enneagramthailand.org

ความเป็นผู้นำของคน ลักษณ์ 3 (นักแสดง)

คนลักษณ์ 3 มีชื่อเรียกว่า นักแสดง หรือ ผู้ไฝ่สัมฤทธิ์ เป็นคนที่มีศักยภาพในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายได้มากที่สุดในคน 9 ลักษณ์ บุคลิกภาพที่เรามักจะพบเห็นในคนลักษณ์ 3 ก็คือ กระตือรือร้น ทำงานหนัก และจัดการงานหลายอย่างได้พร้อมกัน แต่งตัวดีเหมาะสมกับกาละเทศะ และดูดีเสมอ

คนลักษณ์ 3 เป็นลักษณ์แกนกลางของศูนย์ใจ ที่สัมพันธ์กับเรื่องของภาพลักษณ์ (Image) มาก ดังนั้นพลังชีวิตที่มีมากที่สุดของคนลักษณ์สาม คือพลังใจนั้น จะทุ่มเทและขับเคลื่อนออกมาอย่างมากในเรื่องของการสวมบทบาทที่ตนเองคิดว่าตนเองเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องการทำงาน

เรามักจะพบว่าบุคคลที่ประสบความสำเร็จสุดยอดท๊อปเท็นของแต่ละวงการจะมีคนสามอยู่ในนั้นเสมอ ไม่ว่าจะด้านการเงิน การธนาคาร อุตสาหกรรม เอ็นจีโอ แพทย์ ฯลฯ หรือแม้แต่วงการฮิปปี้ 
    
สิ่งที่นพลักษณ์อธิบายปรากฏการณ์นี้ก็คือ คนสามใส่ใจกับเป้าหมาย เมื่อตนเองกำหนดเป้าหมายไว้แล้วก็จะทำทุกวิถีทาง และมุ่งมั่นอย่างมากเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคนสามตั้งเป้าว่าจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คนสามก็สวมบทบาทนักธุรกิจด้านนั้นตามภาพลักษณ์ที่ตนเองกำหนดไว้ ดังนั้น เราจะพบผู้นำองค์กรที่เป็นลักษณ์สามได้ทุกประเภทขององค์กร ในทุกกลุ่มสังคม

คนลักษณ์สาม เป็นคนที่มั่นใจในตนเองสูง มีความมุ่งมั่นสูง ในการอบรมครั้งหนึ่งผู้เขียนได้พบกับหนุ่มลักษณ์สาม วัยประมาณ 25-26 ปี นิยามตนเองว่า เป็นคนที่เหยียบโลกใบนี้ไว้ใต้ฝ่าเท้าของตนเอง "เพราะทุกอย่างที่คิดจะทำ ล้วนง่ายดาย เรื่องทุกเรื่องในโลกนี้ไม่น่าจะเกินความสามารถของผมไปได้" นี่คือตัวอย่างของพลังของใจ ที่พุ่งออกมากระทำต่อโลกใบนี้ของคนลักษณ์ 3

ปัจจัยสำเร็จของผู้นำลักษณ์ 3 เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และถ้าคนสามไม่รู้ตัวก็จะเป็นเรื่องที่ยาก และก่อให้เกิดทุกข์ของคนสาม นั่นคือ กิเลสของลักษณ์ 3 ที่ชุมชนนพลักษณ์เรียกว่า "หลอกลวง"

ในที่นี้หมายถึงการหลอกลวงตนเองว่าตนเองเป็นเช่นนั้น เป็นเช่นนี้ (ไม่ใช่การหลอกคนอื่น) โดยที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนอย่างไรอย่างแท้จริง และสามารถแปรเปลี่ยนตนเองไปได้ทุกบทบาทที่ตั้งเป้าไว้ เรามักเรียกพฤติกรรมเช่นนี้ว่า "จิ้งจกเปลี่ยนสี" หรือเป็น "นักแสดง"

ผู้บริหารที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ซึ่งเป็นดอกเตอร์ท่านหนึ่งเล่าในเวิร์คชอบนพลักษณ์ว่า "ชีวิตนี้ผมอยากจะเป็นอะไรผมก็เป็นมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนเบสเซลเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ นักบริหาร สามีที่ดีของภรรยา" แต่วิทยากรชี้จุดให้เห็นว่า มีอยู่หนึ่งอย่างที่คุณเป็นไม่ได้และยังไม่เคยเป็นเลย คือ เป็นตัวเอง

คำพูดติดปากของคนสามคือ ฉันทำได้ เมื่อต้องทำอะไรที่ขัดกับตัวตนของตนเองจริงๆ ก็จะหลอกตัวเองว่า ฉันทำได้ แล้วก็เหมือนกับสร้างมนต์สะกดให้ตนเองเป็นเช่นนั้นไปได้ในที่สุด แรกๆพอกลับถึงบ้านก็เหนื่อยเป็นตาย แต่พอทำทุกวันก็เคยชินกับบทบาทที่ตนเองสร้างขึ้นมา และใช้พลังชีวิตขับเคลื่อนอย่างหนักจนส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆ

ผู้นำคนลักษณ์สาม ที่ไม่รู้ตัวเอง มักจะประสบกับปัญหาสุขภาพเมื่อย่างเข้าวัยกลางคน เพราะทุ่มเทพลังชีวิตให้กับการทำงาน จนละเลยสุขภาพของตนเอง จากคนที่ไม่เคยหยุดทำงานเลยแม้แต่วันเดียว ต้องกลายเป็นคนที่ต้องนอนยาวในโรงพยาบาล

อดีตคณบดีท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล ท่านนี้ก็เป็นดอกเตอร์อีกเช่นกัน กล่าวว่า ตนเองมั่นใจในการทำงานว่า ทุกอย่างสามารถทำได้ ตั้งแต่รับหน้าที่เป็นคณบดีก็ทำงานหลายอย่างบรรลุเป้าหมายตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรที่คนอื่นทำไม่ได้ ตนเองทำได้เสมอ แล้ววันหนึ่งก็ต้องไปนอนโรงพยาบาลให้หมอผ่าตัด ถึงได้มีเวลาพิจารณา ไตร่ตรองว่า ตนเองคงต้องหัดช้าลงบ้าง ทำงานให้น้อยลง ดูแลใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น

การหลอกตัวเองของลักษณ์ 3 ว่าตนเองทำได้ ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถหนีความจริงที่ว่า ร่างกายมีขีดจำกัด ที่จะสามารถทำงานได้เพียงระดับหนึ่ง หากไม่ดูแลใส่ใจ ร่างกายก็รับไม่ไหว ต่อให้หลอกตัวเองว่ายังไหวอยู่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ .... เรื่องสุขภาพจีงมักเป็นเหตุเตือนภัยให้คนลักษณ์สามหันมารู้จักตัวเอง.... แต่สำหรับหลายคนก็อาจจะสายเกินแก้

สไตล์การทำงานของผู้นำลักษณ์ 3 เน้นแต่ผลสัมฤทธิ์ บางทีลืมไปว่าลูกน้องไม่ได้เก่งเหมือนตนเอง กลายเป็นว่าลูกน้องต้องเร่งสปีด และอดทนเพื่อสร้างผลงานจำนวนมากเพื่อตอบสนองผู้นำลักษณ์ 3

เรามักพบว่า จุดบอดของผู้นำสไตล์สามคือ การละเลยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะมัวแต่มุ่งที่ผลงาน แล้วผู้นำคนสามก็ไม่เคยพอใจกับผลงานของตนเอง เพราะเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ก็สร้างเป้าหมายใหม่ แล้วก็มุ่งมั่นไปสู่จุดหมายใหม่ ไม่มีการพักผ่อน เป็นวัฎจักรที่ไม่เคยหยุดนิ่ง จนกว่าร่างกายจะส่งสัญญาณประท้วง

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องอาศัยการสังเกตตนเองอย่างลึกซึ้งจะพบว่า จุดอ่อนของผู้นำลักษณ์สามคือ การตัดสินคน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งเรื่องนี้ท่านคณบดีจากมหิดลยอมรับว่าหลายครั้งในการทำงานตนเองเป็นเช่นนั้น แต่ภาพที่ปรากฎตนเองมักมีเหตุผลที่จะอธิบายการตัดสินนั้นๆให้ดูดีได้เสมอ

บุคลิกภาพของผุ้นำลักษณ์ 3 จะมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับบทบาทที่คนสามเลือกให้ตนเองแสดง ส่วนใหญ่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จึงมักพบว่าผู้นำลักษณ์สาม จะมองโลกในแง่ดี (คล้ายคน 7) พร้อมที่จะมองข้ามเรื่องที่จะสร้างความทุกข์ให้ตนเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ คนสามพร้อมที่จะกันความรู้สึก อารมณ์ทุกชนิดที่จะเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายออกไปในการทำงาน

ถ้าผู้นำคนสามที่ไม่รู้ตัวเอง ปล่อยให้กิเลสของตัวเองเป็นตัวขับตันชีวิตไปสู่เป้าหมายตลอดเวลา มักจะพบว่า นับวันเพื่อนเริ่มน้อยลง หรือไม่มีเลย เพราะในการหลอกลวงตัวเองของคนลักษณ์สาม ส่งผลกระทบต่อคนอื่น จนมักจะได้ข้อกล่าวหาเสมอๆทำนองว่า "ไม่จริงใจ" "หลอกใช้คนอื่น" เป็นต้น แต่เท่าที่ไต่ถามคนสามหลายคน พบว่าในใจคนสามไม่เคยคิดที่จะหลอก แต่วิธีการที่ทำมันคิดออกมาได้เพราะตอบสนองต่อเป้าหมายและความสำเร็จที่อยู่ข้างหน้า (ลืมคิดเรื่องความรู้สึกของคนอื่น) นี่คือทุกข์ของคนสาม

ทุกข์ที่ต้องแลกมาระหว่างภาพลักษณ์ของความสำเร็จ กับภาพลักษณ์ของความไม่จริงใจ

ถ้าจะให้สรุปภาวะผู้นำแบบคนสาม ก็บอกได้ว่า คนสามเป็นได้ทุกสไตล์ (ที่ตนเองคิดว่าจะสวมบทบาทนั้นๆ) ไม่ว่าเป็นภาวะผู้นำตามแนวคิดใหม่ๆ ที่ขยันผลิตกันออกมาอย่างมากมายในยุคไฮเทคโนโลยีเช่นปัจจุบัน

ดังนั้นท่านผู้อ่านที่คิดอิจฉาความสำเร็จของคนสาม ก็พึงพิจารณาว่าทุกลักษณ์ มีข้อดี ข้อด้อย แตกต่างกัน ตามเหตุ ปัจจัย ของชีวิต และ "กับดักชีวิต" ของแต่ละลักษณ์

และสำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นผู้นำลักษณ์ 3 ก็ขอฝากเรื่องการเจริญสติ ตามรู้อารมณ์ความรู้สึกตนเองเป็นสำคัญ อย่ารอจนให้มีเหตุเตือนภัยเรื่องสุขภาพ หรือ การไร้มิตร ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

 

ลักษณ์ 3

นักแสดง

สไตล์ผู้นำ

มุ่งผลงาน มีเป้าหมาย

จุดแข็ง

- มุ่งผลสำเร็จ  
- มีพลังงานมาก สามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกัน  
- เอาชนะปัญหา  
- มองโลกแต่แง่ดี  
- มั่นอกมั่นใจในตนเอง

จุดอ่อน

- มุ่งเอาชนะคะคาน (เพื่อความสำเร็จ)  
- ไม่ค่อยเข้าร่วม-ไม่ค่อยมีเวลาให้กับใคร (ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับงาน)  
- ซ่อนงำความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในลึกๆ  
- ทำงานเกินเวลา-ไม่พัก  
- ให้เวลาน้อยมากกับเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว  
- ไม่อดทนกับความรู้สึกของผู้อื่น  
- เชื่อว่าภาพลักษณ์เป็นตัวตนที่แท้จริง  
- ตัดสินคนด้วยความรู้สึก มากกว่าเหตุผล

ข้อแนะนำ

- ตั้งเป้าให้ชีวิตครอบครัว และสุขภาพเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิตด้วย  
- ใส่ใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างให้มากขึ้น  
- ลดทอนการเอาชนะโดยเปลี่ยนเป็นความร่วม  
- เตือนสติตนเองอยู่เสมอเมื่อจะทำอะไร ว่าเป็นความอยากความต้องการ ของตนเองมากกว่าจะทำไปเพียง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับคนอื่น (เพื่อภาพลักษณ์)