enneagramthailand.org

การโยงใส่ของจิต

แบบฝึกหัดค้นตัวเอง บทที่ 3: การโยนใส่ของจิต (Projection)
เพื่อการค้นพบ-ฝึกฝนตนเอง ตามแนวทางนพลักษณ์ 
โดย พระอาจารย์สันติกโรภิกขุ  และ  โจแอน โรเซนเบิรก์ ไรอัน
   
 
 
  
หัวข้อศึกษา

ใน 2 บทแรก เราได้ศึกษาสิ่งที่เกอร์เจฟ (Gurdjieff) เรียกว่า “ลักษณะสำคัญ” (Chief Fertures) ประจำลักษณ์ ซึ่งก็คือแรงผลักดัน หรือ การยึดติดทางใจ (กิเลส) และทางความคิด (อุปาทาน) ของแต่ละลักษณ์ ทำให้คนลักษณ์นั้น มีวิธีการคิดและมองโลกอย่างโน้มเอียงในรูปแบบเฉพาะตัวอย่างเป็นนิสัย

สำหรับแบบฝึกหัดบทนี้ เราจะมาสำรวจตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจกับกลไกทางจิตของเราที่มักเอาความรู้สึกทุกข์หรือไม่สบายใจซึ่งเกิดขึ้นจากกิเลส และอุปาทานภายในตัวเราเอง ไปโยนใส่โลกภายนอกรอบตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยนใส่บุคคลอื่น ทำให้ดูเสมือนว่าสิ่งภายนอกหรือบุคคลเหล่านั้นเป็นต้นเหตุของความรู้สึกร้ายๆในใจเรานั่นเอง (กลไกการโยนใส่ทางจิตหรือ Projection นี้ เป็นกลไกป้องกันตนเองที่เป็นสากล และถูกใช้อยู่เสมอโดยคนทุกลักษณ์ แม้ว่าในรายละเอียดจะมีการจัดให้กลไกนี้เป็นเครื่องมือประจำลักษณ์ 6 ก็ตาม ฃึ่งจะไม่ขอนำมาขยายความในที่นี้)

เมื่อเรามีความทุกข์อยู่ในใจ วิธีหนึ่งที่จะผ่อนคลายความเจ็บปวดของตัวเองก็คือการโยนมันไปให้ผู้อื่น กลไกทางจิตนี้เป็นสิ่งที่เราทำอย่างอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว มันช่วยเบี่ยงเบนการที่ต้องไปรับรู้ความเจ็บปวดนั้นหรือการต้องไปจัดการและรับผิดชอบกับสิ่งนั้น ไปสู่สิ่งภายนอกที่ตกเป็นเป้าการโยนใส่ของจิตเรา ตัวอย่างเช่น ความโกรธ(ที่เกิดจากกิเลส)ของคน 1 ก็จะถูกทำให้เป็นเรื่องปรกติธรรมดาได้ เมื่อเขาสามารถหาเหตุผลที่ทำให้ผู้อื่นดูชั่วช้าน่าโกรธได้ เช่นเดียวกับความอิจฉาของคน 4 เมื่อเขาสามารถมองให้เห็นสิ่งที่คนอื่นมี แต่ตัวเองไม่มี ผสมกับจินตนาการถึงความสุขที่จะได้จากสิ่งนั้น รวมทั้ง ความตะกละของคน 7 ที่สามารถหาเหตุมาอธิบายมันได้ เมี่อเขามองเห็นถึงแง่มุมที่น่าสนใจเร้าใจที่มีอยู่ในสิ่งต่างๆ

อนึ่ง กลไกการโยนใส่ทางจิตนี้ไม่จำเป็นต้องทำกับเรื่องร้ายๆที่ให้ความรู้สึกด้านลบในใจเราเท่านั้น ในบางกรณีและในบางลักษณ์ ก็อาจมีการโยนเรื่องดีๆ ใส่ผู้อื่นได้เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างและค้ำจุนความรู้สึกด้านบวกในใจเรา

ข้อปฏิบัติประจำวัน 
ขอให้นึกถึงบุคคลที่มักปรากฏอยู่ในห้วงความคิดคำนึงของเราอยู่เสมอ หรือบุคคลที่มักจะสร้างความไม่พอใจ ความโกรธ ความรำคาญ ความกังวลใจให้กับเราอยู่บ่อยๆ แล้วให้สังเกตว่าในขณะที่จิตเรากำลังจดจ่ออยู่กับบุคคลผู้นี้อยู่นั้น ความคิดคำนึงนั้นออกมาในรูปแบบเช่นไร ? มีภาษาถ้อยคำที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง ? ภาพของเขาที่ปรากฏในใจเราเป็นเช่นไร ? เราเห็นเขากำลังทำอะไรอยู่ ? ในจินตนาการของเราเขากำลังงคิดหรือรู้สึกอย่างไรกับเรา ? ความคิดคำนึงของเรานี้ออกมาในทางร้ายหรือดี แง่บวกหรือลบ?

ณ.จุดนี้ ขอให้เราหยุดการคิด(ถึงผู้อื่น)ข้างต้น แล้วหันกลับมาดูตัวเองอีกครั้ง โดยเริ่มดูใจตัวเองทีละขั้นตอน เริ่มจากขั้นตอนแรกก่อนที่ความคิดของเราจะไปจับอยู่ที่บุคคลผู้นั้น ขอให้สังเกตุว่าเรารู้สึกอย่างไรในช่วงนั้น เรารู้สึกไม่สบายใจ อึดอัดใจ ไม่พอใจ โกรธ หรือเครียดบ้างหรือไม่ ? หลังจากนั้นให้ตามดูอารมณ์ของเราเมื่อมีผู้อื่นเข้ามาในใจเรา เราสามารถสังเกตุเห็นการเชื่อมโยงระหว่างสภาวะภายในของเราเองกับสิ่งภายนอกที่เกิดจากการโยนใส่ของเราหรือไม่ ?

ในชั่วขณะนั้นเอง ที่เราจับได้ทันถึง " กลไกการโยนใส่ " ที่เรากำลังทำต่อบุคคลอยู่นั้น ขอให้หยุดตัวเองและหายใจลึกๆ สังเกตุว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรในใจเรา ? ความรู้สึกนี้อาจสร้างความอึดอัดไม่สบายใจ ที่รุนแรงจนบดบังกลไกการโยนใส่ที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเช่นกันจนเรามองไม่เห็นมัน สังเกตุให้ดีๆ จะเห็นความเชื่อมโยงของมันหรือไม่? (ในกรณีผู้ที่ไม่สามารถรู้ถึงความรู้สึกตัวเองได้ ขอแนะนำให้เอามือข้างหนึ่งวางไว้ที่หน้าอกเหนือบริเวณหัวใจ เพื่อช่วยดึงความใส่ใจของตน)

หลังจากที่เราได้รู้จักและเท่าทันอารมณ์ (กิเลส) ของตัวเองได้ดีขึ้นแล้ว ขอให้กลับไปคิดถึงบุคคลผู้นั้นอีกครั้ง มันอาจช่วยได้ที่จะคิดถึง ภาษาถ้อยคำเฉพาะที่อธิบายสภาวะอารมณ์ของลักษณ์เรา ซึ่งอาจเจือจางลงแล้วในขณะนี้ สังเกตุอีกทีว่าเรามองเห็นเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไหมในตอนนี้?

หากเป็นไปได้ ขอให้เราแลกแเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้นี้กับบุคคลผู้เป็นเป้าของการโยนใส่ของเรานี้ ทั้งนี้ควรทำจากความบริสุทธิ์ใจที่ต้องการเข้าใจตัวเองม่กกว่าเพื่อกล่าวโทษผู้อื่น (ซึ่งเป็นการโยนใส่ยิ่งขึ้น) เช็คให้แน่ใจก่อนว่าบุคคลนั้นพร้อมและยินดีที่จะรับฟังสิ่งที่คุณจะนำเสนอ ควรจะให้เขาอนุญาติก่อนเสมอแม้เขาจะเป็นเพื่อนสนิทก็ตาม

บันทึกประจำวัน 
ใช้สมุดไดอารี่ประจำวัน ขอให้จดบันทึกข้อสังเกตของเราในแต่ละวัน วิธีที่ดีที่สุด คือ การจดสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ ตลอดทั้งวัน หากทำไม่ได้อย่างน้อยคือ การจดบันทึกหนึ่งครั้งต่อวันก่อนเข้านอน โดยทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งวัน แล้วบันทึกเหตุการณ์และข้อสรุปที่เป็นบทเรียนสำคัญ ๆ หากมีประเด็นปัญหา หรือข้อสงสัยอื่นใด ก็ขอให้บึกทึกไว้ด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ในการสังเกตตัวเอง และการศึกษาค้นคว้าต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น

แบบฝึกหัดนี้ใช้ได้ผลบ้างหรือไม่? อย่างไร? มีข้อดี-ข้อด้อยตรงไหน? และควรปรับปรุงในส่วนใด?

เนื่องจากแบบฝึกหัดนี้เป็นการริเริ่มทดลองการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ทางผู้จัดทำใคร่ขอรับฟังความคิดเห็นจากท่าน ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหาสาระของแบบฝึกหัดชิ้นนี้ ข้อมูลจากท่านจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาแบบฝึกหัดบทต่อๆไป และต่อกระบวนการศึกษาชีวิตด้านในโดยรวม


จาก : สันติกโรภิกขุ,โจแอน โรเซนเบิรก์ ไรอัน