enneagramthailand.org

หนังสือเล่มนั้นจุดประกายความสนใจในวิชานพลักษณ์ให้อาจารย์อย่างไร

ท่านสันติกโร : เมื่อเพื่อนให้หนังสือเล่มนี้มาทีแรกเราก็ไม่อ่าน เพราะคิดว่าเป็น พวกนิวเอท (New Age) ซึ่งเราไม่ชอบ จนเมื่อไปพบบาทหลวงชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเพื่อนที่สนิทกัน และมีการทำงานร่วมกันเป็นระยะๆ ท่านได้อบรมนพลักษณ์มา  เมื่อพบกันท่านก็จะแซวว่าเราเป็นเบอร์ 1 อย่างนั้น อย่างนี้  เราซึ่งเป็นเบอร์ 1 จริง ๆ ก็เริ่มรำคาญและอยากจะรู้ว่าเป็นเบอร์ 1 อย่างไร  จึงเริ่มกลับมาอ่านหนังสือเล่มนั้น…ได้อ่านเบอร์ 1 แล้วมันเหมือนมีอะไรมาเตะเราที่ท้อง เช่น มื่ออ่านเจอว่า เบอร์ 1บ้าเรื่องความถูกต้องก็เหมือนถูกเตะครั้งหนึ่ง มันขี้โมโหก็ถูกเตะอีก อ่านไปจนจบส่วนของเบอร์ 1 ก็ยอมรับว่าเราเป็นเบอร์ 1 แน่ประเด็นที่จับใจเรามากที่สุด คือเรายึดมั่น   ถือมั่นในความถูกต้องเป็นใหญ่ อันนี้มันลึกอยู่ในกระแสความคิดอยู่แล้ว พออ่านเรื่องเบอร์ 1 ก็พบว่ากิเลสของ เราหลายเปอร์เซ็นต์ ันเนื่องจากยึดมั่นถือมั่นในความ ถูกต้อง เรื่องผิดเรื่องถูก เป็นต้น

Titleการถ่ายทอดวิชานพลักษณ์ในรูปแบบของ การอบรม การแปลหนังสือ การทำวิจัย และเว็บไซต์ที่ท่านเยี่ยมชมอยู่ในขณะนี้ ล้วนเกิดจากการริเริ่มของ พระสันติกโรภิกขุ ผู้นำวิชาการนี้เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย จากหนังสือเกี่ยวกับนพลักษณ์เล่มแรก Understanding Yourself And Others ของ เฮเลน พาล์มเมอร์ ที่ท่านได้รับจากเพื่อนเมื่อ 5-6 ปีก่อน อะไรคือความดีงามของศาสตร์แขนง

เราคิดว่าระบบนี้จะช่วยเราแยกแยะว่าแต่ละคนยึดมั่นถือมั่นอะไร อย่างไร  เช่นเดียวกับที่ พุทธศาสนามักจะพูดถึงสิ่งที่เรายึดติด  แต่ไม่ค่อยจะอธิบายใน รูปแบบวิธีการยึดติด (mode of clinging) หรือ สิ่งที่ไปยึดติด (object of clinging) เช่น  เราจะยึดมั่นถือมั่นกับระเบียบวัด ในกรณีนี้ระเบียบวัดเป็นobject หรือเป็นวัตถุที่ถูกยึดมั่นถือมั่น วิธีการยึดมั่นถือมั่นมี style หรือmode ที่แตกต่างกัน เช่น อาตมาจะมองว่าระเบียบของวัดในแง่ความถูกต้อง  มองว่าวัดนี้ระเบียบมันเละ ไม่เอาจริงเอาจังดีแต่พูด แต่อีกคนหนึ่งอาจจะมองว่าระเบียบของวัดนี้จำกัดเราอย่างมาก  อีกคนก็มองว่าระเบียบของวัดสร้างความมั่นคงให้ตัวเองมั่นคงสบายใจ แต่ละลักษณ์มีวิธีมี mode ที่ยึดมั่นถือมั่นของตน

 สรุปว่าที่สนใจวิชานพลักษณ์ เพราะทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น และสอดคล้องกับพุทธศาสนาได้หรือไม่

ท่านสันติกโร : มันมีหลายประเด็น 
1. นพลักษณ์ช่วยเราเข้าใจความทุกข์ที่มีสาเหตุของทุกข์ ส่งเสริมความรู้เรื่อง
อริยสัจจ์ 4 ที่ปฏิบัติอย่างไรเพื่อจะดับทุกข์  
2. ในเรื่องของวิปัสนาที่พูดถึง ขันธ์ 5  แม้นพลักษณ์จะไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่ที่ตรงกันในเรื่องของอนิจจัง ไม่มีตัวตนอะไรถาวรที่จะเป็นเจ้าของ  มันเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยขึ้นลงตามเรื่องราว 
3. สำหรับชาวพุทธการศึกษานพลักษณ์จะมองเห็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ง่าย เพราะว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะยึดว่าเป็นตัวเราก็คือบุคลิก ถ้าผู้สอนนพลักษณ์ที่ดีก็จะชี้ให้เห็นว่าบุคลิก หรือ type นั้นไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง

 มีพระ/คน มองไหมว่าอาจารย์ศึกษาวิชานอกรีต แทนที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาให้กระจ่าง

ท่านสันติกโร : ก็มี แต่เราเชื่อมั่นว่าเราเรียนในวิชาการที่ถูกต้อง ใครพูดจะอะไรก็ช่าง  และเราก็ไม่ได้ทิ้งพุทธศาสนา  เคยมีพระรูปหนึ่งท่านไม่เห็นด้วยที่เราศึกษา นพลักษณ์  ท่านพูดกับโยมท่านหนึ่ง  อาตมาก็ฝากโยมท่านนั้นว่าอาตมาขอเวลา ๒ ชั่วโมง แล้วจะชี้แจงว่า นพลักษณ์ไปด้วยกันกับอริยสัจจ์ ๔ อย่างไร  นพลักษณ์เชื่อมโยงกับไตรลักษณ์อย่างไร นพลักษณ์สัมพันธ์กับเรื่องอานาปานสติในมุมใด   นพลักษณ์เกี่ยวข้องกับปฏิจจสมุทปบาทแบบไหน แต่พระรูปนั้นก็ปฏิเสธที่จะฟังคำชี้แจงเราก็ต้องปล่อยไป คนแบบนั้นใจแคบอยู่แล้ว เราไม่สมควรที่จะเสียเวลาด้วย

คนที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากมักจะมองว่าศาสนาของตนสมบูรณ์ดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องศึกษาอะไรนอกเหนือจากนั้น  ซึ่งถูกหรือผิดอาตมาไม่ว่าถ้าเขาพอใจอย่างนั้นก็แล้วแต่เขา แต่สำหรับอาตมานอกจากพระพุทธศาสนาก็มีแนวทางการศึกษาอื่นๆที่เป็นประโยชน์ เช่น โยคะ ไทเก็ก  มันมีแนวคิด แนวการศึกษาที่เอามาใช้ประโยชน์ได้

 มีคนมองว่านพลักษณ์เป็นดาบสองคม ด้านลบที่ต้องระวังคืออะไร

ท่านสันติกโร : ถ้าดาบมี 2 คม สำหรับอาตมาไม่ได้แปลว่ามันต้องเป็นบวกกับลบ  พระพุทธเจ้าบอกว่าธรรมะเป็นดาบมี 2 คม ถ้าคนมีปัญญาถือไว้อย่างถูกต้องย่อมมีประโยชน์มหาศาล  แต่ถ้าคนโง่ไปจับผิดทางก็ใช้ไม่ถูก แม้แต่ธรรมะยังสร้างปัญหาได้ถ้าคนถือไว้อย่างไม่ถูกต้อง นพลักษณ์เรียนมา เพื่อใช้โดยสติปัญญา เพื่อช่วยคนอื่นดับทุกข์ เพื่อช่วยตัวเองดับทุกข์มันก็เป็นคุณ  แต่ถ้าใครศึกษาเพื่ออวดความรู้หรือศึกษาเพื่อยืนยันว่าฉันเบอร์ 2 เป็นคนเบอร์นี้ ต้องทำแบบนี้ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นโทษ  เหมือนกับชาวพุทธที่ยึดกับนิกายต่างๆ ว่าฉันเป็นเถรวาท เป็นมหายาน  หรือฉันเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อองค์นั้น องค์นี้

 จะเป็นปัญหาหรือไม่ถ้าคนอบรมไปแล้วเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นคนลักษณ์ใด
ลักษณ์หนึ่ง

ท่านสันติกโร : ไม่ต้องเป็นปัญหาก็ได้  แต่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ้าง ในวารสาร Enneagram Monthly บางครั้งมีคนเขียนจดหมายมาเล่าว่าคิดว่าเป็นเบอร์หนึ่งเบอร์ใดอยู่หลายปี ที่หลังจึงรู้ว่าไม่ใช่ ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ศึกษาอย่างจริงจัง  หรือแม้แต่พวกที่ขยันอ่านหนังสือหากไม่ได้เฝ้าดูจิตใจของตัวเองก็ผิดพลาดได้  หลายคนเฝ้ามองแต่ระดับเปลือกภายนอก หลายคนกำหนดลักษณ์ให้ตัวเองและคนอื่นๆ จากพฤติกรรมซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่จะผิดพลาด  เพราะว่าหลายครั้งพฤติกรรมที่เหมือนกันมาจากเหตุปัจจัยภายนอกบังคับเช่นเป็นเรื่องของ อาชีพ วัฒนธรรม พฤติกรรมเดียวกัน แต่เจตนาต่างกัน จึงควรพิจารณาเจตนาเบื้องหลัง  บางกรณี บางคน มีบุคลิกที่สลับซับซ้อนมาก  หรือประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งเป็นเวลานานๆ อาชีพนั้นก็จะสร้างภาพว่าเขาเป็นลักษณ์ใดลักษณ์หนึ่ง ด้วยการหล่อหลอมให้เข้ากับกรอบของอาชีพ แต่ไม่ใช่บุคลิกที่แท้จริง อย่างไรก็ดีแม้จะเลือกลักษณ์ผิดพลาดก็ไม่ใช่สาระสำคัญ ถ้าได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้นก็เกิดประโยชน์แล้ว  เรื่องได้ลักษณ์ผิดหรือถูกไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นอยู่ที่การเรียนรู้ตนเอง และสามารถดับทุกข์ให้ได้

 4 ปีที่สอน นพลักษณ์ตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร

ท่านสันติกโร : ในระยะแรกไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรไว้  ต่อมามีคนสนใจมากขึ้นก็มีเป้าหมายคือ ช่วยให้พวกเราสามารถดำเนินการได้เอง  ตอนแรกที่ศึกษานพลักษณ์อาตมายังไม่ได้ตัดสินใจจะกลับอเมริกา  เมื่อตัดสินใจว่าจะกลับแน่นอนก็ไม่อยากจะทิ้งคนอื่น อยากจะช่วยเหลือให้มีความรู้ที่พอดำเนินการได้ ให้มีคนไทย 2-3 ทีม ดูแลส่งเสริมเรื่องนี้ โดยที่เรามาช่วยได้ก็ดี มาไม่ได้ก็อยู่กันได้ไม่เป็นไร ขณะนี้เราจะพยายามถอนตัวจากการสอนนพลักษณ์โดยตรง  อยากจะยกให้คนอื่นทำ เรื่องปีก เรื่องลูกศร เรื่องแต่ละคนจะเป็นลักษณ์ใดจะให้คนอื่นสอน  อาตมาจะมามุ่งเน้นเรื่องของการประยุกต์ใช้นพลักษณ์กับการปฏิบัติธรรม

 การเผยแพร่นพลักษณ์ในวันนี้เป็นอย่างที่คิดไว้หรือไม่

ท่านสันติกโร : เรื่องการเผยแพร่อาตมาไม่ได้มองว่าเร็วหรือช้า ตรงนั้นอาตมาไม่ได้สนใจ  มันคงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อาตมาเองก็สอนบ้างขี้เกียจบ้าง  โดยรวมถือว่าผลที่ออกมาน่าพอใจ มีทีมทำเว็บไซต์ มีทีมทำโครงการจัดอบรม มีทีมแปลหนังสือ มีทีมทำโครงการวิจัยของหมอจันทร์เพ็ญ

 อะไรคือเสน่ห์ของวิชานพลักษณ์

ท่านสันติกโร : วิชานี้ชี้ให้เราเห็นรายละเอียดส่วนประกอบของสิ่งต่าง ๆ ที่พุทธศาสนาเรียกว่า ขันธ์ 5  สอนให้รู้ว่าเรายึดมั่นถือมั่นตรงไหนอย่างไร จนเราสามารถปล่อยวางได้มากขึ้น นอกจากนั้นนพลักษณ์ ช่วยเราเข้าใจผู้คน และวิพากษ์วิจารณ์อะไรน้อยลง  ใครเขาจะโง่ จะเลวเท่าไรเราจะโมโหไปทำไม  ตัวเราเองก็โง่และเลวพอ ๆ กัน เวียนว่ายในวัฏสงสาร

 อยากทิ้งท้ายแนวทางอย่างไรสำหรับการสานงาน ขุมชนนพลักษณ์ต่อไป

ท่านสันติกโร : คงไม่ต้องทิ้งท้ายอะไรเหมือนที่เคยตกลงกันแล้ว   อาตมาไม่ได้คิดอะไรมากกว่าที่เคยพูดคุยกันแล้ว ช่วยกันจัดอบรม ช่วยกันแปลหนังสือ ช่วยกันทำเว็บไซต์ ช่วยกันทำวิจัยของหมอจันทร์เพ็ญ ให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณที่พอเหมาะ ชุมชนวงกว้างที่ไม่ได้เข้าร่วม ก็ขอให้ช่วยเท่าที่ทำได้ เข้าอบรมบ้าง ฝากความคิดกับเว็บไซต์บ้าง ศึกษานพลักษณ์ต่อไป  งานนพลักษณ์ของเราจะมั่นคงเมื่อพวกเราสามารถรวบรวมคำพูดที่เป็นภาษาไทยแบบธรรมชาติและสามารถอธิบายแต่ะลักษณ์ได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบคล้ายของเฮเลนที่คนแต่ละลักษณ์เล่าเองและรวบรวมเป็นระบบ  ถ้าพวกเราเก็บข้อมูลเองและรวบรวมเป็นหนังสือได้จะน่าภาคภูมิใจ