แบบฝึกหัด “ค้นตัวเอง”
บทที่ 2: ว่าด้วย "อุปาทาน" (การยึดติดทางความคิด)
โดย พระอาจารย์สันติกโรภิกขุ และ โจแอน โรเซนเบิรก์ ไรอัน
หัวข้อศึกษา
ในบทที่ 1 เราได้ศึกษาสิ่งที่เกอร์เจฟ (Gurdjieff) เรียกว่า “ลักษณะสำคัญ” (Chief feature) ประจำลักษณ์ ซึ่งก็คือความเรียกร้องต้องการของจิตใจ (passion) หรือ ความรู้สึกที่เป็นแรงผลักดันภายในใจเราแบบหนึ่ง ที่แรงกล้ากว่าความรู้สึกแบบอื่นๆ และครอบงำจิตใจเราอยู่เสมอ พุทธศาสนาเรียกสิ่งนี้ว่า “กิเลส” ประจำลักษณ์ หรือ “การยึดติดทางใจ” ของคนแต่ละลักษณ์
ในบทนี้ เราจะศึกษาองค์ประกอบที่มาคู่กันกับ “กิเลส” เรียกว่า “อุปาทาน” (Fixation) เปรียบเทียบกับเรื่องกิเลส ซึ่งเป็นการยึดติดทางใจ อุปาทาน คือการยึดติดทางหัว (ทางความคิด) หมายถึง การที่กระแสสำนึกและความคิดของเราถูกครอบงำให้ต้องมุ่งคิดนึกไปในทิศทางและรูปแบบเฉพาะแบบหนึ่งอย่างเป็นนิสัย เมื่อไรก็ตามที่ในใจของเรายึดติดกับตัวกิเลสประจำลักษณ์ของเรา เมื่อนั้นในหัวของเราก็จะไปยึดติดกับรูปแบบทางความคิดที่ทั้งช่วยยืนยันและส่งเสริมกิเลสนั้น (ในทางพุทธศาสนาอาจเรียกรูปแบบการยึดติดเช่นนี้ว่า “กิเลสทางความคิด” แต่ในคำศัพท์ดั้งเดิมนั้นศาสนาพุทธมิได้แยกแยะการยึดติดของจิตออกเป็นสองส่วน คือทางความคิด และทางจิตใจ เหมือนเช่นในหลักวิชาจิตวิทยาตะวันตก)
ดังนั้น ควบคู่ไปกับตัวกิเลสทางใจของเรา ส่วนที่สำคัญเช่นกันคือการเฝ้าสังเกตและทำความเข้าใจกับตัวอุปาทานซึ่งเป็นการยึดติดทางความคิดของเรานี้ว่า มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งไหนที่มากระตุ้นและสนับสนุนค้ำชูมัน
ข้อปฏิบัติประจำวัน
ขอให้นึกถึงวิธีอธิบายตัวอุปาทาน หรือ ลักษณะการยึดติดทางความคิดประจำลักษณ์ของเรา ออกมาเป็นถ้อยคำ ทั้งคำที่เป็นกลาง ๆ แรงกว่า และเบากว่า เช่นตัวอย่างอุปาทานของคนลักษณ์ 2 (ที่ในกระแสความคิดของเขาวนเวียนอยู่กับ) เรื่อง “การประจบเอาใจ (ผู้อื่น)” อาจให้คำนิยามในอีกแง่มุมหนึ่งได้ว่าเป็น “การเฝ้าคิดคำนึงถึงสิ่งที่คนอื่นต้องการ หรือสิ่งที่จะทำให้เขารู้สึกดี (เพื่อเราจะเข้าไปตอบสนอง)“ หรือตัวอย่างอุปาทานของคน 7 (ที่ในกระแสสำนึกมีแต่) เรื่อง ”การวางแผน” หรือ “การคิดแต่เรื่องข้างหน้า” อาจให้คำนิยามในหลายๆแง่มุมได้ว่าเป็น “การคิดคำนึงแต่สิ่งดีๆ ที่จะได้ไปพบ ไปเสพ” หรือ “การสร้างและรักษาทางเลือกต่าง ๆ” รวมทั้ง “การใฝ่ฝันอยู่กับภาพอนาคตอันบรรเจิด”
ทุก ๆ วันเมื่อเริ่มต้นวันใหม่ ขอให้เรานึกถึงคำหรือกลุ่มคำที่ใช้นิยามตัว “อุปาทาน” ประจำลักษณ์ของเรา ในแง่มุมใดมุมหนึ่งของมัน และในลักษณะที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัว “กิเลส” ของเราด้วย (สำหรับรายละเอียดเรื่อง “กิเลส” กรุณาดูได้จากแบบฝึกหัด “ค้นตัวเอง” บทที่ 1 ที่ได้นำมาลงบนเวบไซด์นี้แล้ว)
หลังจากนั้นในช่วงเวลาตลอดทั้งวัน ขอให้เฝ้าสังเกตว่าแง่มุมของตัวอุปาทานที่ตั้งเป็นโจทย์ไว้นั้น ได้แสดงตัวปรากฏออกมาในชีวิตประจำวันของเราอย่างไร? อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้มันเกิดขึ้น? มีสัญญาณหรืออาการในตัวเราอะไรบ้างที่เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่ามันกำลังออกมาหรือได้ออกมาแล้ว? สิ่งนี้มีอิทธิพลต่อระบบความคิดของเราอย่างไร? สิ่งนี้กลายเป็นการให้เหตุผลและสร้างความชอบธรรมต่อตัวกิเลสของเราได้อย่างไร? อะไรที่ทำให้มันคลี่คลายหายไป? และเมื่อหายแล้ว เรารู้สึกอย่างไร?
บันทึกประจำวัน
ใช้สมุดไดอารี่ประจำวัน ขอให้จดบันทึกข้อสังเกตของเราในแต่ละวัน วิธีที่ดีที่สุด คือ การจดสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ ตลอดทั้งวัน หากทำไม่ได้อย่างน้อยคือ การจดบันทึกหนึ่งครั้งต่อวันก่อนเข้านอน โดยทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งวัน แล้วบันทึกเหตุการณ์และข้อสรุปที่เป็นบทเรียนสำคัญ ๆ หากมีประเด็นปัญหา หรือข้อสงสัยอื่นใด ก็ขอให้บึกทึกไว้ด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ในการสังเกตตัวเอง และการศึกษาค้นคว้าต่อไป
ร่วมแสดงความคิดเห็น
แบบฝึกหัดนี้ใช้ได้ผลบ้างหรือไม่? อย่างไร? มีข้อดี-ข้อด้อยตรงไหน? และควรปรับปรุงในส่วนใด?
เนื่องจากแบบฝึกหัดนี้เป็นการริเริ่มทดลองการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ทางผู้จัดทำใคร่ขอรับฟังความคิดเห็นจากท่าน ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหาสาระของแบบฝึกหัดชิ้นนี้ ข้อมูลจากท่านจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาแบบฝึกหัดบทต่อๆไป และต่อกระบวนการศึกษาชีวิตด้านในโดยรวม
จาก : สันติกโรภิกขุ,โจแอน โรเซนเบิรก์ ไรอัน