enneagramthailand.org

ชีวิตแต่งงานคน 4


.... เรื่องนี้แปลก เบอร์ 4 เมื่อมองคนใกล้ชิด เช่นแฟน เราจะเห็นหรือจะมองชีวิตแต่ในส่วนที่เป็นสิ่งดี ๆ ที่แฟนไม่มี และจะเห็นแต่ความพร่องของสิ่ง(แฟน) ที่มีอยู่ อันนี้เป็นลักษณะของคน 4 แต่เมื่อคนอื่นทำเช่นนั้นกับเราบ้าง เรากลับเสียใจโดยเวลาเรามองดูสามี เรามองว่าเขาไม่ดีอย่างนั้น บกพร่องอย่างนั้น เนื่องจากเราเห็นสิ่งที่สามีไม่มี แล้วเราก็ยิ่งอยากให้มี ....


ไต่สวนเจาะลึกชีวิต กรณีศึกษาจากเหตุการณ์ชีวิตจริงของ น้อง ว.อาสาสมัครคนลักษณ์ 4


อาจารย์:  ต่อไปนี้จะเป็นการศึกษากลไกนพลักษณ์ในตัวคน 4 ผ่านเหตุการณ์ในชีวิตจริงของน้อง ว. มาเป็นกรณีศึกษา โดยอาตมาจะช่วยตั้งคำถาม แล้วเราค่อย ๆ คุยถึงรูปธรรมของปัญหา แล้วโยงให้เห็นถึงกลไกของนพลักษณ์ โดยคนอื่นก็ช่วยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในลักษณ์เดียวกัน 
น้อง ว.: ขอเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาหยก ๆ เลย คือตัวอย่างเรื่องแต่งงานน่ะค่ะ  ซึ่งมันแสดงให้เห็นปัญหาเรื่องความขาดหรือกิเลสเรื่องอิจฉาของตัวเอง คือ หลังจากแต่งงานไปอยู่บ้านของสามีก็จะเจอกับญาติ พี่น้อง พ่อแม่ของเขา ซึ่งทางญาติฝ่ายหนูไม่มีเลย ก็คือหนูไปคนเดียว มันก็จะมีคำพูดจากญาติๆ หรือคนใกล้ชิดในแง่ที่ทำให้หนูรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างของเราบกพร่องไม่มี คุณค่า

อาจารย์: ยกตัวอย่างเลย เอาคำพูดของเขาเลย
น้อง ว.: เช่น ตอนหนูไปหาของในรถ ตอนก่อนที่จะเข้าบ้านซึ่งเป็นรถของน้าของสามี ตอนนั้นหนูพูดว่า “เออไม่รู้มีอะไรตกหล่นบ้างหรือเปล่า” น้าของสามีก็พูดว่า “คงไม่มีอะไรละมั้ง ก็มาแต่ตัว”  ซึ่งคำพูดนี้มันทำให้เราตีความไปไกลเลยโดยโยงเข้าเรื่องปกติของหนูเลย  ที่เรามักคิดอยู่บ่อยๆ เวลาเซ็งขึ้นมาว่า “เออ เราไม่มีอะไรเลย  เราไม่มีทรัพย์สมบัติ  เราไม่มีญาติพี่น้อง”  หมายถึงว่า ทางเขามีพร้อม มันกระแทกเราโดยตรง

อาจารย์: อันนี้ความหมายของเขา หรือความหมายของเรา ?
น้อง ว.: อันนี้ความหมายของเราค่ะ ส่วนความหมายของเขาไม่ทราบค่ะ เพราะไม่ได้ถาม

อาจารย์: ไปติดใจกับมันก่อน แล้วมีคำพูดอย่างอื่นไหม
น้อง ว.: คำพูดอื่นเช่น ตอนเข้าห้องหอ หนูก็ไปปูเตียงซึ่งใช้เวลานานมากเพราะตัวเองผมเผ้า หัวเหอ ยุ่งไปหมด ก็เข้าไปอาบน้ำ แล้วทีนี้ข้างนอกบ้านเขาก็จะมีงานเลี้ยงเล็กๆ ในหมู่ญาติเขา และพอได้ชื่อว่าเป็นภรรยาแล้วซึ่งปกติภรรยาต้องไปดูแลเอาใจใส่หรือช่วยเติม แกง เสิร์ฟน้ำ แต่เราหายไปนานมาก  พวกเขาเลยถามสามีหนูว่า “เป็นอย่างไรอยากได้อะไรเพิ่มเติมอีกไหม" พอทางโน้นเขาบอกมาแล้ว  เขาก็ไปหากันเองจากครัว  พอเสร็จแล้วเขาพูดกับสามีหนูว่า “จริงๆ หน้าที่อันนี้ไม่น่าเป็นหน้าที่ของเขาเลย ควรเป็นหน้าที่ของหนูมากกว่า เพราะถึงเวลาที่หนูจะต้องทำหน้าที่นั้นแล้ว” คือวันนั้น วันงานแต่งงานง่ะค่ะ มันมากระทบอีกว่าเราไม่มีคุณสมบัติตรงนี้ เราไม่มี Sense กับการไปดูแลคนอื่น เราอยู่อย่างอิสระจนเคยตัว

อาจารย์: นั้นมันมาตรฐานของเขา แล้วเราเห็นด้วยไหม ว่าเป็นหน้าที่ของภรรยา
น้อง ว.: ตอนนั้นไม่ได้คิดน่ะค่ะ ตอนหลังกลับมาคิดก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน คือมันเหมือนกับว่าหนูอยู่ในสังคมเมือง ที่หนูกับสามีต้องออกจากบ้านไปทำงานด้วยกัน การที่ภรรยาต้องไป take care ดูแลเอาใจใส่ ซึ่งสำหรับหนูก็จะรู้สึกเหนื่อยกับการเดินทางมากอยู่แล้ว หนูก็รู้สึกว่างานแบบนี้ไม่ควรตกเป็นของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว เนื่องจากภาวะสังคมแบบที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย แต่ว่ามาตรฐานสังคมของเขาเป็นแบบนั้น  แต่เรารู้สึกว่าเรายังปรับตัวไม่ได้ เราก็ไม่มีทัศนคติแบบนั้น

อาจารย์: ใช่ ซึ่งตรงนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องแยกแยะเสียก่อน เพราะพี่สาว น้องสาวของเขาก็จะคุยบนมาตรฐานหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ แล้วทำไมมันจึงมากระทบ (ความรู้สึก) เราได้ เพราะว่าถ้าดูแต่เหตุผลของเขาอย่างเดียว เราอาจจะมองว่า ความคิดของเขามันล้าสมัยไปแล้ว ไม่เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน เราก็เลยไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องไปใส่ใจกับมันทำไม
น้อง ว.: ไม่รู้หนูรู้สึกว่า เขาจ้องจะจับผิดนะ คือเหมือนหาในข้อบกพร่องของเรา เขาหาข้อตำหนิแล้วประกาศออกมา

อาจารย์: นี่เราคิดเอง แต่ถึงแม้มันเป็นจริงก็ไม่เป็นไร นั่นมันเป็นกิเลสของเขา เขาสามารถคิด หรือพูดอย่างนั้น แต่เราไปเจ็บใจกับมันทำไม อันนี้แหละที่เป็นจุดที่ควรศึกษา  คือ เขาคิดอย่างนั้น เขาจงใจยังไงก็เป็นเรื่องของเขา  แต่คำถามคือ มันมีอะไรในตัวเราที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บกับเรื่องนี้
น้อง ว.: มีอะไรในตัวเรา ?

อาจารย์: เช่นเรามีโลกทัศน์อย่างไร
น้อง ว.: อ๋อ  อันนี้ใช่อยู่แล้วค่ะ ก็จะรู้สึกว่าตัวเอง ไม่มีคุณสมบัติเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี คือรู้ตัวอยู่แล้ว

อาจารย์: ไม่อยากเป็นด้วยใช่ไหม หรือสับสนว่า จะเป็นหรือไม่เป็นดี
น้อง ว.: หนูไม่รู้เหมือนกันว่าอยากเป็นไหม แต่ว่าพอมันกระทบปั๊บ พอมันเสียใจน้อยใจนี่ อยากให้เขายอมรับในสิ่งที่เราเป็นอย่างเช่น เรารู้สึกว่าเราทำงานเก่ง มีเงินเดือนใช้ เราพึ่งตัวเองได้ แต่ตรงนี้เขาไม่มอง เขาไปมองในสิ่งที่เราไม่มี ทีนี้ถามว่าอยากจะเป็นแม่บ้านแบบนั้นไหม มันไม่มีความอยากนะ คือถ้าเขาต้องการ เราจะต้องปรับตัวเราเข้าหาเขา ต้องเป็นแบบนั้น แต่เราก็ไม่มีความคิดแบบนั้น อยากให้เขาเห็นในสิ่งที่เราเด่น เรามี เราทำ แล้วเราประสบความสำเร็จ

อาจารย์: เรื่องนี้แปลก เบอร์ 4 เมื่อมองคนใกล้ชิด เช่นแฟน เราจะเห็นหรือจะมองชีวิตแต่ในส่วนที่เป็นสิ่งดี ๆ ที่แฟนไม่มี และจะเห็นแต่ความพร่องของสิ่ง(แฟน) ที่มีอยู่ อันนี้เป็นลักษณะของคน 4 แต่เมื่อคนอื่นทำเช่นนั้นกับเราบ้าง เรากลับเสียใจ  โดยเวลาเรามองดูสามี เรามองว่าเขาไม่ดีอย่างนั้น บกพร่องอย่างนั้น เนื่องจากเราเห็นสิ่งที่สามีไม่มี แล้วเราก็ยิ่งอยากให้มี น้อง ว. เป็นอย่างนี้ไหม
 น้อง ว.: หนูเป็น เป็นอย่างนี้เลยค่ะ

อาจารย์: แล้วเราไปหาว่าคนอื่น เช่นพี่สาวเขามองเราอย่างเดียวกัน (ว่าเราบกพร่อง โดยจ้องมองดูแต่ในส่วนที่เราขาด) เช่นนี้จะเหมือนเป็นวิธีการโยนใส่ (Projection - หนึ่งในกลไกป้องกันตนเองของนพลักษณ์) หรือเปล่า อาจเป็นได้ว่านี่คือการที่เราโยนวิธีคิดของเราไปใส่เขา แล้วเลยตีความคำพูดของเขาไปตามวิธีคิดแบบของเรา โดยเขาอาจไม่คิดอย่างนั้นก็ได้
 น้อง ว.: สามีเขาก็ว่ามันเป็นการแซวเล่น ๆ เท่านั้น  แต่หนูกลับคิดว่าแซวแรงจังเลย

อาจารย์: บ่อยครั้งที่คนไทยมักชอบพูดว่าเป็นการแซวเล่น ๆ  แต่เราก็ไม่เชื่อว่าเป็นการแซวเล่น เพราะส่วนใหญ่อาจจะมีความจริงครึ่งหนึ่ง หรือมีนัยยะ  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเขาจะแซวอย่างมีนัยยะก็ตาม  แต่ถ้าเราไม่เข้าใจในความหมายของเขา แต่เรากลับโยนใส่แบบของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเราคอยดูว่าอ๋อ ! นี่เรากำลังโยน (ความคิดของเรา) ใส่ (ให้มันกลายเป็นความคิดของเขา)  เราก็ควรฟังอีกที บางทีก็ต้องไปถามเค้าโดยตรงว่ามันเป็นยังไง  อาจถามอ้อมๆ แต่พยายามเอาใจเราไปใส่ใจเขา แล้วเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อจะเข้าใจเขาจริง ๆ เพราะเราอยากให้เขาเข้าใจเราตามที่เราเป็นใช่ไหม ?
น้อง ว.: ทีนี้มันก็จะมีปัญหาต่อเนื่อง ก็คืออย่างที่บอกว่า พอรู้สึกว่าตัวเองขาดคุณสมบัติตรงนั้นใช่ไหม  แต่พี่สาวเขามีคุณสมบัติตรงนั้นเต็มเปี่ยม คือดูแล take care อย่างดีมาก

อาจารย์: เบอร์อะไรทราบไหม?
น้อง ว.: คิดว่าเบอร์ 8 ค่ะ แล้วหนูก็จะรู้สึกว่า

อาจารย์: รู้สึกอิจฉาตาร้อน
น้อง ว.: ไม่ใช่ค่ะ เราก็เลยรู้สึกน้อยใจ รู้สึกตัวเองว่าต่ำต้อย เราไม่มีคุณสมบัติตรงที่ในสังคมที่เราอยากให้เขารักเรา เขาต้องการตรงนั้น แต่เราไม่มีตรงนั้น

อาจารย์: การรู้สึกต่ำต้อยนั้น มันจะตรงกับคำว่า  deficiency  ซึ่งไปด้วยกันกับความอิจฉาของคน 4 มองตัวเองว่าด่างพร้อย มันมีอะไรที่ขาดไม่ดีในตัวเรา มันจะคล้ายเบอร์ ที่มองว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันจะผิด  แต่ต่างกันตรงที่คน 4 มองว่าตัวเราเองผิด เรามีอะไรที่ผิด ซึ่งอันนี้มันจะเป็นอีกด้านหนึ่งของความอิจฉา คือเขาดี เราแย่ หรือเราพร่อง ซึ่งหลายๆ ครั้งมันไม่ใช่ความจริง แต่เพราะอำนาจความเชื่อตามโลกทัศน์ของลักษณ์ 4 มันง่ายที่จะเห็นเราเป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้ากลับไปดูที่เราเห็นว่าเขามีคุณสมบัตินั้น เราไม่มี แค่นี้อาจจะจริง แล้วเพราะอะไรไม่รู้ เขาเอาใจใส่สามีของเราเต็มที่ และ เราเองก็เฉย เพราะเห็นไหมเขาโตแล้ว เขาช่วยตัวเองได้ หรือเพราะอะไรก็ไม่รู้ แต่ความเชื่อที่เราจะถูกทอดทิ้ง มันก็ต้องหาเหตุผลที่ทำให้เราน่าถูกทิ้ง มันมีส่วนตรงนี้ไหม แบบบางเวลามันจะรู้สึกในใจว่า สักวันหนึ่งคนนี้คงทิ้งเรา
น้อง ว.: โอ้ ! มีทุกวัน

อาจารย์: เนื่องจากอำนาจความเชื่อนี้ มันเลยจะพยายามหาเหตุผลมารองรับ มันจะคอยจับอะไรเพื่อใช้เป็นข้ออ้างหรือตัวอย่างที่สอดคล้องกับความเชื่อ นั้น อ๋อ! ใช่ เราสมควรจะถูกทิ้งซึ่งอาจไม่ใช่ก็ได้ ไม่น่าจะจริง แต่แทนที่จะเห็นว่าเรามีอะไรที่เขาควรจะรักเรา มีอะไรที่เขาควรจะเคารพบูชา เรากลับมองไม่เห็น ไปเห็นส่วนน่าทิ้ง
น้อง ว.: ใช่ แล้วมันสะท้อนกลับเป็นว่า เมื่อเห็นว่าใครมาทิ้งหนูก่อน เราก็จะรีบเป็นฝ่ายจากไปเสียก่อน นี่คือสิ่งที่หนูตั้งใจไว้เสมอว่า หนูไม่ยอมให้ใครมาทิ้งหนูก่อน คือเราจะขอเดินออกไปก่อน เราเป็นฝ่ายทิ้งเขาก่อนดีกว่า เพราะเรารับไม่ได้กับการถูกทิ้งอันนี้เด็ดขาดเลย  คือเรารับไม่ได้เด็ดขาดถ้าถูกทิ้ง

อาจารย์: เบอร์ 4 ก็จะเป็นอย่างนั้นเสมอ เพื่อนเบอร์ 4 (ที่เคยเจอ) ทุกครั้งที่ไปกระทบเข้าตรงที่ความกลัวถูกทิ้ง เขาจะเริ่มถอนตัว เขาจะเริ่มห่าง เขาจะผลักเราออกไปทั้งๆ ที่วันนี้เขาดีกับเรา แต่พรุ่งนี้เขาก็จะผลัก เราก็งง เราก็มองไม่เห็นว่าเราทำอะไรที่เปลี่ยนไป เราพูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ แต่เขาตีความแล้ว ฉันไปก่อนคนอื่นทิ้งดีกว่า ชิงทิ้งเขาก่อนที่เขาจะทิ้งฉัน

ผู้ร่วมฟัง: มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีหรือเปล่า
น้อง ว.: ไม่ใช่เรื่องของศักดิ์ศรีค่ะ

อาจารย์: เขาพูดเมื่อกี้ ถ้าถูกทิ้งมันเจ็บ เจ็บแบบตายดีกว่า ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เจ็บ เรายอมทิ้งสิ่งที่จริง ๆ แล้วเรารัก นี่คือปัญหาของเบอร์ ซึ่งเบอร์ 3 ก็จะมีบ้างที่เขาทิ้งสิ่งที่จริงๆ เขารัก ดังนั้นเบอร์ 4 ต้องทบทวนเรื่องนี้ให้มาก เมื่อเราจับตัวเองได้ว่า (มีสติว่า) เรากำลังหาความพร่องของตัวเอง ก็ขอให้กลับมาดูทางตรงกันข้ามด้วย อ๋อ ! ใช่ เราก็ยังมีอะไรน่ารักยังงี้ ๆ หาสิ่งที่ดูว่าอ๋อ ! เราก็มีสิ่งที่ดี แล้วค่อยดูเขา แทนที่จะหาปรากฏการณ์สัญญาณว่า เขากำลังเตรียมตัวจะทิ้งเรา ก็กลับมาหาอะไรที่ทำให้เขาอาจจะไม่ทิ้งเราก็ได้ แล้วมันจะลดความกระวนกระวายที่จะถูกทอดทิ้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่จะอิจฉาหรือโมโห หรือมีอะไร ร้ายกาจออกมา เพราะนี่จะเป็นสาเหตุการถูกทิ้งของคน 4 คือมีอารมณ์ร้ายออกมา ทำอะไรน่าเกลียดใส่เขา ซึ่งถ้าอยากให้เขาทิ้งเราจริง ๆ ก็ให้ทำอะไรอย่างนี้บ่อย ๆ
น้อง ว.: (หัวเราะถูกใจ) ก็แล้วมันมีช่วงเวลาผ่านมานอกจากนั้น คือ พอหนูเริ่มอิจฉาเริ่มอะไรพวกนี้ ก็เป็นทุกข์มาก แล้วมันจมจ่อมมาก มันไม่หลุด พอได้มีเวลากับตัวเองสักพัก มันเริ่มมีสติได้ มันเริ่มตั้งตัวได้ หนูไม่รู้ว่ามันคือบารมีหรือเปล่า มันได้เห็นแวบ ๆ ว่าที่จริงแล้วเราไม่น่าปฏิเสธ ๆ สิ่งที่เราคิดว่าเราไม่มี คือเหมือนกับว่า คนเรามีทั้งสองสิ่งนี้แหละทั้งมีและไม่มี มันไม่มีใครที่ Perfect   แบบชนิดที่มีทุกอย่างพร้อม แต่ความมีอย่างหนึ่ง ไม่มีอย่างหนึ่งนี่แหละ มันคือความ Perfect แล้ว

อาจารย์: นี่แหละคือการยอมรับ ยอมรับตัวเอง สำหรับคน 4 การให้คนอื่นยอมรับเราตามที่เราเป็นนั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือทำให้ตัวเรายอมรับตัวเราเอง
น้อง ว.: ใช่   ใช่ค่ะ  แล้วตอนแรก หนูเลือกที่จะมอง คือเมื่อก่อนพอหนูมีปัญหาแล้ว เจ้านายจะช่วย support ในแง่แบบให้หนูมองในสิ่งที่หนูเป็นสิ หรือสิ่งที่หนูเก่งสิ ชำนาญสิ ทำงานเป็นอย่างนี้ คิดสร้างสรรค์ได้อย่างนี้ นั้นแหละคือความภูมิใจให้หนูลองเลือกที่จะมองตรงนี้ อะไรอย่างนี้  พอเกิดเหตุการณ์นี้ เราก็จะเลือกวิธีการมองแบบนี้ว่า เราทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่าง แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ถามว่า ไอ้สิ่งที่มันค้างคาใจอยู่ มันยังคาอยู่น่ะค่ะ คือง่าย ๆ ว่า เราก็ยังไม่เลือกที่จะยอมรับว่า ไอ้คุณสมบัติตรงนี้เราไม่มี หรือไม่ยอมรับว่ามันเป็นธรรมชาติของเรา มันมีอยู่ในตัวเราด้วย คือเรากลับไปเลือกที่จะมองด้านบวก ไม่เลือกที่จะมองด้านลบ แล้วก็ยอมรับมันอะไรอย่างนี้

อาจารย์: เมื่อถึงจุดนั้น สิ่งที่เราขาด ก็จางหาย สิ่งที่ไม่มีก็วางเฉย สิ่งที่เรามีก็วางเฉย คือ แทนที่จะไปตื่นเต้นมาก ๆ กับสิ่งที่เรามี เราเป็น ที่เราคิดว่าดี ก็วางเฉย มันอาจจะสุขบ้าง แต่อย่าไปเน้นมาก สิ่งที่ขาด ไม่มี ไม่เป็น ก็ควรวางเฉยเหมือนกัน
น้อง ว.: พอระยะหลัง ก็เริ่มจะคิดได้ว่า เออ ให้ยอมรับกับสิ่งที่มันเป็น หรือสิ่งที่ตัวเองเป็นในด้านน่าเกลียดนี้ว่า มันมีอยู่ แต่ไม่ต้องไปอะไรกับมัน ให้มองมันเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ แล้วกลับปรากฏว่า มันแปลกที่เมื่อกลับไปมองพี่สาวของสามีอีกทีก็เป็นอย่างเราเหมือนกัน (มีทั้งด้านที่น่ารักและน่าเกลียด) แล้วแต่ก่อนทำไมเราไปมองเขาแบบไปอิจฉาเขาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เขาก็มีส่วนที่น่าเกลียดอยู่เหมือนกัน แต่เราไม่พยายามเห็น

อาจารย์: เพราะเมื่อเรากำลังมองตัวเราในทางที่เราพร่อง เราก็โยนใส่เขาด้วย (ใช้วิธีมองเขาแบบเดียวกันกับที่มองตัวเรา) เมื่อเรากำลังมองตัวเองในทางที่ใจเป็นกลาง เราก็สามารถมองคนอื่นด้วยใจเป็นกลางได้เหมือนกัน นี่ก็คือ อุเบกขาแล้วเราก็ยอมรับตัวเองตามที่เรา เป็น เราก็ยอมรับเขาตามที่เขาเป็น แล้วเมื่อทำแบบนี้ เราอาจจะพบว่าสามีเลือกแต่งงานกับเรา ไม่ใช่ตามสเป็คแบบพี่สาว อันนั้นกิเลสสามี อาจจะเป็นอย่างนั้นบ้าง แต่ส่วนที่รักเราจริงๆ เขาคงจะรักความบ้า ๆ บอ ๆ แบบเบอร์ 4
 น้อง ว.: เขาบอกบ่อย ๆ ค่ะ แต่ไม่ค่อยเชื่อ

อาจารย์: นั้นเพราะว่าเราคิดว่าเบอร์ 4 มันน่าเกลียด มันพร่อง มันไม่น่ารัก ความเชื่อพื้นฐาน มันยังหลอกว่าเราไม่น่ารัก เราเลยไม่เชื่อสามี แต่เมื่อยอมรับตัวเอง เราก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่สามีชอบ มันไปด้วยกันไม่ได้กับการเป็นแม่บ้านหัวโบราณใช่ไหม มันจะอยู่ด้วยกันในบุคคลคนเดียวกันยาก มันเลยไม่เป็นธรรมชาติ อย่างคน 4 นั้นมักจะมีเรื่องบ้าบิ่นบ้างใช่ไหม มันยังมีเรื่องอะไรอื่น ๆ อีก หากพูดถึงพฤติกรรมทางลักษณ์ย่อย  เช่นถ้าลักษณ์ย่อยเป็นเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิด ก็จะเป็นคนที่เน้นเรื่องการแข่งขัน ถ้าเป็นเรื่องผดุงตน ก็จะมีความบ้าบิ่น ถ้าเป็นลักษณ์ย่อยทางสังคม  ก็จะเป็นเรื่องความ ละอาย
น้อง ว.: หนูไม่ทราบว่าลักษณ์ย่อยคืออะไร

อาจารย์: ก็คอยศึกษาว่า เรามีนิสัยแข่งขันอย่างไร เมื่อไร ยิ่งกรณีสามี เราอาจจะเดาว่าแข่งขัน อย่างอาตมามีเพื่อนเบอร์ 4 เขาเป็นลักษณ์ย่อยประเภทนี้ (แข่งขัน) เขาบอกว่า เขาจะต้องชนะใจของแฟน นั้นก็คือแข่งขัน การที่เขาจะทำอะไรเพื่อชนะใจแฟนเขานั้น ก็คือการแสดงออกในด้านสัมพันธ์ใกล้ชิด มันจะมีอะไรออกมาเพื่อเข่งขัน ชนะใจสามี เชื่อว่าน้อง ว. มีวิธีตามแบบเบอร์ 4 แต่เมื่ออยู่ในเวทีทางสังคม มันจะเป็นความละอายคล้ายกับว่าเราถูกเปิดเผยความไม่ดีของตัวเอง มันละอาย แล้วถ้าเป็นลักษณ์ย่อยประเภทผดุงตนเอาตัวรอด มันก็คือ ความบ้าบิ่นไม่แคร์ แม่บ้านควรอย่างไร เราก็ไม่แคร์
น้อง ว.: ของหนูคงไม่ใช่อย่างหลังนี้

อาจารย์: ก็ควรจะค่อยๆ ดูว่า พฤติกรรมแบบนี้มันจะออกมาอย่างไร อันนี้ก็พอเป็นแนวทาง เรากำลังมองหาว่ามันมีในตัวเรายังไง โดยอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แล้วสิ่งเหล่านี้มันปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ยังไง แล้วต่อจากนั้น ก็เริ่มมีสติกับมัน เริ่มจะยอมรับมัน ค่อยๆ ผ่อนคลาย ตัวนี้มันมีอยู่แต่แทนที่จะลงโทษมัน โมโหมัน ค่อยๆ ยอมรับมัน แล้วจะเห็นมันชัดขึ้น แล้วจะเห็นส่วนละเอียด จนกระทั่งบางเวลา มันสามารถปล่อยวางได้

แต่จะปล่อยวางโดยยังไม่เข้าใจมัน เป็นไปไม่ได้ ดังสำนวนที่ว่า “ขึ้นต้นไม้จากยอด” หลายคนอยากปฏิบัติธรรมโดยเริ่มต้นที่ยอด คือปล่อยวางเสียก่อน แล้วค่อยรู้เรื่องทีหลัง ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ค่อยถูกต้องเพราะบอกตัวเองว่า ปล่อยวางได้แล้ว ๆ บางที่ก็มีพระแบบนี้เยอะ พอได้ฟังท่านอาจารย์พุทธทาสแล้วก็อ้างว่า ปล่อยวางเสียแล้ว อาตมาฟังบ่อย ๆ แต่มันปล่อยวางอะไร เขาเองก็ไม่รู้ ที่จริงเขาต้องรู้จักมันให้ดีก่อน แล้วจึงปล่อยได้ เมื่อปล่อยวาง (กิเลส) นี้ได้แล้ว ก็จะสามารถเข้าถึงฝ่ายบารมี ซึ่งบารมีของคน 4 เรียกว่า "(การเป็น)ต้นฉบับดั้งเดิม" หมายถึงการเห็นชีวิตที่มันเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ แบบที่เป็นต้นฉบับดั้งเดิมของมันเอง จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้วก็ใจเป็นกลางกับมัน

ผู้ร่วม ฟัง: การที่คน 4 กลัวเจ็บปวด เขาเลยทิ้งคนที่รักก่อน พอเขาทิ้งไปแล้ว เขาก็เจ็บปวดอยู่ดี

อาจารย์: ใช่ ! เขาก็เจ็บ แต่เจ็บน้อยกว่า เหมือนคน 3 จะรู้สึกว่าการพ่ายแพ้ การล้มเหลวมันทนไม่ได้ มันทำลายชีวิตมากเกินไป เขาก็เลยอยู่กับของปลอม ที่จริงของปลอมมันก็เจ็บปวด คน 3 ก็รู้ว่า เขาอยู่กับมายามาก เขาก็ไม่ได้ดีใจกับมายาเหล่านั้นเท่าไร แต่มันจะเอา เพราะดูมันเจ็บปวดน้อยกว่า

ดังนั้นความสามารถในการแก้ ปัญหา ก็อยู่ที่ความสามารถในการปล่อยวางนั่นเอง ความกลัวของคน 3 ที่กลัวจะล้มเหลว หากเราสามารถปล่อยวางเรื่องความล้มเหลวได้ เมื่อมันล้มเหลว เราก็ยอมรับได้ แต่ถ้าเรายังยึดมั่นถือ มั่นในเรื่องความสำเร็จ และความล้มเหลวซึ่งมาเป็นคู่ ถ้าเรายังยึดมั่นถือมั่น รับไม่ได้ที่จะล้มเหลว เราก็จะเอาแต่ความสำเร็จซึ่งส่วน ใหญ่ก็เป็นความสำเร็จแบบปลอม ๆ  เป็นเพียงการสร้างภาพอยู่เรื่อย แล้วที่ลึกกว่านั้นก็คือ มันอาจจะเป็นการสำเร็จแบบผิวเผิน ตามที่สังคมหลงใหล แต่ไม่ได้สำเร็จในเรื่องที่สำคัญ ๆ คือด้านจิตวิญญาณของตนเองเลย เป็นการแลกเอาระหว่างการสูญเสียสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า เพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่าน้อยกว่า