enneagramthailand.org

ความทุกข์


ค้นตัวเอง: แบบฝึกหัดเพื่อการศึกษานพลักษณ์จากตัวเอง 
บทที่ 5: ว่าด้วยความทุกข์ และ ความเจ็บปวดทางใจ 
โดย พระอาจารย์สันติกโรภิกขุ  และ  โจแอน โรเซนเบิรก์ ไรอัน
   
 
 
  
หัวข้อศึกษา

แบบฝึกหัดบทที่แล้ว เราได้พูดถึงเรื่องสิ่งคนที่แต่ละลักษณ์พยายามหลีกเลี่ยง ในบทนี้เราจะมาดูว่า เบื้องหลังการหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้มีที่มาจากไหน หรือเพื่อปกป้องตนเองจากอะไร ซึ่งในประเด็นนี้เราสามารถพูดได้ว่า การก่อรูปและการทำงานของกลไกประจำลักษณ์นั้น ก็เพื่อปกป้องตัวเราจากความเสียใจ ความตึงเครียด ความเจ็บปวดทางใจ หรือสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่าความทุกข์นั่นเอง

ในบทก่อนๆเราได้ศึกษาเรื่องของกิเลส หรือความอยากที่เป็นแรงผลักดันภายใน โดยดูจากปฏิกิริยาที่เราแสดงออกต่อโลกภายนอก เช่นโลกทัศน์ และ พฤติกรรมที่เป็นแบบแผนเฉพาะของแต่ละลักษณ์ เช่นกลไกการโยนใส่ (Projection) และ การหลีกเลี่ยง (Aviodance) ของจิต ในบทนี้เราจะหันมาดูสภาวะภายในที่เป็นจุดเริ่มต้นของกลไกป้องกันตัวเหล่านี้ อันได้แก่ เรื่องความเจ็บปวดทรมาน หรือ ความทุกข์ทางใจ

ข้อปฏิบัติประจำวัน

ขอให้เริ่มต้นด้วยการกลับไปทบทวนสมุดบันทึกของแต่ละคน ที่ได้จากการทำแบบฝึกหัดในสี่บทแรก เริ่มต้นจากบทที่ 1 และ 2 ด้วยการพิจารณาบัญชีรายชื่อถ้อยคำ ที่เราใช้เรียกแทนหรืออธิบาย “กิเลส” และ “การยึดติดทางความคิด” ของลักษณ์เรา ต่อจากนั้นขอให้ทบทวนรายการข้อสังเกตต่างๆ ที่เกิดจากการทำแบบฝึกหัดบทที่ 3 และ 4 เรื่องลักษณะและวิธีการที่เราใช้บ่อยๆ ในการโยนใส่ (PROJECTION) และการหลีกเลี่ยง (AVOIDANCE) ทางจิต เมื่อนำบทบันทึกจากทั้งสี่แบบฝึกหัดนี้มาพิจารณาร่วมกัน จะมีคำที่ปรากฏซ้ำๆ หรือมีสิ่งที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน ขอให้บันทึกข้อสังเกตเหล่านี้ไว้ในสมุดบันทึกต่อไป

ต่อจากนั้น ขอให้ทบทวนรูปแบบและวิธีการที่เราใช้ในการโยนใส่ และในการหลีกเลี่ยงทางจิต ซึ่งเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติของเราที่ได้ถูกบันทึกไว้ในสองบทที่แล้ว รูปแบบทางความคิดและพฤติกรรมของเรานี้ มักจะมีลักษณะและมีขั้นตอนที่เป็นแบบแผนแน่นอนตามสไตล์ของเรา แม้สภาวะภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นอาจแตกต่างกัน แต่สภาวะภายในที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก และ พฤติกรรมตอบสนองของเรานี้ มักจะเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ขอให้แต่ละคนพยายามมองให้ถึงลักษณะการโยนใส่ และการหลีกเลี่ยงที่เป็นไปตามแบบแผนของเรานี้ให้ดี

ข้อปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสำหรับแบบฝึกหัดบทนี้ คือทุกครั้งที่เราเริ่มจะมีปฏิกิริยาตอบโต้(ต่อสิ่งภายนอก) ไปตามแบบแผนของการโยนใส่และการหลีกเลี่ยงที่ซ้ำๆตามสไตล์ของเรานี้ ขอให้มีสติที่จะหยุดกระบวนการตอบโต้แบบอัตโนมัติตามขั้นตอนซ้ำๆนี้ แล้วใช้สมาธิกลับมาสู่สภาวะภายในของเราแทน โดยพิจารณาทบทวนความรู้สึกของเราที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานั้น

ในช่วงเริ่มต้น ผู้ปฏิบัติอาจใช้ข้อความอ้างอิงต่อไปนี้ เป็นแนวทางในการดู(ใจ)ตัวเอง เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นความเจ็บปวด, ความเสียใจ, ความผิดหวัง, ความตึงเครียดในใจของเราต่อไป

สำหรับคนลักษณ์ 1: 
คุณสังเกตเห็นถึงความโกรธ ความแค้นเคือง และความรู้สึกผิดภายในใจของคุณหรือไม่ ? ความคิดของคุณเช่นนี้ออกมาในลักษณะของการตำหนิตัวเอง, ผิดหวังในตัวเอง หรือการสั่งสอนเข้มงวดตัวเองใช่หรือไม่ ? คุณกำลังพยายามที่จะเก็บกดมันไว้ หรือหาเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้กับมันใช่ไหม ? อะไรเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง และผลักดันการกระทำทั้งหมดเหล่านี้ของคุณ ?

สำหรับคนลักษณ์ 2: 
มีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ให้คุณรู้ตัวเมื่อความหยิ่งทรนงในตัวเองของคุณกำลังสำแดงตน เช่น การคุยโวโอ้อวด หรือการทำตัวเหนือผู้อื่น ? คุณกำลังรู้สึกว่าความมีคุณค่ามีประโยชน์ต่อผู้อื่นของคุณกำลังถูกท้าทายอยู่หรือไม่ ? สภาวะที่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจให้กับคุณหรือไม่ ? คุณรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นคุณค่า ความสำคัญของคุณเลยใช่ไหม ? อะไรเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง และผลักดันการกระทำทั้งหมดเหล่านี้ของคุณ ?

สำหรับคนลักษณ์ 3: 
คุณกำลังมุ่งหน้าเต็มที่เพื่อบรรลุภารกิจและสร้างผลงานต่างๆ อยู่ใช่หรือไม่ ? ระหว่างนี้คุณมีอารมณ์ความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นบ้างไหม ? อย่างไร ? คุณกำลังเก็บกดไม่ไปรับรู้ความรู้สึกเหล่านี้อยู่หรือไม่ ? การมุ่งอยู่กับการกระทำสิ่งภายนอกเหล่านั้นทำให้ความรู้สึกภายในของคุณหายไปหรือไม่ ? อย่างไร ? คุณสัมผัสความรู้สึกภายในตัวเองได้ไหม ? คุณกำลังรู้สึกอะไร ?

สำหรับคนลักษณ์ 4: 
คุณกำลังตกอยู่ในห้วงอารมณ์ของการถวิลหาอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิตคุณ หรือรู้สึกอิจฉาผู้อื่นในสิ่งที่เขามีดีกว่าคุณหรือไม่ ? คุณกำลังคิดถึงสิ่งที่น่าจะเป็นไปในอดีต มากกว่าสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันใช่หรือไม่ ? ภาพของอดีตช่างดูสวยงามดีกว่าภาพในปัจจุบันที่ดูเรียบๆ น่าเบื่อหน่ายสำหรับคุณหรือไม่ ? คุณกำลังถวิลหาสิ่งที่ผ่านมาแล้ว หรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึงมากกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในเวลานี้ใช่ไหม ? อะไรเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันการกระทำทั้งหมดเหล่านี้ของคุณ ?

สำหรับคนลักษณ์ 5: 
ชีวิตคุณอยู่ในโลกส่วนตัวที่แยกขาดจากผู้อื่น และตัดขาดจากอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองใช่หรือไม่ ? คุณมักรู้สึกถูกบุกรุกใช่ไหม? คุณมักต้องการปลีกตัวจากผู้คนหรือโลกภายนอก และอยู่กับพื้นที่ส่วนตัวใช่หรือไม่ ? คุณต้องการที่จะหลบลี้ไปเติมพลังให้กับตัวเองใช่หรือไม่ ? คุณรู้สึกสูญเสียทรัพยากรและหมดพลังเกินไปใช่ไหม ? อะไรเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง และผลักดันประเด็นเหล่านี้ของคุณ ? ความรู้สึกภายในจริงๆของคุณเป็นอย่างไร ?

สำหรับคนลักษณ์ 6: 
คุณมักรู้สึกว่าคุณจำเป็นต้องต่อสู้หรือไม่ก็ต้องถอยหนีใช่หรือไม่ ? คุณรู้สึกถูกคุกคามในทางหนึ่งทางใดใช่ไหม ? อะไรเป็นสิ่งที่คุณต้องสูญเสีย ? ในหัวคุณเต็มไปด้วยความระแวงสงสัยใช่หรือไม่ ? อะไรเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง และผลักดันประเด็นเหล่านี้ของคุณ ? ความรู้สึกภายในจริงๆของคุณเป็นอย่างไร ?

สำหรับคนลักษณ์ 7: 
คุณมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกจำกัดตีกรอบบ้างไหม ? คุณรู้สึกถึงความต้องการที่จะแสวงหาและรักษาทางเลือก และความสุขสำราญให้กับตัวเองบ้างไหม ? ความคิดคุณหมกมุ่นอยู่กับการวางแผนการให้กับทุกๆเรื่องใช่หรือไม่ ? คุณกำลังกำจัดหรือหลีกหนีสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์, ความเจ็บปวด, ความเบื่อหน่าย ใช่หรือไม่ ? อะไรเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง และผลักดันประเด็นเหล่านี้ของคุณ ? ความรู้สึกภายในจริงๆของคุณเป็นอย่างไร ?

สำหรับคนลักษณ์ 8: 
คุณมีความรู้สึกที่ต้องสนองอารมณ์อย่างเต็มที่ แบบสุดขั้วเกินพอดี จนมักออกมาในรูปแบบที่ดังเกินไป, เร็วเกินไป, ใหญ่เกินตัวใช่หรือไม่ ? คุณกำลังมุ่งหาประสบการณ์ที่เข้มขันยิ่งๆขึ้น เช่น ในเรื่องอาหารการกิน, ดนตรี, หรือความตื่นเต้น เร้าใจในรูปแบบต่างๆ คุณรู้สึกว่าตัวเองควบคุมครอบงำหรือปกป้องผู้อื่นหรือไม่ ? คุณโกรธแค้นจนตัวสั่นกับความไม่ยุติธรรมใช่ไหม ? อะไรเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง และผลักดันประเด็นเหล่านี้ของคุณ ? ความรู้สึกภายในจริงๆของคุณเป็นอย่างไร ?

สำหรับคนลักษณ์ 9: 
คุณมีอาการง่วงเหงาหาวนอน และไม่สนอกสนใจอะไรเลยใช่หรือไม่ ? คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมายกับใครเลยใช่หรือไม่ ? คุณมักถูกทำให้ไขว้เขวออกนอกเส้นทางและสับสนกับตัวเองใช่หรือไม่ ? คุณไม่มีจุดยืนของตัวเอง แต่ทำตัวไปตามความต้องการของผู้อื่นใช่หรือไม่ ? อะไรเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง และผลักดันประเด็นเหล่านี้ของคุณ ? ความรู้สึกภายในจริงๆของคุณเป็นอย่างไร ?

บันทึกประจำวัน

ใช้สมุดไดอารี่ประจำวัน ขอให้จดบันทึกข้อสังเกตของเราในแต่ละวัน วิธีที่ดีที่สุด คือ การจดสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ ตลอดทั้งวัน หากทำไม่ได้อย่างน้อยคือ การจดบันทึกหนึ่งครั้งต่อวันก่อนเข้านอน โดยทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งวัน แล้วบันทึกเหตุการณ์และข้อสรุปที่เป็นบทเรียนสำคัญ ๆ หากมีประเด็นปัญหา หรือข้อสงสัยอื่นใด ก็ขอให้บึกทึกไว้ด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ในการสังเกตตัวเอง และการศึกษาค้นคว้าต่อไป

2003  Joan R. Ryan & Santikaro Bhikkhu


ร่วมแสดงความคิดเห็น

แบบฝึกหัดนี้ใช้ได้ผลบ้างหรือไม่? อย่างไร? มีข้อดี-ข้อด้อยตรงไหน? และควรปรับปรุงในส่วนใด?

เนื่องจากแบบฝึกหัดนี้เป็นการริเริ่มทดลองการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ทางผู้จัดทำใคร่ขอรับฟังความคิดเห็นจากท่าน ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหาสาระของแบบฝึกหัดชิ้นนี้ ข้อมูลจากท่านจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาแบบฝึกหัดบทต่อๆไป และต่อกระบวนการศึกษาชีวิตด้านในโดยรวม

จาก : สันติกโรภิกขุ,โจแอน โรเซนเบิรก์ ไรอัน