enneagramthailand.org

สิ่งหลีกเลี่ยงประจำลักษณ์

แบบฝึกหัด"ค้นตัวเอง" 
บทที่ ๔: สิ่งหลีกเลี่ยงประจำลักษณ์ (Avoidance) 
เพื่อการค้นพบ-ฝึกฝนตนเอง ตามแนวทางนพลักษณ์ 
โดย พระอาจารย์สันติกโรภิกขุ  และ  โจแอน โรเซนเบิรก์ ไรอัน
   
 
 
  
หัวข้อ: สิ่งหลีกเลี่ยงประจำลักษณ์ (Avoidance)

แบบฝึกหัด"ค้นตัวเอง" 
บทที่ 4: สิ่งหลีกเลี่ยงประจำลักษณ์ (Avoidance) 
=================================

หั ว ข้ อ ศึ ก ษ า 
------------------ 
ในแบบฝึกหัดบทที่แล้ว พวกเราได้ศึกษากลไกการโยนใส่ของจิต (Projection) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาเหตุที่มาของความรู้สึกเจ็บปวดหรือความสับสนภายในตัวเรา (ที่เกิดจากกิเลสและการยึดติดทางความคิดของเราเอง) ด้วยการโทษสิ่งภายนอก


ในแบบฝึกหัดบทนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกับสิ่งที่คนแต่ละลักษณ์พยายามหลีกเลี่ยงเป็นพิเศษ หรือสิ่งที่เป็นเสมือนของแสลงประจำลักษณ์ ที่คนแต่ละลักษณ์ไม่สามารถยอมรับหรืออยู่ด้วยได้ ในทางพุทธศาสนา ของแสลงประจำลักษณ์เหล่านี้ก็คือเรื่องเฉพาะเจาะจงบางสิ่งบางอย่าง ที่สร้างปัญหาและนำมาซึ่งความทุกข์ความเจ็บปวดอย่างมากที่สุด ให้แก่คนลักษณ์นั้นๆ


การสังเกตเห็น กลไกทางจิตที่ผลักดันให้เราพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งแสลงเหล่านี้ คือการฝึกฝนให้รู้เท่าทันการก่อตัวของลักษณ์ภายในตัวเรา ก่อนที่ความเป็นลักษณ์นั้นๆ มาสร้างปัญหามากขึ้นกับเรา การมีสติเท่าทันกลไกของลักษณ์ในขณะที่มันกำลังออกอาการในตัวเรานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งใดได้ หากเรามองไม่เห็นตัวมันเสียแต่ต้น


โดยธรรมชาติของจิต เมื่อเรารู้สึกว่ามีสิ่งใดที่มาสร้างความไม่สบายใจให้กับเรา วิธีหนึ่งในการผ่อนคลายความรู้สึกกดดันภายในแบบชั่วคราวก็คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของความเจ็บปวด ทุกข์ใจของเรา กลไกการหลบเลี่ยงของแสลงนี้เกิดขึ้นเองอย่างอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว


เช่นเดียวกับกลไกการโยนใส่ของจิต การหลีกเลี่ยงสิ่งที่เราคาดว่าจะนำความเจ็บปวดมาให้เรา ทำให้เราไม่ต้องไปรับรู้ความรู้สึก(เจ็บปวด)นั้น ตัวอย่างเช่น การพยายามหลีกเลี่ยงความผิดพลาดบกพร่อง ของคน 1 ก็คือการป้องกันความเจ็บปวดที่ตนเองจะรู้สึกมากเป็นพิเศษ (กว่าคนลักษณ์อื่น) จากการถูกตัดสินว่าเป็นฝ่ายไม่ถูกต้อง ไม่ดีพอ หรือการหลีกเลี่ยงที่จะรับรู้ความต้องการของตนเอง ของคน 2 ก็คือความพยายามที่จะป้องกันความเจ็บปวดที่เกิดจากความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีความหมาย เมื่อไม่ได้ทำอะไรให้ผู้อื่น การหลีกเลี่ยงสภาวะอับจนหนทาง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ของคน 6 ก็คือความพยายามหนีจากความรู้สึกไม่มั่นคงที่ต้องเอาชีวิตตัวเองไปขึ้นต่อความเมตตาของสิ่งอื่นๆ ที่ไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้ การหลีกเลี่ยงความรู้สึกอ่อนแอของคน 8 ก็คือความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกควบคุมครอบงำไปในทางที่ต้องฝืนใจตัวเอง


แ บ บ วิ ธี ป ฏิ บั ติ 
--------------------- 
ขอให้ใช้สมาธิเพ่งพิจารณาคำที่ใช้นิยามสิ่งที่คนแต่ละลักษณ์พยายามหลีกเลี่ยงทั้ง 9 รายการข้งล่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่เป็นของแสลงประจำลักษณ์ของเราเอง โดยใคร่ครวญให้ดีว่าคำๆนั้น มีความหมายอย่างไรกับเรา คำๆนี้เกี่ยวโยงและมีนัยยะในเชิงบวกหรือลบแก่เราอย่างไร หลังจากนั้นก็ลองพิจารณาคำที่เป็นของแสลงประจำลักษณ์อื่นๆด้วย บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดจิตใจของเราทั้งหมดข้างต้น ไว้ในสมุดบันทึกประจำวันของเรา

ขั้นต่อไปคือการเฝ้าสังเกตสิ่งที่เป็นของแสลงของเรานี้ ในขณะที่มันปรากฏขึ้นมาในชีวิตจริงของเรา มองให้เห็นถึงปฏิกิริยาทั้งภายในและภายนอกของเราต่อสิ่งนั้น มีสติรู้เท่าทันตัวเอง เมื่อเราเริ่มรู้สึกตึงเครียดไม่สบายใจ และเริ่มจะหลีกเลี่ยงถอยหนี ออกจากสถานการณ์นั้นๆ ที่มีของแสลงของเราปรากฏอยู่

เพื่อความเข้าใจในลักษณ์อื่นๆ เราอาจลองสังเกตุ พฤติกรรมการหลีกเลี่ยงของแสลงประจำตัวของคนอื่นที่เรารู้ลักษณ์ของเขาแล้วด้วยก็ได้ เช่นคนในครอบครัว, เพื่อนฝูง, หรือเพื่อนร่วมงาน

ต่อไปนี้คือรายการของแสลงประจำลักษณ์ ที่คนแต่ละลักษณ์พยายามหลีกเลี่ยง:


ลักษณ์ 1: ความผิดพลาด (ERROR) 

ลักษณ์ 2: ความต้องการของตนเอง (OWN NEEDS) 

ลักษณ์ 3: ความล้มเหลว (FAILURE) 

ลักษณ์ 4: ความเป็นเหมือนคนทั่วไป (ORDINARINESS) 

ลักษณ์ 5: ความสูญเสียหมดสิ้นในทรัพยากร (EMPINESS, BEING DRAINED) 

ลักษณ์ 6: ความเคว้งคว้างไร้หลักประกันความมั่นคง (HELPLESSNESS) 

ลักษณ์ 7: ความทุกข์/กรอบจำกัด (PAIN/LIMITATION) 

ลักษณ์ 8: ความอ่อนแอ (VULNERABILITY) 

ลักษณ์ 9: ความขัดแย้ง (CONFLICT)


บั น ทึ ก ป ร ะ จำ วั น 
-------------------------

เช่นเดียวกับในบทก่อนๆ ขอให้จดบันทึกข้อสังเกตและประสบการณ์ของแต่ละวัน หากไม่สามารถทำได้ทุกวัน ก็อย่าทิ้งช่วงหลายวันเกินไป ควรทำการสังเกตตัวเอง และบันทึกทบทวนให้ถี่ที่สุดเท่าที่จะทำได้


จาก : สันติกโรภิกขุ และ โจอัน โรเซนเบอร์ก ไรอัน