enneagramthailand.org

รู้จักนพลักษณ์ตั้งแต่เมื่อไร

วาจาสิทธิ์ : ผมเจอบทความเกี่ยวกับนพลักษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชนประมาณปี 40  ก็โทรไปถามเพื่อจะเข้าอบรมเพราะเป็นเรื่องชอบ  แต่เที่ยวนั้นรู้สึกจะเต็มเลยมาอบรมปี 41  รุ่นนั้นมีไปอบรมประมาณ 10 คน มีอาจารย์ 4 คน (อ.สันติกโร, อ.จันทร์เพ็ญ, อ.สุมนา และ อ.ไก่)  ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร  สนใจตรงคำที่เขียนว่าเกี่ยวกับการ “พัฒนาตนเอง”

 

ได้เรียนรู้อะไรจากการอบรมครั้งนี้

วาจาสิทธิ์ : ก็มากดี ตอนนั้นอาจารย์ก็ใช้กิจกรรมเยอะแยะ ทุ่มเทที่กิจกรรมมากเลย เช่น Role Play (การแสดงเป็นตัวบุคคลตามที่บทกำหนดให้)  มีอยู่คืนสุดท้ายเป็นละคอนสดแบบ Impromptu  Role Play  ความเป็นลักษณ์ของแต่ละคนมันแสดงออกมาตรงนั้นเลย  อาจารย์ให้แบ่งกลุ่มเล่นละครแบบไม่ให้มีเวลาคิดมากนัก เสร็จจาก Role Play อาจารย์สันติกโรก็อธิบาย และสรุป ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนทุกคน ผมฟังท่านเฉลยแล้วก็ รู้สึก โอ้โห น่าทึ่งมาก ไม่เคยเจออะไรอย่างนี้มาก่อน อย่างผมถ้าจะให้ทำอะไรหรือแสดงออกก็จะบ่น ไม่ชอบ  ขณะที่ผู้อบรมอีกท่านที่เป็นศิลปินและเป็นคน 4  กลุ่มของเขาเตรียมกันมาว่าจะแสดงอะไร เขาก็แหกบทหมดเลย  ซึ่งก็ตรงกับชีวิตเขาที่บอกว่าจะทำอะไรแต่แบบนี้

 

บทสรุปจากการอบรมครั้งแรกได้ว่า

วาจาสิทธิ์ : ขั้นแรกก็เป็นความสุขที่ได้รู้จักได้เข้าใจตัวเอง เหมือนกับที่ผมสนใจเรื่องทางสังคม การเมืองมาตั้งแต่เด็กนักเรียน เวลามีประเด็นทางสังคม เห็นใครเขียนอธิบาย ก็จะอ๋อๆ เป็นอย่างนี้เอง เพราะอย่างนี้ไง....มันสุขใจ..นี้ก็เหมือนกัน  แล้วมันอธิบายเรื่องที่เป็นตัวเราเองยิ่งชอบใหญ่เลย  หลังจากนั้นเป็นการมองเห็นข้อเสียในตัวเอง ที่นี้ก็อยู่ที่ตัวเองว่าเราจะแก้ไขตัวเอง  ทำให้ตัวเองดีขึ้นหรือเปล่า

 

ตอนกลับจาก training ครั้งแรก ผมนั่งรถกลับมากับ อ.สุมนา ผมก็ถามว่า "ชีวิตผมก็สบายๆอย่างนี้  เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จพอสมควร  ผมไม่เห็นต้องเปลี่ยนเลย ผมจะเปลี่ยนไปทำไม"  ผมคิดว่าทุกคนเป็นอย่างนี้เพราะเรื่อง personality ของเรามันกลายเป็นเกาะกำบังของแต่ละคนใช่ไหมผมคิดว่าทุกคนเมื่อมาถึงจุดนี้ของชีวิต ก็ต้องคิดว่าคุณก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ถึงคุณจะเป็นคน 4  ที่เศร้าๆ คุณก็มีความสุขแบบเศร้า ๆ นี้แหละตัวคุณ แล้วจะทำอย่างไร จะทำอย่างไรเมื่อคุณมาถึงจุดนี้ เหมือนกับที่ผมตั้งคำถาม "คุณจะเปลี่ยนมันทำไม"  คุณต้องมาถึงจุดที่คุณตระหนักว่า ที่คุณเป็นอยู่นะมันไม่สุขจริงหรอก
          

อย่างถ้าพูดถึงกรณีของคน 5 คือ ที่เป็นเรื่องที่ใกล้ที่สุด  คุณขาดมิติที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน   ถ้าถามว่าคุณจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยจนตายก็โอเค กลไกของคุณทำให้คุณรู้สึกเฉยๆ จริงนะ ไม่แคร์คนอื่นจริง ๆนะ  นั้นคือความไม่รู้ว่าคุณขาดเรื่องที่ขาด 
          

คนเราไม่ว่าคุณจะเกิดเป็นลักษณ์ไหนเป็นอย่างไร มันต้องมีการเต็ม มีทุกส่วนของชีวิตครบถ้วนอย่างผมก็คือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ไม่เปิดเผยแต่จริงๆ คนเรามันไม่ได้ มันต้องมีความรู้สึกเศร้าบ้าง หรืออารมณ์อื่นถ้าไม่เคยมี ก็ต้องโกรธเกรี้ยว ต้องเสียวฟันบ้าง มันถึงจะรู้ว่านี่ชีวิตนะ ถึงจะเข้าใจคนอื่นนะว่า เขาเศร้าแล้วเป็นอย่างไร ให้แบบถึงสะเทือนใจเลยนะ ไม่รู้ว่าจะเข้าใจหรือเปล่า  


คุณอาจจะอยู่ในโลกหนังสือ แต่หนังสือไม่พอหรอกมันทดแทนความเป็นคนไม่ได้  ถ้าคุณไม่สนใจตรงนี้พฤติกรรมคุณก็จะเป็นแบบไม่สน หยาบคายมาก  สำหรับตัวคุณเอง ก็จะแห้งมาก ขาดชีวิตชีวา
          

ถ้ามองแบบใจเป็นกลางนะผมว่ามันน่าเกลียดมาเลย แต่ก่อนผมก็ไม่ได้คิด สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนคือเห็นความน่าเกลียดของตัวเอง เห็นส่วนที่ขาดหายไปของตัวเอง

 

ขอตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่เราค้นพบและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

วาจาสิทธิ์ : อย่างเวลากลางวันผมก็กินข้าวแกงธรรมดา  ถ้าเป็นแต่ก่อนก็ไม่ต้องใช้คำพูดเลยเอานิ้วจิ้มๆ ชี้ๆ เอาก็คิดว่าไม่ผิดปกติอะไร บางทีคนขายย้อนถามกลับมาก็จะเฉย หรือไม่ก็แค่รับคำส่งๆ พยักหน้า ส่ายหน้า ในความคิดใต้สำนึก ก็คงเป็นแบบ จะเอาอะไรให้ก็เอา เร็ว ๆ อย่าเสียเวลา

 

พอมาย้อนคิดจากทฤษฎีตรงนี้อาจจะเป็นการประหยัดคำพูด  หรือว่าการพูดเป็นการแสดงอารมณ์อย่างหนึ่งซึ่งคน 5 พยายามหลักเลี่ยง  เวลาพูดคุยโต้ตอบกับใครผมก็จะพูดอะไรสั้นๆ ห้วนๆ คือ ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจใคร  อันนี้จะอธิบายว่าอะไร เหมือนฉันไม่แคร์แก  เหมือนเป็นการสื่อสารข้อความออกไปให้คนอื่นรู้ว่า นี่แหละฉัน อย่ามายุ่งวุ่นวายกับฉัน  ปล่อยให้ฉันอยู่คนเดียว  แต่คนเขาจะมองว่าผมเป็นคนกวนตีนมากกว่าอาจเป็นไปได้ว่าอยู่กับตัวเองมากเกินไป เลยรำคาญและไม่สนใจคนอื่น แต่เมื่อมาวิเคราะห์ดู ก็รู้ว่า นี่แหละความต้องการโลกส่วนตัวของเรา ความเชื่อที่วา เรามีเวลา เรี่ยวแรงจำกัด   และมันก็กลายไปเป็นที่มาของพฤติกรรมน่าเกลียดต่าง ๆ 

อีกตัวอย่างก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรู้มาก การสะสมความรู้  ถ้าคุณมองหน้าคน 5 บางคนจะรู้เลย  หน้าตามันหยิ่งๆ ในแบบที่ว่า กูรู้ กูฉลาด พวกมึงมันโง่  เนื่องจากเป็นคนที่ค้นคว้ามีความรู้เยอะ เป็นคนที่เรียกว่า "ยโสโอหังทางสติปัญญา"  นี่เป็นเรื่องน่าเกลียดอีกเรื่องหนึ่ง  คนที่เขาไม่รู้นะปกติ คุณรู้มากต่างหากที่ผิดปกติไม่เหมือนคนอื่น แต่มันไม่ใช่เหตุผลที่คุณจะมีกิริยาไม่ดีกับคนอื่น  คนรู้น้อยไม่ใช่คนผิดที่คุณจะไปทับถมได้  

 

ในความจริงคนอื่นเขาอาจรู้มากก็ได้ และนอกจากความรู้จำนวนมาก เขายังมีอย่างอื่น เช่นคน 4 ก็มีเรื่องของความสุนทรี  แต่คน 5 นอกจากความรู้มากแล้วไม่มีอะไรเลย  คุณเข้าใจหรือเปล่า เพื่อนก็ไม่ค่อยมี ถึงจะเป็นเพราะคุณว่า คุณเลือกจะไม่คบเองก็ตาม ประสบการณ์จริงก็ไม่ค่อยมี ก็เหลือแต่ความรู้เลยคลุกอยู่กับมัน แล้วที่ว่ารู้มากมันเป็นจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้  ก็ขึ้นอยู่กับคน 

 

ผมจะชี้ให้เห็นว่าคนอื่นอาจรู้ไม่จริงเหมือนกัน แต่เขามีมิติในชีวิตด้านอื่นๆ ก็เลยไม่ต้องมายึดกับสิ่งที่ตัวเองรู้ อันนี้ผมกำลังอธิบายในแง่เสียคน ๕ เนี่ย ถ้ามันไม่รู้ก็ไม่มีอย่างอื่นแล้ว..ฮึ..ฮึ  ก็อย่างที่ว่าที่รู้อาจจะรู้ผิดๆ ก็ได้ รู้ผิดๆ ก็เข้าใจว่ารู้  รู้แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ไม่รู้จะรู้ไปทำไม

 

แล้วเห็นทุกข์หรือเปล่า ?

วาจาสิทธิ์ : ทุกข์จริงๆ ไม่เห็นนะ ก็อย่างที่ว่ามันเหมือนกับการหลับไหล  ประเด็นความทุกข์สำหรับผมเอง ซึ่งเป็นคน 5 ที่อย่างเวลาไปอบรม  อาจารย์จะชอบถามว่าสุขทุกข์อะไร ผมบอกว่าผมสุขอยู่แล้ว ในทำนองสุขแบบสงบ ๆ  ไม่มีความทุกข์อะไร ความทุกข์นี่นึกไม่ออกจริงๆ อันนี้อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะของคน 5 อะไรไม่รู้เราจัดการได้หมด เราไม่ใส่ใจกับอารมณ์  เราไม่ปะทะกับเรื่องอารมณ์เราก็ไม่ทุกข์

 

ทุกข์แบบไม่รู้ตัว ?

วาจาสิทธิ์ : ถ้าอย่างนั้นมันคือ ทุกข์อะไรล่ะครับ มันไม่เชิงทุกข์หรอก เพียงแต่ว่าคุณขาดในอีกแง่ของชีวิต เรามองว่าไม่ค่อยดีมากกว่าในแง่(ชีวิต)ที่เป็นอยู่  คุณไม่ nice กับคนอื่นคุณปิดกั้น คนอื่น

 

นพลักษณ์ทำให้คุณมองเห็นตัวเองด้วยสายตาของคนอื่น...

วาจาสิทธิ์ : ใช่..เราเห็นมุมอื่นแล้วตระหนักได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องคับแคบอยู่อย่างนี้  อย่างประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาของคน 5  คือ มัวแต่คิด ไม่ยอมทำ  ผมชอบพูดเป็นตัวอย่างบ่อยว่า  ผมไปเห็นคน 7 ที่ไม่ค่อยรู้อะไรเลย กลับพูดเป็นต่อยหอย แต่เรา(คน5 ) รู้เยอะกว่าเขาแต่เราเงียบๆ  ทำไมเขารู้นิดหนึ่งเขากล้าพูดอะไรเยอะแยะ ก็มาย้อนคิดว่าสิ่งที่เราขาด คือ เราไม่ลงมือกระทำ เรากลัวรู้ไม่จริง  เมื่อเห็นด้านมืดของตัวเองตรงนี้มันก็ทำให้เราหลุดจากมุมมองแคบๆ อะไรได้ที่ไม่ใช่มุมมองของเราที่ติดตัวอยู่ อย่างอาจจะดูของคน 8 หรือศูนย์ท้องอื่น ๆ ที่ใช้สัญชาติญาณนำ ไม่ต้องเตรียมอะไรมากเขาก็ไปของเขาได้  เออ...ทำไมเราไม่ใช้วิธีนั้นบ้าง ซึ่งถ้าเราทำนะ เรามั่นใจว่าเราทำได้ดีกว่าเขาด้วย เพราะเรามีพื้นฐานอยู่แล้ว

 

เรื่องหลักในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากการเข้าใจนพลักษณ์ในตัวเอง

วาจาสิทธิ์ : เปิดรับมากขึ้น คุยกับคนอื่นมากขึ้น กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น เยอะแยะมาก  อันนี้ก็เกี่ยวกับลักษณ์ของเราด้วย คือหลาย ๆ อย่างต้องเริ่มจากความเข้าใจก่อน  เมื่อเข้าใจว่า ทำไมเราเป็นอย่างนี้ เป็นแล้วดี หรือเสียอย่างไร จะแก้ไขไปทำไม เป็นต้น

 

อย่างเรื่องที่เข้าใจตัวเองเรื่องหนึ่ง อย่างที่ คาเรน เวบ เขียนไว้ว่า คน 5 ที่เห็นภายนอกว่าเงียบ ๆ ไม่ยุ่งกับใคร อีกด้านหนึ่งในที่ส่วนตัว จะวางตัวเป็นใหญ่เหนือใครบอกตรงๆ เลยนะมีหนังสือของเฮเลน เวบ  เขียนว่า ที่คุณเห็นภายนอกมันเงียบ  อันนี้ก็เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการควบคุม ที่ไม่ยอมให้ใครมาควบคุมชีวิตของเรา   กลายมาเป็นที่มาของพฤติกรรมหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ใด จนพัฒนาเป็นบุคลิกของเขา ขุดลึกๆ ไปแล้ว เขาไม่ยอมให้ใครมาควบคุม มองดูตัวเองก็ใช่ ก็คือที่มาของการไม่สนใจใคร ไม่แคร์ใคร เมื่อวานก็ไปอ่านในเว็บไซต์หนึ่งเขาเขียนตรงมากเลยที่ว่า “Pleasure means nothing to fives” ความเพลิดเพลินทั่ว ๆ ไปไม่มีความหมายเลยสำหรับคน 5  เพราะเขาไม่ยอมให้ตัวเองตกอยู่ใตัเรื่องพวกนี้ ไม่ยอมติดรสอะไร เพราะเท่ากับว่าสิ่งนั้นก็จะควบคุมเขาได้  ไม่มีหรอกแบบ อาหารอร้อย อร่อย หนังสนุ้กสนุก  ทีมฟุตบอลที่จะเชียร์ จะเต้น  เรื่องนี้ก็คือด้านลึกของคน 5 ที่ต้องการอำนาจในการกำหนดชีวิตตนเอง

 

เป็นข้อสังเกตได้เลยว่าคนที่จะมาเป็นแฟนคน 5 คุณนะคุมเขาไม่ได้ คุณต้องปล่อยเต็มที่  แฟนต้องยอมตามเขา  มันเริ่มต้นตั้งแต่ต้นแล้วคน 5 ไม่เคยไปยอมตามจีบใคร  แฟนคน 5 จะไม่ใช่มาเรียกร้องแก้วแหวนเงินทอง มาจ้ะจ๋า เอานิสัยออดอ้อนมาใส่ ไม่ใช่เลย  ผู้หญิงสวยกรีดกรายไม่มีผลกับคน 5 เลย อย่างที่ว่าไปแล้ว มันเป็นประเด็นเรื่องการควบคุม ถ้าคุณยอม คุณยอมกับความสวยหรือ คุณปล่อยให้ความสวยมีอิทธิพลกับคุณหรือ...ไม่มีทาง...   นี่ก็เหมือนเดิม ยโสอีกแล้ว  ถ้าคุณปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย มันก็หลับไหลไปเรื่อย ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง  ไม่เกิดอะไรพัฒนา

 

อีกเรื่องที่ตรง คือ "การกำจัดความต้องการ"  คนเราอย่างไรก็ต้องมีความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  แต่คน 5 ที่ปิดกั้นอะไรมาตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นความเคยชิน  มันก็ไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วน แล้วถามว่าคน 5 ที่ไม่เคยมีความต้องการจะมาขอมีความต้องการเรื่องนี้คงไม่ใช่  คงเป็นการเปิดกว้างมากกว่า ยอมมีความสัมพันธ์ ยอมเสียเวลา ยอมใช้เวลากับคนอื่น  ซึ่งถ้าถามความจริงก็ยังไม่มีความต้องการ  แต่เป็นการต้องการแก้ไขตัวเองในจุดนี้มากกว่า

 

Personality มันเป็นเกราะที่แข็งแกร่งจนเราไม่รู้สึกสะเทือน  ทุกคนเหมือนกันนะ แต่รูปแบบประเด็นปัญหาคงต่างไป  อย่างของคน 8 ก็คงจะทะเลาะรบรากับใครจนเพื่อนดีๆ ตายกันหมด  จุดที่เป็นเหตุของการเปลี่ยนแปลงจะต่างกันก็มองดูเพื่อนที่หายไปทีละคน ทีละคนนี้   ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นเร็วก็ดี  ถ้ารอให้นานถึงวัยกลางคนอย่างที่เรียกว่า midlife crisis ก็จะหนักมาก อาจถึงตายได้


อบรมเสร็จแล้วอย่างไรต่อ 

วาจาสิทธิ์ : จากตัวเองที่ผมเห็นในเวบ ในหนังสือ ทำให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น    เรามองเห็นคนไม่ดี คนชั่ว นักการเมืองโกงกินอะไรก็แล้วแต่  ผมว่าพวกนี่เขาก็ทำไปโดยที่คิดว่าเขาเป็นคนดี เขาไม่รู้จักตัวเอง เมื่อเขารู้จักตัวเอง เห็นความน่าเกลียดของตัวเอง เขาก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง   ผมว่าเราจะไปชี้บอกว่าคุณเลว คุณเลว คงไม่ได้หรอก นอกจากตัวเขาเองจะยอมรับและเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ  แล้วก็คิดว่านพลักษณ์เป็นเครื่องมือที่จะทำให้รู้จักตัวเอง เห็นความน่าเกลียดของตัวเอง และเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของตัวเรา แล้วมันจะส่งผลต่อคนรอบข้างในวงกว้างต่อไป


สรุปว่าขั้นแรกคือการรู้(จักตัวเอง) ขั้นที่สองคือการเปลี่ยนแปลง(ตัวเอง) แต่ก็มีที่รู้แล้วไม่เปลี่ยนแปลงก็มี

วาจาสิทธิ์ : อันนั้นก็แล้วแต่ อย่างที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงบัว 4 เหล่า อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแล้ว ถ้าตัวเขาเองไม่เปลี่ยน เขาเลือกจะอยู่ใต้โคลนตมเป็นอาหารของเต่าก็ช่วยไม่ได้  คนเราก็เป็นอย่างนี้มาเป็นพันปีหมื่นปีแล้ว เรื่องธรรมดา แต่ผมไม่อยากเป็นอาหารเต่า ขอเป็นเต่า ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือสติ หรือการรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วแต่จะเรียก คือการรู้จักตัวเองจะรู้จักขณะยังหลับไหลก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะมันหลับอยู่หนะ  มันมืดบอด ทั้งการรู้จักตัวเองจากการสังเกตุด้วยสติ และการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็ต้องอาศัยสำนึกรู้นี้ทั้งนั้น เรื่องที่ยากคือ มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่กับเราเหมือนนิสัยได้  คุณต้องปลุกตัวเองตลอด อาศัยวิธีการต่าง ๆ เช่นอาจจะเป็นลมหายใจหรือเปิดสัมผัสทั้ง 5 ให้กว้างหรือดึงนักสังเกตการณ์ภายในออกมาจากตัวตนแล้วมองกลับไปที่ตัวคุณ  มันยากตรงนี้ ผมก็็พยายามทำอยู่ มันต้องระลึกที่จะทำตรงนี้ตลอด  ไม่สามารถฝึกให้ติดเป็นนิสัยได้ ไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ยอดมนุษย์ถึงเป็นกันยากไง

 

นอกจากนี้ การเดินไปข้างหน้าดุ่ย ๆ คนเดียวก็ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่เคยเดินคนเดียว มันเหงา มันไม่มีพลัง มันไม่แน่ใจจะเดินไปข้างหน้านี้ถูกหรือไม่ การเดินกันเป็นกลุ่มก้อนก็จะมีพลัง มีกำลังใจขึ้นมา  ขอให้อ่านที่ท่านสันติฯ เขียนในเรื่องชุมชน เรื่องสังฆะ (บทความ “แด่ชุมชนนพลักษณ์” ลานนพลักษณ์ ฉบับ 1)


โครงการแปลหนังสือที่ทำอยู่เป็นอย่างไร


วาจาสิทธิ์ : ก็อยู่ในขั้นขัดเกลากับบรรณาธิการ คงจะออกทันภายในปีนี้  เป็นหนังสือเล่มแรกของเฮเลน "The Enneagram : Understanding Yourself and the Others in your life" ก็ทำให้เข้าใจเนื้อหา ประเด็น ของนพลักษณ์ได้ดีขึ้นมาก อ่านไปแล้วบางตอน ก็ซึ้งไปกับมัน และเห็นปัญหาของแต่ละลักษณ์อย่างชัดเจน คือมันเป็นเรื่องเล่าจากชีวิตจริงที่รวบรวมจาก Panel ที่เฮเลนสัมภาษณ์  มันไม่ใช่เรื่องแต่ง มันถึงซาบซึ้งไง เช่น เรื่องของคนห้าที่มีสมบัติติดตัวเป็นเตียงพับได้  หนังสือ แล้วก็แมวหนึ่งตัว มันใช่เลยใช่ไหม หรือเรื่องของคนสามที่เล่นยิมนาสติคมา 3 ปี ตอนเลิกเล่นแล้วถึงรู้ว่าตัวแก เกลียดยิมนาสติคมากเข้าไส้หรือเรื่องสุด ๆ ของคนแปดที่อยากกินพิฃซ่าตอนดึก ขับมอเตอไซด์ไปแล้วตกหลุม เลือดไหลโชกตัว  เธอยังมุ่งมั่นกับการไปร้านพิฃซ่านั้นให้ทันก่อนที่ร้านจะปิด แปลแล้วก็ยากดี เพราะมันเกี่ยวกับชีวิตและวัฒนธรรมของคนที่นั่นด้วย  แต่ก็สนุก ชอบมาก ผมอยากให้มันเป็นหนังสือภาษาไทยที่เป็นแหล่งอ้างอิงหลักในเชิงทฤษฎี สำหรับผู้ต้องการศึกษาค้นคว้าตัวเองเหมือนที่เขามีกันในต่างประเทศ 
ที่ต่างประเทศเขาจะศึกษานพลักษณ์ด้วยตัวเอง เวลาขึ้น Panel เขาจะขึ้นได้เลย เขาจะศึกษาตัวเอง และสังเกตตัวเอง  เขาจะสามารถบอกประเด็นปัญหาของตัวเองให้คนอื่นๆ ฟังได้ชัดเจน แต่เมืองไทยที่ขาดตอนนี้คือ หนังสือที่สรุปประเด็นของแต่ละลักษณ์อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมจากชีวิตจริง  เล่มที่ผมแปลจะเป็นเล่มแรก ให้ได้ศึกษาตัวเองสะท้อนตัวเอง แล้วจะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง วันหลังถ้าเราแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเองในรูปแบบของ panel interview มันจะเป็นองค์ความรู้ที่พวกเรากำลังหากัน ไม่ใช่ทฤษฎี  เช่น ประเด็นนี้จากประสบการณ์คนไทยนี้ออกมาอย่างไร ออกมาเป็นพฤติกรรมอย่างไร ทุกวันนี้เรายังขาดข้อมูลประเด็นของแต่ละเบอร์เป็นอย่างไรบ้าง   เป็นตัวอย่างรูปธรรมจากชีวิตจริง มันต้องได้จากคนที่เข้าใจลักษณ์ แล้วก็ไปย้อนมองชีวิตตนเอง ผมคิดว่า พอเล่มนี้ออกไป ในการอบรมนพลักษณ์ เราจะมีสัดส่วนของคนหกและสามมากขึ้นกว่าเดิม เนี่ย แค่นี้มันก็มีประเด็นของมันอยู่ ลองดู


หนังสือเล่มนี้ต่างกับเล่มอื่นอย่างไร

 

วาจาสิทธิ์ : เล่มนี้จะลงลึกกว่า ครอบคลุมทั้งด้านจิตวิทยาและจิตวิญญาณ  ลงเป็นประเด็นปัญหา บางลักษณ์ก็จะลงเรื่องของกลไกป้องกันทางจิตที่เป็นปัญหา  อย่างของคน 6 ก็จะลงเรื่องของ Projection คือเรื่องความกลัว ความสงสัยที่เกิดจากภายในตัวเอง แต่คิดว่าเกิดจากภายนอก  เบอร์อื่นๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ต่างกัน เช่น คน 1 ก็จะเป็นเรื่องของความโกรธที่เก็บกด คน 5 ก็จะเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว  คน 7 ก็จะเป็นเรื่อง superiority ผมว่าเรื่องพวกนี้มันชัดเจนจริงนะ ขึ้นอยู่กับคนว่าสังเกตตัวเอง หรือว่าดูแลปัญหาของตัวเองหรือเปล่า ถ้าเอาจริงก็สามารถเอาประเด็นของลักษณ์นั้นๆมาเทียบเคียง ว่ามันเป็นสาเหตุของความทุกข์ของเราหรือเปล่า เราต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตไหม

 

โครงการจัดอบรมให้กับพนักงานของบริษัท


วาจาสิทธิ์ : ส่วนเรื่องการอบรมนพลักษณ์ที่บริษัท ผมเคยลอง typing interview กับพนักงานในบริษัทหลายคน ส่วนมากก็ใช้ได้ และได้ทำกับฝ่ายบุคคลและฝึกอบรมด้วย ก็เห็นประโยชน์กัน เลยเสนอว่าน่าทดลองเอานพลักษณ์มาใช้ในบริบทขององค์กรบ้าง  ก็เลยปรึกษาท่านสันติกโร ท่านก็แนะนำ โจเซฟิน ที่เป็นเพื่อนท่านชาวอังกฤษ  ผมก็ติดต่อกับเธอทางอีเมล์ แล้วลองคุยกับทางผู้จัดการ เขาก็โอเคที่จะให้เธอมาเป็นวิทยากรในครั้งนี้ ก็น่าตื่นตาตื่นใจดีว่าจะเป็นอย่างไร

 

การไปอบรมที่อเมริกา


วาจาสิทธิ์ : ต้นปี 44 ได้มีโอกาสไปอบรมหลักสูตรของเฮเลน พาร์มเมอร์ ซึ่งใช้เวลา 2 สัปดาห์ สัปดาห์แรกจะเป็นเรื่องนพลักษณ์ทั่วไป สัปดาห์ที่สองเป็นเรื่อง Typing Interview ถ้าต้องการเป็น ครูนพลักษณ์ที่รับรองโดยเฮเลน ก็ต้องไปทำการบ้าน ไปสัมภาษณ์คนอย่างว่า แล้วส่งเป็นวิดีโอให้ซุปเปอร์ไวเซอร์ตรวจทาน  แล้วก็ไปเข้าร่วมอบรมต่ออีก 1 สัปดาห์พร้อมกับทดสอบ  ถ้าผ่านการทดสอบต่างๆตามหลักสูตรทั้งหมดก็ได้ใบรับรอง ผมเองผ่านหลักสูตร 2 อาทิตย์ เรื่องใบรับรองก็คงรอจังหวะและโอกาส  อาจจะทำพร้อม ๆ กับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ทีเดียวถ้ามีการจัดในแถบเอเชียนี่

 

2 อาทิตย์ที่นั่น จะได้เห็นความสวยงามของนพลักษณ์ นอกจากคนที่บินมาจากต่างเมืองต่างรัฐแล้ว ก็มีมาจากอังกฤษ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และผมเองที่ไปจากไทย มันทำให้เห็นชัดว่า ศาสตร์นพลักษณ์นี้เป็นอะไรที่คุณสามารถเอาไปใช้ได้ทั้งโลก คนที่เข้ามาอบรมที่นี่เขาศึกษามาดีแล้ว ตัวอย่างที่เขายกมามันใช้ได้  เราก็เห็นพลังของระบบนี้  รูปแบบที่นั่นอาจารย์จะถามคำถามไป แล้วชี้ให้เห็นประเด็นที่มันจะออกมาเหมือนกันหมด

 

อย่างภาษาท่าทาง เวลาคน 6 นั่งเรียงแถว หน้าตามันเหมือนกันหมดเช่น เวลาขมวดคิ้ว  เวลาเล่าเรื่องหน้าตาก็จะดูตื่นตระหนก มันได้บรรยากาศมาก เห็นพลังที่ปรากฏมาของแต่ละเบอร์ว่าแตกต่างกัน เห็นท่าทางที่เป็นคน 5 เหมือนกันที่เป็นฝรั่ง คุณเชื่อไหม มันเหมือนผมเลยคนนึง แรก ๆ ที่ผมอ่านเอ็นเนียแกรม ผมตามไปอ่านเกอร์เจฟ ตามซื้อหนังสือของฮอนนาย์ คุ้นกับชื่อ Diamond Approach ตามไปค้นเวป เจออีกคนหนึ่งที่ชื่อ นิโคล ซึ่งเรียนกับเกอเจฟและอุสเปนสกี้ เขาเขียนหนังสือที่ผมอยากได้ ฝรั่งคนห้าคนนั้นมีหนังสือของด๊อคเตอร์นิโคลที่ว่านี่  มันไม่ใช่หนังสือ popular เลย คนที่ไปอบรมส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างเปิดเผยและดูมีจิตสำนึกทางสังคมพอสมควร ถ้ามีโอกาสก็อยากแนะนำให้ไปกัน คุณจะได้เห็นพลัง เห็นความมหัศจรรย์ของศาสตร์นี้

 

สุดท้ายนี้มีอะไรที่จะฝากถึงคนอี่นๆ ในแวดวงนพลักษณ์ของไทย


วาจาสิทธิ์ : การพัฒนาตนเองเป็นเรื่องต่อเนื่อง นพลักษณ์เป็นเพียงเครื่องมือตัวหนึ่ง ถ้าคุณรู้แล้วคุณไม่ทำอะไร ก็เนื่องจากกลไกป้องกันตัวเองของคุณ ถ้าคุณแก้ไขในจุดที่เป็นปัญหาก็จะทำให้ชีวิตคุณไปกับคนอื่นได้และมีความสุขขึ้น  ทั้งหมดอยู่ที่จิตสำนึกของตัวคุณเองว่าต้องการมีชีวิตที่เต็มหรือเปล่า ที่คุณคิดว่าสุขนะไม่จริงหรอก มันมีโลกอะไรที่ใหญ่กว่าโลกที่คุณอยู่ !