enneagramthailand.org

ชีวิตครอบครัวคน 1


ไต่สวนบุคคลวันนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณ “คุณ ข.” เพื่อนนพลักษณ์เบอร์ 1 ผู้ได้รับการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ ผ่านกระบวนการ

ปุจฉา–วิสัชนากับ อาจารย์นพลักษณ์ และได้อนุญาตให้ทีมงานนำประสบการณ์จริงในครอบครัวของเธอมาถ่ายทอด เพื่อเป็นการ

สะท้อนให้เห็นความเป็นลักษณ์ 1 ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม และเพื่อเป็นตัวอย่างบางประการที่อาจช่วยให้ชีวิตเพี่อนลักษณ์ 1 และ

คนรอบข้างของเขามีความสุขขึ้นบ้าง


รูปธรรมความเป็นลักษณ์ 1 จากชีวิตครอบครัวของ คุณ ข. 

อาจารย์: โลกทัศน์ของเบอร์ 1 คือมองทุกอย่างว่า ดีและไม่ดีอยู่ตลอดเวลา และโลกทัศน์นี้ก็จะไปกำหนดวิธีคิดและพฤฒิกรรมของเขาว่าจะต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้เท่านั้น เพื่อให้เห็นการทำงานของกลไกเช่นนี้ในชีวิตของคนหนึ่ง  อยากให้ คุณ ข. ลองเล่าตัวอย่างรูปธรรมสักเรื่องหนึ่งในชีวิต  เช่นเรื่องงานหรือบทบาทหน้าที่ของเราที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

คุณ ข. :  เราต้องรับผิดชอบภายในบ้าน เราต้อง…เอ่อ ต้องช่วยเหลือ ต้องอะไรอย่างนี้


อาจารย์:  มันมีกี่ ต้องเมื่อกี้มี 2 ต้อง  ต้องรับผิดชอบ ต้องช่วยเหลือ  ช่วยขยายความที่ว่าต้องรับผิดชอบนั้นอะไรบ้าง  วาดภาพให้คนอื่นเห็นเพราะเบอร์1 มีหลายต้องเป็นร้อย  เป็นพัน

คุณ ข. :  ก็อย่างเช่น  น้องที่เรียนจบมาแล้ว  ก็อยากให้น้องคนนี้ทำงานหาเงิน  ส่งเงินให้น้องอีกสองคนที่ยังเรียนอยู่  ก็เลยรู้สึกว่า  เอ๊ะ ! ทำไมเขาไม่คิดที่จะแบบ …


อาจารย์:  อันนั้นเป็น ต้องสำหรับเขา  แต่ต้องของเราเองอย่างที่เราต้องรับผิดชอบนั้น คือ อะไรบ้าง 
คุณ ข. : ก็คือทำงานและก็พยายามเก็บเงินเอาไว้ให้น้อง


อาจารย์:  ก็เลยกลายเป็นกฏทั่วไปว่าสมาชิกครอบครัวที่มีความรับผิดชอบต้องหาเงินช่วยน้องเรียนหนังสือ  ใช่ไหม ? 
คุณ ข. : ใช่


อาจารย์: โอเค นี่คือหนึ่ง ต้องแล้วมี ต้องอื่นอีกไหม ?

คุณ ข. : แล้วก็ …เออ …แล้วก็รู้สึกว่าอยากให้ …มัน …ควร …มันจุกจิก  มันมีเยอะแยะ


อาจารย์: ไม่เป็นไร  เบอร์ 1  จุกจิกเยอะอยู่แล้ว

คุณ ข. : รู้สึกอยากให้แม่ …


อาจารย์: อันนั้นเรื่องของแม่  ขอให้พูดถึงตัวเรา  เราต้องทำอะไร  ยกตัวอย่างรูปธรรม  เช่น  ต้องซักผ้า  แล้วพับผ้าให้เรียบร้อยไหม  ? 
คุณ ข.  : ไม่ต้อง  เป็นหน้าที่ของน้อง  แต่เมื่อก่อนจะทำ


อาจารย์: แล้วมีวิธีทำไหม ? 
คุณ ข.  : วิธียังไง ?


อาจารย์  : วิธีที่ถูกต้อง
คุณ ข.  : ไม่มี


อาจารย์: ทำอย่างไรก็ได้หรือ ไม่แคร์เลยหรือ ? 
คุณ ข.  : อ๋อ  วิธีพับผ้าไม่มีเพราะไม่สนใจ  แต่เวลาตากผ้าจะสนใจ  ถ้าเกิดใครมาตากแล้ว  ทำไม่เป็นจริง ๆ  เช่น  ตัวนี้จะต้องตากอย่างนี้  เพราะแดดมันจะมาแล้วแห้งเร็ว  ก็จะเคลื่อนย้าย


อาจารย์: แต่เมื่อคนอื่นไม่ตากแบบนั้นแล้ว  เราจะรู้สึกอย่างไร
คุณ ข. : ก็รู้สึกข้างในนิด ๆ


อาจารย์: หงุดหงิดไหม ? 
คุณ ข. : นิดหน่อย  แต่ไม่มาก


อาจารย์: ไม่ต้องมากแต่มันรู้สึกหงุดหงิดใช่ไหม
คุณ ข. : ใช่


อาจารย์: แล้วไปแนะนำเขาไหม
คุณ ข. : เปล่า


อาจารย์: ก็เลยต้องอดทนเห็นเขาตากผ้าไม่เป็นไปเรื่อยๆ 
คุณ ข. : ก็ไม่ใช่ เราจะปล่อยให้เขาทำไป  แต่ถ้าไม่ดี  เราเห็นแล้วก็จะเปลี่ยนเอง


อาจารย์: อ้อ ไปตากผ้าใหม่  เมื่อเขาไปแล้ว เมื่อเขาไม่อยู่
คุณ ข. : ถึงเขาอยู่ก็จะไปตากใหม่...(ฮา…ฮา)


อาจารย์: ให้มันดีให้มันถูกต้อง
คุณ ข.  : คือให้มันเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น


อาจารย์: ก็คือให้มันถูกต้องตามความเข้าใจของเรา
คุณ ข.  : ใช่


อาจารย์: อันนี้แม้เป็นตัวอย่างเล็กๆ แต่อาตมาพยายามจะให้เห็นว่า วิธีมองของเบอร์ 1 ก็จะมีบางเรื่องที่ไม่ใส่ใจ  แต่เรื่องที่ใส่ใจ  เช่น เรื่องตากผ้า  มันต้องเป็นอย่างนี้  ถ้าไม่อย่างนี้มันผิด อันนี้เป็นความรู้สึกความเห็นของเรา(คน 1) และถ้ามีอะไรที่ไม่เป็นตามที่เราเห็นว่ามันต้องเป็น  มันหงุดหงิด  มันรำคาญ  อาจจะมีหลายเรื่องแต่มันเรื่องเล็กๆ ทั้งนั้น
คุณ ข. : มันเครียดมาก


อาจารย์: ใช่แรกๆ อาตมาถามเรื่องสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบมีอะไรบ้าง ก็ไม่ได้ตอบเรื่องตัวเองไปตอบเรื่องน้อง เรื่องคนอื่น  นี่คือ การ projection (การเอาความเป็นตัวเราไปใส่ตัวเขา) เมื่อเราอยู่ด้วยความต้องอย่างนี้ต้องอย่างนั้น  มันก็โยน (project) เรื่องของเราเช่นนี้ไปใส่ผู้อื่นด้วย คือ เอามาตรฐานของตัวเองไปโยนใส่ผู้อื่น อย่างเช่นน้องคนโตที่เรามองเขาไม่ดี  เพราะเราเอามาตรฐานที่ใช้กำหนดตัวเรา  ที่ว่าสมาชิกที่ดีของครอบครัวต้องเก็บเงินส่งเสียน้องคนเล็ก  ไปโยนใส่เขา
คุณ ข. : มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้นไม่ใช่หรือค่ะ…(ฮา..ฮา)   มันก็เป็นมาตรฐานสากลไม่ใช่หรือคะ


อาจารย์:  ไม่ทราบ อย่างวัฒนธรรมอเมริกัน  น้องถ้าอยากจะเรียนมันก็ไปหาเงินเอง  หรือเป็นหน้าที่ของพ่อแม่  ไม่ใช่หน้าที่ของเราซึ่งเป็นพี่
คุณ ข. : อาจเป็นเพราะว่าพ่อเราเริ่มแก่ลง เลยเริ่มคิดถึงอนาคตว่าถ้าไม่มีเขาจะทำอย่างไร ก็ต้องทำซะตั้งแต่ตอนนี้


อาจารย์: โอเค..อันนั้นเราคิดว่าต้องรับผิดชอบแทนพ่อก็ตามใจ อาตมาไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก แต่อยากจะบอกให้เห็นว่า เราเอาสิ่งที่เราคิดเราเข้าใจไปโยนใส่น้องด้วยเหตุผลของเรา  เราเคยคุยกับน้องหรือเปล่าว่าน้องคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เคยคุยไหม
คุณ ข. : การให้เขาเข้ามาร่วมรับผิดชอบหรือ? ก็..คือ..คุยแต่ไม่ได้คุยแบบสงบๆ เท่าไร


อาจารย์: คุยเมื่อมันโมโหแล้วหรือ 
คุณ ข. : คือ น้องเขาคงเป็นเบอร์ ๘ เลยคุยกันด้วยอารมณ์


อาจารย์: เรากำลังขุดลงลึกว่าทำไม  พวกเบอร์ 1 เมื่อคิดว่าอะไรควรหรือต้องเป็นอย่างไร  เขาก็จะคิดหรือเชื่อว่าคนอื่นก็จะเห็นเช่นเดียวกันนั้น  แต่พอเขาไม่เห็นเช่นนั้นก็มองว่า ทำไมมันโง่  ทำไมมันไม่เห็น   เพราะว่าในความรู้สึกเขามันชัดเจนอยู่แล้ว  สมาชิกครอบครัวต้องช่วยกันรับผิดชอบ ก็ฉันทำเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว  ทำไมพวกเธอจึงไม่เห็น ไม่ทำตามอย่างฉัน โมโหง่าย  แต่สิ่งที่คน 1 มองข้าม คือ นั่นความคิดของเขา เขาไปผูกอัตตลักษณ์(ความเป็นตัวตนของเขา)ไว้ กับความรับผิดชอบ กับสิ่งต่างๆ จนทำให้เขามองโลกในด้านเดียว  ถ้าจะไปคุยกับน้องในเรื่องนี้ ถ้าสามารถคุยแบบสงบคุยได้ไม่ยาก  เมื่อพร้อมที่จะฟังความรู้สึก ความคิดเห็นของน้อง  แต่ที่ทำไม่ได้เพราะเขา(คน 1) ยึดติดในความคิดเห็นของเขา   เพราะติดความเป็นตัวตนของเขา
คุณ ข. : ถ้าให้รับฟังความคิด ความรู้สึกของน้องหรือคะ  ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระที่เขาเอาเงินไปใช้ในเรื่องอื่นๆ


อาจารย์: ใครคิดว่าไร้สาระล่ะ  เป็นความคิดของใคร เขาหรือเรา 
คุณ ข. : ก็เขาคิดจะทำอย่างนั้น เขาก็จะทำ


อาจารย์: เขาบอกอย่างนั้นหรือว่าเราเดาเอาเอง  เคยถามเขาไหม 
คุณ ข. : เคยถามแต่เขาก็บอกว่าอย่ามายุ่ง จะส่งเสีย..ก็ส่งเสียไปซิ


อาจารย์: สิ่งที่อาตมาพยายามจะพูดถึง คือ ถ้าเราคิดในใจแล้วว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ มันยากมากที่จะยอมรับเหตุผล หรือพฤติกรรมของคนอื่น  เพราะเราได้ตัดสินว่าเขาผิดเสียแล้ว  ถ้าเราเข้ามาคุยแบบนี้ คนอื่นก็จะรู้สึกว่าเราไม่ได้ยอมรับเขา ยิ่งเบอร์ ๘ เขาก็จะยิ่งต่อต้าน เห็นไหม  ฉะนั้นทำอย่างไรเบอร์ 1 จึงจะรู้ตัว  และปล่อยวางซะ 
คุณ ข. : ปล่อยวาง…หรือคะ…แล้วอนาคต?  (ฮา…ฮา…ฮา)


อาจารย์: อนาคตยังไม่มา ถ้าอยากให้อนาคตดีอนาคตดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? อนาคตดีเกิดจากการไปบังคับน้องใช่ไหม? ให้น้องมันดี แล้วได้ผลไหม? เราทำอย่างไรในปัจจุบันเพื่อให้ได้อนาคตที่ดี?
คุณ ข. : เข้าใจเขาหรือคะ ?


อาจารย์: ไม่รู้ เราถาม คุณ ข. ๆ  คิดยังไง 
คุณ ข. : ถ้าเป็นตัวเองจะทำแบบเดิม คือ ตอนนี้จะไม่สนใจเขาแล้ว มันจะทำอะไรก็ปล่อยมันไป


อาจารย์: นี่..คือ..ความรักใช่ไหม?  ความจริงแม้เราพยายามบอกตัวเองว่าไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องสนใจ แต่ลึกๆ..เรายังสนใจอยู่  ที่นี้มันก็ก็จะระเบิดออกมาเป็นครั้งเป็นคราว โดยกลไกเบอร์ 1 จะมีการมองเรื่องความถูก ความผิด  เพราะฉะนั้นถ้าน้องทำอะไร  ถ้ามันไม่ถูก มันก็ผิด   ถ้ามันผิดเราจะช่วยแก้ไข เราจะบอกว่าทำอย่างนี้ถูกนะ นี่สำหรับเบอร์ 1 จะชี้นิ้วหรืออาจไม่ได้ชี้นิ้ว  แต่วิธีพูด เสียงมันบอกอย่างงี้อย่างงี้คุณเข้าใจไหม?


ถ้าเขาไม่ทำเราก็เอามาว่าอีกจนกว่าจะเบื่อแล้วเราก็ทิ้ง นี้เป็นโลกทัศน์แบบเบอร์ 1   และกลไกป้องกันตนเองของเบอร์ 1 คือการแสดงออกในทางตรงกันข้าม ซึ่งทำให้เราค่อนข้างต่อต้านเขา เขาอยากทำอย่างหนึ่งเราก็ต่อต้านไม่ให้ทำ และพยายามให้เขาทำอีกอย่างหนึ่ง คือ บังคับ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ชอบ ใครมาบังคับอาตมาๆไม่ชอบเลย  แล้วเมื่อไม่เป็นไปตามที่เราต้องการถ้าเป็นเรื่องเล็กจะหงุดหงิด  แต่พอบ่อยครั้งเข้ามันจะกลายเป็นโมโห  พร้อมกับคิดในใจว่าเขาผิดอย่างนั้น..อย่างนี้  ซึ่งเป็นข้ออ้างในการหล่อเลี้ยงความโมโห 

คุณ ข. : แล้วมัน(สิ่งที่เราทำกับน้อง) ไม่ดีหรือคะ


อาจารย์: ไม่ใช่ทำไม่ดี  ผลที่เกิดตามมาไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับเขา หรืออาจเป็นผลเสีย 
คุณ ข. : ก็ดีใจที่เขาคิดได้


อาจารย์: ดีใจที่เขาคิดได้? คิดอะไร?
คุณ ข. : คิดอะไร..คิดว่า…ตรงนั้นมันไม่ดีสำหรับเขา


อาจารย์: นี่แสดงว่าเรามาอยู่ในกรอบเบอร์ เห็นไหมว่าเรายังติดอยู่ในกรอบว่าอะไรมันดี อะไรมันไม่ดี  คือ เราตัดสินแล้วว่ามันไม่ดี จะปล่อยวาง (กรอบความดี)ตรงนี้ได้ไหม   แค่มองเห็นตามกระบวนการโดยไม่ต้องคิดว่าถูกผิด  ค่อยดูว่าทำอย่างนี้เขาเครียดไหม หรือเขามีความสุขหรือไม่  มันช่วยเขาเติบโตหรือไม่  โดยไม่ต้องคิดว่าเรื่องถูก ผิด ดี ไม่ดี
คุณ ข. : ดูเฉยๆ หรือคะ?


อาจารย์: ไม่ใช่ดูเฉยๆ..ดูอย่างดี  อาจจะมีแรงจูงใจที่เอ็นดูเขา  แต่ถ้าเราอยู่ในกรอบของความดี-ไม่ดี ถูก-ผิด ความเอ็นดูไม่ค่อยออกมาจากตัวเรา มันจะซ่อนอยู่ข้างในไม่ค่อยออกมา  จริงๆ รักน้องไหมหรือว่าเกลียดแล้ว? 
คุณ ข. : คงจะรักค่ะ


อาจารย์: ในขณะที่ความรักยังมีอยู่ ความเอ็นดูมันจะมีโอกาสออกมา หาทางแสดงสิ่งนี้กับน้อง แล้วลองดูปฏิกิริยาของน้องจะเปลี่ยน  วิธีที่จะเข้าใจกลไกเบอร์ 1 ความคิดที่มองโลกว่าถูก-ผิด  ดี-ไม่ดี  และมักจะเข้าข้างตัวเองบ่อยว่าเราดี เราเก่ง เราเรียบร้อย แล้วจะเอาความไม่ดีโยนใส่คนอื่นๆ อย่างของคุณ ข.คือเราดีแต่น้องไม่ดี 

ถ้าคนอื่นประสบแบบนี้เขาจะรู้สึกอย่างไร เขาก็รู้สึกว่าถูกตัดสินแล้ว ถูกพิพากษาแล้ว  เขาจะไม่เห็นความรักที่เบอร์ 1 มีอยู่ และบางทีเบอร์ 1 ก็ไม่เห็นด้วย  แต่อาตมายืนยันว่ามันซ่อนอยู่  แต่บางทีเราไม่กล้าเปิดเผยความรัก  
คุณ ข. : ถ้าอย่างนั้นเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ใช่ไหมค่ะ


อาจารย์: ถ้าเราเปลี่ยนโดยไม่ตัดสินน้องว่าดีหรือไม่ดี  อาตมามองว่านั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเรา  ถ้าเราไม่โกรธ ความเอ็นดูออกมาแทนเป็นการเปลี่ยนแปลงไหม  น้องเองก็อาจเปลี่ยนแปลงด้วยโดยเราไม่ต้องกำหนดว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร   เราอาจสร้างเหตุปัจจัยที่เอื้อเฟื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของน้อง แต่ไม่ต้องชี้นิ้วว่าเปลี่ยนอย่างไร  การเปลี่ยนคนอื่นเราเปลี่ยนไม่ได้ ยิ่งน้องเบอร์ ๘ แล้วเราพยายามชี้นำน้องจะดื้อแน่ แต่ลึก ๆ แล้วเบอร์ 8 มีความเปราะบางอยู่ แล้วเราได้เห็นความเปราะบางของน้องหรือยัง 
คุณ ข. : เขาก็มี…เออความเปราะบางอยู่  เพราะเคยเห็นเขาเขียนว่า ในโลกนี้ไม่มีใครรักเขาเลย   ก็…อึม…มันก็เป็นคนมีอารมณ์  ตรงข้ามกับท่าทีที่มันแสดงออกมา


อาจารย์: ถ้าหากต่อไปนี่เขาเริ่มรู้สึกว่าพี่สาวรักเขา แม้จะไม่มาก แต่เขารู้สึกอย่างนี้มากขึ้นมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาพอเดาได้ไหม 
 คุณ ข. : ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี


อาจารย์: เขาจะดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่จะมีความสุขมากขึ้น และคนที่มีความสุขภายในตัวเองก็ง่ายที่จะเป็นคนรับผิดชอบ เป็นคนดี ให้เขาเป็นเองไม่ใช่เราไปบีบให้เป็น  เห็นไหมว่าศึกษาความเป็นเบอร์ 1 แล้วค่อยอนุมานในสิ่งที่ตรงกันข้าม เราจะได้มุมมองใหม่  นี่เป็นปัญหาของทุกลักษณ์ สิ่งที่เราทำกับคนอื่นมันซ้ำซากมาก  และบ่อยครั้งที่มันไม่ work  มันจึงเป็นปัญหา  ถ้าเราหลุดจากวิธีคิดแบบเดิม  แล้วมองใหม่ก็จะเห็นทางที่ดี อย่างน้อยทำให้ทั้งสองฝ่ายเครียดน้อยลง

อาจารย์: ทุกอย่างที่อาตมาพูดมาทั้งหมดนี้ไม่ต้องทำ ไม่ได้ให้ทำตาม  แต่ ถ้าอยากทำก็ทำได้ 
คุณ ข. : ไม่เข้าใจ


อาจารย์: เพราะพูดกับคนเบอร์ 1 จึงพูดเช่นนี้  คือ ถ้าเรายังเป็นเบอร์1 พอฟังอะไรนิดหน่อยในหัวก็จะจำไว้ ควรทำอย่างนี้  ต่อไปนี้กับน้องจะไม่โมโห มันจะสร้างเป็นกฎ กฏข้อที่ 1…2…3…  แล้วให้เราต้องทำตามนั้น  จึงบอกก่อนเลยว่าไม่ต้องทำ  แต่ถ้าใจอยากทำลองทำดูอาตมาไม่บังคับ เพราะถ้าบังคับให้ตัวเองทำอย่างนั้นมันก็ไม่มีความสุข แต่ถ้าสมัครใจมันก็จะมีความสุข .