enneagramthailand.org

ความเป็นผู้นำของคน ลักษณ์ 6 (นักปุจฉา)

บทความต่อเนื่องเรื่อง "ความเป็นผู้นำของคน 9 ลักษณ์" ได้เดินทางมาถึงผู้นำกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มคนศูนย์หัว ตามทฤษฏีนพลักษณ์แบ่งคนออกตามความถนัดหลัก 3 กลุ่มคือ กลุ่มศูนย์หัว (ลักษณ์ 5 ลักษณ์ 6 และลักษณ์ 7) กลุ่มศูนย์ท้อง (ลักษณ์ 8 ลักษณ์ 9 และ ลักษณ์ 1) และกลุ่มศูนย์ใจ (ลักษณ์ 2 ลักษณ์ 3 และลักษณ์ 4)

ลักษณะเด่นของคนกลุ่มศูนย์หัว คือ จะใช้พลังทางความคิดมาก และเร็วกว่าคนอีก 2 กลุ่ม โดยพลังทางความคิดอาจจะเป็นลักษณะของการใช้เหตุ ใช้ผล ใช้จินตนาการ ใช้ตรรกะ หรือเป็นความลังเลสงสัย ความกังวล

สำหรับผู้นำลักษณ์ 6 โดยบุคลิกภาพภายนอก อาจจะไม่มีอะไรให้สังเกตมากนัก คือธรรมดาๆ เหมือนๆ คนอื่น แต่คนใกล้ชิดอาจจะสัมผัสได้ถึงความรอบคอบในเรื่องของความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และการดำเนินชีวิต

โดยปกติแล้วคนลักษณ์ 6 เมื่อทำงานมาระดับหนึ่ง ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารสนับสนุนให้ทำงานฝ่ายบริหาร คนลักษณ์ 6 ที่ยังมีการสังเกตตัวเองไม่ชัดเจนนัก มักจะปฏิเสธที่จะรับภาระหน้าที่ที่สูงขึ้น เพราะมีความกลัวความไม่ปลอดภัยเป็นฐานคิด มีความระแวงไม่ไว้วางใจในคนที่มีอำนาจสูงกว่าตน จนไม่มั่นใจในสถานภาพใหม่ที่ได้รับ

แต่เมื่อใดที่คนลักษณ์ 6 เรียนรู้ตัวเอง รู้จักว่าตัวเองมีความกลัวอยู่ในใจ แม้ว่าจะไม่ได้ศึกษานพลักษณ์ แต่หากเป็นคนที่รู้จักสังเกตตนเอง ตระหนักรู้ในจุดแข็ง จุดอ่อน หรือ ศักยภาพของตนเอง (ในภาษาของ Peter M. Senge เรียกว่า Personal Mastery) ก็จะสามารถก้าวข้ามภาวะความกลัวนั้นได้ ซึ่งเรามักจะพบว่าสิ่งที่ทำให้คนลักษณ์ 6 ก้าวข้ามได้ คือ การใช้ "ศรัทธา" เมื่อนั้นเขา/เธอ จะได้รู้จักกลไกการทำงานทางจิตของตนเอง และสามารถนำพาไปสู่เป้าหมายของชีวิต และการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ (ในภาษาของ Peter M. Senge เรียกว่า Mental Model)

จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า ศาสตร์นพลักษณ์ เป็นเครื่องมือที่เอื้อต่อแนวคิด Learning Organization ของ Peter M. Senge เป็นอย่างมาก ในการช่วยวิเคราะห์ให้บุคคลบรรลุ 2 ใน 5 วินัยขององค์การแห่งการเรียนรู้ คือ Mental Model และ Personal Mastery หากนำมาอบรมในองค์กร ร่วมกับวิธี "สุนทรียสนทนา" หรือ Dialogue ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ Senge แนะนำให้ใช้ในวินัย (Discipline) เรื่อง Team Building จะพบว่าสามารถสร้างภาวะ Synergy ในองค์กรให้เกิดขึ้นได้

กลับมาเข้าเรื่องดีกว่า

ผู้นำคนลักษณ์ 6 หรือนักปุจฉา มักถือเป็นภาระหน้าที่ในการทำเพื่อคนเสียเปรียบ อุทิศตนให้กับเป้าหมายหรืออุดมการณ์ที่สร้างสรรค์ สามารถเสียสละตนเองเพื่อหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อผู้อื่น สามารถทำงานที่ไม่ต้องมีการยอมรับจากสังคม เพราะไม่ค่อยยึดติดกับความต้องการความสำเร็จที่เห็นผลทันที

จุดแข็งโดยสรุปของผู้นำลักษณ์ 6 คือ เป็นผู้ที่จงรักภักดีกับองค์กร บอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าตนเองเป็นที่ไว้วางใจได้ทั้งกับ เพื่อนร่วมงานและองค์กร มีความคิดที่ฉับไว และรอบคอบปิดจุดอ่อนในทุกโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงในการทำงาน

คนลักษณ์ 6 เหมือนมีกรรม เนื่องจากแยกไม่ออกระหว่างเรื่องราวที่หวาดระแวงต่อผู้คน ต่อเรื่องราวต่างๆ อันเนื่องจากความคิดของตัวเอง กับเรื่องราวที่เป็นจริง บางครั้งจึงหันไปพึ่งพิงความมั่นคงภายนอก (ตัวเองไม่มีความมั่นคงภายใน) มีผู้บริหารงานด้านบุคคลของส่วนราชการแห่งหนึ่งเล่าว่า ในวัยสาวของเธอทำงานในโรงงาน ไต่เต้าจนได้เป็นผู้บริหารด้านงานบุคคล ดูแลคนงานเกือบสองพันคน ด้วยวัยเพียงยี่สิบเก้าย่างสามสิบ และได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของโรงงานโดยตรง แต่พอเจ้าของโรงงานคิดว่าเธอยังเด็กไป เลยมอบหมายญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งให้มาดูแลเธออีกชั้นหนึ่งในฐานะรองประธาน เธอขอลาออกด้วยเหตุผลลึกๆ ส่วนตัวที่ว่า เธอไม่ศรัทธาในอาแปะแก่ๆ คนหนึ่งว่าจะเก่งกว่าเธอ ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพการงานอีกต่อไป จึงเบนเข็มชีวิตมารับราชการ ทั้งๆ ที่เงินเดือนน้อยกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้ แต่ทุกวันนี้เธอทำงานหนัก รักองค์กร ทุ่มเททำงานกลับบ้านค่ำมืดทุกวัน แต่เธอบอกว่าเธอมีความสุข เพราะศรัทธาในผู้บริหารระดับสูงขององค์กรว่าเก่งกว่าเธอ และเธอมีอะไรที่จะเรียนรู้จากเขาได้มากมาย ดังนั้นงานหนักเท่าใดเธอก็ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา


ปมประเด็นที่คนลักษณ์ 6 จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้คือ ทำอย่างไรจึงบริหารจัดการผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าตนเองได้ ทำอย่างไรจึงจะรู้สึกว่าพึ่งพิงตัวเองได้ บางครั้งผู้นำลักษณ์ 6 ที่วิ่งไปใช้บุคลิกภาพของลักษณ์ 3 จะผูกตนเองไว้กับภาพลักษณ์ และขับเคลื่อนชีวิตการทำงานไปบนภาพ ที่ตัวเองสร้างแต่ในใจเต็มไปด้วยความกังวล ฟุ้งซ่าน ความรู้สึกไม่ไว้วางใจ จนมีเพื่อนสนิทคือ อาการปวดหัวบ่อยๆ

ข้อแนะนำก็คือ ผู้นำลักษณ์ 6 ควรที่จะบอกตัวเองว่า ความเข้มแข็ง ความเด็ดขาด ความสงบเย็นในจิตใจ เป็นสิ่งที่ทำได้ โลกนี้มีสิ่งสวยงาม ปลอดภัย และสามารถไว้วางใจอยู่ เพียงแต่เรามองไม่เห็น หรือไม่พยายามมอง เมื่อฝึกมองบ่อยๆ ก็จะพบเอง

ในด้านสัมพันธภาพ ผู้นำลักษณ์ 6 จะกังวลว่าตนจะเสียสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง จึงมีบุคลิกภาพที่แคร์ และสร้างความรู้สึกอบอุ่นกับคนใกล้ชิด ไม่พูดจาที่จะทำร้าย หรือชี้ปม หรือประเด็นความขัดแย้ง

เราจะพบภาวะผู้นำลักษณ์ 6 อีกประเภทหนึ่งที่ ความกลัวภายในกดดันให้ตัวเองกลายเป็นคนกล้า บ้าบิ่น ซึ่งหากพิจารณาภายนอกแล้ว อาจจะมีบุคลิกภาพคล้ายผู้นำลักษณ์ 8 อยู่มาก จะสู้หัวชนฝา มีลักษณะเป็นวีรบุรุษ ต่อสู้เพื่อปกป้องคนอื่นเต็มกำลัง

ท่านผู้อ่านลองวิเคราะห์ดูสิคะว่า อะไรเป็นแรงขับดันภายในของพฤติกรรม หรือบุคลิกภาพเช่นนั้น หากคิดไม่ออก ลองหันกลับไปอ่านบทความ "ความเป็นผู้นำของคนลักษณ์ 2" ดูจะเห็นแบบแผนการวิเคราะห์โดยใช้นพลักษณ์ค่ะ

 

ลักษณ์ 6

นักปุจฉา

สไตล์ผู้นำ

รอบคอบ วางแผน ลึกซึ้ง ป้องกันไว้ก่อน

จุดแข็ง

- จงรักภักดีต่อองค์กร และซื้อสัตย์ต่อเพื่อนร่วมงาน  
- รับผิดชอบ  
- ร่วมแรงร่วมใจ  
- มียุทธศาสตร์  
- ความคิดแหลมคม  
- ขยัน บากบั่น  
- คาดการณ์ปัญหาล่วงหน้า

จุดอ่อน

- ระมัดระวัง ตื่นเต้น  
- ห่วงกังวลปัญหาในอนาคต  
- ถ้าไม่ยินยอมเกินไปก็ต่อต้านหัวชนฝา  
- ไม่ชอบอะไรที่กำกวมไม่ชัดเจน  
- สะดุดหยุดกับความคิดวิเคราะห์ของตนเอง  
- โยนความคิดของตนใส่ผู้อื่น  
- ตั้งป้อม ต่อต้าน  
- สู้ตาย ถวายชีวิต

ข้อแนะนำ

- เผชิญหน้ากับประเด็นผู้มีอำนาจ สรุปบทเรียน  
- เรียนรู้การจัดการกับความกระวนกระวายใจ  
- คบหาคู่ต่อกรที่ดี