enneagramthailand.org

ความเป็นผู้นำของคน ลักษณ์ 1 (คนสมบูรณ์แบบ)

ผู้นำลักษณ์ 1 มีชื่อเรียกว่า คนสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist เป็นคนที่มีมาตรฐานการทำงานมากที่สุดใน 9 ลักษณ์ ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ลักษณ์อื่นไม่มีมาตรฐานในการทำงาน หากแต่ว่า คนลักษณ์ 1 มีความใส่ใจกับเรื่องของ “ความถูกต้อง”  “ความเป็นมาตรฐาน” มาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้นในใจของคนลักษณ์ 1 จะมีภาพของความสมบูรณ์แบบของเรื่องราวต่างๆ ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม สิ่งของต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จึงปรากฎออกมาเป็นบุคลิกภาพหรือพฤติกรรมที่มักจะมองเห็นจุดบกพร่องของสิ่งต่างๆ หรือเรื่องราวต่างๆ ง่ายและเร็วกว่าคนอื่นๆ

ดังนั้นในสายตาของคนลักษณ์อื่น จึงมองคนลักษณ์ 1 ว่า ช่างติ ช่างวิพากษ์วิจารณ์ หรือ ชอบจับผิด แล้วแต่ว่าคนนั้นๆ มองด้วยท่าทีอย่างไร ถ้าคนในครอบครัวก็มักจะใช้คำว่า คนลักษณ์ 1 ขี้บ่น จู้จี้ จุกจิก 
เรามักพบว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จของคนลักษณ์ 1 ที่ทำให้สามารถขึ้นมาสู่การเป็นผู้บริหาร หรือผู้นำ (ด้วยความเป็นลักษณ์ 1 ไม่ใช่ด้วยปัจจัยอื่น) คือ เป็นคนที่ทำงานละเอียด มีระเบียบวินัยในการทำงานสูง มีความรับผิดชอบสูง เนื่องเพราะความใส่ใจและความคิดยึดติดกับเรื่องของความถูกต้อง จะผลักดันและเคี่ยวเข็ญตนเอง ให้ทำงานหนัก ทำตามสิ่งที่เสียงในหัวของคนลักษณ์ 1 บอกว่าควรทำอย่างไรอยู่ตลอดเวลา การทำงานจึงต้องตรวจสอบความถูกต้อง ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำงานตามตารางเวลาที่ชัดเจน ตามแผนงานที่วางไว้อย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้น เสียงในหัวของคนหนึ่งก็จะตำหนิตนเอง คนหนึ่งก็ต้องลุกขึ้นมาทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ให้สมบูรณ์แบบ เราจึงมักไม่ค่อยเห็นคนลักษณ์ 1 พักผ่อน หรือเล่นสนุก เฮฮา มากนัก นั้นเพราะกลไกการทำงานทางจิตของคนหนึ่งที่ไม่รู้ตัวผลักดันให้ชีวิตของคนหนึ่งไม่รู้จักกับคำว่า “สนุก” ซึ่งก็เป็นทุกข์ในสไตล์ของคนลักษณ์ 1

แต่คนลักษณ์ 1 ที่รู้ตัวเองว่า ทำสิ่งต่างๆ เพราะแรงผลักดันภายในที่เป็นอัตโนมัติ จากความเป็นลักษณ์ของตนเอง จะรู้จักที่จะผ่อนคลายชีวิตการทำงานลง และรู้จักที่จะวิ่งไปใช้ภาวะลูกศร คือใช้พฤติกรรมของคนลักษณ์ 7 เพื่อสร้างสีสันให้กับชีวิตของตนเอง หรือใช้พฤติกรรมของคนลักษณ์ 4 ที่จะเรียนรู้และดื่มด่ำกับศิลปะ หรือธรรมชาติ เพื่อปรับสมดุลให้กับชีวิตได้

ผู้นำลักษณ์ 1 จะปรับและดึงเอาศักยภาพในการมองเห็นจุดบกพร่องมาใช้แต่พอดี จนกลายเป็นจุดแข็งที่เรามักจะเห็นได้ว่า คนลักษณ์ 1เป็นนักปฏิรูป หรือนักพัฒนา ไม่เคยเดินย่ำรอยเดิม เพราะมักจะมองเห็นช่องทางในการแก้ไขจุดบกพร่อง ของสิ่งที่เคยทำมาแล้วได้อย่างละเอียด เป็นคนที่มีมาตรฐานในการทำงานสูง เพราะเห็นแล้วว่าหากไม่ทำตามมาตรฐานนั้นๆ จะเกิดข้อเสียอย่างไรบ้าง จึงอุดช่องว่างในการทำงานไว้ทุกช่องทาง สไตล์การทำงานของคนลักษณ์ 1 ที่ทำงานหนัก มุ่งผลงานที่ตนเองรับผิดชอบ ประกอบกับการที่เป็นคนในศูนย์ท้องมีพลังมากมาย จึงทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ก็มักจะคาดหวังว่า คนอื่นจะทำงานได้อย่างตน จนบางครั้งลูกน้อง หรือทีมงานจะรู้สึกว่าคนลักษณ์ 1 มุ่งงานมากกว่าความสัมพันธ์

ดังนั้นในช่วงต้นของวัยทำงาน ในองค์กรส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะสนับสนุนคนลักษณ์ 1 ขึ้นเป็นหัวหน้างาน เพราะมีความรับผิดชอบสูง มีผลงาน มีวินัย แต่เมื่อคนลักษณ์ 1 ที่ต้องขยับขึ้นเป็นผู้นำ หรือ ผู้บริหารระดับสูง คนลักษณ์ 1 จะพบปัญหาที่ต้องข้ามพ้นให้ได้ คือการมองมุมกว้างให้ได้มากกว่าการมองรายละเอียด คนลักษณ์ 1 บางคนกว่าจะข้ามเรื่องนี้ได้ก็หนักหนาพอสมควร เพราะชีวิตทั้งชีวิตเคยแต่จะใส่ใจกับรายละเอียดในทุกขั้นตอนมาโดยตลอด

ผู้บริหารด้านงานบัญชี ของบริษัท ด้านอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าเมื่อตนเองถูก Promote ให้เป็นผู้บริหารระดับกลางในองค์กรในสายงานเดิม รู้สึกว่าไม่เคยทำงานได้ทันใจตัวเองเลย รู้สึกว่าตัวเองทำงานด้อยประสิทธิภาพลง แต่เมื่อซักถามไปสักพักก็พบว่า จุดแข็งของเธอที่เคยทำให้เธอได้รับการเลื่อนตำแหน่งนั้นเองเป็นอุปสรรคสำคัญ ด้วยความเป็นคนลักษณ์ 1 ที่เป็นคนละเอียดใส่ใจในทุกขั้นตอนการทำงาน ถ้าลูกน้องทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานเธอก็เอางานมาทำเองใหม่ แต่เมื่ออยู่ในตำแหน่งใหม่ที่สูงขึ้นเธอยังคงทำงานแบบเดิม  ก็ย่อมไม่มีเวลาเหลือสำหรับงานสร้างวิสัยทัศน์ หรืองานเชิงนโยบายที่ต้องตอบสนองผู้บริหารระดับสูงเป็นธรรมดา  ไม่ใช่การที่เธอด้อยประสิทธิภาพแต่อย่างใด

ในกรณีนี้นพลักษณ์ช่วยอธิบายได้ว่า การที่เราจมอยู่กับบุคลิกภาพบางอย่าง ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นตัวตนของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวนั้น ในบางสถานการณ์สิ่งนั้นเป็นจุดแข็งให้เราได้รับความไว้วางใจ เจ้านายเห็นผลงาน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป บุคลิกภาพที่เรายึดติดนั่นเองกลับกลายเป็นจุดอ่อน ที่ก่อทุกข์และเป็นอุปสรรคของอนาคต สิ่งที่ต้องเรียนรู้เมื่อใช้นพลักษณ์เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ตัวตนของเราแล้วก็คือ การเรียนรู้ที่จะข้ามพ้น (Tranformation) จากสิ่งที่เราสร้างขึ้นจนก่อตัวเป็นบุคลิกภาพของเรา เพื่อไปสู่การค้นพบศักยภาพที่แท้จริงที่ทุกคนมีอยู่เท่าๆ กัน เหมือนๆ กัน ด้วยการมองโลกที่เป็นจริงและอยู่กับปัจจุบันขณะ มิใช่การมองโลกแบบคนลักษณ์ 1 ที่มักจะมองว่าโลกนี้ไม่สมบูรณ์แบบ ฉันต้องถูกต้องดีพร้อมอยู่ตลอดเวลา

มีเรื่องขำในแวดวงนพลักษณ์ที่มักพูดกันเสมอว่า คนลักษณ์ 1 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนสมบูรณ์แบบ จะทำอะไรก็ต้องมีมาตรฐานอยู่ตลอดเวลา หากแต่ว่าเมื่อเราเชิญคนลักษณ์ 1 มาจำนวน 5 คน มอบหมายงานให้ทำในเรื่องเดียวกัน เราจะพบว่ามีถึง 5 มาตรฐานในการทำงานชิ้นเดียวกัน เพราะความสมบูรณ์แบบหรือมาตรฐานของคนลักษณ์ 1 มาจากมุมมองของคนลักษณ์ 1 แต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกันเลย คนลักษณ์ 1 มักจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่า มาตรฐานของตนเป็นสิ่งที่จริงสูงสุดและดีที่สุด มาตรฐานของคนอื่นนั้นไม่ดีพอ เราจึงมักเห็นคนลักษณ์ 1 เคร่งครัด ไม่ยืดหยุ่นให้กับทั้งตนเองและคนอื่นในการทำงาน เพราะไปยึดมั่นถือมั่นว่าระเบียบแบบแผนที่ตนเองสร้างขึ้นนั้นดีที่สุดแล้ว และมีวิธีการเดียวเท่านั้นที่ถูกต้อง คนลักษณ์ 1 ที่สามารถข้ามพ้นโลกทัศน์ของตนเองได้ ก็จะยืดหยุ่นที่จะพัฒนา ปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ตามสถานการณ์ และเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่แข็งขืนทั้งกับตนเองและผู้อื่น

นั่นเป็นตัวอย่างของการมองโลกที่บิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามความจริง แม้กระทั่ง “ความถูกต้อง” หรือ “มาตรฐาน” ก็มาจากตนเองเป็นสำคัญ ทำให้คนลักษณ์ 1 มีสไตล์การทำงานที่ ควบคุมคนอื่นสูง และมักจะทุกข์เมื่อเห็นลูกน้องทำงานไม่ได้อย่างที่ตกลงกันไว้ ไม่ได้ตามแบบแผนที่วางไว้ ไม่ทุ่มเทเท่ากับที่ตนเองทำไว้เป็นแบบอย่าง  ในจุดนี้ลูกน้องจะมองว่าคนลักษณ์ 1 ชอบตัดสินคนอื่น

คนลักษณ์ 1 มักจะอ่อนไหวและคิดไปเองว่าคนอื่นตัดสินเขา วิพากษ์วิจารณ์เขา ซึ่งเป็นภาวะที่ยากจะทำใจ และเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งได้ง่ายมาก  แต่หากมีใครให้ข้อเสนอแนะกับคนลักษณ์ 1  ด้วยน้ำเสียงและท่าที่ที่ไม่ได้เน้นย้ำว่าเป็นการตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์  คนลักษณ์หนึ่งก็จะยอมรับฟังและนำข้อเสนอแนะนั้นไปปรับปรุงตัวเองต่อไป

 

ลักษณ์ 1

คนสมบูรณ์แบบ

สไตล์ผู้นำ

ขยัน มุ่งสู่ความเป็นเลิศ

จุดแข็ง

ผลงานที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง  
ปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพอยู่ตลอดเวลา  
มีวินัยในตนเอง ซึ่อสัตย์ มีอุดมคติ จริยธรรมสูง  
ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง  
มีระเบียบแบบแผนในการทำงาน ชัดเจนทุกขั้นตอน

จุดอ่อน

ไม่ยืดหยุ่น  
ให้ความสำคัญกับรายละเอียดมากเกินไป  
เคร่งเครียด และยึดมั่นกับกฎเกณฑ์ และมาตรฐานสูง  
ช่างตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์

ข้อแนะนำ

หัดสร้างความรู้สึกสนุกกับงาน และยอมให้ตัวเองผ่อนคลาย เช่น อยู่กับธรรมชาติ หรือ เรียนรู้ศิลปะบ้าง   
กระจายงานให้มากขึ้น  
เตือนตัวเองให้ลืมคำว่า “ควร” หรือ “ต้อง” บ้าง