้ามาที่นี่ได้อย่างไร

ครูต้อย:  ที่ตัวเองเริ่มเข้าไปรู้จักนพลักษณ์ก็  เมื่อ 4 ปีที่แล้ว  โดยได้เข้าอบรมร่วมกับคุณหมอจันทร์เพ็ญ คุณไก่ และพี่สุมนา  ก็เป็นครั้งแรกเลยที่ลงไปทำที่นครปฐม ที่มหาวิทยาลัยเกษตร กำแพงแสน  ไปเป็นกลุ่มกับทีมจากมหาวิทยาลัยมหิดล โภชนาการ  และเพื่อนที่มูลนิธิเด็ก 

ตอนนั้นรู้สึกค่อนข้างคับข้องใจ  เหมือนกับว่า  คนเราจะต้องมีเบอร์อยู่เพียง แค่ 9 ลักษณะนี้เหรอ  ตอนนั้นยังไม่รู้สึกประทับใจมาก  เพราะอบรมหลายวัน  และก็เครียดมาก  มีกิจกรรมตลอด  เริ่มตั้งแต่ ตี 4 ถึง 3 ทุ่ม  ยาวไม่ได้พักเลย  เหมือนกับไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจริง ๆ  และเป็นคนที่เราไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจกระบวนการทั้งหมดของการอบรมจริง ๆ

          มาในช่วง 2 ปีนี้  ได้เริ่มศึกษาธรรมะ และฝึกปฏิบัติการเจริญสติ    เราจึงเริ่มมองเห็นตัวเราเองชัดเจนขึ้น  จับอารมณ์ตัวเราเองได้ทันมากขึ้น  จึงรู้สึกว่า  เอ้อ ! จริง ๆ เรามีคุณลักษณะของเบอร์ 6 จริง   ซึ่งตอนนั้น ท่านสันติกโรบอกว่า  คุณน่ะ น่าจะเป็นเบอร์ 6 เพราะ คุณมีคาแร็กเตอร์บางอย่างซึ่งเหมือนเพื่อนของท่านเลย  เบอร์นี้ เวลาพูดคุยด้วย หน้าจะเป็นอย่างนี้  แต่คุณก็ต้องไปอ่านข้อมูล  และสังเกตตัวเองดูว่าใช่หรือไม่  แต่ตัวเองบอกว่า  เราไม่แน่ใจ

ต่อมาทางโรงเรียน  ก็เชิญพระดุษฎีมาอบรมเรื่องนพลักษณ์ ให้กับคุณครูในเดือนมิ.ย นี้เอง  ในการอบรมครั้งนี้เรารู้สึกว่าเราชัดเจนขึ้น  ตอนนั้นเพียงแค่ไปรับรู้เรื่องนพลักษณ์เท่านั้น   คือคุณลักษณะของแต่ละคน  และถ้ารู้ลักษณะตัวเรา  และเข้าใจตัวเอง  เราก็จะพัฒนาตัวเราเองต่อได้  ซึ่งเรายังไม่เข้าถึงตรงนั้น  จนกระทั่งเรามาได้ประเด็นธรรมะนี่แหละช่วย  ทำให้เราเข้าไปพิจารณาตัวเราเองมากขึ้น แล้วเราก็ยิ่งมาเริ่มชัดกับความเป็นนพลักษณ์

ต่อมาท่านสันติกโร มาทีโรงเรียน  มาอบรมอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อไม่นานมานี้เอง  พอท่านมาอีกครั้ง  รู้สึกว่า  ตัวเองมีคำถาม  ที่จะถามท่าน  คือเมื่อเราทราบลักษณะตัวเราเองแล้ว  และเราอยากพัฒนาตนเองให้พ้นจากกิเลสที่เราติดอยู่ได้อย่างไร  ท่านก็แจกแจงให้ฟังอย่างละเอียด  ตัวเองได้อานิสงส์จากวันนั้นมาก  ทำให้ตัวเองคลิกหลาย ๆ อย่างของตัวเอง  ที่จะก้าวพ้นขึ้นมา   ซึ่งท่านบอกว่าการที่จะก้าวพ้นได้ ครั้งแรกมันก็จะขลุกขลักหน่อย  ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ มันก็ยิ่งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยได้นำคำของท่านมาปฏิบัติต่อ

   ลองสรุปตรงนี้หน่อยได้ไหมครับ  เรื่องการเปลี่ยนแปลง ที่ว่าเกิดการคลิกตรงนี้นั้นเป็นอย่างไร  แล้วอานิสงส์ที่ได้นี้คืออะไร

ครูต้อย: จุดที่คลิกคือ กิเลสตัวใหญ่ของคนเบอร์  6  คือความกลัว  แต่เรามักจะปฏิเสธตัวเราเองว่า  เราไม่ได้กลัว  แต่ในส่วนลึกแล้วเรามีความกลัว  นั่นคือกลัวความไม่มั่นคงของตัวเรา

แล้วก็เริ่มมาสังเกต reaction ที่เราแสดงออกไปเรื่อย ๆ เวลามีเรื่องมาปะทะ จึงเห็นว่าปฏิกิริยาตอบสนองของตัวเอง  ก็เอ๊ะ! ทำไมเราจึงมีท่าทีแบบนั้น  คือเริ่มกลับมามองที่ใจตัวเราเอง  ว่าใจเราช่วงนั้น  คิดอะไรอยู่ เรากลัว เพราะ เราสั่นคลอนเรื่องอะไร  เรื่องความไม่มั่นคงของงาน  เรื่องความไม่มั่นคงของหน้าตาเรา  เรื่องความไม่มั่นคงของสถานะเรา  คือมันเริ่มไปสืบสาวตัวนี้ได้ลึกขึ้น  แล้วเราก็เริ่มแก้ไขให้หลุดได้เป็นเรื่อง ๆ

อย่างเช่น การรับฟังเมื่อมีผู้มาบอกกล่าวเรื่องราวต่าง ๆ  เราจะเริ่มไม่โต้ตอบเขาก่อน  เริ่มรับดูก่อน  และรับไว้ก่อน  ใบหน้าจะรับไว้ก่อน  เมื่อก่อนใบหน้าจะคิ้วขมวดทันทีเมือได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ   แล้วเราก็เริ่มเปลี่ยนตรงนี้  ใจเราไม่ได้ปิดไปซะก่อน  คือเปิดรับเขา  ท่าทีก็สบาย ๆ พอท่าทีเราสบาย เราก็จะฟังได้สบาย ๆ อาจจะสั่นคลอนในใจบ้าง  เราเริ่มจับได้ว่า  ใจสั่นหรือไม่สั่น  ถ้าสั่น  เราก็กลับไปหาว่า  วันนี้เราสั่นไปเพราะอะไร

ก็ใช้วิธีนี้  คิดย้อนไปย้อนมา  ทำให้พอครั้งต่อมา  เวลาที่ไปปะทะกับคน  มันพยายามจะไม่ไปลงร่องเดิมของเรา  ร่องเดิมที่จะไปปะทะกับเขาด้วยสีหน้าแบบนี้ก่อน  ตัวนี้ค่อย ๆทำไป  เมื่อก่อนเป็นคนเคร่งเครียด  คนก็จะเริ่มเจอความเบิกบานในตัวเรา ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลง  ให้เกิดผลที่ย้อนกลับมา  ตอบสนองให้เราชัดเจน  และมั่นคงในแนวทางนี้อีกทีหนึ่ง  เหมือนเป็น loop   ก็จะ react กลับไปกลับมา

ครูอุ๊:   คุณต้อยใช้บทเรียนนี้ได้ เพราะหน้าที่การงานคุณต้อย ต้องอยู่กับการเผชิญกับคน ทั้งเด็กทั้งผู้ปกครอง วันหนึ่งเป็นร้อย คุณต้อยเป็นครูใหญ่

  ผลที่ได้ไม่ใช่กับตัวเอง  แต่ได้ผลกับการงานด้วย

ครูต้อย:  ก็ใช้การงานนี่แหละ เป็นตัวทำเลย ใช้ตัวการงานเป็นตัวขัดตัวเอง เราคิดว่าเราจะไปพ้นมันไปได้ยังไง

  มีตัวอย่างรูปธรรมสักอันไหมครับ case อะไรที่หลุดออกมาจากของเดิมแต่ก่อน

ครูต้อย:  เอาที่เป็นรูปธรรม ก็คือ เมื่อก่อน  เวลาฝ่ายการบริหาร หรือฝ่ายบุคลากร มาบอกอะไรกับเรา  เราจะตั้งแง่ไว้ก่อน  ยิ่งถ้ามาบอก เกี่ยวกับลูกน้องเรา ว่าไม่ดีอะไรอย่างนี้  เราจะตั้งแง่ไว้ก่อน ไม่ฟัง

การตั้งแง่ คือมันเริ่มไม่ฟังแล้ว  เพราะใจเราจะคิดไปแล้วว่า เอ๊ะ! มีเหตุผลอย่างนี้  เพราะสถานการณ์เค้าเป็นอย่างนี้ เขาจึงต้องมีปฏิกิริยา หรือท่าทีแบบนี้ออกไป  ถ้าคุณจะมาพูดอย่างนี้ มันก็ไม่ถูกต้องนะ  เพราะว่าลูกน้องเรา อยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับ  เขาก็หนักอยู่แล้ว  เราก็จะ defence ตรงนี้ทันที

พอตอนหลัง เราเริ่มจะไม่ defence ก่อน เราฟัง ไหนครูไปเจออะไรมา  เราฟังเขา แล้วเขาก็เล่าให้เราฟัง   พอเขาเล่าให้เราฟัง เราเริ่มจับประเด็นที่เขาจะสื่อกับเราได้มากขึ้น  แล้วเราก็บอกว่า เออนี่ มันจุดตรงนี้ใช่มั้ย  เป็นประเด็นอย่างนี้ใช้มั้ย  แล้วประเด็นตรงนี้  เราก็ต้องพิจารณาด้วยว่า มันจริง หรือไม่จริง กับสถานการณ์นั้น ๆ แล้วถ้ามันจริง  เรายอมรับ แล้วเราก็จะมาแก้ไขมันอย่างไร

ครูอุ๊:   ตั้งหลักได้ ก็เห็นธรรม

ครูต้อย:  หรืออย่างเช่น การเผชิญหน้ากับลูกน้องตรง ๆ บางเรื่อง ซึ่งเรารู้สึกติดขัดกับเขา บางทีเราก็จะเกรงใจ ไม่กล้าเข้าไปบอกว่า  ตรงนี้ จุดนี้ ลองเพ่งมันดูหน่อย หรือช่วยเขาสาวว่า ประเด็นมันอยู่ที่ไหน  เราจะไม่กล้าเข้าไปบอกตรง ๆ  ก็จะใช้วิธีอ้อมภูเขาเลย  แล้วเขาก็ไม่แก้ไข

แต่เดี๋ยวนี้ ก่อนที่เราจะคุยกับเขา ตอนกลางคืน เราจะนั่งทบทวนก่อนแล้วว่า เราจะกลับไปพบคนคนนี้ไหม และถ้าเราจะไปพบกับเขา เราจะไปพูดกับเขาว่าด้วยเรื่องอะไร เราจะเข้าไป เพื่อที่จะชี้แจงให้เขาเห็น ช่วยเขา หรือว่าเราจะกำลังลงไปตัดสินเขา ไปวิพากษ์วิจารณ์เขา

ที่นี้พอใจมันบอกว่า จริง ๆแล้วเราจะลงไปช่วย พอใจมันบอกว่าจะลงไปช่วย มันก็ดึงกำลังใจมาส่วนหนึ่ง พอจะลงไปช่วย เราก็มาดูว่าจะไปช่วยด้วยประเด็นอะไร แล้วทำไมเราถึงต้องมาช่วยด้วยประเด็นตรงนี้ เราทำเพื่อตัวเราเอง หรือเราทำเพื่อเขา พอเราบอกตัวเองว่า เราทำเพื่อเขา แล้วเขาจะได้อะไรขึ้นมา เขาก็จะพัฒนาขึ้นมา เพื่อที่เขาจะทำงานได้ดีขึ้น

พอมันไปถึงตรงจุดนี้ ไอ้ความคับข้องใจเรา จะคลายลง แล้วมันก็เบา แล้วพอเรามาเจอกับเขาจริง ๆ การพูดมันจะค่อย ๆ ไหลออกไปเอง นี่ก็คือสิ่งที่ตัวเองเปลี่ยน เมื่อก่อนจะติดอยู่กับความไม่มั่นคงของตัวเอง ลังเล และรีรอ

   ใน case นี้  ถ้าเอาทฤษฎีนพลักษณ์มาจับ ก็อย่างที่เคยฟังท่านสันติกโรพูดกับคนเบอร์ 6 ครั้งหนึ่งว่า   คนเบอร์ 6 มีความกลัว  เพราะฉะนั้น จะทำอะไร ก็ไม่กล้า ลังเล จะไปว่าลูกน้อง หรือตอบโต้กับคนอื่น ก็กลัว

แต่วิธีที่คน 6 จะแก้ปัญหาความกลัวได้ ก็ด้วยการกลับไปสู่บารมีของคน 6 เอง ซึ่งก็คือ “ความศรัทธา”  การไปนั่งทบทวนตอนกลางคืน ก็คือ การเอา “ปัญญา” มานำ  แทนที่จะปล่อยให้ตัวกิเลส คือ “ความกลัว” พาไป  จนได้สรุปว่า เหตุผลที่เราต้องไปพูดเรื่องนี้  เพราะเพื่อช่วยเหลือเขา  ไม่ใช่เพื่อตัวเอง  ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราศรัทธา  เมื่อได้ความศรัทธามาเป็นที่ยึด  ความกลัวก็หมดไป

ครูอุ๊:   แต่ความศรัทธาตรงนั้น  ก็ต้องช่างสังเกตด้วย  เพราะมันเป็นเรื่องที่พ้นตัวตน เพราะว่าถ้ามันเป็นเหตุผล ที่มาจากความเป็นตัวตนของเรา  มีส่วนได้ส่วนเสียของเราเข้ามาเกี่ยวข้อง  มันจะหลอก

   อันนี้เป็นจุดแข็งของคน 6 เป็นบารมีของคน 6 เขาจะมีพลังมาก  เมื่อมีศรัทธา เขาสามารถดึงเอาตรงนี้ออกมาทำงานใหญ่ได้  case นี้เป็นตัวอย่างที่ดี

ครูต้อย: ใช่  เพราะยิ่งเรารู้กิเลส รู้บารมี รู้คุณธรรม รู้ตัวนั้นเป็นสิ่งที่เราดึงมาเหมือนกัน อย่างเช่น  ถ้าไม่กลัว ก็คือกล้าหาญ มันจะอยู่เป็นคู่กันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเรากลัว ก็ไม่ทำซักที หรือถ้าเราลังเล ก็ไม่ได้ลงมือกระทำสักที แต่ถ้าเราตัดสินใจว่า ทำแล้ว มันก็ไปกับการกระทำเลย ไม่ต้องมาคิด หรือลังเลอีก แล้วก็เริ่มมาจับคำพูดของตัวเองมากขึ้น  อะไรที่เป็นความลังเล เราก็ใช่ บางทีเราคุยกับใคร จะมีคำพูดว่า “หรือ” อยู่ตลอดเวลา คำพูดของเรา ก็แสดงตัวตนอยู่นะ จากจุดนี้ ก็ช่วยให้เรารู้ตัวมากขึ้น

สัมภาษณ์ คุณปภาวี (ครูดา) และคุณนงลักษณ์ (ครูยุ้ย)

  เริ่มสนใจนพลักษณ์จากจุดไหน ตรงไหน

ครูยุ้ย : เริ่มจากพี่ตู่ พี่ที่ทำงาน เห็นในหนังสือพิมพ์ ลองอ่านดู เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง หลังจากนั้นมีหนังสือออกมาก็เลยเปิดอ่าน ก็เห็นว่าเราน่าจะเป็นลักษณ์ไหน แต่ยังไม่ได้ทำอะไร จนกระทั่งมีการจัดให้ฟังที่ธรรมศาสตร์ก็เลยไป  แล้วก็เลยมาชวนพี่ดา

ครูดา : ก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับนพลักษณ์ เห็นหนังสือแว๊บ ๆ เขามาชวนก็เลยไป กลับมาแล้วตัวเองมีความสุขมากเลย รู้สึกดีที่มีคนลักษณะคล้ายเรา ตอนแรกคิดว่าตัวเองผิดปกติ มีอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้านตั้งเยอะ

   ที่รู้สึกว่าเราผิดแผกนี่เป็นเรื่องอะไร

ครูดา : หนึ่งเราเป็นคนที่มีของเขตส่วนตัวที่ชัดเจนมาก ใครเข้ามายุ่งกับเราตรงนี้เราจะรู้สึกไม่ดีเลย เรารู้สึกแปลกใจว่าทำไมเห็นคนอื่นเขาสนิทกันมาก ดูเหมือนเขาไม่มีขอบเขตระหว่างกัน เหมือนเป็นเพื่อนสนิทที่รักกันมาก ๆ เราเองก็มีเพื่อนสนิทเหมือนกัน แต่เราก็มีชีวิตความเป็นส่วนตัวของเรา ซึ่งเราจะหวงมากเลย  คิดว่าเอ เราเป็นอะไรกันแน่ ตอนแรกคิดว่าเราเห็นแก่ตัว แต่ก็ มันใช่แน่หรือเปล่า ? ก็สงสัย  นอกจากความเป็นส่วนตัว อีกอย่างหนึ่งก็คือเข้าคนยาก ไม่ใช่เข้าคนยาก แต่เลือกที่จะคบคน เพราะเราดูลักษณะว่าเข้ากับเราไม่ได้แน่นอนเราจะไม่เข้าไปยุ่งเลย พอดูว่าพอไหวเราจะเข้าไปรู้จักเขาก่อน เราจะเลือก

   หลังจากที่ได้มาเรียนรู้นพลักษณ์ อยากทราบว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัว หรือการเอามาใช้กับการทำงาน ได้ประโยชน์อะไรกลับมา

ครูดา: อย่างแรกเลย คือ  ตัวเองเข้าใจตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่ค้นหาตัวเองมาตลอดด้วยการปฏิบัติธรรมนานมาแล้ว แต่พอเจอนพลักษณ์รู้สึกมันเข้าใจตัวเอง การปฏิบัติธรรมมันเข้าใจตัวเองในเบื้องลึก ในความเป็นตัวตนของเรา แล้วมุ่งที่จะทำให้ตัวตนของเราใสขึ้น สะอาดขึ้น แต่นพลักษณ์เหมือนกับเนื้อข้างนอกที่มันหยาบกว่า เป็นรูปธรรมมากกว่า เป็นเนื้อหนังมากกว่า  รู้สึกว่าพึงพอใจกับตัวเองมากขึ้น ทั้งที่เดิมก็พอใจอยู่แล้ว มันมากขึ้น  แล้วหลังจากนั้นนอกจากอยากจะให้คนอื่นรู้จักแล้ว เราก็มีความรู้สึกว่าเรามุ่งที่จะเข้าใจคนอื่นด้วยว่าสิ่งที่เราทำก็มีเหตุผลตามนพลักษณ์ สิ่งที่เขาทำออกมาตอนแรกเราไม่เข้าใจ เราก็พยายามค้นหาว่าเขาน่าจะเป็นลักษณ์อะไร เขาทำอย่างนั้นเพราะอะไร

ครูยุ้ย: ถ้าของยุ้ยจะเป็นลักษณะ คือ  จะได้รู้จักตัวเองมากขึ้นคล้าย ๆ พี่ดา แต่ว่าที่มากกว่าพี่ดาคือเมื่อก่อนยุ้ยจะไม่เคยสังเกตตัวเอง จะปล่อยเลยไปผ่านไป  ได้สังเกตตัวเองมากขึ้น จริง ๆ  แล้วที่เราทำตัวเหมือนยุ่งตลอดเวลา เดี๋ยว ๆ ทำนู่นทำนี่ทำโน่น จะรู้สึกทนไม่ได้กับการที่ตัวเองจะต้องพัก ขี้เกียจนะ ไม่อยากทำหรอก รู้สึกผิด แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไม มีความสับสนก่อนหน้าที่จะศึกษามานานแล้ว อยากทำโน่นทำนี่ทำนั่นจริง ๆ แล้วทำเพื่ออะไรก็ไม่รู้   กลับมามองว่าเราทำเพราะฆ่าเวลา หรืออยากจะทำจริง ๆ  เริ่มมีความชั่งใจมากขึ้น  เริ่มเอ๊ะมากขึ้น  เมื่อก่อนจะไปเลย  ไปทำเรื่อยเปื่อย  กับคนอื่นเราจะมองว่า  อ้อเขาเป็นลักษณ์นี้นะ  จะเข้าใจเขามากขึ้น แม้จะยังไม่มากจนให้อภัยได้  เรารู้ว่าตัวเราก็มีส่วนไม่ดี  ยังมีคำถามอยู่ ทำไมเขาเป็นแบบนั้น   พอได้รู้จักนพลักษณ์ก็รู้สึกดีขึ้น  เขาก็คงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างกัน

  เอามาใช้ในเรื่องของการเป็นครูได้มากน้อยขนาดไหน

ครูดา  : จะใช้กับทั้ง 2 คน ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน  เราจะศึกษาจากใน web site ด้วย  มีความรู้สึกว่า ก่อนหน้านี้เราอยู่กับเด็กมาปีกว่า ๆ  เราไปเพ่งที่ความสามารถของเด็ก  ถ้าเก่งเราจะทำอย่างนี้ ๆ แต่ว่าเรื่องพฤติกรรมเราจะผ่านเลยไป  แต่รู้นพลักษณ์แล้ว ทำให้เราใส่ใจเขามากขึ้นว่า เพราะอะไรเขาเป็นแบบนั้น เขาเป็นเด็กลักษณ์ไหน เด็กลักษณ์ 8 จะเห็นได้ชัด  มันทำให้เราศึกษามากขึ้นว่าถ้าเราจะอยู่กับคน 8 เราควรทำอย่างไร คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับอาชีพ  ที่สำคัญคือเราจะพัฒนาเขาได้อย่างไร เรายังไม่เก่งพอที่จะสามารถไป classify เขาได้ชัด ๆ ว่าคนนี้คน 8 แน่นอน  คนนี้ 3 แน่นอน  ทำให้อยากจะรู้ลึกซึ้งกว่านี้ เพื่อที่จะเอามาใช้ในงานมากขึ้น  แล้วเวลาคุยกับผู้ปกครอง เราจะตั้งคำถามว่าทำไมคุณจึงทำอย่างนี้กับลูก   แรงจูงใจคืออะไร คำตอบชัดเจนพอควร พอเดาได้ว่าเขาน่าจะเป็นลักษณ์ไหน   แล้วเราก็เข้าใจเด็กมากขึ้น

ที่ได้แน่ ๆ เราเข้าใจเขามากขึ้น จากเดิมที่ความเข้าใจระหว่างครูกับศิษย์ก็มีอยู่แล้ว ตอนนี้เข้าใจ 9 แบบ  อย่างเช่นเขาเป็นเบอร์ 1 ลักษณะการทำงานก็เป็นแบบเบอร์ 1 เราจะคลายความเนี๊ยบของเขาอย่างไร หาลูกเล่นอะไรใส่เข้าไปให้เขาผ่อนคลาย และมองโลกในแง่อื่นบ้างก็น่าจะดี

  ในแง่ของครูเบอร์ 5 และ เบอร์ 9

ครูดา : เหมือนเดิม  การวางแผนที่เราจะทำอะไรกับกลุ่มไหนยังมี  แต่ว่าไม่ใช่เพ่งที่ความสามารถของเขาอย่างเดียว  เอ๊ะ เด็กคนนี้น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ทำไมเขาถึงทำไม่ได้ เขามีเหตุผลอะไรหรือเปล่า เขาอาจไม่ชอบ มันขัดอะไร  มีคำถามมากขึ้น จากเดิมที่จะต้องทำให้ได้

ครูยุ้ย :  จะเป็นลักษณะที่ว่าดูตัวเองมากกว่า  เพราะจะเริ่มรู้สึกว่า มันจำเป็นจะต้องชัดเจนมากขึ้น  มีความรู้สึกว่า ถ้าตัว O.K  จะลงสู่คนอื่นได้ชัดเจนขึ้น  ได้กลับมามองตัวเองมากขึ้นว่า ตัวเองจะต้องชัดเจนแค่ไหนเพื่อให้เด็กเขาชัดเจนมากขึ้น  บางครั้งการที่เราให้งานเขา  เราก็บอกออกไปเหมือนตีขลุม  ก็คือโยนไปคลุมเครือมาก ๆ แล้วเขาไม่รู้จะทำยังไง  เราก็ต้องไปลงช่วยทุกคน  คือมันเป็นความไม่ชัดของตัวเองด้วย  ทีนี้เลยเริ่มกลับมามองตัวเองว่าอะไรที่ตัวเองต้องการกันแน่  ก็เริ่มมาปรับตัวเองมากกว่า  ยังไม่ได้ดูคนรอบข้างซักเท่าไร  แต่ว่าก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็แล้วแต่สถานการณ์

  มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมั๊ยคะ  ที่ได้นำเอาเรื่องนพลักษณ์มาใช้แล้วรู้สึกได้ผล

ครูยุ้ย : ได้กลับมามองตัวเองให้ชัดเจนมากขึ้น แล้วเริ่มมีความรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เราเสียพลังงานไปเยอะมาก ๆ กับเรื่องที่ไร้สาระ มันไม่จำเป็น  ก็เลยเริ่มพยายามทำตัวเองให้เอาสักเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง เอาสักอย่างนึง  คนอื่นอาจรู้สึกว่าเรามนุษย์สัมพันธ์ดี ตัวเองจะรู้ว่าเข้ากับคนอื่นในลักษณะที่กลืนหายไป ถ้าจะต้องเจอสถานการณ์แบบนั้นบางทีจะหลบ จะเลี่ยง ตอนนี้เริ่มเข้าไปมากขึ้น ช่างมันเถอะ เจอก็เจอซิ  เมื่อก่อนจะรู้สึกว่าไม่อยากเจอ ไม่อยากปะทะ ไม่อยากให้เขาเห็น

ครูดา : เรารู้สึกมนุษย์สัมพันธ์ดีขึ้น เดิมที่เราระวังตัวเองมากถ้าเกิดเข้ากับกลุ่มนี้แล้วทำให้เราเสีย เราจะไม่เข้าเลย หลังจากที่เราศึกษาแล้วเราก็จะพยายามเข้าใจว่าถ้าเป็นคนนี้นะเราจะต้อง deal กับเขายังไง  ศึกษาข้อมูลก่อนมีความรู้มากพอแล้วเราก็พยายามจะ deal กับเขาในลักษณะนั้นนะ ตัวเขาเองก็อาจจะรู้สึกดีขึ้น เราเองก็รู้สึกดีขึ้นว่าเราก็สามารถที่จะพูดคุยกับคนได้หลายแบบ ไม่ใช่เลือกที่จะ deal กับใครที่เหมือนกับตัวเอง  มันเลือกไม่ได้เพราะว่าผู้ปกครองก็มีหลากหลาย จากเดิมเราสนิทกับคนนี้เราก็อยากจะคุยกับแต่คนนี้  รู้สึกตัวเองมีมนุษย์สัมพันธ์ดีขึ้น

 เด็กเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเรามากขึ้นมั๊ยคะ

ครูดา : เด็กก็เข้ามามากขึ้น เข้ามาเร็วกว่าที่คิด เดิมทีคิดว่าเทอม 2 ถึงจะเข้ามา ตอนนี้ไม่ถึงเทอม 2 ก็นัวเนีย  รู้สึกว่าได้เอามาใช้  เดิมคิดว่าตัวเองบกพร่องเรื่องคน แต่ว่าพอได้ตรงนี้มันเหมือนมาเติมเต็ม สบายใจด้วยว่าคนก็มี 9  แบบนี่แหละ ถ้าเขาไม่ใช่เบอร์นี้ก็เบอร์ใดเบอร์หนึ่งใน 9  ก็อาจเป็นความสบายใจของคน 5 ที่รู้สึกควบคุมได้ ที่จริงมันก็ไม่หรอก มันก็สบายใจไป   เป็นหนังสือที่กลับไปเปิดอ่านบ่อย ถ้ากับคนนี้ต้องทำยังไง

 เราเป็นครูที่ไม่ชอบนักเรียนแบบไหน

ครูยุ้ย : แบบก้าวร้าว ทำตัวไม่น่ารัก พูดจาไม่เพราะ แล้วก็บางทีทำตัวโดดเด่นในลักษณะที่ไม่ควรจะเป็น  ไม่ชอบคนที่แข็งมาก ๆ และมั่นใจมาก ๆ จะรู้สึกกลัว  เคยกลัวเด็ก สารภาพเลยกลัวเด็ก ครั้งแรกที่เข้ามาปีที่แล้วยังไม่เจอนพลักษณ์ เด็กคนหนึ่งที่ทางเขาเชื่อมั่นมาก แม่เขาก็สอนมาในลักษณะที่ให้ดูแลตัวเองตั้งแต่เด็ก เหมือนกับเขาจะอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องพึงพาใครอีกต่อไปแล้ว เขาสามารถทำได้แน่นอน 1๐๐ %  แล้วเราก็รู้สึกถึงความมั่นใจของเขา เรารู้สึกได้ว่าเราไม่กล้าไปเผชิญหน้ากับเขา หรือไม่กล้าจะไปพูด comment เขาในช่วงแรก แต่ช่วงหลังๆ รู้สึกดีขึ้น หลังจากศึกษานพลักษณ์ก็เริ่มดูตัวเองมากขึ้น  เราไม่ชอบเพราะมันอาจเป็นปมของเรามั้งคะ ว่าเราเองขาดความเชื่อมั่นเยอะ แล้วพอเจอคนที่มีความเชื่อมั่นก็รู้สึกกลัว แล้วจะถอยออกมา แต่ว่าเรื่องของ basic ทั่วไปไม่ชอบก้าวร้าว ครูทุกคนคงจะเป็น  พอรู้จักกับเขาพอสนิทกันแล้ว พอเขาเริ่มคลายลง  รู้สึกว่าเราสอนเขาได้มากขึ้น เมื่อก่อนรู้สึกว่า  เราจะคุยกับเด็กคนนี้อย่างไรดี  ค่อย ๆ ปรับเข้ามา  รู้จักนพลักษณ์แล้วได้วิเคราะห์ว่าเพราะอะไร มันมีที่มานะ ไม่ใช่เรารู้สึกผิดปกติหรือมันบ้า มันเป็นเพราะว่าเรามีวิธีคิดแบบนี้

ครูดา : ไม่ชอบเด็ก 8 ชอบเด็ก 1 มีเหตุผล ให้ทำอะไรก็ทำได้หมดเลย แบบพยายามมาก ชอบจังเลย  หลังจากรู้นพลักษณ์แล้วส่วนหนึ่งของเราก็เป็นคน 8  คือ เมื่อเรามั่นใจมาก ๆ ลูกศรอันหนึ่งจะไป 8  ก็เข้าใจเขามากขึ้น หาวิธีการที่จะ deal กับเขา  ปล่อยเขา เขาจะทำอะไรก็เรื่องของเขา พักนึง พอเขาสงบแล้วค่อยไปคุยกับเขา  ก่อนหน้านั้นพอโวยวาย ๆ เราก็จะรีบเข้าไปจัดการ ซึ่งมันไม่ได้ผล แรงเขายังไม่หมด เรายิ่งรู้สึกไม่ดีใหญ่เลย รู้สึกเหนื่อยเปลืองแรง  แล้วจัดการไม่ได้ ก็เลยออกอย่างนี้ ให้มันหมดแรงก่อน เดี๋ยวค่อยคุยกัน