enneagramthailand.org

ความเป็นผู้นำของคน ลักษณ์ 8 (เจ้านาย)

ผู้นำลักษณ์ 8 มีชื่อเรียกว่า เจ้านาย หรือ ผู้ปกป้อง เป็นคนที่มีพลังมากที่สุดใน 9 ลักษณ์ และคนอื่นก็มักจะสังเกตเห็นพลังดังกล่าวได้ค่อนข้างง่ายจากบุคลิกภาพที่ปรากฎ เช่น เสียงดัง มีแรงเยอะแม้จะเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ทำงานได้ทั้งวันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เป็นคนรักษาสิทธิ์ คนทั่วไปอาจจะมองว่าคนแปดเป็นคนค่อนข้างก้าวร้าว

เนื่องจากเป็นคนศูนย์ท้อง กิเลสประจำศูนย์ คือ ความโกรธ จะแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่เหมือนคนลักษณ์ 9 ซึ่งหลงลืมตนเอง และตามไม่ทันความโกรธของตนเอง จึงมีบุคลิกภาพที่ง่ายๆ อะไรก็ได้ ยิ้มได้กับทุกคน ไม่ค่อยโกรธใคร หรือไม่เหมือนคนลักษณ์ 1 ซึ่งเก็บกดความโกรธของตัวเองจนกลายเป็นความหงุดหงิด ขุ่นใจ ที่แสดงออกมาทางบุคลิกภาพเป็นคนขี้บ่น จู้จี้ จุกจิก

เรามักพบว่า ปัจจัยสำเร็จของคนแปด ที่ทำให้สามารถขึ้นมาสู่การเป็นผู้บริหาร หรือผู้นำ (ด้วยความเป็นลักษณ์ 8 ไม่ใช่ด้วยปัจจัยอื่น) คือ เป็นคนที่ชอบงานท้าทาย งานยากๆ เพราะคนแปดสามารถจัดการเรื่องยากๆ ให้สำเร็จได้ ด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด และชัดเจน  กระฉับกระเฉง เชื่อมั่นในตนเองสูง สไตล์การทำงานของคนแปดที่มุ่งมั่น และควบคุม จัดการเก่ง จึงเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการสนับสนุนขึ้นเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้บริหารตามลำดับ สมกับชื่อที่ในหลายตำรานพลักษณ์เรียกคนลักษณ์แปดว่า “เจ้านาย” และอีกบุคลิกหนึ่งของคนแปดคือ การปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า  การเข้มข้นในการเรียกร้องสิทธิ์ให้ทั้งกับผู้อื่นและตนเอง จึงเป็นที่รักของลูกน้องและทีมงาน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้คนแปดก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารในหลายๆ องค์กร

ในอดีตเมื่อหลักการบริหารเน้นที่การควบคุมและจัดการ คนลักษณ์แปดจะโดดเด่นมากในการได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้างานและผู้บริหาร แต่เมื่อหลักการบริหารสมัยใหม่เน้นการมีส่วนร่วมของทีมงาน พนักงาน ลูกน้อง จะพบว่าเรื่องดังกล่าวสร้างความหนักใจ อึดอัดใจเป็นอย่างมากให้กับคนแปด เพราะ “มันช้า ไม่ทันใจ” และเพราะคิดว่าตนเองคิดได้ ทำได้ ไม่ต้องระดมความเห็นมากมาย ลงมือทำเลย กล้าได้กล้าเสีย ใจร้อน ในสถานการณ์อย่างนี้คนแปดที่อยู่ในฐานะผู้นำจะเริ่มเป็นทุกข์

เราจึงมักพบว่าผู้นำคนแปดที่ไม่รู้ตัว จะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ ในขณะที่คนแปดที่รู้ตัว คือรู้ว่าท่าทีที่แข็งกร้าวของตนเอง และพลังที่มากมายของตนเองที่แสดงออกมานั้น มักจะเป็นปมขัดแย้งให้เกิดทุกข์ของคนอื่น ก็จะเรียนรู้ที่จะจัดวาง จัดการ พลังที่ส่งออกไปข้างนอกได้นุ่มนวลขึ้น เสียงที่เคยกระโชกโฮกฮากใส่ทั้งเจ้านายและลูกน้องตนเอง ก็ผ่อนลง เรียนรู้จังหวะได้ดีขึ้น การมีสติตามรู้เท่าทันอารมณ์โกรธ การไม่ได้อย่างใจของคนแปดที่มีสติรู้ตัวนั้น ก็จะลดกิริยาการทุบโต๊ะ การรวบรัดการประชุมด้วยเสียงอันดัง ฯลฯ ซึ่งเป็นบุคลิกภาพอันทรงพลังของผู้นำแบบแปดลงได้ และเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น

คนแปดระดับหัวหน้าท่านหนึ่งในค่ายหนังสือพิมพ์มติชน เล่าให้ฟังว่า รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ทุบโต๊ะเถียงกับเจ้านาย เช่นเดียวกับการประชุมกับลูกน้อง จะชอบให้ลูกน้องเสียงดังเถียงกันด้วยเหตุผล ตนจะไม่โกรธ ออกจะชอบเสียด้วย แต่พบว่ามีน้อยคนมากที่กล้าจะทำเช่นนั้นกับเขา ทั้งนี้เพราะเขาช่างเป็นชายหนุ่มตัวสูงใหญ่ และเสียงดังน่ากลัวมากกว่าที่จะน่าเถียงด้วย

มุมมองที่ต่างกันของคนต่างลักษณ์เป็นที่มาของความขัดแย้ง และทุกข์ ดังเช่นลูกน้องของคนแปดหลายคนมักจะคิดไปเอง (โดยไม่เคยถามหัวหน้าคนแปด) ว่านายไม่ชอบ นายเลยเสียงดังใส่ตน โดยไม่รู้เลยว่าในใจนายนั้นไม่มีอะไรเลย แต่ด้วยพลังที่มันเยอะและเสียงมันก็ดังเองเป็นธรรมชาติของคนแปด และหลายครั้งเมื่อคนอื่นทุกข์จากท่าทีของคนแปด สั่งสมไว้ในระยะเวลาที่นานพอ เจ้านายคนแปดหลายคนเมื่อเจอกับสถานการณ์ “เลื่อยขาเก้าอี้” ก็จะไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าตัวเองรัก และปกป้องลูกน้องมาก ไม่คิดว่าจะมีใครมาแทงข้างหลังตัวเองได้ โดยไม่รู้ตัวว่าท่าที กิริยาที่แสดงออกไปอย่างรุนแรงก้าวร้าวของตนเองนั้น (ทั้งที่ใจไม่ได้โกรธ หรือเกลียด) สะสมจนเกิดผลกระทบที่ยากจะรับมือได้ในภายหลัง

ภายใต้ภาวะผู้นำของคนแปด คนแปดมักจะไม่ทุกข์โดยความคิด หรือความรู้สึกของตนเองเหมือนคนลักษณ์อื่นๆ เนื่องจากผู้นำแปดมีความมั่นใจในตนเองสูง และเมื่อตัดสินใจแล้วจะเด็ดขาด หนักแน่น พร้อมที่จะพุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หวาดหวั่น พร้อมที่จะทะลุทะลวงทุกปัญหาให้ลูกน้อง เท่าที่สังเกตคนแปดจะทุกข์ก็ต่อเมื่อได้รับผลกระทบจากคนอื่นเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ผู้บังคับบัญชามักคิดว่า สไตล์การบริหารแบบแปดสร้างศัตรูไว้รอบด้าน ส่งผลให้ลดบทบาทคนแปดลง หรือลูกน้องบางครั้งรู้สึกว่าถูกคนแปดลอยแพ เพราะนายเบอร์แปดเวลามอบหมายงานให้ใครนั่นหมายความว่าได้ประเมินและมั่นใจแล้วว่าคนนั้นทำได้ หลังจากมอบหมายงานจะไม่ก้าวก่าย ไม่ติดตามงาน เพราะคิดว่าถ้ามีปัญหาลูกน้องคงมาถามหรือปรึกษาเอง

ผู้บริหารคนแปดมักจะไม่สอนงาน (Coaching) ไม่สนใจกระบวนการทำงาน จะคิดว่าให้อิสระลูกน้องในการออกแบบกระบวนงานเอง ซึ่งลูกน้องบางลักษณ์จะไม่ชอบ ในขณะเดียวกันก็ไม่กล้าเข้าไปปรึกษาหารือเพราะกลัว (โดยหารู้ไม่ว่า คนแปดชอบให้เข้าไปคุยด้วย) หลายครั้งที่ผู้นำแปดรู้สึกไม่มั่นคง หรือไม่ชอบหน้าใคร จะมีอาการ “ปฏิเสธ” หรือมองไม่เห็นหัว คนนั้น สิ่งนั้นเลย ซึ่งก็คือกลไกป้องกันตนเองของคนแปด พฤติกรรมเช่นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อคนแปดอย่างรุนแรงต่อมาไม่น้อยทีเดียว

 

ลักษณ์ 8

เจ้านาย

สไตล์ผู้นำ

ชัดเจน เด็ดขาด ชอบงานท้าทาย ทำเรื่องยากได้สำเร็จ ควบคุม

จุดแข็ง

- ตรงไปตรงมา เชื่อมั่นในตนเอง  
- ปกป้องลูกน้องทีมงาน  
- ชัดเจน  ก้าวไปข้างหน้า ไม่ลังเล  
- กระฉับกระเฉง ทำงานรวดเร็ว

จุดอ่อน

- ใช้อำนาจ  ควบคุมคนอื่น  
- ไม่ค่อยอดทน หรือหงุดหงิดคนทำงานช้า  
- หลายครั้งตัดสินใจเร็วเกินไป ขาดการมองอย่างรอบด้าน  
- คาดหวังสูงทั้งกับตนเองและผู้อื่น  
- ไม่สอนงานลูกน้อง ถ้าไม่ถาม

ข้อแนะนำ

- ระวังอาการตะโกนหรือเสียงดังในระหว่างการทำงาน ซึ่งมักทำร้ายความรู้สึกคนอื่น โดยไม่ตั้งใจ  
- ควรรอ และอดทนฟังความคิดเห็นผู้อื่นแทนการปฏิเสธตั้งแต่ต้น

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นไม่ได้เป็นการชี้ประเด็นว่า คนแปดไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้บริหารในโลกยุคใหม่ เพราะ คนทุกลักษณ์สามารถเป็นผู้นำ หรือผู้บริหารได้ทุกคน ทุกลักษณ์ เพราะมนุษย์มีศักยภาพที่เต็มเปี่ยม เพียงแต่ว่าแต่ละคนผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ และเติบโตขึ้นมา พร้อมกับการสร้าง “เกราะป้องกันตัวเอง”  “กรอบวิธีคิด”  “การใส่ใจ และการหลีกเลี่ยงภาวะบางอย่าง” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการทำงานของกลไกทางจิตของคนแต่ละลักษณ์ ทำให้เกิด “ข้อจำกัด” ประจำลักษณ์ ซึ่งปิดกั้นศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน

นพลักษณ์ช่วยให้เราวิเคราะห์เกราะ หรือกับดัก ที่เป็นรูปแบบของการทำงาน หรือ กลไกทางจิตประจำลักษณ์เรา โดยคนในลักษณ์เดียวกันก็มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเอง คือ “การสังเกตตัวเอง”  ซึ่งผู้นำลักษณ์แปดที่เรียนรู้นพลักษณ์จะเรียนรู้ที่จะควบคุมการใช้พลังงานของตนเอง แทนที่การควบคุมคนอื่น การลดพลังที่จะรุกรานคนอื่นเป็นหนทางป้องกันทุกข์ที่จะเกิดขึ้นกับคนแปด ที่พลังนั้นไปทำร้ายคนอื่นไว้ แล้วส่งผลสะท้อนกลับมาทำร้ายคนแปดเองอยู่บ่อยๆ เหมือนมุมเบอแรง