enneagramthailand.org

การให้เหตุผลของคน 7


..ตอนคิดวางแผนจินตนาการมัน สนุก แต่พอมาถึงสิ่งที่คิดวางแผนไว้มาถึง เราไม่อยู่ตรงนั้นเพื่อสัมผัสและรู้สึกกับมันจริง ๆ เราไปอยู่กับเรื่องใหม่ คิดเรื่องใหม่ หัวไปอยู่กับเรื่องใหม่แต่ตัวอยู่ที่นี่ พอตัวไปถึงที่นั่นความคิดก็ไปที่อื่นอีกแล้ว มันก็อย่างนี้อยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้นแม้แต่ความสุขก็ไม่ได้อร่อยกับมันจริง ๆ คือ พื้นฐานมาจากความกลัว..... 


ไต่สวนเจาะลึกชีวิต กรณีศึกษาจากชีวิตคุณ จ. อาสาสมัครคนลักษณ์  7


อาจารย์  : คน 7 จะมีความรู้สึกว่ามีอะไรมาจำกัดตัวเอง มีหลายอย่างที่จะมาจำกัดเขา  โดยกลไกป้องกันของคน 7 ก็คือการที่จะหาเหตุผลต่าง ๆ มาอธิบายมากมายเพื่อ support  สิ่งที่ตนเองทำหรือไม่อยากทำ โดยเป็นนิสัย พอมีอะไรที่มีวี่แววที่จะจำกัดเรา จะทำให้เจ็บปวด ลำบาก ไม่สะดวก หรือเบื่อ ซึ่งก็เป็นความหมายหนึ่งของความจำกัด  เรียกว่าพอมีอะไรที่กระทบอารมณ์ความรู้สึก แม้นิดเดียว เบอร์ 7 ก็จะใช้พลังคิด จะคิดอะไรต่ออะไร เพื่อหนี หนีจากความรู้สึกที่ว่าจะไม่สบายใจ แล้วก็พยายามที่จะคิดสร้างสรรค์  คิดให้มันตื่นเต้นสนุกสนาน เพื่อที่ จะหนีความรู้สึกที่อาจจะไม่สบายใจ หรือเป็นทุกข์ ตามนิสัยที่เราเห็น กันอยู่ มีความคิดมากมายแต่บางทีไม่ลงมือทำ มัวแต่คิดวางแผน  แล้วก็ต้องรักษาทางเลือก จะทำอะไรต้องมีทางเลือกอื่นเผื่อไว้ เพราะถ้าเกิดเบื่อไม่สนุก อึดอัด จะเปลี่ยนเป็นเรื่องอื่น  เรื่องการหาเหตุผลซึ่งเมื่อมีอะไรเล็กน้อยที่มากระทบใจ กลไกป้องกันก็จะออกมาเพื่อป้องกัน  ของคน 7 คือจะไปสนใจที่อื่น ไม่สนใจตรงนี้ สนใจตรงนี้มันต้องผ่านความเจ็บปวดอย่างน้อยระดับหนึ่ง ความไม่สบายใจระดับหนึ่ง ก็เลยกระโดดหาอะไรที่น่าสนใจ  กลไกทำนองนี้ เรื่องนี้มีในชีวิตบ้างไหม
คุณ จ.  : มีเยอะเลยครับ

อาจารย์  : พอจะยกตัวอย่างได้ไหม  เน้นเรื่องกลไก
คุณ จ.  : การใช้เหตุผลอธิบายตนเอง กับเรื่องที่ทำให้เราเจ็บปวด-รับไม่ได้  เพื่อทำให้ตนเองสุขสบายใจขึ้นมาแทน เช่น  เรื่องใกล้ตัวที่สุด คือ เหตุการณ์ในห้องเรียนที่นี่ วันก่อนผมมานั่งข้างหน้าแต่ รู้สึกว่ามันใกล้อาจารย์เกินไป ตกเป็นเป้ามากเกินไป  อีกอย่างมันเมื่อยหลังแล้วก็เมื่อยขา ก็เลยถอยหลังไปพิงเสา  ลึก ๆ รู้สึกว่าเราทำผิด เราขี้เกียจ เอาเปรียบคนอื่น ทำให้รู้สึก guilty  แต่พอกำลังจะต้องเจ็บปวดกับความรู้สึกที่ไม่ดีนี้ กลไกป้องกันตัวโดยการอ้างเหตุผลอื่นก็จะขึ้นมาแทนทันทีว่า “พิงเสานี่ดีนะ จะได้ไม่บังคนอื่นที่นั่งอยู่ข้างหลัง”

อาจารย์  : เป็นคนใจดีมาก...
 คุณ จ.  : เท่าที่ผมจับตัวเองได้ กลไกป้องกันตนเองแบบใช้เหตุผลที่ว่านี้ จะขึ้นมาทันทีเมื่อเรากำลังเข้าสู่ด้านลบของชีวิต เมื่อเราต้องเจอกับความรู้สึกที่ไม่ดีต่าง ๆ  เช่น ความรู้สึก guilty ที่เพิ่งพูดไปนี้ หรือความรู้สึกโกรธ

ตัวอย่างความรู้สึกโกรธก็คือ วันหนึ่งขับรถไปทานก๋วยเตี๋ยว ร้านก๋วยเตี๋ยวนี้มีชื่อเสียง คนไปกันเยอะ คนแน่น ที่จอดรถข้างนอกแน่น รถติดยาวเต็มไปหมด ผมก็รู้ว่าหาที่จอดลำบาก ก็ค่อย ๆ ขับช้า ๆ  บังเอิญมีรถคันหนึ่งกำลังถอยออกมาจากที่จอดรถซึ่งอยู่หน้าร้านพอดี  ฟลุคมาก เราก็รีบจอดเพื่อที่เขาออกแล้วเราจะเข้าไปแทน มีรถข้างหลังตามมา เขาเห็นเราจอดก็ไม่ยอมหยุด มาเรื่อย ๆ แล้วค่อยจอดติดเราเลย  แต่ตรงที่เราจะจอดมันใกล้จุดที่จะเข้า มันใกล้เกินไป เราก็ถอยหลังมานิดนึงเพื่อที่จะเข้าไป  แต่เขาไม่ยอมถอย เราก็เปิดสัญญาณไฟเลี้ยว เขาก็รู้ว่าเรากำลังเข้าไป เพราะรถกำลังออกเราก็รอ ส่งสัญญาณเขาก็ไม่ยอมถอย เราก็รู้สึกโกรธแล้ว ถ้าเป็นเบอร์ 8 ก็ลงไปลุยเลย  เราเป็นเบอร์ 7 ก็คิดหาวิธีแก้ไขด้วยการใช้กลไกแบบของเรา คือมันเกิดความโกรธที่คับแค้นใจ ถ้าไม่มีทางออกมันก็อยู่กับเรา เราทนไม่ได้ก็ต้อง suffer เพื่อหนีจากภาวะต้อง suffer เราก็ต้องหาเหตุผลมาแก้ตัวไม่ให้โกรธ

อาจารย์ : ก็เลยไม่ได้กินก๋วยเตี๋ยวแล้ว
คุณ จ.  : พอดีในซอยข้างหน้ามีที่จอด เราก็เลยไปจอดตรงนั้นแทน แล้วบอกกับตัวเองว่าที่นี่มันดีกว่าที่จอดเก่าเพราะมีต้นไม้ ร่มกว่า รถก็ไม่ร้อนด้วย

อาจารย์  : ลืมเรื่องที่เกิด  ไปใส่ใจเรื่องที่ดีเรื่องใหม่
คุณ จ.  : ใช่   คนอื่นอาจมองว่าคล้าย ๆ กับเราหลอกตัวเอง แต่ความจริงมันลึกกว่านั้นเพราะว่าเราเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ  เชื่อว่าที่จอดรถในซอยมันร่มรื่นกว่าจริง ๆ  การนั่งพิงเสามันไม่บังคนข้างหลังจริง ๆ

อาจารย์  : เชื่อว่าจริง แต่ความจริงมันจริงแท้แค่ไหน เพราะเป็นนิสัยคน 7 ที่เมื่อประสบหรือรู้สึกกับอะไรที่ไม่ถูกใจหรือไม่สบายใจ มันคุ้นเคยมากเป็นนิสัย (ที่จะหาเหตุผลมาอธิบายใหม่) เลยเชื่อไม่ค่อยได้  เราเคยฟังเพื่อนเบอร์ 7 อธิบายอะไรต่ออะไร มันก็โฆษณาชวนเชื่อพอสมควร  แต่บางเวลาอาจจะจริง
คุณ จ.  : ตัวเราเองก็แยกไม่ออกว่ามันจริงหรือมันปลอม  สับสน  แต่ก่อนจะเชื่อว่าจริง  ตั้งแต่มาเรียนนพลักษณ์มันทำให้เราเกิดปัญหาว่า เอ้ จริงหรือเปล่า หรือเราหลอกตัวเอง

อาจารย์  : แล้วเมื่อสับสนตรงนี้มีความรู้สึกจะเป็นอย่างไร มันยังสับสนที่หัวใช่ไหม  กับความรู้สึก
คุณ จ.  : อึดอัด คือว่าเราอึดอัดเพราะเราต้องการความชัดเจน แต่ก่อนพอกลไกมัน work เราก็เชื่อว่าจริง  พอศึกษา(นพลักษณ์)แล้วมาเจอกลไกแบบนี้เราก็ทบทวนตัวเองว่าจริงหรือปลอม  มันเหมือนกับหนังโฆษณาของเครื่องรับโทรทัศน์ยี่ห้อหนึ่ง เคยดูกันไหมครับ ที่เริ่มตอนแรกกล้องจะซูมเข้าไปให้เห็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในจอทีวี แต่มันซูมใกล้เครื่องทีวีมากจนเราไม่เห็นกรอบจอทีวี ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังดูเหตุการณ์จริง แล้วตอนหลังกล้องจะซูมออกมาไกลขึ้น ๆ จนเราเห็นกรอบจอทีวี จึงรู้ว่ากำลังดูหนัง (เหตุการณ์ในจอทีวี) ไม่ใช่เหตุการณ์จริง

อาจารย์  : ในโฆษณาก็จะรู้ว่าไม่จริง แต่(ในทางความคิดที่มาจาก)การปรุงแต่งของเบอร์ 7 ก็พออนุมานได้ว่าไม่จริง(เช่นกัน)
คุณ จ.  : หลังจากฝึกฝนสติจนเริ่มจับกลไกการให้เหตุผลกับตัวเองได้ทันมากขึ้น แต่ยังสับสนว่าเหตุผลที่ออกมานี้มันจริงหรือปลอม เหมือนกับว่าเราเห็นภาพในทีวีตอนซูมเข้าไปแล้ว ไม่เห็นกรอบของจอ จึงไม่รู้ว่าภาพที่กำลังมองอยู่นี้เป็นภาพจริงหรือมายา ?

อาจารย์  : แทนที่จะซูมเข้าไป ซูมออกมาได้ไหม
คุณ จ.  : บางครั้งก็ได้ บางครั้งสับสน

อาจารย์  : ตรงนี้ขอทบทวน  กลไกมันจะเกิดขึ้นเมื่อไร
คุณ จ.  : เมื่อเรา hurt มีปัญหาในใจ

อาจารย์  : ที่มันกระทบใจใช่ไหม  แล้วกลไกจะออกมาทางหัว มันจะหนีใช่ไหม
คุณ จ.  : ใช่

อาจารย์  : กลไกทุกเบอร์มันจะหนีความทุกข์ใช่ไหม  กรณีนี้จะชัดว่าหนีโดยไปใช้หัว  ถ้าเราไม่ซูมเข้าไป  ภาพที่เราดึงเข้าไปส่วนใหญ่สัมพันธ์กับเรื่องลักษณ์ว่าไม่ได้ ต้องซูมเข้าไป สิ่งที่ทำให้ซูมเข้าไปก็คือกลไก  เพราะฉะนั้นถ้าเราถอยออกมาไม่ใช่ซูมเข้าไปตรงที่กลไกเริ่มทำงานจะมีผลอะไร
คุณ จ.  : ก็มีปัญหาในใจ มันอึดอัดหรือเจ็บปวด ทนไม่ได้

อาจารย์  : อันนี้ตรงกับที่คุยกับเบอร์ 9 เมื่อกี้นี้  ทำอย่างไรดี กลไกทำให้เราซูมเข้าไป  ต้องถอยกลับไปส่วนที่กลไกเริ่มทำงาน ตรงนั้นมีอะไร
คุณ จ.  : ความขัดแย้ง ความไม่สบายใจ

อาจารย์  : ถ้าเราไม่เอายุทธศาสตร์แบบกลไกที่หนี เราจะเอายุทธศาสตร์อะไร
คุณ จ.  : อันนี้ไม่เข้าใจ

อาจารย์  : เป็นคนฉลาดน่าจะคิดออก
คุณ จ.  : ก็คืออยู่กับมัน ความไม่สบายใจ ความขัดแย้ง  หาทางแก้โดยไม่ต้องเอาเรื่องอื่นมาบดบังทดแทน

อาจารย์  : ยังไม่ต้องหาทางแก้  ขอให้อยู่กับมันก่อนอย่าเพิ่งแก้ก็ได้ อยู่กับมันแล้วปล่อยความรู้สึกที่เบอร์ 7 ไม่คุ้นเคย  ได้ฟังบ่อยครั้งเบอร์ 7 ชอบที่จะเลี่ยงความรู้สึกแต่ชอบที่จะคิดเพราะเรื่องความรู้สึกโดยตรงเบอร์ 7 อาจไม่ถนัด  อันดับแรกขอ ให้ฝึกอยู่กับความรู้สึก ยอมรับมัน แล้วก็อยู่กับมัน หลายครั้งเกิดความ รู้สึกที่ดี เกิดความคิดดี ๆ แล้วเบอร์ 7 ก็จะตื่นเต้นกับความคิดที่สนุก ไม่ได้รู้สึกกับมันจริง ๆ จะไม่คุ้น บางทีมันรู้สึกนิดหน่อย
พอจะจับได้ไหมที่เราเคยอยู่กับความรู้สึกตามที่มันเป็นจริง ที่มันเจ็บปวด
คุณ จ.  : เคยอยู่บ้าง แต่สถานการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้นโดยที่เราถูกบังคับ (ให้อยู่กับมัน) ไม่ใช่เราสมัครใจ

อาจารย์  : ลองเล่าซักเรื่อง...
คุณ จ.  : ที่ทำงานมีปัญหาต่าง ๆที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งบ่อยครั้งผลของการตัดสินใจไม่ว่าทางไหนต้องกระทบคนอื่น ไม่มีทางเลี่ยงและมีความขัดแย้งในระดับต่าง ๆ ที่ทำให้เราไม่สบายใจ  ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมดาของทุกองค์กร มันก็มีเช่นนี้ทุกที่  บางครั้งก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นปัญหาอะไร เรื่องมันคลุมเคลือ แต่มันเข้ามาอยู่ในใจเราแล้ว โดยที่บางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ  แต่ก่อนเป็นมาก แต่ตอนหลังดีขึ้น

รูปธรรมคือเราจะรู้สึกว่าวัน ศุกร์เราสบายใจมาก วันศุกร์จะเป็นเบอร์ 7 เยอะเลย แต่วันธรรมดาจะเป็นเบอร์ 1 เยอะ  พอถึงวันศุกร์รู้สึกสบาย เราจะโล่งแล้ว ปัญหาที่ทำงานไม่ต้องไป deal กับมันมาก ให้มันจบอาทิตย์นั้น เราก็จะคิดเรื่องเที่ยวตอนเย็น ตอนกลางคืน วันเสาร์  วันเสาร์นี่จะต้องเที่ยวตลอด หารายการที่จะไปเที่ยว เพื่อจะปลดปล่อยตัวเองออกจากภาวะตึงเครียดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

คือตอนหลังมาย้อนดูตัวเอง ก็เข้าใจว่า ที่เราต้องออกไปวันศุกร์วันเสาร์ ก็เพื่อจะเปลี่ยนบรรยากาศ  หรือพูดให้ชัดก็คือเพื่อเป็นการเปลี่ยน “สิ่งที่อยู่ในใจเรา” จากสิ่งเครียดๆเป็นสิ่งที่ดีกว่ารื่นรมย์กว่า  มันเหมือนกับการหนีจากสภาวะความทุกข์ทางใจ แต่มันก็ยังเป็นการหนีปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหา  เพราะในที่สุดวันจันทร์ก็จะกลับมา นี่คือตัวอย่างของสถานการณ์ที่เราถูกบังคับ ให้ต้องอยู่กับความรู้สึกด้านลบที่อาจารย์ถามถึง  เพราะเมื่อวันอาทิตย์มาถึง เราเริ่มรู้สึกแล้วว่าวันต่อไปเป็นวันจันทร์  ตอนบ่ายวันอาทิตย์จะหมดแรงเลย มันกลับมา ปัญหาที่ทำงานต่าง ๆ ความไม่สบายใจต่าง ๆ ซึ่งเราหนีไป

สุดท้ายแล้วกลไกเบอร์ 7 มันไม่ work  เอาเรื่องใหม่มาแทนแต่เรื่องเก่าก็ยังอยู่ ถึงจุดนึงมันถูกบังคับให้ต้องกลับมาอยู่ดี  นั่นคือวันอาทิตย์ตอนบ่ายที่เราถูกบังคับให้ต้องกลับมาเผชิญกับความจริง ทุกคนจะรู้ พอวันอาทิตย์อย่ารบกวนผม ไม่ต้องโทรหา ไม่ต้องอะไร เพราะผมจะนอน

อาจารย์  : กรุณา เรื่องภายนอกไม่เป็นไร ช่วยบอกความรู้สึกตอนนั้น
คุณ จ.  : ความรู้สึกเหมือนมันทุกข์  มันหมดเรี่ยวแรง ไม่สนุกสนานเบิกบานใจเหมือนปรกติ

อาจารย์  : ตรงนี้ขอให้อยู่กับสมาธิ ถ้ามีสมาธิเอามาใช้เดี๋ยวนี้เลย  บ่าย ๆ วันอาทิตย์จะอยู่กับความรู้สึกได้ไหม
คุณ จ.  : ไม่ได้

อาจารย์  : แล้วที่ไปนอน นอนหลับหรืออย่างไร ?
คุณ จ.  : นอนเพราะว่ามันทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว มันถูกบังคับ สิ่งเดียวที่จะทำได้คือนอน

อาจารย์  : แล้วนอนอย่างเดียว ?
คุณ จ.  : บางครั้งก็ฟังเพลง แต่ฟังแล้วไม่เพราะเท่าไร แต่บางครั้งก็ช่วยผ่อนคลายได้บ้าง ก็ฟังมันไป ทำสิ่งที่มันเบาที่สุด จะให้มันคลายออกแต่มันก็ไม่ค่อยคลาย แล้วก็ถูกบังคับ วันอาทิตย์ตอนกลางคืนก็จะนอนอย่างนั้น

อาจารย์  : เท่าที่ฟังยังฟังไม่ออกว่ามีอะไรมาบังคับ
คุณ จ.  : คือบังคับให้ต้องคิดถึงปัญหาที่ทำงาน เพราะวันจันทร์ต้องเดินไปเจอ

อาจารย์  : นั่นมันวันจันทร์ นี่มันวันอาทิตย์
คุณ จ.  : แต่มันคิดไปแล้ว คิดล่วงหน้า

อาจารย์  : แล้วอะไรบังคับให้คิด
คุณ จ.  : มันมาเอง มันรู้ว่าเดี๋ยวต้องไปคิดแล้วนะ ปัญหาที่เราค้างไว้จะแก้ปัญหาอย่างไร

อาจารย์  : นี่อาจจะเป็นหลังมือ(ด้านตรงกันข้าม) ของการที่เบอร์ 7 มักคิดเรื่องอนาคตที่ดี ที่สนุกสนานเก่งใช่ไหม จนควบคุมไม่ได้  หลังมือของมันก็คือบางทีคิดอนาคต ในเรื่องทุกข์ด้วย เบอร์ 7 อาจไม่ค่อยอยากให้คนอื่นเห็น แต่หลายคนจะมีเรื่องเศร้าโศก เรื่องเครียด  แต่นิสัยก็จะแสดงความ happy  แต่เรื่องนี้ก็มีที่มันฟุ้ง คิดไปในอนาคตเหมือนกัน แต่เป็นอนาคตที่แย่ คือ ไม่อยู่กับปัจจุบันทั้งสุขทั้งทุกข์

ถ้าเป็นอาตมานะ วันอาทิตย์ก็ยังเที่ยวได้ OK วันจันทร์ไปทำงานแต่วันอาทิตย์เป็นวันของเรา จะให้วันอาทิตย์เป็นวันของบริษัทอีกได้อย่างไร ถ้าไม่เที่ยวก็เล่นสนุกอะไรสักอย่าง
คุณ จ.  : แต่หลังจากมาอบรม(นพลักษณ์)แล้วก็ดีขึ้น วันอาทิตย์ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเช่นนี้อีกแล้ว

อาจารย์  : แล้วตอนนี้วันอาทิตย์ทำอะไร
คุณ จ.  : ทำอย่างอื่น ไม่ค่อยกลับมาคิดเรื่องงาน รอให้วันจันทร์ค่อยกลับไปคิด

อาจารย์  : แล้วเมื่อไม่คิด อยู่กับปัจจุบันเราอยู่กับอะไร  คือถ้าทำแบบเบอร์ ๙ มันก็ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน มันเป็นการปล่อยปัจจุบันให้หมดไป หมดไป  วันอาทิตย์เราอยู่กับปัจจุบันไหม
คุณ จ.  : คิดว่าอยู่นะครับ พยายาม  คือมันรู้สึกเห็นกลไกตัวเองมากขึ้น  แต่ก่อนเราเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เราคิดเรื่องงานล่วงหน้า เพียงรู้ว่าวันอาทิตย์แล้วมันมีอาการอย่างว่า เราไม่รู้ว่ามันมาได้อย่างไร มาจากอะไร

อาจารย์  : นี่คือความหมายที่ซ่อนอยู่ในความไม่มัวเมา(บารมีคน 7 )  คำว่า ไม่มัวเมาก็คืออยู่กับปัจจุบัน  วันอาทิตย์เราก็อยู่กับเรื่องของวันอาทิตย์ จะพักผ่อนก็พักผ่อน จะเดินเล่นออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ก็เป็นเรื่องปัจจุบัน  แล้วมีสมาธิอยู่กับเรื่องนั้น  แทนที่จะมีหลายเรื่อง คิดนี่คิดโน่น  แต่อยู่กับเรื่องเดียว นี่คือความไม่มัวเมา เกิดจิตมีสมาธิ จะพักผ่อน จะเล่น จะไปเที่ยวหรือไปเล่นแบบมีสาระอยู่บ้าง ถ้าเที่ยวแบบไม่มีสาระก็ไม่เป็นสัมมาสมาธิ

เรา ฟังเราก็ไม่ชัด  ก็ต้องฝากเป็นการบ้านสำหรับเบอร์ 7 และเบอร์หัวอื่น ๆ  ถ้าจะหลุดจากอำนาจของกลไกก็อยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าปัจจุบันจะเหนื่อย ไม่สะดวก จะสุข ทุกข์  อย่างไรก็อยู่กับปัจจุบันอันนั้น
คุณ จ.  : อันนั้นคือปัญหาของเรา คือการที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ทั้งสุขทั้งทุกข์ด้วยนะ เรื่องการไม่อยู่กับทุกข์นั้นชัดเจนพูดไปเยอะแล้ว ขอพูดถึงการ “หนีสุข” บ้างซึ่งเป็นเรื่องที่ผมต้องคิดลึกๆ ถึงได้เห็น...

ตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราไปเที่ยวไปเห็นสถานที่แปลกใหม่ ตอนแรกเรารู้สึกตื่นตาตื่นใจมากเลย ไม่ว่าจะเป็นประเทศอะไรก็แล้วแต่ เช่นที่Londonจำได้ว่าวันแรกที่ไปถึงก็ไปนั่งรถเมล์ 2 ชั้น  อยู่ชั้นบนแถวแรก นั่งไปเรื่อยๆ ดูบ้านเมืองเขาที่แปลกตา ตอนแรกจะรู้สึกตื่นเต้นสำราญใจแบบสุดๆ  แต่พอแปล๊บเดียวใจเราก็กลับไปคิดถึงเรื่องอื่นข้างหน้าเสียแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ 2 ข้างทางของรถเมล์นั่น ณ จุดนั้นหลายครั้งเราไม่ได้ enjoy moment นั้นจริง ๆ เพราะเราคิดแล้วว่าจะไปที่ไหนต่อ หรือว่ามีอะไรน่าสนใจที่อื่น...

อาจารย์  : ตอนคิดวางแผนจินตนาการมันสนุก  แต่พอมาถึงสิ่งที่คิดวางแผนไว้มาถึง เราไม่อยู่ตรงนั้นเพื่อสัมผัสและรู้สึกกับมันจริง ๆ  เราไปอยู่กับเรื่องใหม่ คิดเรื่องใหม่ หัวไปอยู่กับเรื่องใหม่แต่ตัวอยู่ที่นี่ พอตัวไปถึงที่นั่นความคิดก็ไปที่อื่นอีกแล้ว  มันก็อย่างนี้อยู่เรื่อยไป  เพราะฉะนั้นแม้แต่ความสุขก็ไม่ ได้อร่อยกับมันจริง ๆ คือ พื้นฐานมาจากความกลัว  ถ้าอยู่ที่นี่กลัวว่าตัวเราจะถูกจำกัด  เลยพร้อมที่จะไป พร้อมที่จะไปอยู่เรื่อย  เบอร์ 5 พร้อมที่จะเก็บตัว ถ้าเก็บตัวแล้วใครทำอะไรไม่ได้  แต่ของเบอร์ 7 ตรงกันข้าม ไม่ใช่เก็บตัว ตัวอยู่นี่แต่วิ่งไปข้างหน้าอยู่เรื่อย  ถ้าเราวิ่งไปข้างหน้าอยู่เรื่อยเขาก็จับเราไม่ได้ อะไรจะมาจำกัดเราไว้ไม่ได้  นี่คือกลไก  หนีไปก่อน หนีไปก่อน  จะหนีจากอะไร  ก็หนีจากความสุขไง  คือตอนแรกมันจะหนีจากความทุกข์ แต่ปรากฏว่าก็หนีจากความสุขด้วย  เพราะหนีจากตัวเอง  ตามหลักพระพุทธศาสนาความสุขที่แท้จริงต้องหาที่ตัวเอง ที่ปัจจุบัน  แต่มันหนีจากปัจจุบัน มันหนีตัวเอง  เพราะฉะนั้นถ้าอยากหาความสุขที่แท้จริงมันต้องหาวิธีที่จะไม่ลุตามอำนาจ กลไก  เห็นไหม  ทำอย่างไร
คุณ จ.  : อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับความเจ็บปวด ?

อาจารย์  : โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่กับความรู้สึก  ความรู้สึกยังไงก็ได้ ความสุขมันอาจจะยุ่งหรือจำกัด ถ้ารู้สึกว่าจำกัดมันจะเป็นเหมือนกรงขัง มันกลัวโดนขัง เลยต้องหาเหตุผล  ถ้าไม่อดทนตรงนั้นมันจะหนี แม้แต่ความสุข  เมื่อมันสุขตอนแรกเรา OK   หลัง 1-2-3 ความสุขนั้นเริ่มจะหดตัว นานกว่านั้นเราจะต้องหนีไปไหม ถ้าเราไม่ไปมันอึดอัด เพราะกลไกมันทำงานเร็ว ดังนั้นขณะที่รู้สึกว่าคับแคบ กำลังโดนจำกัด  ให้หายใจยาว ๆ หายใจสบาย ๆ ไม่ใช่เพื่อหนีความรู้สึก  หายใจเพื่ออยู่กับความรู้สึกตรงนั้น
คุณ จ.  : ที่อาจารย์พูดมาทำให้ผมเห็นภาพรวมของกลไกได้ชัดเจน แต่ผมยังไม่เข้าใจเรื่องความรู้สึกว่าถูกจำกัด  ยังนึกไม่ออกเรื่องรู้สึกถูกจำกัด  ยังจับความรู้สึกถูกจำกัดไม่ได้

อาจารย์  : มันยังไม่ทันได้รู้สึกถูกจำกัดเพราะหนีไปก่อน เนื่องจากกลัวว่าจะถูกจำกัด  เมื่อ หนีไปก่อนมันจึงไม่ได้ถูกจำกัด  ไม่มีอะไรจำกัดเรา เราจำกัดตัวเอง จำกัดชีวิตอยู่ในกลไกที่ต้องหนีอยู่เรื่อย ๆ  ถ้าเบอร์ 7 เห็นตรงนี้  อันดับแรกเราโยนใส่โลก (projection) ว่าโลกจำกัดเรา แต่จริง ๆ แล้วเราต่างหากที่ จำกัดตัวเองด้วยกลไกซ้ำซาก  หนีไปก่อน  ๆ จินตนาการไปก่อน คิดไปก่อน เที่ยวไปก่อน นี่คือการจำกัดตัวเรา  เพราะเราอยู่กับอะไรไม่ได้ อันนี้ชัดที่สุด...

แล้วทาง เลือกที่แท้จริงอยู่ตรงไหน   (ก็อยู่ที่การเลือกที่จะ)อยู่กับความรู้สึก นั่นคือทางเลือก  (แต่ทางเลือกโดย)ที่เราหนีเป็นนิสัย นั่นมันไม่ใช่ทางเลือกแล้ว ทางเลือกคือไม่หนี  เมื่อเบอร์ 7 เข้าใจตรงนี้จะเข้าข่ายของญาณทัศนะ การหนีมันเป็นกลไก การหนีไม่ใช่ทางเลือก เป็นทางเลือกปลอม ๆ เมื่ออยู่กับปัจจุบันอยู่กับความรู้สึกที่แท้จริงนั่นคือตัวทุกข์ หรือบางทีมันไม่สุขไม่ทุกข์ อาจจะเบื่อ ๆ หน่อย ซึ่งก็ทนยากเหมือนกัน
คุณ จ.  : ตรงนี้ผมมีปัญหาว่ามันยังแยกแยะไม่ออกระหว่างการหนีตามกลไกกิเลสของเรา กับการหนีที่สมเหตุสมผล คือเมื่อเราควรออกจากสภาพการณ์ที่มันเลวร้ายต่อเราจริง ๆ

อาจารย์  : อาตมาไม่พูดเรื่องสิ่งภายนอกเลย สิ่งภายนอกเอาไว้ก่อน  อยากรู้ว่าสิ่งภายนอกจะจำกัดอย่างไรจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราไม่หนีความรู้สึก  ถ้าเราหนีจากความรู้สึกเราก็จะไม่สามารถแยกแยะได้  เรื่อง(ภายนอก)เหล่านั้นเรา(ยัง)ไม่พูดถึง  เราพูดว่าเลือกที่จะอยู่กับความรู้สึก  เมื่อความรู้สึกนั้นสลายตัวหรือเปลี่ยนตามเรื่องของมัน เรื่องภายนอกจึงจะชัดเจน  แล้วเราจะสามารถมองด้วยสมาธิ จะทำอะไรก็ทำไป ทำให้มันเสร็จ  แต่สมาธินั้นเกิดจากภายในก่อนจึงจะเห็นสิ่งภายนอกได้อย่างชัดเจน... พอจะปฏิบัติได้บ้างไหม  เอาเทปที่อัดนี้ไปฟังแล้วฟังอีก ฟังจนเบื่อ แล้วอยู่กับความเบื่อ ตรงนั้นจะบอก  นี่ถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ “การภาวนา”