...มัน มีทั้งขัดแย้งระหว่างเรากับคนอื่น หรือความรู้สึกขัดแย้งในตัวเราเอง เราจะรู้สึกพยายามหาสิ่งอื่นที่เข้ามาทำให้เราลืมในสิ่งที่มันขัดแย้งหรือ ว่าเป็นปัญหาที่เราไม่สบายใจอยู่ แล้วก็ไปทำให้ตรงนั้นนี่ลืม เรื่องนั้นไปเลย โดยการทำความรู้สึกตัวเองให้มึนชา ความคิดก็เบลอ ๆ ไม่ชัด เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้กับมัน .....
เราอาจเคยเห็นภาพภายนอกของคนที่ดูใจดี นิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขี้เกรงใจ ไม่ค่อยปฏิเสธ ใครและไม่ชอบขัดแย้งกับใคร แต่ลองมาฟังเบื้องหลังภาพจากการเจาะลึกเรื่องราวภายในชีวิตของคุณ น. ตัวแทนของคน 9 โดยอาจารย์สันติกโร เพื่อให้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า Right Action หรือ การกระทำที่ถูกต้องของเธอ
อาจารย์ : เราจะเริ่มต้นการสัมภาษณ์โดยทบทวน กิเลสประจำใจ ซึ่งเป็นกิเลสฝ่ายอารมณ์ของคนลักษณ์ 9 ขอให้เราช่วยเล่าว่ากิเลสของลักษณ์ 9 เป็นยังไง ชื่ออะไร เป็นยังไง พร้อมยกตัวอย่างให้ฟัง
คุณ น. : กิเลสของลักษณ์ 9 นี่จะเป็นเรื่องของความหลงลืมตนเอง และความเฉื่อยชากับเรื่องสำคัญของตัวเองเป็นส่วนใหญ่
อาจารย์ : หลงลืมตัวเอง เฉื่อยชาไม่ใช่ขี้เกียจทำงาน
คุณ น. : จริง ๆ ไม่ได้ขี้เกียจกับเรื่องของคนอื่น เรื่องภายนอกกับคนอื่นนี่จะขยันมาก แต่ถ้าเรื่องใดที่มันเป็นของตัวเองนี่จะรู้สึกว่าจะผลักดันยาก แล้วไม่ค่อยอยากจะไปรับรู้ไม่อยากจะไปขุดค้นมัน
อาจารย์ : ยกเว้นเรื่องการกินกับเรื่องบางอย่าง ใช่ไหม
คุณ น. : ใช่ ยกเว้นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ
อาจารย์ : อาจจะขยันหน่อย
คุณ น. : เช่นของตัวเองนี่จะเป็นเรื่องของการกิน
อาจารย์ : ดูหนังชอบไหม
คุณ น. : ถ้าเป็นก่อนหน้ารู้จักนพลักษณ์นี่จะชอบดูหนัง ดูแบบได้เป็นวัน ๆ เลยค่ะ แต่ช่วงหลังนี่รู้สึกเรื่องหนังจะเพลาลงไป แต่เรื่องกินนี่ยังมีอยู่บ้าง
อาจารย์ : เครียดเมื่อไหร่ก็ อยากกิน
คุณ น. : เมื่อคับข้องใจนี่รู้สึกอยากกิน
อาจารย์ : ไม่ทราบจะยกตัวอย่าง ความเกียจคร้านได้ไหม ก็อาจจะยากหน่อยเพราะว่าเกียจคร้านเป็นเรื่องไม่ทำในเรื่องสำคัญของตัวเอง ใช่ไหม
คุณ น. : คือเท่าที่เห็นนี่ ถ้าเป็นเรื่องแบบง่าย ๆ เลย รู้สึกว่าในกิจวัตรแต่ละวันที่มันเป็นเรื่องที่เราควรจะกระทำให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ตั้งแต่การแปรงฟัน ซักผ้า ล้างรถ จัดห้องนอน
อาจารย์ : ไม่ทำ
คุณ น. : รู้สึกว่าเราขี้เกียจ เราจะต้องถูกแม่กระตุ้นเตือนบ่อย ๆ คือด้วยความที่อยู่กับแม่สองคน แล้วแม่จะกระตุ้นเรื่องพวกนี้บ่อย
อาจารย์ : แต่ถ้าล้างจานของคน อื่นอาจจะขยัน
คุณ น. : ใช่ และเราก็จะชอบไปชี้แนะเขา เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเขาค่อนข้างมาก จะแนะนำโน่นแนะนำนี่
อาจารย์ : ใคร.. แม่
คุณ น. : หรือคนใกล้ตัว
อาจารย์ : นอกจากเรื่องชีวิตประจำวันที่เป็นทางรูปธรรมหรือกายภาพ มันมีอะไรอีกไหม เช่น อาจจะเปรียบเพื่อเห็นชัดขึ้น อาจจะเปรียบเทียบเรื่องที่เดี๋ยวนี้เห็นว่ามีเรื่องบางเรื่องที่สำคัญมาก แต่ก่อน 10 ปีที่แล้ว 20 ปีที่แล้วไม่สนใจไม่ใส่ใจ หรือรู้สึกบ้างแต่ไม่เอาจริงกับมัน มีบ้างไหม
คุณ น. : มันมีนะคะ คือรู้สึกว่าการที่จะค้นหาเป้าหมายชีวิตของตัวเองนี่ มันเคยเกิดแบบแว๊บ ๆ ในอดีตที่เรารู้สึกว่า บางทีในชีวิตเรามันเหมือนแบบผักตบลอยน้ำ ที่แล้วแต่มันจะลอยไปตามสภาวะที่คนเขี่ยหรือตามน้ำที่มันจะพัดพาไป มันเหมือนไม่มีเป้าหมายให้กับตัวเราเองว่า เราจะไปถึงตรงไหนจุดไหน
อาจารย์ : เราเคยรู้สึกอย่าง นั้น
คุณ น. : แต่ก่อนรู้สึกเรื่องนี้บ่อย
อาจารย์ : แล้วพอรู้สึกแล้วทำ ยังไงจึงขยัน ?
คุณ น. : พอรู้สึกแล้ว เราจะคิดกับมันมาก และรู้สึกสับสน แล้วก็พยายามจะไปคุยกับคนอื่น ไปคุยเพื่อเราอยากรู้ว่าเป้าหมายของคนอื่นเขาเป็นยังไง แล้วเราก็รู้สึกว่าเราก็น่าจะทำอย่างเขาบ้าง น่าจะคิดเป็นอย่างเขาบ้างหรือน่าจะมีเป้าหมายอย่างที่คนอื่นเขาเป็น เขาทำอะไรกันอยู่ อย่างนี้ค่ะ แต่ก่อนนี้จะรู้สึกชอบเหมือนไปพยายามจะไปก๊อปปี้เป้าหมายคนอื่นมา
อาจารย์ : อันนั้นเป็นตัวอย่าง ที่ค่อนข้างจะชัดเจนดี แล้วเราเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับสาเหตุที่เราเป็นอย่างนั้น ทำไมตัวเราจะไม่ชัดเจนในเป้าหมายหรือสับสนกับมัน
คุณ น. : รู้สึกว่าการทำความชัดเจนกับเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องยากสำหรับเรา เหมือนเราคิดไม่เป็น มันไม่แน่ใจ บางทีมันเริ่มแว๊บ ๆ อาจจะเริ่มคิดแต่มันไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่า บางทีก็ต้องการการยืนยันจากคนอื่นเพื่อให้แน่ใจว่าที่เราคิดนี่มันโอเค แล้วก็ไม่กล้าคิดบางอย่าง พอคิดแล้วรู้สึกมันยุ่งยากใจ ก็จะพยายามลืม ๆ มันไปอย่างนี้
อาจารย์ : ยุ่งยากใจอย่างไร
คุณ น. : บอกไม่ถูก รู้สึกเหมือนไม่สบายใจ ไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้ไม่กล้าคิดต่อไป
อาจารย์ : แล้วที่เราไม่กล้า คิดเพราะอะไรทราบไหม
คุณ น. : คือถ้าเป็นแต่ก่อนนี่ จะรู้สึกพอใจตัวเองที่เราเป็นคนสมถะ สบาย ๆ เป็นคนไม่ต้องไปมีเป้าหมายอะไรยาว ๆ เราทำแบบสบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องไปคิดอะไรให้มันยาวนัก ให้มันชัดเจนนัก ไม่งั้นเนี่ยะ เราจะอึดอัดในความรู้สึกตรงนั้น เพราะฉะนั้นเราก็อยู่ของเราไปเรื่อย ๆ เพราะตราบใดที่เรายังอยู่กับมันได้ หรือทำงานที่ไหนแล้วมันไม่ได้อึดอัดก็อยู่มันไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องคิดว่าจะไปเป็นระดับผู้จัดการหรือจะขึ้นไปถึงระดับไหน ก็อยู่ไป
อาจารย์ : นี่ก็ฟังคล้ายกับชาว บ้านบ้านนอกที่จะสบาย ๆ เรื่อย ๆ ก็ดี
คุณ น. : ก็ดี มันดีมาโดยตลอด จนมาถึงว่าจุดหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่ามันชักจะไม่ค่อยดีแล้ว เมื่อเริ่มรู้สึกว่าชีวิตทำไมมันผ่านมาถึงระยะหนึ่งแล้ว แล้วเหมือนไม่มีจุดหมาย
อาจารย์ : ก็ดี ไม่มีจุดหมายก็ไม่ต้องทะเยอทะยาน
คุณ น. : แต่มันก็ยังทุกข์ มีความรู้สึกข้างในว่าที่ผ่านมาในชีวิตแต่ละช่วงนี่มันเหมือนกับไม่ใช่สิ่ง ที่เรายังต้องการมันจริง ๆ เพียงแต่ว่าสภาวะที่มันอยู่ตรงนั้นเรากลมกลืนกับมันได้ เราไม่มีปัญหา เรารู้สึกสบายไปวัน ๆ นี่ก็โอเคแล้วแต่พอมาถึงจุดหนึ่ง บางทีข้างในมันเริ่มเหมือนกับจะบอกว่ามันทำอย่างนี้ มันปล่อยให้ตัวเองเรื่อยเปื่อยไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ได้ยังไง
อาจารย์ : คล้ายกับว่าพอมีอายุ ถึงระดับหนึ่ง
คุณ น. : ใช่
อาจารย์ : ก็ ย้อนหลัง 10 - 20 ปีที่ผ่านมาเรามีเส้นทางชีวิตยังไงบ้าง
คุณ น. : เราปล่อยชีวิตให้มันแบบเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีจุดมุ่งหมาย แล้วชีวิตข้างหน้าจะทำยังไงกับมันต่อไป เริ่มมีคำถามกับตัวเองว่าจะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เหรอ
อาจารย์ : แล้ว สมมติว่าถ้าเรากล้าที่จะคิดในเรื่องเป้าหมายชีวิต เราก็บอกว่าไม่กล้า แล้วถ้ามองตรงกันข้ามซึ่งต้องจินตนาการสักหน่อย ถ้าเราเริ่มคิดจริงจังกับเรื่องนี้จะเกิดความรู้สึกอย่างไร
คุณ น. : รู้สึกว่ามันน่าจะมีแรงผลักดันให้เราทำมันไป แล้วก็เจออุปสรรคเราก็ไม่ท้อ แล้วเรามีความมั่นใจและเป้าหมายของเราก็จะชัดเจนขึ้นไปเรื่อย ๆ
อาจารย์ : นั่นรู้สึกเดี๋ยว นี้หรือแต่ก่อน
คุณ น. : เดี๋ยวนี้
อาจารย์ : แล้วแต่ก่อน
คุณ น. : แต่ก่อนมันไม่กล้าคิดเลย
อาจารย์ : ทำไมไม่กล้า ถ้ากล้ามันจะเกิดปัญหายังไง
คุณ น. : รู้สึกว่าตัวเองจะทำไม่ได้ แล้วก็รู้สึกว่าจะยุ่งยาก และยากลำบาก
อาจารย์ : ผมเองก็มีเพื่อนเบอร์ 9 หลายคนก็บ่นอย่างนั้นว่ากลัวทำไม่ได้ก็ประเภทไม่ค่อยเชื่อมั่น
คุณ น. : ใช่ค่ะ ไม่เชื่อมั่นตัวเองว่าจะทำได้
อาจารย์ : อันนี้ก็เพราะว่าเราไม่คุ้นกับความเห็นที่จะคิดเอง ก็เคยชินกับการไปตามของคนอื่นเขา เอาแบบเขา
คุณ น. : แล้วก็เปรียบเทียบด้วย
อาจารย์ : เปรียบเทียบยังไง
คุณ น. : มันเปรียบเทียบเหมือนกับว่า ของเขานี่เก่ง เขาทำได้ดี แต่เราเองถ้าเราจะต้องทำแบบนั้นแล้วให้เราผลักดันตัวเองนี่ เราคงทำไม่ได้
อาจารย์ : ทำไม
คุณ น. : มัน เป็นความไม่มั่นใจตัวเอง แล้วก็ทนความรู้สึกอึดอัดขัดแย้งอะไรข้างในไม่ค่อยได้ มันเคยคิดนะไม่ใช่ไม่คิด บางช่วงมันเคยคิด แต่ว่าตรงนั้นนี่มันไม่สามารถจะรักษาความคิดเห็นหรือเป้าหมายของตัวเองได้ ตลอด รู้สึกว่าในระหว่างทางที่เราจะพยายามจะไปนี่ ถ้ามันมีอะไรเข้ามา หรือมีคนอื่นเข้ามาพูดนี่ เราก็พร้อมจะเขวได้ตลอดเวลา เราจะรู้สึกว่าเป้าหมายตรงนี้ไม่น่าใช่อย่างที่เขาบอกมั๊ง ก็โอเคไปลองทำตามแบบอย่างของคนอื่นแล้วกัน
อาจารย์ : หมายความว่าถ้ากำลังมีอะไรของตัวเองบ้าง พอคนอื่นเข้ามาเราก็เอาของเขาก่อน แล้วที่ว่าอึดอัดใจอะไร ความขัดแย้งในใจมันจะเกิดขึ้นยังไง
คุณ น. : ที่เห็นนี่ มันเหมือนกับว่าพอเรามีอะไรบางอย่างที่เราคิดไว้บ้างแล้วเกิดไปมีของคนอื่น ที่มันเหมือนไม่ตรงกับของเรา เราก็ชักไม่แน่ใจของเราแล้ว ว่าของเรานี่มันยังใช่อยู่หรือเปล่า มันยังถูกหรือเปล่า แล้วมันก็จะเริ่มรู้สึก ตรงนั้นมันเหมือนกับมันพยายามคิด แล้วใจมันก็จะเริ่มเอนเอียงไปว่าของคนอื่นเขาน่าจะโอเคกว่าของเรา
อาจารย์ : โอเคกว่าได้ยังไง
คุณ น. : มันรู้สึกว่าเวลาเขาบอกมานี่เหมือนเขาเห็นเราได้ดีกว่าที่เราเห็นของเรา
อาจารย์ : เขาฉลาดกว่าเราหรือ
คุณ น. : ก็ไม่เชิงคิดว่าเขาฉลาดกว่าเรา แต่มันรู้สึก เอ๊ะ! เขาเห็นอะไรได้ชัดกว่าเรา เขาบอกอะไรเราให้เราในสิ่งที่รู้สึกว่ามันก็ใช่ ในขณะที่ตัวเราเองบางทีมันเหมือนแบบมันไม่รู้ตัวว่าตรงนี้มันใช่หรือไม่ใช่ มันเหมือนกับพยายามจะลอง แล้วพอเริ่มลองแล้วมีคนมาทักมาอะไรปุ๊บ เราก็รู้สึกว่าเออ !เราก็เชื่อ
อาจารย์ :โอเค นี่ก็เป็นเรื่องที่นพลักษณ์เรียกว่าความเฉื่อยชาเป็นกิเลสทางใจ แล้วกิเลสทางหัวเรียกความเกียจคร้าน ชื่อก็คล้ายกัน
คุณ น. : เหมือนกันไหมคะ
อาจารย์ : ทั้ง 2 อย่างจะทำนองคล้ายกันคือไม่ค่อยคิดกระตือรือล้น อ้างกับตัวเองว่าเราทำไม่ไหว ของเขาดีกว่า มันมีความคิดที่จะสนับสนุนความเกียจคร้านคือใจก็ไม่กล้าที่จะเอาจริงเอาจัง กับเรื่องตัวเอง แต่ทางหัวก็คิดสนับสนุนทางเดียวกัน
คุณ น. : ไม่แน่ใจว่ามันเกิดจากความคิดก่อนที่หรือเกิดจากความรู้สึกก่อน
อาจารย์ : คงคล้ายเรื่องไก่กับไข่ อันไหนมาก่อนก็คงตอบไม่ได้ สองอย่างมันอุดหนุนกัน มันเกื้อหนุนกัน
ในทฤษฎีนพลักษณ์จะพูดถึงกลไกป้องกันของเบอร์ 9 ว่าเป็น narcotize ไม่ทราบว่าเคยเจอในสิ่งนี้ในตัวเราบ้างไหม
คุณ น. : เจอค่ะ รู้สึกว่าจะเจอบ่อย เพราะว่าช่วงที่ผ่านมาจริง ๆ ในชีวิตนี่มันคงมีอะไรหลายอย่างที่เราขัดแย้งอยู่ แล้วเราก็แสดงไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา
อาจารย์ : เราขัดแย้งกับใคร
คุณ น. : มันมีทั้งขัดแย้งระหว่างเรากับคนอื่น หรือความรู้สึกขัดแย้งในตัวเราเอง เราจะรู้สึกพยายามหาสิ่งอื่นที่เข้ามาทำให้เราลืมในสิ่งที่มันขัดแย้งหรือ ว่าเป็นปัญหาที่เราไม่สบายใจอยู่ แล้วก็ไปทำให้ตรงนั้นนี่ลืม เรื่องนั้นไปเลย โดยการทำความรู้สึกตัวเองให้มึนชา ความคิดก็เบลอ ๆ ไม่ชัด เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้กับมัน
อาจารย์ : ยกกรณีตัวอย่างได้ไหม
คุณ น. : เคยทำงานร่วมกันกับเพื่อนกับทีมงานนะคะ ทีนี้บางอย่างนี่เรารู้สึกว่าไม่ได้เห็นด้วยกับเขาทั้งหมด หรือโดยท่าทีเราอาจไม่ได้บอกเขาว่าเราไม่เห็นด้วย
อาจารย์ : ไม่ได้เห็นด้วย ทั้งหมด เห็นด้วยสักกี่เปอร์เซนต์ ครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือเกือบทั้งหมด
คุณ น. : คือถ้าช่วงแรกของการทำงานร่วมกัน เราเองจะเห็นด้วยค่อนข้างทั้งหมดจนกระทั่งพอมันผ่านมาสักระยะหนึ่ง
อาจารย์ : เป็นนิสัยหนึ่งที่รับของเขาใช่ไหม
คุณ น. : ใช่ แล้วพอมันผ่านมาก็จะเริ่มเห็นว่ามีบางอย่างเราไม่เห็นด้วย บางอย่างเราก็เริ่มรู้สึกว่าไม่อยากทำ ไม่ชอบ แต่รู้สึกว่าถ้าไม่ทำมันก็จะเป็นอะไรที่ดูไม่ดี ที่จะทำให้ขัดแย้งกับคนอื่น เราไปคิดอย่างนั้นนะคะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยพยายามที่จะทำกับมันต่อไป แต่ในระหว่างทำมันก็เริ่มมีความเห็นที่อาจจะไม่ค่อยตรงกันทั้งหมด พอบางครั้งมันแว่บ ๆ ขึ้นมาเราจะพยายามกลบเกลื่อนมันก่อนเลย พยายามจะกลบเกลื่อนที่จะทำให้ตัวเองไม่คิดกับเรื่องนั้น
อาจารย์ : หมายถึงว่าอยู่ ๆ ทั้งวันไม่คิดอะไรเลย
คุณ น. : คือไม่คิดนี่ มักจะเกิดในช่วงที่ถ้าต้องปะทะกันโดยตรง อันนั้นพยายามไม่คิด
อาจารย์ : อ๋อ ถ้าปะทะกับเขากลัวทำนองนั้น
คุณ น. : ใช่ แต่พอเริ่มแยกตัวออกมาปุ๊บนี่มันจะเริ่มคิด
อาจารย์ : แต่ถ้าเผชิญหน้ากับเขา
คุณ น. : มันหายไปเลย มันรู้สึกว่าโอเค มันไม่มีปัญหา ทุกอย่างมันราบรื่นด้วยดี
อาจารย์ : เราก็เจอบ่อย บางทีคุยกับเบอร์ 9 บางช่วงมันเหมือนเบอร์ 9 ไม่มีอะไรในหัว
คุณ น. : ใช่
อาจารย์ : บางทีตัวผมเองก็เคยรู้สักรำคาญกับเบอร์ 9
คุณ น. : แล้ววิธีการของคนเราก็ไม่บอกเขาให้ชัดด้วยว่า เรามีอะไรอยู่ในหัวเหมือนกับเขาพูดอะไรก็โอเคก็เออ ออ ไปตามนั้น หรือบางอย่างก็เริ่มแย่บ ๆ ออกมาว่าเราอยากจะแสดงอะไรออกมา แต่ถ้าพอเขาบอกว่ามันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เราก็รู้สึกเออ ๆ ของเรามันก็ตกไปอะไร อย่างนี้ ทีนี้เมื่อกี้ที่อาจารย์ถามว่าวิธีการที่ทำให้ตัวเอง narcotize นี่ ก็เพิ่งสังเกตเหมือนกันว่า พอมันเริ่มมีความอึดอัดหรือเรื่องที่มันคิดมันเริ่มเข้ามาทำให้เราเกิดความ ไม่สบายใจเราจะกลบเกลื่อนโดยการที่ไม่พยายามคิดกับมันแน่ ๆ แต่พอความคิดนี่มันยังก่อเกิดอยู่นี่ เราจะเริ่มมีความหงุดหงิด พอเริ่มหงุดหงิดเราจะหาทางออกโดยการที่จะกลบเกลื่อนไปกับเรื่องอื่น
อาจารย์ : หงุดหงิดเกี่ยวกับอะไร
คุณ น. : หงุดหงิดกับสิ่งที่เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่สบายใจและอึดอัดแล้ว กับการที่จะต้องทำไปตามวิธีการของเขา หรือตามหลักการของเขา
อาจารย์ : แค่หงุดหงิดหรือโมโห บ้างด้วย
คุณ น. : เคยโมโหแล้วใช้อารมณ์ออกไป
อาจารย์ : แล้วกลบเกลื่อนยังไง ใช้อะไรกลบเกลื่อนมัน
คุณ น. : ที่แล้วมานี่ จริง ๆ แล้ว มันก็จะมีออกมาบ้าง เราจะเริ่มรู้สึกแบบอยากหาอะไรให้ตัวเองกินแล้วทำให้เราสบายใจ บางทีก็ดูหนัง แต่ตอนหลังเราไม่ค่อยได้ดูหนัง มันก็เลยหนักมาทางเรื่องของการกิน
อาจารย์ : แต่เมื่อก่อน
คุณ น. : จะดูหนัง
อาจารย์ : ดูหนัง แค่ดูเรื่องเดียวหรือดูหลายเรื่อง
คุณ น. : คือที่บ้านจะติด UBC แล้วมันก็จะมีแบบดูได้ทั้งวัน เราก็จะดูมันไปได้เรื่อย ๆ มันก็ลืมไปเลย ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกหงุดหงิดอะไรทั้งหลายมันก็ลืม เออ แล้วมีอันหนึ่งที่ชอบมากคือเรื่องการนอน จะนอนไปเลยถ้ารู้สึกคับข้องหรืออึดอัดจะรู้สึกนอนเลย นอนไปแล้วเดี๋ยวพอตื่นจากนอนขึ้นมานี่มันก็จะรู้สึกลืมแล้วคลายไปแล้ว
อาจารย์ : ต้องนอนกี่ชั่วโมงกว่าจะลืมเรื่อง
คุณ น. : มันแล้วแต่ความหนักเบาของเรื่องที่เราอึดอัดนะคะ
อาจารย์ : ถ้าเรื่องหนัก ๆ
คุณ น. : ถ้าเรื่องหนัก ๆ ก็จะนอนแบบยาวเลย จริง ๆ มันยังไม่ถึงเวลานอน เช่น บางทีสัก 5 โมงก็จะเข้าไปนอนแล้ว
อาจารย์ : 5 โมงเย็น
คุณ น. : โมงก็จะเข้าไปนอน
อาจารย์ : แล้วตื่น
คุณ น. : ตื่นนี่ บางทีก็จะตื่นออกมา มันนอนหลับ ๆ แบบรู้สึกว่าตัวเองยังมีอะไรอึดอัดไม่สบายใจอยู่ เพราะฉะนั้นบางทีจะหลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่ แต่ก็จะไม่อยากจะลุกจากที่นอนก็จะนอนไปอยู่ในสภาวะที่เรารู้สึกสบาย
อาจารย์ : ตื่น 2 โมงเช้า 3 โมงเช้า
คุณ น. : ใช่
อาจารย์ : สมมติว่าตอนเช้าตื่น ขึ้นมายังเครียด ๆ อยู่ทำอะไร
คุณ น. : ถ้าเป็นปัจจุบันนี้จะพยายามไปออกกำลังกายนะ จะไปจอกกิ้งที่ได้ออกแรงเยอะ ๆ
อาจารย์ : แต่สมัยก่อน
คุณ น. : ตื่นขึ้นมาก็กิน กินแล้วก็ดูหนัง แล้วก็ไปนอน
อาจารย์ : นอนต่อ ไม่ต้องไปทำงานเหรอ
คุณ น. : ถ้าเสาร์ อาทิตย์ จะทำยังงี้ได้ แต่ถ้าไปทำงานก็จะไปทำงานแล้วก็จะไปหมกมุ่นกับเรื่องใหม่แล้ว ไปหมกมุ่นกับเรื่องใหม่ที่ทำให้เราลืมมันไป
อาจารย์ : ซึ่งก็ narcotize แบบหนึ่ง
คุณ น. : ไปหมกมุ่นเรื่องใหม่ที่ทำให้เราเพลิน ๆ ไปได้ เรื่องของคนอื่นที่ไม่ใช่เรื่องที่เรากำลังกังวลมันอยู่ หรือคิดกับมันอยู่
อาจารย์ : แล้วระยะหลังที่ เริ่มเห็นว่าความเป็นเบอร์ 9 ที่ไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีทิศมีทางอย่างนั้นเป็นทุกข์ แล้วเราก็เริ่มศึกษานพลักษณ์ เราเห็นกลไก narcotize อย่างที่ว่าเคยมีไหมที่มีเหตุการณ์อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็ได้ที่เริ่มรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ แต่แทนที่เราจะไปดูหนัง หรือกิน หรือนอน หรือไปยุ่งเรื่องสารพัดเรื่อง เรามาอยู่เฝ้าดูความอึดอัดนั้น เคยมีไหม
คุณ น. : มีค่ะ
อาจารย์ : เคยมีไหมที่เรากล้า เผชิญหน้ากับตรงนั้น
คุณ น. : มีค่ะ หลัง ๆ รู้สึกว่า เริ่มเห็นความโกรธ ความหงุดหงิดของตัวเองได้ง่ายขึ้น ได้ดีขึ้น แล้วพอเริ่มเห็นปุ๊บ ทีนี้พยายามที่จะคลี่คลายตัวเองก่อนว่ามันไปอึดอัดด้วยเรื่องอะไร ไม่พอใจเรื่องอะไร แล้วก็พยายามที่จะเคลียร์ ทำความชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองอึดอัดอยู่
อาจารย์ : พอจะยกตัวอย่างชัด ๆ ไหม ไม่ต้องบอกชื่อของคน แต่บอกรายละเอียดของเรื่อง
คุณ น. : คือตอนทำงานด้วยกันนี่ กับเพื่อนร่วมงานที่เป็นงานของส่วนรวมนะคะ
อาจารย์ : งานส่วนรวมอะไร มันยังไม่ชัด
คุณ น. : คือไปอาสาสมัครที่เราจะทำงานเวบไซต์อะไรขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง แล้วปรากฏว่าพอตอนทำ แน่นอนมันก็สไตล์การทำงานของแต่ละคนมันก็แตกต่างกันไป วิธีคิดก็จะคนละแบบกัน แต่เรานี่รู้สึกมันพร้อมที่จะคล้อยตามไปกับความคิดเห็นของคนอื่นได้เลย จะเอาแบบไหน อะไร ยังไงเราก็เห็นด้วย เราก็รู้สึกว่าอยากจะให้ทีมงานมันไปด้วยกันได้ กลมกลืนกันได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้นี่เราพยายามไม่ขัดใจ พยายามจะตามใจ แล้วก็ช่วงแรกมันเป็นลักษณะที่เราพอใจกับมันจริง ๆ
อาจารย์ : ตามใจพวกเบอร์ 7
คุณ น. : ใช่ เราก็ทุ่มเทตามสไตล์ของเราที่รู้สึกว่างานอันนี้เป็นเรื่องที่เรารู้สึก เหมือนเรามีส่วนร่วม แล้วเรามีบทบาท เรามีความสำคัญ เราอาจจะคิดไปเองหรือเปล่าไม่รู้ เราก็รู้สึกเต็มที่กับมัน เราก็เต็มที่แล้วพอทำ ๆ ไปก็เริ่มเห็นว่า ในงานบางอย่างนี่ ทำไมเขาใช้วิธีการที่ เรามองว่าเขาทำไมช่างตามใจตัวเองมากเหลือเกิน เช่น ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้สึกว่าเราก็มีงานจัดการด้านอื่น แล้วเราก็รู้สึกเหนื่อย ซึ่งเราก็อยากจะ concentrate งานตรงนั้นมากกว่า แต่ขณะเดียวกันนี่เขาก็รู้สึกว่าในการที่จะไปจัดการงานอื่นมันก็น่าจะสามารถ เอาเรื่องของงานเวบไซต์เข้าไปรวมอยู่ในนั้นได้ แต่เราก็บอกว่าเราไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะให้ทำแบบนี้ เพราะเราอยากจะ concentrate งานตรงนั้นมากกว่า แล้วมันเป็นเรื่องไม่ถนัดสำหรับเราที่จะทำงานอะไรหลาย ๆ อย่าง เราจะเบลอได้ง่าย แล้วเราก็จะจัดการออกมาไม่ได้ดี ทีนี้ช่วงนั้นนี่เขาก็จะบอกว่าไม่ยาก คิดอะไรมาก ทำไปสิ ไม่เป็นปัญหา แต่ความคิดเรา ก็อยากจะบอกเขาว่าแล้วทำไมเขาน่าจะจัดการงานของเขาเอง ทำไมมาฝากเราได้ยังไง
อาจารย์ : ก็เบอร์ 7 ก็อย่างนั้นที่จะให้คนอื่นทำ
คุณ น. : เขาก็บอก เอ้ย! ไม่มีปัญหาหรอก ไปคิดอะไรมากทำไปได้ แต่ในใจเรารู้สึกเริ่มโกรธแล้ว
อาจารย์ : ก็เบอร์ 7 คิดได้แต่ไม่ทำ แล้วเบอร์ 9 โง่ ๆ ก็รับทำ
คุณ น. : แล้วตอนนั้นนี่มันเริ่มรู้สึกเลยว่าโมโห โมโหว่าทำไมทำแบบนี้กับเรา ไม่เห็นเหรอว่าเรานี่ลำบากใจอยู่นะ เรามีเรื่องสำคัญของเราที่เราจะต้องจัดการให้มันได้ดีเหมือนกัน
อาจารย์ : เราเสียสละ
คุณ น. : เขาไม่เห็นเหรอว่าเราเหนื่อยแล้วนะ แล้วตรงนี้ถ้ามันเป็นเรื่องที่เขาอยากจะได้เขาต้องเข้ามารับผิดชอบ ตอนนั้นวิธีการคือเราก็เริ่มมีอารมณ์ แล้วก็ใช้อารมณ์นี่ปะทะ ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าใช้อารมณ์ปะทะ
อาจารย์ : อ๋อ กำลังคุยกับเขา
คุณ น. : ไม่เชิงคุยดี ๆ แต่เริ่มปะทะ ก็ต่อว่าไปว่า ทำอย่างนี้ได้ยังไง เราไม่ชอบนะ ไม่เห็นหรือว่าเราเหนื่อย แล้วเราต้องรับผิดชอบตรงนี้อยู่ ก็ต่อว่าออกไปเยอะพอสมควร
อาจารย์ : ปะทะกับคนเดียวหรือสองคน
คุณ น. : คนเดียว ปะทะออกไป แล้วก็รู้สึกผิดที่แสดงอารมณ์อย่างนั้นออกไปกับเขา นี่คือก่อนหน้านั้นที่มันรู้สึกว่าไม่เข้าใจอารมณ์ข้างในที่เราเริ่มอึดอัด แล้ว กับการที่เขาไม่ให้ความสำคัญกับเรา ไม่เห็นใจเรา คือตรงนั้นนี่มันคงมีก่อตัวในตัวเราแล้ว แต่เราก็ไม่ได้พยายามที่จะเคลียร์ตรงนี้กับเขาให้ชัด จนกระทั่งพอมาถึงจุดหนึ่งก็คือมันก็ระเบิดออกมาเลย แต่พอหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นแล้วนี่มันก็เคลียร์กันไป เพราะว่าเขาก็เริ่มมาพูดดีกับเรา ถามว่าถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ จากเหตุการณ์นั้นนี่เราก็เริ่มมาสังเกตตัวเองหลัง ๆ ว่า พอเรามีอะไรที่เราอึดอัดเรามักจะพยายามจะเคลียร์กับเขาก่อนที่มันจะเป็นความ โมโห จนอาจจะแบบระเบิดออกมา
อาจารย์ : เคลียร์กับเขายังไง
คุณ น. : ก็จะบอกเขาตรง ๆ ว่า ตรงนี้เราไม่ชอบนะ หรือตรงนี้นี่เขาน่าจะทำแบบนี้อย่างที่เราคิดบ้างนะ ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น
อาจารย์ : แล้วถ้าเราบอกเขาอย่างนี้ อารมณ์ของเราจะเป็นอย่างไร
คุณ น. : ก็รู้สึกดีกับตัวเองนะ มันเหมือนได้พยายามจะบอกให้เขาเข้าใจและเห็นใจเรา หรือมีบางอย่างที่เราอยากจะบอกความคิดเห็นของเราให้เขาได้รับรู้บ้าง คือรู้สึกพอมันได้แชร์ตรงนั้นออกไป สิ่งที่เรารู้สึกว่าเขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรา จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ใช่ แต่ว่าเราไม่บอกของเรามาให้ชัดเท่านั้นเอง หรือบางทีที่เขาจะบอกให้เราทำ เราก็ไม่บอกว่าเราอึดอัด เราก็เก็บมันไว้จนกระทั่งพอถึงวันหนึ่งเราก็เกิดความรู้สึกทนไม่ได้แล้วอะไร อย่างนี้ค่ะ
อาจารย์ : เลยระเบิดหน่อย
คุณ น. : ใช่
อาจารย์ : แล้วก็มาเดี๋ยวนี้จะบอกก่อนระเบิด
คุณ น. : ใช่ หรือบางทีก็จะทำความเข้าใจเลยว่าเขาบอกมาด้วยเหตุผลอย่างนี้ แล้วที่เราอยากทำนี่ มันอยากทำจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าไม่อยากทำตรงนี้มันเป็นเพราะอะไร
อาจารย์ : หมายถึงตัวเรา
คุณ น. : ตัวเรา จะพยายามเคลียร์ตัวเองก่อน แล้วถ้ามันเคลียร์ได้จบลงได้ก็จบไป
อาจารย์ : แล้วมีวิธีเคลียร์กับตัวเองยังไง
คุณ น. : ช่วงหลังจะไม่ใช้วิธีการที่จะ narcotize ตัวเองเท่าไหร่ ถ้าในแง่ที่รู้สึกว่ามันเริ่มมีอะไรคับข้องใจหรือขัดแย้งนี่ มันจะกลับมาถามตัวเองว่าชอบที่จะทำมันไหม อยากทำมันไหม แล้วก็จะเคลียร์ตัวเองว่า ถ้ายังชอบ มันยังใช่อยู่ ก็โอเคเราก็ทำไป แต่ถ้ารู้สึกอึดอัดไม่ชอบแล้วถึงวันนั้นหรือตรงนั้นก็ค่อยบอกเขาไป
อาจารย์ : บอกเขาแล้วความอึดอัดหายเหรอ
คุณ น. : จริง ๆ ท่าทีการบอกมันก็ยังบอกแบบไม่ชัด ที่จะบอกตรง ๆ ไปทีเดียวว่าไม่ชอบ ก็ยังใช้วิธีนุถนอมน้ำใจเขา แล้วก็ใช้บอกแบบอ้อม ๆ
อาจารย์ : แล้วเรารู้สึกดีขึ้น หรือเปล่า หรือเหมือนเดิม
คุณ น. : มันคงยังมีอะไรค้างคาในใจอยู่ แต่ว่า ณ ขณะนั้นที่พอพูดออกไปแล้วรู้สึกว่าดีขึ้นบ้าง
อาจารย์ : แม้แต่เขาไม่เข้าใจสิ่งที่เราบอก
คุณ น. : ใช่ เพราะเราก็บอกแบบไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ แต่รู้สึกเหมือนกับว่าได้บอกไปแล้ว
อาจารย์ : แล้วเราเคยมีประเภทอยู่กับความรู้สึกอย่างเดียวไม่ต้องไปบอกใคร แต่เฝ้าดูความรู้สึกเรื่อย ๆ ที่รู้สึกอึดอัด
คุณ น. : จริง ๆ ช่วงหลังนี่ได้ทำอย่างนี้บ่อย แทนที่จะเคลียร์ออกไปทันที ซึ่งบางทีก็ใช้วิธียืนยันแบบไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่าไหร่ พอเริ่มคิดปุ๊บแล้วจะรู้สึกว่าไม่ใช่ก็จะยืนยันออกไป ทั้งที่ตรงนั้นก็ไม่ถูกต้องนัก แต่ช่วงหลังนี่พอมันได้ทำความเข้าใจ ทำความชัดเจนกับตัวเองก่อนนี่ รู้สึกว่าตรงนี้มันทำให้เราสามารถจะทำอะไรโดยความเข้าใจทั้งตัวเองและคนอื่น ได้ดีขึ้น
อาจารย์ : บารมีของลักษณ์ 9 ทางใจก็เรียกว่ากรุณา เป็นความรักชนิดหนึ่ง จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร พอเราค้นพบความรู้สึกอึดอัดแล้วเริ่มเคลียร์กับตัวเองตรงนั้นจะเจอความกรุณา บ้างหรือไม่
คุณ น. : ก็ไม่แน่ใจว่านี่มันเป็นความกรุณาอย่างที่อาจารย์พูดถึงหรือเปล่า แต่ว่ามันได้เห็นอย่างหนึ่งว่าพอเราเคลียร์ตรงนี้นี่เราจะเข้าใจ เข้าใจถึงสิ่งที่มันควรจะต้องกระทำกับตัวเองกับเรื่องสำคัญของตัวเอง พร้อม ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เราจะทำเรื่องของคนอื่นด้วย โดยที่ไม่มองข้ามตัวเองค่ะ คือมันยังมีตัวเองอยู่ในเรื่องที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง แทนที่เราจะเข้าไปจัดการให้คนอื่นก่อน
อาจารย์ : เราจะเอาเรื่องของเราก่อนหรือของเขาก่อน
คุณ น. : ก็พยายามจะเอาเรื่องของตัวเองก่อน จริง ๆ ก็ไม่ได้กำหนดไปทั้งหมดทีเดียวว่าจะต้องเป็นของเราทั้งหมด แต่มันเริ่มที่จะดูความจำเป็น เริ่มจัดลำดับความสำคัญ ผิดกับเมื่อก่อนที่เราจะเรียนรู้นพลักษณ์ มันง่ายและไวมากที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องของคนอื่น แต่ช่วงหลังนี่จะพยายามคิดก่อนว่าอะไรเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับตัวเอง เสร็จแล้วก็ไปดูของคนอื่นประกอบ ถ้าเป็นเรื่องที่ของเรายังพอรอได้จริง ๆ แล้วเรื่องเขาจำเป็นกว่าจริง ๆ ตรงนั้นนี่ก็จะทำโดยที่ไม่รู้สึกมาอึดอัดคับข้องใจกับหรือเป็นปัญหากับตัว เองทีหลัง เหมือนกับว่าเราได้ไตร่ตรองก่อนตอบรับเขาออกไป
อาจารย์ : โอเค คือเราไม่ได้ไปสวิงตรงกันข้ามว่าไม่สนใจของเขา เพียงแต่ว่าจะพิจารณาก่อนว่าของเขารีบด่วนแค่ไหน สำคัญแค่ไหน จำเป็นมากน้อยแค่ไหน ก็เลยไม่ใช่ว่าไปทอดทิ้งเขา แล้วส่วนไหนเป็นความกรุณา
คุณ น. : ความกรุณาตรงนี้นี่คือที่แน่ ๆ มันเกิดเป็นความรักและเมตตาตัวเองมากขึ้น คือที่ผ่านมารู้สึกเลยว่าเหมือนเราละเลยตัวเองมาก เรื่องที่มันจำเป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราเคยคิดหรือเคยอาจ จะมีความคิดอยู่บ้างแล้วเราพยายามจะลบเลือนมันไป หรือละเลยมันไปนี่ คือตรงนี้เราเริ่มอยู่กับมันได้ ยึดเป้าหมายตรงนี้ได้ แล้วก็เริ่มรู้สึกว่ามันเป็นความเข้าใจตัวเอง รัก มีความรู้สึกรักตัวเองมากขึ้น แต่ไม่ใช่รักโดยที่เห็นแก่ตัวนะคะ คือตรงนี้เวลาที่พูดกับคนอื่นว่าที่เราเปลี่ยนไปเพราะเราเริ่มรู้สึกรักตัว เองมากขึ้นนี่ คนอื่นมักจะไปตีความเอาว่าอย่างนี้เราก็เห็นแก่ตัวสิ แต่เรารู้สึกว่าจริง ๆ มันไม่ใช่เลย เพราะมันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นด้วยในแง่ว่า ถ้าเราเข้าใจตัวเองได้ดี ทำในเรื่องกับตัวเองในสิ่งที่มันควรทำแล้ว เราก็จะสามารถให้ความรักและการกระทำที่ถูกต้องกับคนอื่นได้เหมือนกันนะคะ
อาจารย์ : ช่วยอธิบาย ต่างกันอย่างไรกับที่เราก็ลอย ๆ ตามเรื่องราวของคนอื่น จะมีคนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าอย่างนั้นดีไม่เห็นแก่ตัว ใจบุญ และเดี๋ยวนี้ที่เรารักตัวเอง มันยังไงที่เรียกว่าเห็นแก่ตัว ยังไงไม่เห็นแก่ตัว
คุณ น. : คือแต่ก่อนมันเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจมาก ที่เขาจะบอกว่าเรานี่เป็นคนที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่นได้ดี เป็นคนที่คิดถึงคนอื่นก่อน แต่มาพิจารณาในตอนหลังเราเห็นว่าในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คิดถึงคนอื่น ปรากฏว่าเราลืมตัวเองไป ในหลาย ๆ เรื่องเรามักจะไม่ค่อยคิดถึงว่าเราเดือดร้อนยังไง หรือเป็นปัญหายังไงในขณะที่ทำเรื่องของคนอื่น แต่ในช่วงหลังนี่ ในความรู้สึกตรงนี้มันเริ่มเข้าใจว่าการที่เราจะช่วยเหลือคนอื่นนี่แต่ว่ามา เบียดเบียนตัวเองมันก็ไม่ถูกต้อง
อาจารย์ : ที่จริงคือตรงนี้ เป็นประเด็นที่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยก็สับสนอยู่ ตัวผมเองก็โดนอยู่พอสมควรที่อย่างคนทั่ว ๆ ไป เขาต้องการให้เราทำอะไร ถ้าเราทำตามที่เขาต้องการเขาก็จะชมเรา ใจดี เอื้อเฟื้อ แต่ถ้าเราไม่ทำเขาก็จะหาว่าเราเห็นแก่ตัว แล้วคนเหล่านี้ก็ไปตีความตามใจตัวเองว่า คนที่เอื้อเฟื้อต่อเขาก็คือคนดี แต่ที่จริงในพุทธศาสนามีคำสอน เช่น ในธรรมบทก็มีบทหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสอะไรทำนองว่า เราไม่ควรจะละเลยประโยชน์ของตนแม้ทำประโยชน์ผู้อื่น มี อะไรทำนองนั้น รู้สึกจะอยู่ในหมวดหน้าที่ เราไม่ควรทอดทิ้งหน้าที่หรือประโยชน์ของตนแม้แต่เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ อื่น แล้วมีอีกหลายแห่งที่พระพุทธเจ้าจะตรัสถึงในการพิจารณาว่าจะทำอะไรหรือไม่ ทำ ก็พิจารณาว่าเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ในทางจิตวิญญาณ บางทีเราเสียสละประโยชน์อื่น ๆ เช่น เงินทอง ชื่อเสียง ก็ได้ แต่จะทอดทิ้งหรือเฉยเมยกับประโยชน์ตน ที่พุทธ ศาสนาหาว่าแท้จริงก็คือ การศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อลด ละ เลิก กับกิเลส เพื่อจะไม่เป็นทุกข์ นี่เป็นหน้าที่หลักของชีวิต แล้วถ้าเราทอดทิ้งตรงนี้ แม้แต่คิดว่าจะช่วยคนอื่นการช่วยเขาอาจจะไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ แต่ชาวพุทธจะสับสนประเด็นนี้พอสมควร
คุณ น. : ใช่ เพราะว่าจริง ๆ แล้วมันได้เห็นค่ะอาจารย์ว่าที่ผ่านมานี่ เราดูเหมือนเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น แต่ปรากฏว่าทำไมมาถึงจุดหนึ่ง เราเป็นทุกข์ ในการทำอะไรของเรา เราเริ่มเบียดเบียนตัวเราเองเข้าไปเรื่อย ๆ
อาจารย์ : อย่าถือมากนัก ผมจะบอกว่า มีเพื่อนเบอร์ 9 หลายคนที่สนิท มันมีบ่อยครั้งที่ท่านมาช่วยงานของเราชนิดที่ หนึ่งเราไม่ต้องการให้ท่านมาช่วย สองบางทีที่ท่านช่วยมันมั่ว ๆ เพราะฉะนั้นท่านอาจจะคิดว่าช่วยเราหรือทำประโยชน์เรา แต่มีบางครั้งที่เรารู้สึกว่าไม่ช่วยเป็นประโยชน์กว่า ไม่รู้เคยโดนใครพูดทำนองนี้
คุณ น. : เคยโดนญาติ โดนพี่ชาย ด้วยความที่ไปช่วยเขามาก เรารู้สึกว่าการช่วยเขา เพราะเราสงสารเขา เราก็หยิบยื่นอะไรต่ออะไรให้เขา แล้วก็แถมชอบแนะนำ สอนเขาว่าควรจะทำอะไรที่จะดีเป็นประโยชน์ต่อตัวเขา แล้วเขากลัวเรามากเลย เขารู้สึกว่าเหมือนเราไปยัดเยียดเขา
อาจารย์ : ถ้าเรากลับมาประเด็น narcotize การที่เราไปช่วยคนอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงบางสิ่งบางอย่างในใจตัวเองที่รู้สึก อึดอัด เครียด หรือขัดแย้งในตัวเอง ถ้าแรงจูงใจมาจากการหลีกเลี่ยงเรื่องในใจตัวเอง การไปช่วยคนอื่นมันออกมามั่ว ๆ แต่ถ้าใจของเราคลี่คลาย สงบ เย็น การไปช่วยเหลือคนอื่นจะชัดเจนกว่าแล้วเป็นประโยชน์กว่า นี่เป็นปัญหาที่คน 9 แล้วอาจจะอีกหลาย ๆ คนต้องทำความเข้าใจจะไปยุ่งเรื่องคนอื่น ตัวเองชัดเจนหรือเปล่าว่าไปยุ่งทำไม หลายคนอาจจะยุ่งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในใจตัวเองก็ได้ แล้วการช่วยเหลือนั้นอาจจะไม่เป็นผลดีเท่าที่ควร อาจจะเป็นผลเสียด้วยซ้ำ โอเค เราก็คุยเรื่องความกรุณา หรือที่จริงเราก็พูดถึงเรื่องบารมีทางความรู้สึกที่เรียกว่าการกระทำ สิ่งที่ถูกต้อง คือเมื่อใจตัวเองหนักแน่น ชัดเจน สงบ เย็น เราเลือกที่จะช่วยคนอื่นอย่างมีสติปัญญา การกระทำเหล่านั้นถูกต้อง ถ้าเพื่อประโยชน์ตนก็เป็นประโยชน์ที่ไม่เห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์ผู้อื่นก็ ไม่ใช่แบบมั่ว ๆ ฟุ้งซ่าน ก็ออกมาเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือ right action ซึ่งในทางนพลักษณ์ถือเป็นบารมีของคน 9 นั่นเอง.