enneagramthailand.org

คน 9 ลักษณ์ กับความเป็นนักกลยุทธ์

 

ดิฉันได้รับการติดต่อจากนิตยสาร MBA ให้เขียนในหัวข้อความเป็นนักกลยุทธ์ 
จากมุมมองนพลักษณ์ ก็เลยเป็นที่มาของข้อความข้างล่างต่อไปนี้


คำถามที่ 1 นพลักษณ์เกี่ยวข้องกับการเป็นนักกลยุทธ์อย่างไร

ถ้าตอบตามทฤษฎีนพลักษณ์ พูดได้ว่าคนทุกลักษณ์มีศักยภาพในการเป็นนักกลยุทธ์เท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน 
แต่คุณก็จะโต้แย้งดิฉันกลับมาว่า เท่าที่รู้จักคนแต่ละลักษณ์มีความเป็นนักกลยุทธ์ที่แตกต่างกันเท่าที่เคยสัมผัสมา คำตอบคือ ถูกต้องแล้วค่ะ เพราะอะไร นพลักษณ์อธิบายได้ว่า เนื่องจากคนแต่ละลักษณ์สร้างโลกทัศน์ของตนเอง (กรอบวิธีคิด วิธีรู้สึก และการแสดงออกทางพฤติกรรม) และสร้างยุทธศาสตร์เฉพาะตน ที่จะเรียนรู้การดำรงชีวิตให้มีความสุขตามแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา เช่น

คนลักษณ์ 1 มีโลกทัศน์ว่าโลกนี้จับผิดเราคนลักษณ์ 1 จึงพัฒนาทักษะ และกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดคือ มองเห็นจุดบกพร่องในงาน ในชีวิต ในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว แล้วดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอยู่ตลอด ในกรณีที่คุณมอบหมายงานให้คนลักษณ์ 1 รับผิดชอบเป้าหมายขององค์กรสักเรื่องหนึ่ง คนลักษณ์ 1 จะแสวงหาเครื่องมือมาจัดการจนงานสำเร็จลุล่วงจนได้สิน่า มิเช่นนั้นจะไม่เลิกทำงานแน่นอน

คนลักษณ์ 2 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้จะให้ ต่อเมื่อคนลักษณ์ 2 ต้องเป็นผู้ให้ก่อน ทักษะที่คนลักษณ์ 2 พัฒนาขึ้นมาคือ การทำทุกวิถีทางเพื่อชนะใจคนที่ตนเองต้องการให้เขายอมรับ คนลักษณ์อื่นๆ อาจจะวิจารณ์การกระทำของคนลักษณ์ 2 ว่าไม่ตรงไปตรงมา แต่ลักษณ์ 2 ก็ทำจนบรรลุความตั้งใจได้เสมอ ด้วยการอ้อมไปอ้อมมา หรือผลักดันผ่านมือที่สาม มือที่สี่ แล้วแต่สถานการณ์ บางคนก็เรียกพฤติกรรมทำนองนี้ว่า "นักชักใย" คือ ทำงานอยู่เบื้องหลัง ถ้าคุณมอบหมายให้คนลักษณ์ 2 ทำงานให้ถึงเป้าหมายบางอย่าง คุณจะพบว่า ทางเลือกของกลยุทธ์ที่อาศัยเครือข่ายที่เคยมีอยู่ทั้งของคุณ และของคนลักษณ์ 2 จะถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทุกสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม

คนลักษณ์ 3 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้จะยอมรับ หรือให้รางวัลตนเองเมื่อทำสำเร็จบรรลุเป้าหมาย ดังนั้นจึงไม่ยากที่คนลักษณ์ 3 จะแสวงหาทุกวิถีทาง ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้งานสำเร็จ ดังนั้นคนลักษณ์นี้จึงมักไม่เคยสร้างกรอบให้ตัวเองว่า ฉันจะไม่ทำนั่น ไม่ทำนี่ แต่จะเป็นการสร้างศักยภาพให้ตัวเอง ด้วยการสะกดจิตตัวเองว่า "ฉันทำได้" (ทุกอย่าง) ไม่เหมือนคนอีก 8 ลักษณ์ ที่จะมีกรอบของตัวเองที่มักจะไม่ทำบางอย่าง หรือทำเรื่องหนึ่งเรื่องใดยากมากๆ (เช่น คนลักษณ์ 1 ทำในสิ่งที่เรียกว่า "ผิดพลาด" หรือ "บกพร่อง" จะไม่ทำเด็ดขาด หรือคนลักษณ์ 4 จะไม่ทำในสิ่งที่เห็นว่า "ธรรมดา" เป็นต้น) ดังนั้นทักษะที่คนลักษณ์ 3 พัฒนามาตลอดชีวิต คือ ทักษะการปรับตัวได้อย่างยอดเยี่ยมที่จะเป็น และทำในสิ่งที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ให้บรรลุทุกวิถีทาง จนเป็นที่มาของการเรียกขานคนลักษณ์ 3 ว่า "นักแสดง" เพราะจะเป็นนักกลยุทธ์ที่ไร้ข้อจำกัดนั่นเอง

คนลักษณ์ 4 มีโลกทัศน์ว่า โลกทอดทิ้ง ไม่เข้าใจ คนลักษณ์ 4 จึงแสวงหาความพิเศษ ความแตกต่าง ความไม่ธรรมดาอยู่ตลอดเวลา ตลอดชีวิต สิ่งที่จะเป็นจุดขายได้อย่างดีเยี่ยมเวลาคนลักษณ์ 4 ทำงาน คือ งานที่แตกต่าง ไม่ธรรมดา ไม่เหมือนกับชาวบ้านเขานั่นเอง นอกจากนั้นก็ยังมีลักษณะพิเศษคือ "กินใจ" อีกด้วย 
แต่อาจจะยากสักหน่อยในการมอบหมายงานเชิงกลยุทธ์ให้ลักษณ์ 4 ทำ ถ้าเขา หรือเธอไม่เห็นว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย หรือพิเศษพอ ในทางตรงกันข้าม หากคุณต้องการคอนเซ็ปต์ของงานแบบประเภท "หลุดโลก" เลือกใช้คนลักษณ์ 4 เถอะ รับประกันคุณภาพ หรืองานประเภท "ลึกซึ้ง กินใจ" ซึ่งคุณจะต้องเปิดใจให้กว้างด้วยในการมอบหมายงานทำนองนี้ให้คนลักษณ์ 4

คนลักษณ์ 5 มีโลกทัศน์ว่า โลกเรียกร้องมากเกินไป มีทรัพยากรน้อยเกินไป จึงพัฒนาทักษะในการแสวงหาข้อมูล ความรู้ ไว้เต็มแน่น ทักษะที่พัฒนาขึ้นจนเป็นเรื่องง่ายของคนลักษณ์ 5 คือ การทำตัวออกมาเป็นคนสังเกตการณ์ มากกว่าที่จะเอาตัวเข้าไปคลุกวงใน เมื่อสังเกตแล้วก็วิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นส่วนๆ อย่างเป็นกลางๆ ดังนั้น จึงเหมาะที่จะมอบหมายให้วิเคราะห์ หรือมองหากลยุทธ์ให้องค์กร คนลักษณ์ 5 สามารถตอบโจทย์ให้คุณได้มากมาย แถมวิเคราะห์ทางหนีทีไล่ให้เสร็จสรรพ แต่หากจะมอบหมายให้คนลักษณ์ 5 ลงมือทำ (Implement) คงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะคนลักษณ์ 5 บางคนที่ยังไม่สามารถข้ามพ้นกับดักบุคลิกภาพของตนเองได้ ก็จะไม่ชอบที่จะทำงานแบบลงไม้ลงมือปฏิบัติเท่าใด ไม่ชอบยุ่งกับผู้คน รวมถึงไม่ชอบให้ผู้คนมายุ่งกับตนเองนัก ชอบที่จะนั่งคิด วิเคราะห์ หรือทำตัวเป็นเสนาธิการให้เท่านั้น

คนลักษณ์ 6 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้อันตราย จึงพัฒนาทักษะของการสงสัยต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวว่าจะอันตรายหรือไม่ อย่างไร และมองหาทางหนีทีไล่ ในทำนองป้องกันไว้ก่อนในทุกเรื่องที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต คนลักษณ์ 6 เหมาะเป็นอย่างยิ่งในการช่วยทำ Risk Management ในองค์กร เพราะจะมีความรอบคอบเสมอสำหรับสิ่งที่จะเป็นความเลวร้ายในอนาคต

คนลักษณ์ 7 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้จำกัด จึงพัฒนาตนเองให้มีความว่องไวเป็นพิเศษกับทักษะเรื่องการวางแผน และการสร้างทางเลือก เพื่อหลบหนีไปให้พ้นเสียจากสภาพที่ตนเองถูกจำกัด ถ้าหากคุณต้องการคนคิดกลยุทธ์ทีมีความหลากหลาย ยึดหยุ่น และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อาจจะต้องพึ่งพาคนลักษณ์ 7 ได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากจะให้ปฏิบัติหรือลงมือทำงานคงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่นเดียวกับคนลักษณ์ 5 เพราะในระหว่างการทำงานถ้าคนลักษณ์ 7 เบื่อ หรือรู้สึกถูกจำกัด .... คุณคงนึกออกว่าเขาหรือเธอจะทำอย่างไร... แล้วงานของคุณจะเป็นอย่างไร

คนลักษณ์ 8 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้ไม่ยุติธรรม จึงมักที่จะแสดงออกมาในทางปกป้องคุ้มครองคนที่อ่อนแอ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม คนลักษณ์ 8 มีพลังเหลือเฟือในการทำงาน พร้อมเป็นตัวชนให้กับองค์กรเสมอ แต่อาจจะมีความตรงไปตรงมาสูง ชนก็ชนกันตรงๆ ไม่มีการอ้อมค้อมใดๆ แต่คนลักษณ์ 8 บางคนที่มีสติรู้ทันตนเองรู้จุดอ่อนตนเองตรงนี้แล้ว จะสามารถทำงานให้มีสไตล์ที่นุ่มลง มีกลยุทธ์ในการจัดการกับเรื่องราวต่างๆ และผู้คนได้อย่างอ่อนโยนขึ้น

คนลักษณ์ 9 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้ไม่ให้ความสำคัญ และมองข้ามตนเอง จึงพัฒนาทักษะในการเอาอกเอาใจ ช่วยเหลือ มีน้ำใจต่อคนทุกคน ยกเว้นตัวเอง และมีศักยภาพในการทำความเข้าใจมุมมองของคนอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย จนบางครั้งคนลักษณ์อื่นจะมองว่าคนลักษณ์ 9 เล่นการเมือง ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง


คำถามที่ 2 ถ้าจะวิเคราะห์คน 9 ลักษณ์ กับคุณลักษณะของการเป็นนักกลยุทธ์ได้อย่างไร 
จากข้อมูลข้างบนจะเห็นว่า คนแต่ละลักษณ์จะมีความสามารถพิเศษ ความเชี่ยวชาญในการใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน แต่ธรรมดาของคน (ทุกลักษณ์) ที่จะต้องเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง คนหลายๆ คนพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่มิใช่ทักษะหลักของลักษณ์ตนเอง เพื่อการอยู่รอด ดังนั้นการใช้นพลักษณ์เพื่อมอบหมายงานแบบหยาบๆ คงไม่ได้เป็นวิถีทางที่เหมาะสมนัก


คำถามที่ 3 ถ้าคุณเป็นผู้บริหารระดับสูง จะมอบหมายงานเชิงกลยุทธ์ให้กับคน 9 ลักษณ์อย่างไร 
ขอตอบว่า ควรมอบหมายงานตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ไม่จำเป็นต้องพิจารณาความเป็นลักษณ์ของเขามากนัก เพราะแต่ละคนจะอยู่ในระดับของความเป็นลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่น คนที่จมอยู่กับลักษณ์ของตนเอง ไม่สามารถข้ามพ้นบุคลิกภาพของลักษณ์ตนเองได้ ก็จะไม่มีความสุขนักในการทำงาน ไม่สามารถปรับตัวได้ดี เหมือนที่ยกตัวอย่างกรณี ลักษณ์ 5 และลักษณ์ 7 ข้างต้น

นพลักษณ์จะเป็นเครื่องมือที่ดี หากผู้บริหารนำไปประยุกต์ใช้โดยให้พนักงานแต่ละคนรู้จักตัวเอง และแสวงหาแนวทางในการทำให้ตัวเองพ้นจากข้อจำกัด และพัฒนาจุดแข็งของตน ซึ่งนพลักษณ์จะทำให้เกิดบรรยากาศของการทำงานอย่างมีความสุข และส่งผลโดยอ้อมให้องค์กรมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จากการเพิ่มความสุขให้คนในองค์กรอย่างยั่งยืน มิใช่เป็นเครื่องมือสำหรับการเลือกใช้คนให้เหมาะกับงาน โดยไม่เปิดโอกาสให้เขาข้ามพ้นตัวตนของตัวเองค่ะ

 

ความเป็นผู้นำ กับศาสตร์นพลักษณ์


ทุกท่านสามารถเป็นผู้นำที่หลากความสามารถได้ ด้วยขั้นตอนง่ายๆ คือ รู้จักตนเอง (ด้วยนพลักษณ์ และอ่านแผนที่ชีวิตของตัวเองให้แตก) พัฒนาจุดแข็ง ฝึกทักษะปิดจุดอ่อนของตัวเอง (ด้วยการฝึกใช้ทักษะที่ไม่คุ้นเคย)

ในแวดวงการศึกษาด้านการบริหารจัดการทุกวันนี้ มองว่า "ภาวะผู้นำ" เป็น "ทักษะ" ชนิดหนึ่งที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ และ "ฝึก" ได้ ไม่เหมือนกับภาวะผู้นำแบบเก่า ที่มักเน้นเรื่องของ "บารมี" ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ดั้งเดิม 
ถ้าจะใช้ภาษาแบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ความเป็นผู้นำแบบโบราณนั้นเป็น Tacit Knowledge คือ ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวบุคคล เกิดจากพรสวรรค์ เกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้ แต่วิทยาการสมัยใหม่พยายามที่ใช้กระบวนการต่างๆ รวบรวมและถ่ายทอดความรู้ที่ฝังอยู่ในบุคคลในเรื่องของภาวะผู้นำให้สามารถอธิบาย หรือถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เป็นทักษะที่สามารถฝึกได้ หรือที่เรียกว่า Explicit Knowledge ความรู้ที่แจ้งชัด

นพลักษณ์ เป็นเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์ศักยภาพของปัจเจกบุคคล ว่าในตัวบุคคลนั้นมีภาวะผู้นำแบบใดแฝงอยู่ เช่น

ผู้นำแบบทุกอย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ แบบลักษณ์ 1

ผู้นำแบบ "พี่มีแต่ให้" งานบริการคืองานของเรา แบบลักษณ์ 2

ผู้นำที่ไร้ข้อจำกัด "ทำได้ทุกกระบวนท่า" แบบลักษณ์ 3

ผู้นำแบบสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร แบบลักษณ์ 4

ผู้นำแบบสุขุมนุ่มลึก บริหารด้วยข้อมูล แบบลักษณ์ 5

ผู้นำที่เป็นวีรบุรุษ รอบคอบ ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว แบบลักษณ์ 6

ผู้นำที่ ลื่นเป็นปลาไหล ไอเดียบรรเจิด ตลอดเวลา อย่างลักษณ์ 7

ผู้นำแบบเจ้านายที่กล้าได้กล้าเสีย ชอบทำงานใหญ่ ลุยลูกเดียว อย่างลักษณ์ 8

ผู้นำแบบนักการเมือง มือประสานรอบทิศ อย่างลักษณ์ 9

โดยทั่วไป เราก็มักจะพบว่า คนลักษณ์ 2 ลักษณ์ 5 และลักษณ์ 6 มักจะหลีกเลี่ยงภาวะที่จะต้องขึ้นมาเป็นผู้นำอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เขาเป็นไม่ได้ แต่เขาหรือเธอเหล่านั้นมีความเชื่อ หรือกลไกทางจิตบางประการ ที่ทำให้ทั้ง 3 ลักษณ์ มีอาการ "ไม่ชอบ" หรือ "ไม่อยาก" ลุกขึ้นมาเป็น "ผู้นำ"

จากประสบการณ์ที่ดิฉันไปจัดการฝึกอบรมนพลักษณ์ให้กับผู้บริหาร ทั้งจาก มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ก็พบว่าทุกลักษณ์สามารถทำงานในตำแหน่งบริหารได้ทุกลักษณ์ โดยทำในสไตล์ของตนเอง หรือบางท่านก็มีลักษณะของการผสมผสานทักษะความเป็นผู้นำของลักษณ์อื่นในการทำงานด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับของความรู้จักตนเอง ที่จะผสมผสานพลังงานทั้ง 3 ศูนย์ คือ หัว ใจ และท้อง (Head Heart and Gut) ของแต่ละคน

ผู้บริหารหรือผู้นำท่านใดที่ยังไม่สามารถประสานพลังได้อย่างสมดุล ก็อยู่ระหว่างการเผชิญหน้ากับภาวะอึดอัดประจำลักษณ์ของตนเองอยู่ พอได้ศึกษานพลักษณ์ก็เห็นประเด็นที่จะต้องข้ามพ้นได้ชัดเจนขึ้น คือรู้จุดอ่อนของตัวเองนั่นเอง ว่าที่ผ่านมาคนแต่ละลักษณ์สร้างความเคยชินกับวิธีคิด วิธีทำงาน ความเชื่อ ความรู้สึก ที่จำกัดตัวเองไว้อย่างไร

เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราเคยชินอะไร เราก็ทำอย่างนั้นเป็นประจำ เมื่อผู้บริหารที่ใช้หัว ( ความคิด เหตุผล ตรรกะ) บ่อยๆ แล้วพบว่า มันแก้ปัญหาบางอย่างไม่ได้ ก็เกิดการเรียนรู้ที่จะหันไปใช้วิธีอื่นๆ (แม้ว่าในเบื้องต้นอาจจะไม่ถนัด หรือไม่ชอบก็ตาม) 
เช่นผู้บริหารที่เป็นลักษณ์ 5 เมื่อฝึกที่จะทำอะไรตามสัญชาติญาณบ้าง ก็รู้สึกดีขึ้น หรือผสมผสานการรับรู้ และส่งอารมณ์ความรู้สึกให้กับคนอื่นๆ ก็เกิดความลื่นไหลในการทำงานได้มากขึ้นไปกว่าการยึดติดกับตัวตน และสไตล์ของตนเองจนแข็งตัว ตายตัว กลายเป็นข้อจำกัด สร้างความอึดอัดให้กับตัวเอง และผู้อื่น

หลายท่านที่อ่านข้อเขียนดิฉันมาระยะหนึ่ง อาจจะเกิดไอเดียบรรเจิด วางแผนจะนำศาสตร์ "นพลักษณ์" ไปใช้ในทำนองใช้คนตามลักษณ์ หรือคัดเลือกคนเข้าทำงานตามลักษณ์ เรื่องนี้ "ท่านสันติกโร" ซึ่งเป็นผู้นำศาสตร์นพลักษณ์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นคนแรก มักจะเตือนว่า นพลักษณ์ไม่ใช่เครื่องมือในการคัดคนเข้าทำงาน แต่เป็นเครื่องมือที่จะให้คนพัฒนาตนเอง ในการที่แต่ละคนจะทำงานอย่างมีความสุข และสร้างประสิทธิภาพให้กับองค์กรอย่างยั่งยืนมากกว่า 
ในประเด็นนี้ต้องขอนำคำพูดของ คุณสัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานบริษัทซีเกท พูดไว้ว่าการนำนพลักษณ์มาอบรมในองค์กร เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือ "ส่งเสริมความสุข และลดความขัดแย้ง ของคนในองค์กร" และ "ความสุขของคนทำงาน มีมูลค่ามากกว่า Dollar Asset" 
ถ้าอย่างนั้นท่านผู้อ่าน ก็จะถามกลับดิฉันอีกว่า อ้าว!!! แล้วจะลงทุนเขียนเรื่องความเป็นผู้นำของคน 9 ลักษณ์ เสียยืดยาวไปทำไมกัน 
ดิฉันจะลองพยายามชี้แจงดูว่า ท่านจะนำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร โดยไม่ให้ขัดกับจรรยาบรรณของนพลักษณ์

1. หากท่านเป็นผู้บริหาร และท่านรู้ลักษณ์ของลูกน้องแล้ว ท่านสามารถวาง Succession Plan ให้ลูกน้องท่านได้ โดยเป็นผู้กระตุ้น (Catalyze) ให้เขาค้นพบศักยภาพความเป็นผู้นำในสไตล์ของเขา และพัฒนาขึ้นมา รวมถึงแก้ไขจุดอ่อนของคนลักษณ์นั้นๆ โดยคัดเลือกการมอบหมายงาน ในลักษณะของการส่งเสริมและพัฒนาเขาอย่างเป็นขั้นตอน 
งานนี้ท่านเป็นเพียงตัวประกอบที่ทำหน้าที่ กระตุ้น และมอบหมายงานที่ให้เขา หรือ เธอ เพิ่มทักษะในการปิดจุดอ่อนเท่านั้น ท่านก็ทำหน้าที่เป็น นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรอย่างเต็มรูปแบบแล้ว คือทำให้เกิด ID OD และ CD ตามแนวคิดของแนดเล่อร์ เต็มขั้นตอน 
ID = Individual Development พนักงานพัฒนาตนเอง 
OD = Organizational Development องค์กรเอื้อต่อการพัฒนาตนเองของพนักงาน
CD = Career Development พนักงานได้พัฒนาสายอาชีพ ความก้าวหน้าในอาชีพของตนเองในองค์กรได้

2. หากท่านเป็นผู้บริหารเอง เมื่อท่านศึกษานพลักษณ์แล้ว ท่านจะค้นพบด้วยตนเองว่า ท่านมีเรื่องสนุกๆ ในชีวิตให้ทดลองฝึกข้ามพ้น (Transformation) และเมื่อทดลองแล้วท่านจะค้นพบศักยภาพหลายๆ อย่างที่ท่านเองเคยปฏิเสธมาก่อนว่า "ทำไม่ได้" หรือ "ไม่อยากทำ" และมีความสุขกับเรื่องราวเหล่านั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านก็จะกลายเป็นผู้นำที่มีความสุขกับชีวิต กับงาน และกับผู้คนที่แวดล้อมมากขึ้นไปจากเดิม ง่ายๆ แค่เปลี่ยนแว่น หรือ กรอบในการใช้ชีวิต เมื่อท่านเข้าใจแผนที่ชีวิตของตนเอง ด้วยนพลักษณ์เท่านั้นเอง

และท้ายสุด ทุกท่านสามารถเป็นผู้นำที่หลากความสามารถได้ ด้วยขั้นตอนง่ายๆ คือ รู้จักตนเอง (ด้วยนพลักษณ์ และอ่านแผนที่ชีวิตของตัวเองให้แตก) พัฒนาจุดแข็ง ฝึกทักษะปิดจุดอ่อนของตัวเอง (ด้วยการฝึกใช้ทักษะที่ไม่คุ้นเคย)

เช่น คนศูนย์หัว ฝึกใช้สัญชาติญาณ และอารมณ์ความรู้สึกให้มากขึ้น ขณะที่คนศูนย์ใจ ฝึกลดการใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินเรื่องราวในชีวิต หรือคนศูนย์ท้อง ฝึกที่จะชะลอการกระทำให้ช้าลง เพิ่มการไตร่ตรองอีกเล็กน้อย) ท่านก็จะพบว่า ภาวะผู้นำแต่ละประเภทล้วนไม่เกินศักยภาพของท่านที่จะ "ฝึกทักษะ" นั้นๆ ขึ้นมา เมื่อรู้จุด และจังหวะของการฝึกแต่ละเรื่องนั่นเอง