enneagramthailand.org

ความเป็นผู้นำของคน 9 ลักษณ์ (จบ)

ในแวดวงการศึกษาด้านการบริหารจัดการทุกวันนี้ มองว่า "ภาวะผู้นำ" เป็น "ทักษะ" ชนิดหนึ่งที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ และ "ฝึก" ได้ ไม่เหมือนกับภาวะผู้นำแบบเก่า ที่มักเน้นเรื่องของ "บารมี" ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ดั้งเดิม

ถ้าจะใช้ภาษาแบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ความเป็นผู้นำแบบโบราณนั้นเป็น Tacit Knowledge คือ ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวบุคคล เกิดจากพรสวรรค์ เกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้ แต่วิทยาการสมัยใหม่พยายามที่ใช้กระบวนการต่างๆ รวบรวมและถ่ายทอดความรู้ที่ฝังอยู่ในบุคคลในเรื่องของภาวะผู้นำให้สามารถอธิบาย หรือถ่ายทอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เป็นทักษะที่สามารถฝึกได้ หรือที่เรียกว่า Explicit Knowledge ความรู้ที่แจ้งชัด

 

นพลักษณ์ เป็นเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์ศักยภาพของปัจเจกบุคคล ว่าในตัวบุคคลนั้นมีภาวะผู้นำแบบใดแฝงอยู่ เช่น
ผู้นำแบบทุกอย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ แบบลักษณ์ 1
ผู้นำแบบ "พี่มีแต่ให้" งานบริการคืองานของเรา แบบลักษณ์ 2
ผู้นำที่ไร้ข้อจำกัด "ทำได้ทุกกระบวนท่า" แบบลักษณ์ 3
ผู้นำแบบสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร แบบลักษณ์ 4
ผู้นำแบบสุขุมนุ่มลึก บริหารด้วยข้อมูล แบบลักษณ์ 5
ผู้นำที่เป็นวีรบุรุษ รอบคอบ ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว แบบลักษณ์
ผู้นำที่ ลื่นเป็นปลาไหล ไอเดียบรรเจิด ตลอดเวลา อย่างลักษณ์ 7
ผู้นำแบบเจ้านายที่กล้าได้กล้าเสีย ชอบทำงานใหญ่ ลุยลูกเดียว อย่างลักษณ์ 8
ผู้นำแบบนักการเมือง มือประสานรอบทิศ อย่างลักษณ์ 9
โดยทั่วไป เราก็มักจะพบว่า คนลักษณ์ 2 ลักษณ์ 5 และลักษณ์ 6 มักจะหลีกเลี่ยงภาวะที่จะต้องขึ้นมาเป็นผู้นำอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เขาเป็นไม่ได้ แต่เขาหรือเธอเหล่านั้นมีความเชื่อ หรือกลไกทางจิตบางประการ ที่ทำให้ทั้ง 3 ลักษณ์ มีอาการ "ไม่ชอบ" หรือ "ไม่อยาก" ลุกขึ้นมาเป็น "ผู้นำ"

จากประสบการณ์ที่ดิฉันไปจัดการฝึกอบรมนพลักษณ์ให้กับผู้บริหาร ทั้งจาก มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ก็พบว่าทุกลักษณ์สามารถทำงานในตำแหน่งบริหารได้ทุกลักษณ์ โดยทำในสไตล์ของตนเอง หรือบางท่านก็มีลักษณะของการผสมผสานทักษะความเป็นผู้นำของลักษณ์อื่นในการทำงานด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับของความรู้จักตนเอง ที่จะผสมผสานพลังงานทั้ง 3 ศูนย์ คือ หัว ใจ และท้อง (Head Heart and Gut) ของแต่ละคน 
ท่านใดที่ยังไม่สามารถประสานพลังได้อย่างสมดุล ก็อยู่ระหว่างการเผชิญหน้ากับภาวะอึดอัดประจำลักษณ์ของตนเองอยู่ พอได้ศึกษานพลักษณ์ก็เห็นประเด็นที่จะต้องข้ามพ้นได้ชัดเจนขึ้น คือรู้จุดอ่อนของตัวเองนั่นเอง ว่าที่ผ่านมาคนแต่ละลักษณ์สร้างความเคยชินกับวิธีคิด วิธีทำงาน ความเชื่อ ความรู้สึก ที่จำกัดตัวเองไว้อย่างไร

เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราเคยชินอะไร เราก็ทำอย่างนั้นเป็นประจำ เมื่อผู้บริหารที่ใช้หัว ( ความคิด เหตุผล ตรรกะ) บ่อยๆ แล้วพบว่า มันแก้ปัญหาบางอย่างไม่ได้ ก็เกิดการเรียนรู้ที่จะหันไปใช้วิธีอื่นๆ (แม้ว่าในเบื้องต้นอาจจะไม่ถนัด หรือไม่ชอบก็ตาม) เช่นผู้บริหารที่เป็นลักษณ์ 5 เมื่อฝึกที่จะทำอะไรตามสัญชาติญาณบ้าง ก็รู้สึกดีขึ้น หรือผสมผสานการรับรู้ และส่งอารมณ์ความรู้สึกให้กับคนอื่นๆ ก็เกิดความลื่นไหลในการทำงานได้มากขึ้นไปกว่าการยึดติดกับตัวตน และสไตล์ของตนเองจนแข็งตัว ตายตัว กลายเป็นข้อจำกัด สร้างความอึดอัดให้กับตัวเอง และผู้อื่น

หลายท่านที่อ่านคอลัมน์นี้มาระยะหนึ่ง อาจจะเกิดไอเดียบรรเจิด วางแผนจะนำศาสตร์ "นพลักษณ์" ไปใช้ในทำนองใช้คนตามลักษณ์ หรือคัดเลือกคนเข้าทำงานตามลักษณ์ เรื่องนี้ "ท่านสันติกโร" ซึ่งเป็นผู้นำศาสตร์นพลักษณ์เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นคนแรก มักจะเตือนอยู่เสมอว่า นพลักษณ์ไม่ใช่เครื่องมือในการคัดคนเข้าทำงาน แต่เป็นเครื่องมือที่จะให้คนพัฒนาตนเอง ในการที่แต่ละคนจะทำงานอย่างมีความสุข และสร้างประสิทธิภาพให้กับองค์กรอย่างยั่งยืนมากกว่า ในประเด็นนี้ต้องขอนำคำพูดของคุณสัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานบริษัทซีเกท พูดไว้ว่าการนำนพลักษณ์มาอบรมในองค์กร เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือ "ส่งเสริมความสุข และลดความขัดแย้ง ของคนในองค์กร" และ "ความสุขของคนทำงาน มีมูลค่ามากกว่า Dollar Asset"


ถ้าอย่างนั้นท่านผู้อ่าน ก็จะถามกลับดิฉันอีกว่า อ้าว!!! แล้วจะลงทุนเขียนเรื่องความเป็นผู้นำของคน 9 ลักษณ์ เสียยืดยาวไปทำไมกัน

ดิฉันจะลองพยายามชี้แจงดูว่า ท่านจะนำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร โดยไม่ให้ขัดกับจรรยาบรรณของนพลักษณ์ 
1. หากท่านเป็นผู้บริหาร และท่านรู้ลักษณ์ของลูกน้องแล้ว ท่านสามารถวาง Succession Plan ให้ลูกน้องท่านได้ โดยเป็นผู้กระตุ้น (Catalyze) ให้เขาค้นพบศักยภาพความเป็นผู้นำในสไตล์ของเขา และพัฒนาขึ้นมา รวมถึงแก้ไขจุดอ่อนของคนลักษณ์นั้นๆ โดยคัดเลือกการมอบหมายงาน ในลักษณะของการส่งเสริมและพัฒนาเขาอย่างเป็นขั้นตอน 
งานนี้ท่านเป็นเพียงตัวประกอบที่ทำหน้าที่ กระตุ้น และมอบหมายงานที่ให้เขา หรือ เธอ เพิ่มทักษะในการปิดจุดอ่อนเท่านั้น ท่านก็ทำหน้าที่เป็น นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรอย่างเต็มรูปแบบแล้ว คือทำให้เกิด ID OD และ CD ตามแนวคิดของแนดเล่อร์ เต็มขั้นตอน

หมายเหตุ ID = Individual Development พนักงานพัฒนาตนเอง
OD = Organizational Development องค์กรเอื้อต่อการพัฒนาตนเองของพนักงาน 
CD = Career Development พนักงานได้พัฒนาสายอาชีพ ความก้าวหน้าในอาชีพของตนเองในองค์กรได้

2. หากท่านเป็นผู้บริหารเอง เมื่อท่านศึกษานพลักษณ์แล้ว ท่านจะค้นพบด้วยตนเองว่า ท่านมีเรื่องสนุกๆ ในชีวิตให้ทดลองฝึกข้ามพ้น (Transformation) และเมื่อทดลองแล้วท่านจะค้นพบศักยภาพหลายๆ อย่างที่ท่านเองเคยปฏิเสธมาก่อนว่า "ทำไม่ได้" หรือ "ไม่อยากทำ" และมีความสุขกับเรื่องราวเหล่านั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ท่านก็จะกลายเป็นผู้นำที่มีความสุขกับชีวิต กับงาน และกับผู้คนที่แวดล้อมมากขึ้นไปจากเดิม ง่ายๆ แค่เปลี่ยนแว่น หรือ กรอบในการใช้ชีวิต เมื่อท่านเข้าใจแผนที่ชีวิตของตนเอง ด้วยนพลักษณ์เท่านั้นเอง

และท้ายสุด ทุกท่านสามารถเป็นผู้นำที่หลากความสามารถได้ ด้วยขั้นตอนง่ายๆ คือ รู้จักตนเอง (ด้วยนพลักษณ์ และอ่านแผนที่ชีวิตของตัวเองให้แตก) พัฒนาจุดแข็ง ฝึกทักษะปิดจุดอ่อนของตัวเอง (ด้วยการฝึกใช้ทักษะที่ไม่คุ้นเคย เช่น คนศูนย์หัว ฝึกใช้สัญชาติญาณ และอารมณ์ความรู้สึกให้มากขึ้น ขณะที่คนศูนย์ใจ ฝึกลดการใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินเรื่องราวในชีวิต หรือคนศูนย์ท้อง ฝึกที่จะชะลอการกระทำให้ช้าลง เพิ่มการไตร่ตรองอีกเล็กน้อย) ท่านก็จะพบว่า ภาวะผู้นำแต่ละประเภทล้วนไม่เกินศักยภาพของท่านที่จะ "ฝึกทักษะ" นั้นๆ ขึ้นมา เมื่อรู้จุด และจังหวะของการฝึกแต่ละเรื่องนั่นเอง