enneagramthailand.org

ความเป็นผู้นำของคน ลักษณ์ 9 (ผู้สมานไมตรี)

ต่อเนื่องจากบทความเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นการเกริ่นนำ “ความเป็นผู้นำของคน 9 ลักษณ์” ในฉบับนี้จะเน้นเฉพาะ ลักษณ์ 9 หรือ ผู้สมานไมตรี หรือ Mediator ซึ่งเป็นคนที่อยู่แกนกลางของศูนย์ท้อง 
เรามักพบว่า ปัจจัยสำเร็จของคนเก้า ที่ทำให้สามารถขึ้นมาสู่การเป็นผู้บริหาร หรือผู้นำ (ด้วยความเป็นลักษณ์ 9 ไม่ใช่ด้วยปัจจัยอื่น) มักจะเป็นความสามารถในการทำงานหนัก ทำงานตอบสนองความต้องการของเจ้านายได้ทุกเรื่อง และในการทำงานนั้นมักไม่ค่อยปรากฎความขัดแย้งเกิดขึ้น 
ทั้งนี้เพราะคนเก้าที่ไม่รู้ตัว มักจะมองไม่เห็นความต้องการของตัวเอง และปฏิเสธคนอื่นไม่ค่อยเป็น และยิ่งหากนายคอยชื่นชม คนเก้าจะทำงานให้ถวายหัว งานหนักแค่ไหนก็ทำได้ไม่ลดละ ประกอบกับวิธีคิดที่ว่า งานนั้นเป็นงานของนาย งานนั้นเป็นงานของแผนก ขององค์กร คนเก้าจะทุ่มเทให้ทั้งกาย ทั้งใจ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าหากงานไหนที่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นงานของตัวเอง เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าของตัวเอง คนเก้าที่มองเห็นประเด็นนั้นก็จะไม่ทำงานนั้น เพราะมันเป็นเรื่องยาก ที่จะต้องทำอะไรเพื่อตัวเอง

อีกประเด็นหนึ่ง หากคนเก้าที่อยู่ในสภาวะมั่นคง ก็จะนำพฤติกรรมของลักษณ์ 3 หรือ นักแสดง หรือ The Performer ซึ่งจะทำงานโดยมุ่งผลงาน ผลสัมฤทธิ์ หรือ เป้าหมายเป็นหลัก ทำงานได้ทุกบทบาทที่เจ้านายต้องการ

ผู้บริหารคนเก้า จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือสวทช. เล่าให้ฟังระหว่างเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องนพลักษณ์ว่า ตลอด 30 ปี ของชีวิตการทำงานเคยปฏิเสธการร้องขอของคนอื่นเรื่องงานเพียง 2 ครั้งเท่านั้น นอกนั้นจำได้ว่าไม่เคยปฏิเสธใครได้เลย มันเหนื่อยต่อตัวเองพอสมควรที่ต้องทำงานของคนนั้น คนนี้ อยู่ตลอดเวลา เพราะเกรงใจเขา และคิดว่าการที่เขามาขอร้องเรา แสดงว่าเขาต้องคิดว่าเราทำได้ ช่วยเขาได้ การปฏิเสธการร้องขอของคนอื่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเหมาะสม  การปฏิเสธทั้ง 2 ครั้งที่ทำไปนั้นก็ไม่ได้รู้สึกสบายใจเลย มันมีความรู้สึกผิดวนเวียนอยู่ตลอด แต่การปฏิเสธที่ทำไปนั้นเพราะเกินที่จะรับมือไหวแล้วนั่นเอง

ประเด็นปัญหาของคนเก้าที่ก่อให้เกิดทุกข์อย่างมหาศาล  เมื่อคนเก้าขึ้นมาเป็นผู้บริหาร คือ เรื่องความชัดเจน และความรวดเร็วในการตัดสินใจ ซึ่งคนเก้าทำได้อย่างยากเย็น 
คุณประวิทย์ จิตนราพงศ์ ผู้ก่อตั้ง ร้านกาแฟแบรนด์ไทยเจ้าแรก “แบล๊ค แคนยอน”เล่าให้ฟังว่า เคย
โปรโมทคนลักษณ์เก้าท่านหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง เนื่องจากเห็นผลงาน เป็นคนทำงานได้ทุกอย่างที่มอบหมาย แต่เมื่อโปรโมทแล้ว บทบาทใหม่ที่ต้องเป็นผู้กำหนดนโยบาย และตัดสินใจนั้น  พบว่า ลูกน้องท่านนั้น มักชะลอการตัดสินใจ หากพบว่าจะเกิดความขัดแย้งจากการตัดสินใจนั้นๆ หรือในบางเรื่องใช้เวลาในการตัดสินใจนานมาก ซึ่งในความคิดของคุณประวิทย์คิดว่า นานเกินไป นอกจากนี้ยังสังเกตได้อีกด้วยว่า ตั้งแต่ได้รับการโปรโมทขึ้นมานั้น ผู้บริหารลักษณ์เก้าคนนั้น ไม่มีความสุขในการทำงานเอาเสียเลย

พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญให้นายเห็นความสามารถ ของคนเก้า คือ ความอดทน การทำงานหนัก การประนีประนอม ประสานไมตรีกับทุกฝ่ายนั้น เริ่มปรากฎผลที่ไม่สามารถทำงานในระดับสูงขึ้นไปได้ ด้วยพฤติกรรม หรือกลไกทางจิตของคนเก้าที่หลีกเลี่ยงการมองเห็นความต้องการของตนเอง ดังนั้นถ้าจะให้แสดงจุดยืน หรือตัดสินใจ คนเก้าจะทำได้ช้า หรือถ้าทำได้ก็เป็นไปอย่างทุกข์ทรมาน 
ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นไม่ได้เป็นการชี้ประเด็นว่า คนเก้าไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ต้องตัดสินใจระดับนโยบาย คนทุกลักษณ์สามารถเป็นผู้นำ หรือผู้บริหารระดับสูงได้ทุกคน ทุกลักษณ์ เพราะมนุษย์มีศักยภาพที่เต็มเปี่ยม เพียงแต่ว่าแต่ละคนผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ และเติบโตขึ้นมา พร้อมกับการสร้าง “เกราะป้องกันตัวเอง”  “กรอบวิธีคิด” “การใส่ใจ และการหลีกเลี่ยงภาวะบางอย่าง” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการทำงานของกลไกทางจิตของคนแต่ละลักษณ์ ทำให้เกิด “ข้อจำกัด” ประจำลักษณ์ ซึ่งปิดกั้นศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน 
ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่ ที่ท่านจะเป็นคนเก้า ที่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะฝึกฝน และเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเอง (Transformation) เสียตั้งแต่ยังเป็นพนักงานทั่วๆไป ฝึกที่จะรับรู้ เรียนรู้ทุกข์อันเนื่องมาจาก “กับดัก” จากความเป็นลักษณ์ของตนเอง  อย่าปล่อยให้ศักยภาพปลดปล่อยออกมาจากความบีบคั้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับสุขภาพกาย และสุขภาพใจของตนเอง

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า “คนเก้าที่ไม่ค่อยรู้ตัว” จะทุกข์หนัก เมื่อต้องหาความชัดเจนในความต้องการของตัวเอง และอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจในเวลาอันจำกัด รวมทั้งการอยู่ท่ามกลางภาวะขัดแย้ง ซึ่งทั้ง 3 ประการนั้นเป็นจุดอ่อนสำคัญของคนเก้า คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรในการที่จะเป็น “คนเก้าที่รู้ตัว” ซึ่งประเด็นนี้คงต้องใช้คำว่า “สติ” มาคอยกำกับ และอาศัยการสังเกตตัวเองและฝึกฝน ที่จะกระทำโดยฝืนกับแรงเสียดทานของอคติ หรือข้อจำกัดประจำลักษณ์

สำหรับคนที่ฝึกที่จะรู้ตัว เพื่อที่จะข้ามพ้นข้อจำกัดประจำลักษณ์จะพบว่า มันเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ก่อให้เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนในใจเป็นอย่างมาก แต่เมี่อทำได้จนอยู่ในภาวะที่เราเรียกว่า “เคยชิน” แล้วจะพบความโปร่ง โล่ง สบาย ค้นพบศักยภาพบางอย่างในตัวเอง ให้ความรู้สึกว่าเราหลุดออกจากกรอบบางอย่าง ให้ความรู้สึกอิสระ ซึ่งตรงนี้เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล จะใกล้เคียงกัน แต่จะไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนก็ล้วนสร้างเกราะแห่งทุกข์ที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปแต่ละคน

ลักษณ์ 9

 

สไตล์ผู้นำ

ประสานงาน การมีส่วนร่วม มองภาพกว้างทำให้กำหนดยุทธศาสตร์ได้ดี

จุดแข็ง

- เล่นการเมือง (ความสามารถในการกลมกลืนกับทุกคน)
- สม่ำเสมอ / ง่ายๆ สบายๆ
- ส่งเสริมทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน เป็นแรงหนุนที่ดี ให้การสนับสนุนผู้อื่น
- สร้างความสัมพันธ์ที่คงทนถาวร
- อดทน

จุดอ่อน

- หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ไม่ชอบใช้อำนาจ
- ไม่มั่นใจ ลังเล ขาดความชัดเจน ไม่ชอบตัดสินใจ ตัดสินใจช้า
- หลงลืมเรื่องที่สำคัญกว่า ผัดผ่อน ล่าช้า
- ดื้อเงียบ เมื่อถูกผลักดัน แสดงความโกรธด้วยการเพิกเฉยต่อปัญหา เฉื่อยแฉะ
- เฉื่อยแฉะ

       
นพลักษณ์ช่วยให้เราวิเคราะห์เกราะ หรือกับดัก ที่เป็นรูปแบบของการทำงาน หรือ กลไกทางจิตประจำลักษณ์เรา โดยคนในลักษณ์เดียวกันก็มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเอง คือ “การสังเกตตัวเอง”  แล้วประยุกต์ใช้เพื่อค้นหาทางดับทุกข์ของตนเอง  ตราบใดที่เรายังวิเคราะห์ทุกข์ของตนเองไม่พบ เราก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องราวของคนอื่น โทษสิ่งแวดล้อมไปตามเรื่อง