enneagramthailand.org

นพลักษณ์ กับแง่มุมทางพุทธศาสนา
โดย พระดุษฎี เมธ.งกุโร

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สนใจศึกษานพลักษณ์

ความสนใจมาจากหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรก คือ “พุทธวิธีครองใจคน” ของพันเอกปิ่น มุทุกันต์   ซึ่งแบ่งคนออกเป็น 6 จริต ว่ามีพฤติกรรม นิสัยอย่างไร ลักษณะคล้ายๆเป็นฮาว-ทูแบบพุทธ เข้าใจว่าหนังสือนี้ออกมาขณะที่สังคมไทยกังต้านกระแสฝรั่ง พวก
เดล คาร์นากี้ (Dale Carnegie) เล่มที่สอง คือ “แมลง กับมาลี” ของกฤษณา  อโศกสิน ที่มีตัวละครชาย-หญิง อย่างละ 12 คน ซึ่งเป็นคน 12 ราศี  มีอาชีพที่แตกต่างกัน และมีนิสัยเด่นเฉพาะตัว  ทำให้น่าสนใจ คิดว่าน่าค้นคว้าเรื่องธรรมะของคนแต่ละราศี พอมารู้จักกับนพลักษณ์ ก็ได้มันรายละเอียดขึ้นพอสมควรว่าคนมี 9 ประเภท  เช่น  สถานการณ์ปกติเป็นแบบหนึ่ง แต่เวลาคับขันก็เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง

การใช้นพลักษณ์ในชีวิตประจำวัน/ประจำวัด

เดี้ยวนี้เวลามองคนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ใช่จะยึดแบบที่เราต้องการคนเดียว แต่ต้องให้โยม, พระ, เณร, หมา, แมว มีความสุขด้วย  อาตมาเห็นประโยชน์ของนพลักษณ์  เพราะเราเจอคนที่ได้ประโยชน์จากนพลักษณ์หลายคน  นพลักษณ์ก็มีโทษได้เช่น คนที่เอาลักษณ์เป็นข้ออ้างแล้วไม่แก้ไขตัวเอง  อย่างบอกว่าเป็นคนโกรธง่ายหายเร็ว โกรธแล้วด่าเขา ตนเองหายโกรธ ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง มันไม่ใช่วิถีของพุทธ

นพลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม หรือเครื่องมือ เพื่อนชาวพุทธก็ถามว่านพลักษณ์เกี่ยวข้องอย่างไร ถึงต้องเอามาจัดอบรมในวัด  เราไม่ได้ถือว่านพลักษณ์เป็นคำตอบสูงสุดเป็นสัจจะแล้ว  นพลักษณ์ยังไม่สมบูรณ์ต้องเอาภาวนามาช่วย  แต่นพลักษณ์มองรายละเอียดต่างๆของปัญหาเกี่ยวกับตัวเราเองการเจริญสติของพุทธมีข้อปฏิบัติอย่างถูกต้องแต่ไม่มีการอธิบายถึงปัญหาตรงนี้  เหมือนที่การเจ็บป่วยอาจจะมีสาเหตุจากหลายๆอย่าง  ถ้าเรารู้อาการเจ็บป่วยแต่ไม่รักษา หรือรู้นพลักษณ์แต่ไม่ปฏิบัติขัดเกลาแก้ไขก็ไม่มีประโยชน์  ตรงกันข้าม บางคนหมั่นภาวนาเหมือนคนขยันออกกำลังกายก็ไม่เจ็บป่วย ก็เลยไม่ต้องสนใจเรื่องโรคภัยไข้เจ็บมากนัก

 อยากให้เปรียบเทียบนพลักษณ์ กับ คำสอนในพุทธศาสนา

นพลักษณ์เป็นโลกียะ ที่มาเชื่อมโยงกับการภาวนา แล้วจะทำให้เราเติบโตขึ้น  อย่างธรรมะ ข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ นพลักษณ์  เช่น สัปปุริสธรรม 7  หรือ ธรรม 7 ประการของคนดี   คือ รู้เหตุ, รู้ผล, รู้ตน, รู้ประมาณ, รู้กาล, รู้ชุมชน และรู้บุคคลอื่น พระพุทธเจ้าสอนว่าคนเราดีเพราะรู้   รู้แล้วทำถูกต้องเกี่ยวข้องกับ 7 เรื่อง 1. รู้เหตุ-ทุกอย่างมันมีเหตุ เช่น เรามีความสุขก็รู้ว่าใครทำอะไรให้เราบ้าง ถ้ารู้อย่างนี้จะเป็นคนกตัญญู เหตุที่ดีเราก็รักษาเอาไว้เพื่อให้มีความสุขต่อไป 2.รู้ผล-เมื่อเราทำอะไรอยู่ก็ถามว่าเราทำไปเพื่ออะไร  ก็ทำให้เรารู้เป้าหมาย 3.รู้ตน-การรู้ตัวเอง รู้พื้นฐานขัดจำกัดว่าเรานิสัยความถนัดอย่างไร 4.รู้จักความพอดี    5.รู้กาล-รู้ว่าควรจะทำอะไรก่อนหลัง 6.รู้ชุมชน-ว่าสถานที่ว่าเขาเคารพอะไร  7.รู้บุคคลอื่นเขาชอบแบบไหน  ถนัดอะไร  เพราะฉะนั้นนพลักษณ์จะตอบสนองข้อที่ 3 รู้จักตนเอง กับข้อ 7 รู้จักคนอื่น   

ในจริต 6  ก็จะกล่าวถึง 1.ราคะจริต-พวกรักสวยรักงาม รักระเบียบ แบบคนหนึ่ง  2.โทสะจริต-นี้ใจร้อน พวกศูนย์ท้อง  3.โมหะจริต-พวกซึมเซา  4.ศรัทธาจิต-โน้มน้าวไปทางเชื่อง่าย  5.พุทธจิต- 6. วิกจริต- ชอบย้ำคิดย้ำทำ ที่นี้ตัวนพลักษณ์เองก็บอกว่าจุดอ่อนของแต่คนละลักษณ์คืออะไร นี้เป็นประโยชน์มาก ทำให้เราคอยสังเกตตัวเอง แล้วมีสติ กิเลสของคนทั้ง  9 ก็เป็นกิเลสของมนุษย์ทั่วไปอยู่แล้ว  จริงๆ เราก็ต้องระวังกิเลสทั้งเก้า มีกลไกในการแก้ ในที่สุดก็ต้องไปให้พ้นจากมัน

นพลักษณ์สอนให้รู้ว่าเรามีอุปทาน เหมือนกับการใส่แว่นตาสีฟ้า บางอันก็เป็นขาว เขียว เผื่อใจไว้นิดหนึ่งว่าเราเห็นไม่เหมือนเขาไม่แปลก  แต่หน้าที่ของเราคือต้องถอดแว่น ในที่สุดแล้วเมื่อนั้นแต่ละคนก็จะเห็นอะไรใกล้เคียงกัน ในเรื่องของธรรมะที่เกี่ยวข้องก็จะมีเรื่องอุปทาน 4 อย่าง เรื่องมละเก้า คือมลทิน 9 อย่างหรืออุปกิเลส 16 อย่างก็จะอยู่ในกิเลสของนพลักษณ์ คิดว่าจะศึกษาต่อไปเปรียบเทียบกับนพลักษณ์ คนที่ศึกษานพลักษณ์โดยไม่ได้มีความรู้เรื่องพุทธศาสนาก็จะคิดว่านี้เป็นลัทธิแก้ ทำให้นพลักษณ์เขาเปลี่ยนไป ส่วนฝ่ายพุทธอาจจะไม่ชอบก็ได้ เพราะมันเป็นศาสตร์ที่มาจากตะวันออกกลาง จากอิสลาม จากคริสต์ จากนิยามสมัยใหม่ นพลักษณ์เป็นสายน้ำที่ผ่านมาหลายเมืองเหลือเกิน ผ่านแต่ละเมืองก็ต้องเอาแร่ธาตุอะไรติดมาด้วย

 การเอานพลักษณ์มาประสานประโยชน์

          นพลักษณ์เหมือนกับการแพทย์สมัยใหม่  เมื่อไรที่เราไปเชื่อนพลักษณ์หมด เหมือนเชื่อหมอสมัยใหม่หมดก็อันตราย เพราะบางอย่างหมอสมัยใหม่ก็ไม่รู้เหมือนอย่างที่คนโบราณรู้ เราอาจจะรู้จักนิสัยคนหมดเลยก็ได้  แต่ยังทุกข์อยู่เพราะเมื่อเกิดทุกข์ ต้องแก้ตัวเอง ต้องภาวนา และปรับวิถีใหม่ ในที่สุดป็ต้องมาปฎิบัติธรรม แต่จะใช้อะไรชักนำก็ได้  นพลักษณ์เป็นเครื่องมือที่ทำให้เห็นรายละเอียด  และเป็นวิธีที่ทำให้เห็นโรคชัดขึ้น  นพลักษณ์อาจจะมีวิธีแก้ ในแง่ของนักจิตวิทยา แต่เรามองในเรื่องพุทธศาสนา  ต้องเติมเรื่องของการภาวนาเข้าไป  แต่ภาวนาอย่ามองแค่เรื่องมานั่งสมาธิ  ภาวนามี 4 ฝ่าย ทั้งพัฒนากาย ศีล จิต และปัญญา

 ในการศึกษาพุทธศาสนา หรือการศึกษานพลักษณ์ก็ดี มักมีผู้มักยึดติดกับทฤษฎี, พิธีกรรม หรือความคิดของตนเอง อยากให้ฝากข้อเตือนใจไว้ตรงนี้

คนที่ถือพุทธศาสนาเป็นคำตอบเดียว ก็จะไม่มีทางเห็นจุดบอดของตนเอง จึงควรจะไปศึกษาของสำนักอื่นๆบ้าง ศาสนาอื่นๆ  มองพุทธศาสนาจากข้างนอก  นพลักษณ์ก็เหมือนกัน อย่าไปติดกับลักษณ์ที่ตายตัว แบ่งคนเป็น 9 เบอร์นั้นเป็นการทำเพื่ออะไร เพื่อการศึกษา  เพื่อการอธิบาย ถ้าเราคิดว่าเป็นหัว  ละเลยศูนย์อื่นก็ไม่ถูกนัก  คนที่สมบูรณ์ต้องเป็นทั้ง 3 ศูนย์ คือ Heart, Head, Hand ไม่ใช่ไปยึดที่จะเป็นลักษณ์ใด ลักษณ์หนึ่งแน่นอนตายตัวตลอดไป

เราศึกษาลักษณ์เพื่อถอดลักษณ์ หรือไปพ้นลักษณ์ต่างๆ ใช่ไหม ?