enneagramthailand.org

บทความจากคุณหมอจันทร์เพ็ญ

1. รู้ลักษณ์เพื่อปลดทุกข์ แต่ทำไมรู้ลักษณ์แล้วยัง...ทุกข์

ขณะนี้ ท่านอายุเท่าไร ..... เคยคิดคำนวณไหมว่า เราเหลือเวลาอยู่ในโลกอีกกี่วัน กี่ชั่วโมง เวลาที่เหลืออยู่นี้เราจะทำอะไรบ้าง บางคนก็อาจกำลังขวนขวายทำมาหากิน สะสมทรัพย์ ที่ดิน เพื่อไว้ใช้ยามแก่ชรา และให้ลูกหลานไม่ลำบาก ... ประสบการณ์ ความเจ็บปวด ความทุกข์ ความสุข ที่เราผ่านมาทั้งหมด ได้กระตุกให้เราคิดคำนึงถึงอะไรบ้าง ... หรือเพียงแต่ทำตามความต้องการ ความอยากของเรา .. เหมือน ๆ กับสัตว์โลกชนิดอื่น ๆ กระทำอยู่ ... ถ้าเช่นนั้น ทำไมเราจึงเกิดมาเป็น ฅนหรือ มนุษย์ แล้วมนุษย์แตกต่างจากสรรพสิ่งอื่น ๆในโลกนี้อย่างไร ... อ่านแล้ว อย่าเพิ่งโมโหโทโส ว่า เอ๊ะ.. คำถามมากจริง ... นี่เป็นคำถามที่ครั้งหนึ่งในวัยหนุ่มสาว คงเคยเกิดขึ้นในความคิดของเราบ้าง.. แต่ด้วยภารกิจทางสังคม และครอบครัว ทำให้เราลืมเลือนมันไปเสียแล้ว แต่ในเวลาที่อายุเราใกล้วัยแย้มฝาโลงเช่นนี้ ก็น่าจะนำกลับมาคิดทบทวนกันดูบ้าง...และสำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาว เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่ง เพราะยังไม่ติดกรอบความคิด ภารกิจทางสังคมและครอบครัวมากนัก จึงควรนำคำถามเหล่านี้มาคิดคำนึงอย่างจริงจัง ก่อนที่พวกเราจะตกเป็นทาสของกรอบคิดทางสังคม และเดินตามคนรุ่นก่อน ๆ ไปเรื่อย ๆ ตกเข้าไปอยู่ในหลุมร่องของการทำตามคนอื่น หรือสังคม ไม่กล้าคิดอะไรที่แหกคอก แม้แต่จะหาความหมายของการมีชีวิตเป็น “ฅน” ว่าเรามีหน้าที่อะไรต่อโลกและต่อตัวเอง จุดหมายปลายทางของชีวิตประมาณ 60-80 ปีนี้คืออะไรกันแน่...
          
ลองทบทวนชีวิตของเราเอง และถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เรากลัวที่สุด .... ตัวอย่างเช่น “เรากลัวเจ็บป่วย กลัวตาย การพลัดพราก กลัวไม่ได้ตำแหน่ง สมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ....” ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็ถามตัวเองอีกคำถามหนึ่ง ที่เราทำอะไรต่ออะไรมาตลอดชีวิตนั้น เรามีแรงจูงใจสำคัญอะไร คนส่วนใหญ่ก็อาจตอบว่า เพื่อครอบครัว ก็ต้องค้นหาให้ลึกไปอีกว่า เพื่อครอบครัว ทำไมเพื่อครอบครัว อะไรกันแน่ที่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเรา เราแต่งงานเพราะเราพบรักกับแฟนของเรา แล้วเราก็มีลูก ต้องเลี้ยงลูกตามหน้าที่ อยากให้เขาเป็นลูกที่ดีของเรา พอแก่ตัวเขาก็จะเลี้ยงดูเราต่อไป .... ใช่หรือไม่ และเมื่อเราเริ่มมีอายุมากขึ้น สังเกตเห็นหน้าตาผิวหนังของเราเปลี่ยนแปลง เหี่ยวย่นลงไป ไม่เหมือนเดิม ฟันก็เริ่มโยก เริ่มหลุด กินข้าวไม่อร่อยเหมือนตอนหนุ่มสาว เรารู้สึกอย่างไร กลัว.... หรือ จะใช้เป็นโอกาสที่จะกลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราว่า เราได้ทำอะไรที่สมควรจะทำ คิดอะไรที่ควรคิด หรือว่า ปล่อยชีวิตไปเรื่อย ๆ หรือจะไปหาคลินิกเสริมความงาม เพื่อทำให้ผิวหนังเราเต่งตึง ดูดีไปเรื่อย ๆ เราต้องซื้อครีมโปะหน้าเราไว้ เพื่อปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือ เราจะมองดูให้เห็น สัจธรรม ของชีวิต เห็นความเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมตัวมีชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบสุข และใช้เวลาที่เหลือให้เป็นประโยชน์ สมควรต่อการเกิดมาเป็นมนุษย์จริง ๆ... ที่สำคัญถ้าความหมายของการเกิดมีเพียงเท่านี้ ทำไมเราเป็นมนุษย์ล่ะ ทำไมไม่ไปเป็นจระเข้ (สัตว์เลื้อยคลาน) ช้าง (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) หรือถอยลงไปเป็นเพียงสัตว์เซลล์เดียว อย่างเช่น อะมีบา ล่ะ เพราะคุณค่าของชีวิตของสัตว์ที่กล่าวมานี้ ล้วนขึ้นกับกระบวนการทำงานของพันธุกรรม ที่มากำหนดลักษณะพื้นฐานของอวัยวะต่าง ๆโดยไม่มีกระบวนการคิด จินตนาการแบบมนุษย์ ... ก็เท่านั้นเอง
          
อ่านถึงตรงนี้ ทุกคนคงมีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่า มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร เราควรทำหน้าที่อะไรให้สมควรของการเกิดเป็น “ฅน” ไม่ไปเกิดเป็นสัตว์ประเภทอื่น ๆ หรือแม้แต่ไปเป็นเชื้อโรค หรือสัตว์เซลล์เดียวต่าง ๆ คำถามนี้อาจตอบได้ไม่ง่ายนัก เพราะกว่าจะเป็นมนุษย์ โลกเราได้ผ่านการเปลี่ยนแปลง และวิวัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ มาหลายล้าน ๆปีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกพยายามค้นหาคำตอบด้วยการสืบค้นย้อนไปดูร่องรอย หลักฐานที่หลงเหลืออยู่ เช่น ขุดค้นซากไดโนเสาร์ ซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ เพื่อจะดูว่า โลกมีวิวัฒนาการอย่างไร และทำไมเราจึงเป็นมนุษย์แบบนี้ .. คำถามย้อนไปถึงว่า จักรวาลของเราเกิดได้อย่างไร และการเกิดจักรวาลและโลกของเรา เกิดขึ้นในที่อื่น ๆ นอกจักรวาลอีกหรือไม่ หลายประเทศจัดสรรงบประมาณเพื่อหาคำตอบในส่วนนี้ ทำให้เกิดโครงการอวกาศ ออกไปดูถึงนอกโลก และในอีกทางหนึ่ง นักวิจัยทั้งหลายก็พยายามค้นหา “ต้นกำเนิดของชีวิต” และองค์ประกอบของ “ชีวิตที่เล็กที่สุด” โดยการประดิษฐ์เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาดูว่า ภายในร่างกายเรามีอะไร อวัยวะต่าง ๆ ประกอบด้วยอนูประเภทไหนบ้าง ทำหน้าที่อย่างไร เรื่องที่เราเคยรู้จากการเรียนวิทยาศาสตร์ยุคก่อน ๆ มาถึงยุคนี้ อะไรหลายอย่างก็ไม่จริงแล้ว เพราะผลการวิจัยที่ก้าวหน้าทำให้เรารู้ว่า เล็กไปกว่าอนู หรือ อะตอม ก็ยังมีองค์ประกอบที่เล็กลงไปอีก แต่ที่ยอมรับกันชัดเจนก็คือ ทุกสรรพสิ่งในโลก (รวมทั้งมนุษย์)ประกอบด้วย “สสารและพลังงาน” ซึ่งสามารถเปลี่ยนรูปกันไปมาได้ คือ สสารเปลี่ยนเป็นพลังงาน และพลังงานก็สามารถเปลี่ยนเป็นสสารได้
          
แล้วที่กล่าวมาข้างต้น เกี่ยวกับเรื่อง ทุกข์ตรงไหนแล้วทำไมเราต้องสนใจล่ะ อยู่กันไปวัน ๆ หายใจเข้าออกให้หมดไป ถึงเวลาตายก็ตายไป สังขารเดิมสูญสลายไป เหลือแต่พลังงานของเราไปรวมกับพลังงานกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ .... ตายแล้วก็อาจเวียนว่ายมาเกิดใหม่ (ซึ่งก็อาจไม่ได้กลับมาเป็นมนุษย์อีกก็ได้) แล้วทุกข์ของมนุษย์มันคืออะไรกันแน่ แต่ละคนทำไมมีทุกข์ต่างกัน อะไรเป็นสิ่งกำหนดทุกข์ และ เราจะปลดละวางจากทุกข์ของเราได้อย่างไร แล้วถ้าปลดทุกข์แล้ว ชีวิตเหลืออะไร ก่อนจะไปถึงคำถามเหล่านี้ จะขอให้หันมาทบทวนการเกิด คงอยู่ และกำลังจะดับของโลกมนุษย์ใบนี้ แล้วคราวหน้า เราจะกลับมาดูระดับที่เล็กกว่าโลกนั่นคือชีวิตของเราเอง
เป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วไปว่า โลกกำลังอยู่ในภาวะเสื่อม ส่วนหนึ่งคงเสื่อมไปตามเหตุปัจจัย นั่นคือ สภาวะการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ เช่น จักรวาลของเราเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ เมื่อมีเกิด ก็มีการดับ เป็นธรรมดา เพียงแต่อายุนานมาก จนเรารู้สึกว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง...ที่สำคัญกิเลสอันเกิดจากอคติของมนุษย์แต่ละคน กำลังทำลายโลกเราอย่างรวดเร็ว เราทุกคนแต่ละคนมีส่วนทั้งนั้น มากน้อยต่างกันตามสติและจิตสำนึก

โลกทุกวันนี้มีประชากรอยู่มาก เราเพิ่มจำนวนประชากรของโลกขึ้นมาหลายพันล้านคนในเวลาไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา และก็ไม่มีทีท่าจะลดน้อยลง ยกเว้นจะมีสงครามโลกครั้งใหม่ที่จะทำลายมนุษย์ครั้งมโหฬารในครั้งเดียว นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิตเริ่มลดน้อยถอยลงทุกที ความขัดแย้งแย่งชิงอาหาร ที่อยู่อาศัย ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น แต่ที่สำคัญกว่าการเพิ่มจำนวนก็คือ มนุษย์ยิ่งห่างไกลจากการยอมรับกฎธรรมชาติ มีแต่การแสวงหาเพื่อหลุดพ้นจากกฎธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เกือบทุกชิ้นในโลกนี้ อยู่บนพื้นฐานการเข้าใจรหัสชีวิต (เขาเรียกว่ารหัสพันธุกรรม) เพื่อหวังว่า จะสามารถหาทางทำให้มนุษย์ไม่เจ็บป่วย และอายุยืนยาว โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา การไม่ตายหรือตายช้า ก็แปลว่าคนที่จะเกิดมาใหม่ ๆ ในโลกยุคหน้า ก็จะต้องใช้ทรัพยากร ธรรมชาติไม่สิ้นสุด จนกว่าจะหมดไปจากโลก ก็เลยต้องหาวิธีเลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก หรือผลิตอาหารชนิดที่ไม่ต้องอาศัยธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นที่มาของอาหารตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งผู้ผลิตก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จะเกิดผลอะไรต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ในอนาคต(อันใกล้)  แม้แต่การโคลนนิ่ง หรือ ปั๊มมนุษย์ให้เหมือนแม่แบบ หมายความว่า ถ้าธุรกิจนี้รุ่งเรืองไปมาก ๆ เวลาเราใกล้ตาย เราก็เอาเซลล์ของเราไปให้เขาเลี้ยงไว้ ก็จะเกิดตัวเราขึ้นมาใหม่ ต่อไปก็ไม่ต้องผลิตลูกหลานอีกแล้ว เพราะการผลิตลูกหลานตามธรรมชาติให้หน้าตาเหมือนตัวเรา ย่อมเป็นไปไม่ได้ (เพราะลูกเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างเซลล์ของพ่อกับแม่ จึงไม่มีทางที่จะหน้าตาเหมือนตัวเราเอง แต่นั่นคือจุดแข็งของธรรมชาติ คือ ทำให้พันธุ์ที่อ่อนแอมีโอกาสผสมกับพันธุ์ที่แข็งแรง ทำให้รอดชีวิตได้มากขึ้น) ... ถ้าขุดกันให้ลึกลงไป ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการสะสมกิเลสซึ่งก็ไม่มีทีท่าจะลดน้อยลง ยิ่งเจริญทางวัตถุมาก จิตสำนึกในฐานะเป็นสิ่งมีชีวิตในโลกก็ยิ่งน้อยลง กลับเพิ่มพูนความไม่เข้าใจโลกและธรรมชาติมากขึ้น และนั่นคือ หายนะที่รอเผ่าพันธุ์มนุษย์ ความขัดแย้งแย่งชิงทั้งหลายก็เพื่อความสะดวก สบาย ครอบครองให้มีฐานะอยู่เหนือกว่าคนอื่น อำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องความรู้สึกว่า มีอภิสิทธิ์ เป็นเจ้านาย ได้เปรียบ ยิ่งมีมากขึ้นทุกที มากขึ้นตามการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์กับชนชาติของตน โดยละเลยความทุกข์ยากของชนชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ของตัว ยิ่งเราพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงกิเลสของเราแต่ละคน ก็จะสามารถทำความเข้าใจความขัดแย้งหลัก ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่งรอบตัวเรา ไม่ว่าใกล้หรือไกล.... 
          
เนื่องจากเราเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งพื้นฐานก็เหมือนกับเพื่อนร่วมโลกของเราทุกเผ่าพันธุ์ ต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด ด้วยเหตุผลบางประการ ธรรมชาติได้ทำให้เกิดวิวัฒนาการให้เผ่าพันธุ์ของเรามีความสลับซับซ้อนมากที่สุด คือมีส่วนของสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น และเราก็ได้พัฒนาความสามารถของสมองส่วนคิดวิเคราะห์ ค้นหาเหตุผล และเชื่อมโยงเรื่องต่าง ๆ และทำให้เราฉลาดที่จะประดิษฐ์เครื่องมือทุ่นแรง (ตอนแรกก็ทุ่นแรงในการหาอาหารเพื่อดำรงชีวิต) จนมาถึงคิดค้นเทคโนโลยีที่ไปถึงนอกโลกได้แล้ว แต่มนุษย์เรากลับเข้าใจ “จิตใจ” หรือ “กิเลส” ของเราน้อยที่สุด ซึ่งนั่นทำให้เกิดเรื่องต่าง ๆ ไม่เฉพาะเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในโลกเท่านั้น แต่กำลังทำลายตัวเองจนอาจจะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ในเวลาไม่ช้า
          
กลับมาเรื่องการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด สมัยยุคหิน บรรพบุรุษของเราก็คงจะเพียงหาวิธีให้สามารถหาอาหาร ที่อบอุ่นให้อยู่อาศัย และความต้องการอีกเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะอยู่ได้อย่างสงบสุข อิ่มท้อง ณ จุดนี้ กิเลสของมนุษย์สมัยนั้นก็คงมีไม่มาก พอใจเท่าที่ร่างกายต้องการ และขยายเผ่าพันธุ์ จนเมื่อได้ลงหลักปักฐาน มีพื้นที่ เปลี่ยนแปลงมาเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ (อาจเป็นความบังเอิญที่มนุษย์ค้นพบจากเรื่องเล็ก ๆน้อยๆ) เริ่มสะสมสิ่งต่าง ๆ ที่เหลือใช้ เพื่อเอาไว้ใช้วันหลัง ยามขาดแคลน การสะสมเพิ่มพูนขึ้นกลายเป็นการเสริมอำนาจบารมี และมีแรงงานทาสไว้ทำงานแทน รวมไปถึงการขยายอาณาเขตของตน ถ้าไปเปรียบกับสัตว์บก อย่างเช่นสิงโต ก็ไม่ต่างกับการที่สิงโตทำอาณาเขตของตน เพื่อบอกตัวอื่น ๆ ว่า อย่าเข้ามานะเฟ้ยที่นี่ที่ของฉัน ถ้าเข้ามาก็ได้เห็นดีกัน ... จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่า

พัฒนาการทางสมองของมนุษย์ที่ซับซ้อนถึงขั้นสามารถออกไปท่องอวกาศได้ ทำไมจึงไม่อาจเข้าใจสิ่งพื้นฐานที่เป็นเรื่องความทุกข์ของมวลมนุษยชาติ ... เราจึงปล่อยให้อิทธิพลของสมองของสัตว์ชั้นต่ำ (เทียบเท่าสมองสัตว์เลื้อยคลาน – reptile brain) มีอิทธิพลเหนือสมองชั้นสูงของเราไปได้ .... กลับมาเรื่องขยายอาณาเขต รบทำสงครามได้คนมาเป็นทาสเพื่อใช้แรงงาน แสดงอำนาจการครอบครอง และอะไรมากมายลองกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา ไม่ว่ามนุษย์จะฉลาดมากขึ้นเท่าไรพื้นฐานความทุกข์ที่เรากระทำต่อตัวเองและกระทำต่อกัน ก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ และ ความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น เมื่อก่อนทำสงครามกันซึ่ง ๆ หน้า ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่า ใครรุกราน ใครชนะ ใครแพ้ ใครเป็นเจ้านาย ใครเป็นทาส เดี๋ยวนี้ ความเป็นทาส การล่าอาณานิคมเปลี่ยนแปลงไปจนมองไม่เห็นชัดเจน กลายเป็นทาสทางเศรษฐกิจ ทาสทางบริโภคนิยม ทาสแฟชั่น ทาสซุปเปอร์สตาร์ ทาสเนื้อหนังมังสา ทาสเงินตรา ทาสยาเสพติด ทาสองค์กร และทาสอะไรต่อมิอะไรมากมาย ... เมื่อไรมนุษย์จึงจะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นไทเสียทีก็ไม่รู้ .. เป็นทาสแบบที่สมัครใจเสียด้วย สมัครใจด้วยความโง่งมและหลงใหลไปกับสิ่งกระตุ้นกิเลสตัณหาทั้งหลาย ... คราวหน้าจะเข้าเรื่องว่า เรารู้ลักษณ์เพื่อเข้าใจและปลดทุกข์ได้อย่างไร 

 

 

2. "นายทักษิณ เบอร์อะไร?

ระยะนี้ พบหน้าใคร ๆ ก็ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า อดีตท่านผู้นำ ..... เป็นคนลักษณ์ไหน เบอร์ 8 หรือเปล่า เห็นบุกตะลุยเหลือเกิน แรก ๆ ก็สงวนท่าทีนิดหน่อย เพราะไม่อยากจะไปให้เบอร์คนอื่น แต่คิดไปคิดมา ก็น่าจะแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ เพราะเป็นตัวอย่างที่ดีมากของการเรียนรู้ศักยภาพของคนลักษณ์ต่าง ๆ และการทำความเข้าใจคนลักษณ์อื่น ก็ช่วยให้เราเข้าใจจุดอ่อน และ จุดแข็งของเราชัดเจนขึ้น จึงต้องขออภัยผู้อ่านที่อาจรู้สึกขัดตาไปบ้าง แต่ช่วงระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา การศึกษาจุดแข็งของลักษณ์ 3 ทำให้ตัวเองเข้าใจจุดอ่อนและความต่างได้ชัดเจนขึ้นมาก จึงถ่ายทอดเป็นประสบการณ์ ผิดพลาดอย่างไรก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้

 ก่อนจะไปถึงเรื่องการเรียนรู้ศักยภาพจากคนลักษณ์อื่น ขอพูดถึงประสบการณ์ตนเองว่า “พูดแล้วดูเหมือนง่าย ถ้าเรารู้จักลักษณ์คนอื่น และรู้ว่าเขามีศักยภาพอะไร มีข้อจำกัดอะไร ก็น่าจะสามารถฝึกฝนเรียนรู้พัฒนาได้” บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากตนเองก็คือ ถึงแม้รู้ ความรู้นี้ก็เป็นเพียงความรับรู้ในระดับ “เหตุผล” ระดับตื้นเท่านั้น สิ่งที่จะขัดขวางการเรียนรู้จากคนอื่นมากที่สุดก็คือ กิเลสประจำตัวเอง

 ยกตัวอย่างง่าย ๆ เบอร์ 8 ก็รู้ว่า การพูดตรงไปตรงมา ไม่ประนีประนอม รังแต่จะทำให้เรื่องดี ๆ ที่ทำอยู่ ด้อยคุณค่า จนถึงกับสร้างศัตรู และทำให้เกิดปัญหา แต่ก็เป็นเพียงความรับรู้ในระดับ “เหตุผล” เท่านั้น หากไม่แก้ไขที่จุดยึดติด ก็คือ กิเลสประจำตน ที่มองว่า โลกต้องยุติธรรม ต้องช่วยคนอ่อนแอ ต้องปฏิวัติโลก แก้ไข .... อะไรสารพัดที่จะอ้างไป การรับรู้เรื่องเหตุผลก็ไม่นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขพัฒนาตนเอง เรื่องนี้สำคัญมาก ขอให้พวกเราพยายามศึกษาตนเอง โดยการพิจารณาเปรียบเทียบว่า “ทำไมเราจึงทำแบบเขาไม่ได้” “ทำไมเราจึงทำแบบนี้ ไม่ทำแบบนั้น” ต้องคิดให้ตก ให้เห็นสิ่งที่ “ขัดขวาง” กระบวนการเรียนรู้ในจิตใต้สำนึกของเราแต่ละลักษณ์ จึงจะก้าวไปสู่การเรียนรู้ศักยภาพของคนลักษณ์อื่นได้จริง ๆ เอาล่ะค่ะ มาลงรายละเอียดกัน
     
ความสนใจเริ่มขึ้น เมื่อหลายเดือนก่อน หลังจากได้ชมรายการ “นี่แหละชีวิต” ในคืนวันหนึ่ง ซึ่งท่านผู้นำเป็นแขกรับเชิญ และผู้ดำเนินรายการสัมภาษณ์เรื่องจิตวิญญาณ ว่าท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งท่านก็ได้เล่าประสบการณ์ชีวิตของท่านว่าได้พัฒนาขึ้นจนเป็นผู้นำแบบปัจจุบันได้อย่างไร ตอนหนึ่งซึ่งประทับใจดิฉันมากก็คือ คำพูดของพระที่ท่านนับถือรูปหนึ่งเมื่อท่านยังเล็ก ๆ แล้วท่านได้ยึดถือมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตก็คือ “เกิดมาแล้ว ทำไมปล่อยชีวิตให้ว่างเปล่า ต้องทำงาน ทำเท่านั้น จึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต” ซึ่งท่านย้ำว่า เป็นจุดที่ทำให้ท่านก้าวสู่การเป็นคน “ชอบทำ และช่างทำ

ความสนใจนี้ได้ทอดระยะไปนานพอควร จนในระยะใกล้ ๆ นี้ มีเหตุอันจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้านการงานอยู่บ้าง ก็เลยไปซื้อหนังสือที่ท่านเล่าชีวประวัติของท่านอย่างเปิดเผยมาอ่าน ซึ่งก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากหนังสือเล่มนี้ โดยนำมาประกอบกับปรากฏการณ์ที่พบลักษณะการนำในปัจจุบันของผู้นำลักษณ์ 3 ผิดถูกอย่างไรก็ขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว ถือว่าเป็นบทเรียนให้ผู้สนใจนพลักษณ์ได้ศึกษากันว่า ลักษณ์ต่าง ๆ จะเรียนรู้ศักยภาพจากคนลักษณ์อื่นได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้น่าจะ สำคัญมาก กว่าการจะรู้ว่า ท่านผู้นำเป็นคนลักษณ์ใด และแม้ท่านอาจเป็นคนลักษณ์อื่น แต่ก็น่าเรียนรู้ว่า ท่านได้ใช้ศักยภาพของคนลักษณ์ 3 กับชีวิตของท่านได้อย่างกลมกลืนได้อย่างไร ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลัง ก็คงต้องมีการศึกษาต่อเนื่องกันอีกยาว และน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีสำหรับการปรับใช้นพลักษณ์ในชีวิตประจำวัน

 

หลังจากอ่านประวัติของท่านอยู่ 2-3 ครั้ง และ เฝ้าติดตามรายการวิทยุซึ่งถือเป็นสื่อถ่ายทอดวิธีคิดได้ดี แต่ข้อมูลหลักจะเป็นช่วงเวลาในวัยเด็ก วัยเรียน จนมาถึงวัยทำงานล้มลุกคลุกคลานก่อนจะประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานที่รุ่งโรจน์ ก็พบว่า Keywords ในหนังสือประวัติของท่าน ค่อนข้างทำให้มั่นใจว่าท่านเป็นคนลักษณ์ 3 ผู้ใฝ่สำเร็จ (Achiever) โดยจะขอหยิบยกเรื่องที่ท่านให้ความสำคัญ ๆ มาตลอดตั้งแต่เด็ก ตามช่วงอายุดังนี้

 

 วัยเด็กในครอบครัว 
เติบโตจากแบบอย่าง ฮีโร่ “คุณพ่อ นักบุกเบิก นำสมัย นักปฏิวัติ” ฝึกการเป็นนักจัดการ สู้ชีวิต “ลงมือทำทุกอย่างกับฮีโร่” แม้จะพูดถึงเรื่องการทำงานด้วยจินตนาการมากมาย แต่ส่วนที่ต่างจากคนลักษณ์ 7 ก็คือ ทุกเรื่องที่ฝัน ต้องลงมือ จะสำเร็จหรือพลาดไปบ้าง ก็ถือเป็นบทเรียนที่นำมาใช้ในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไป และกล้าได้กล้าเสีย กล้าลงมือทำ และในเวลาต่อมา ก็ได้แบบอย่างจากฮีโร่ในการประกอบธุรกิจ ทั้งด้านที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว

 วัยนักเรียนที่คล่องแคล่ว ว่องไว รักการเรียนรู้ 
“ครู” ฮีโร่คนที่สอง เก่งคณิตศาสตร์ ตรงจุดนี้ ท่านผู้นำพูดถึงความไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำในสังคมอยู่มากทีเดียว ซึ่งอาจทำให้คิดถึงว่าเป็นลักษณ์ 8 หรือไม่ ก็มาวิเคราะห์ถึงปฏิกิริยาต่อความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาที่ได้พบเห็น ปรากฎออกมาในรูปที่ต้องแข่งขัน และการได้รับรางวัลจากครูเมื่อเรียนได้เกิน 70% แถมด้วยรางวัลจากญาติผู้ใหญ่เมื่อเรียนได้ดี และเมื่อถูกให้เรียนซ้ำชั้นทำให้อาย ตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะเมื่อท่านมองย้อนกลับไปในอดีต เห็นความไม่เท่าเทียมของเด็กชนบทว่าเป็นโอกาสให้ได้สัมผัสชีวิตคนชนบท และทำให้เป็นฐานของการทำงานการเมืองในเวลาต่อมา หากเป็นลักษณ์ 8 ปฏิกิริยาต่อความไม่เท่าเทียมจะต้องแสดงออกทางอารมณ์โกรธแค้นมากกว่านี้ แม้บางคนอาจใช้วิธีแข่งขันเพื่อให้ชนะหรือแก้แค้นกับคนที่ดูถูก แต่ก็จะไม่จริงจังและมีมุมมองเรื่องความไม่เท่าเทียมแตกต่างออกไป จนอาจกลายเป็นคนต่อต้านสังคม และรังเกียจที่จะเข้าไปสัมผัสกับการเมือง

 

 

 เสาะหาอาชีพ


ตามรอยคุณอา อยากเป็นวิศวกรโยธา แต่เมื่อเข้าไปสัมผัสก็พบกับอุปสรรคบางประการทำให้หันเหมาสมัครเข้าเตรียมทหาร แต่พลาดสอบไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ ท่านพูดไว้ชัดเจนมากว่า การพลาดเตรียมทหารตามหลอกหลอนตลอดทั้งปี ปรัชญาที่ถูกใจจากเตรียมทหาร ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ตายเสียดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้ ท่านปรับตัวเก่งมากและพอใจในชีวิตโรงเรียนเตรียมทหาร ในขณะที่หลายคนปรับไม่ได้ เผ่นหนีไป เรียนเก่งจนได้โล่เกียรติยศด้านคณิตศาสตร์ ปีแรกเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล ปีสองได้เป็นหัวหน้าตอนและประธานฝ่ายปฏิคม ทำหน้าที่ประสานงานให้เพื่อน ๆ กับครู หน้าที่วิ่งชวยเพื่อน ประนีประนอม (และได้ย้ำว่า ท่านไม่ใช่หัวหน้าช่างฟ้อง หรือ เอาใจเพื่อนไปเสียหมด) ต่อมาเมื่อต้องเลือก ก็มีหลักในการเลือกเหล่าคือ ยึด “ความไม่เหมือนใคร” เป็นที่ตั้ง จะเห็นว่า เอกลักษณ์ที่ชัดเจนมากที่ค่อยปรากฏมากขึ้น ๆ คือ ศักยภาพในการประสานงานกับคนต่างกลุ่ม ผู้ใหญ่กับเด็ก ผู้น้อยกับนาย ซึ่งคนลักษณ์อื่นจะทำได้ยาก เป็นนักกลยุทธ์ โดยยึดหลักการทำตัวให้เป็นตัวอย่าง และ “ซื้อใจเพื่อน” ไม่ใช้อำนาจ วิ่งหาหนังดี ๆ มาฉาย ช่วยจัดแจงเสื้อผ้า อุปกรณ์ จิปาถะมาขาย เพื่อช่วยชั้นเรียน เหล่า เพื่อน จนคนอื่นออกปากว่า คล่องเหมือนอาแป๊ะ

 

 พบรัก 
ในสายตาของญาติผู้ใหญ่ของคนรัก ก็คือ บุคลิกเป็นผู้ใหญ่ไม่เหลาะแหละ เรียนไว มีเป้าหมาย มีแรงจูงใจชัดเจน จบเร็วเท่าไรก็ได้แต่งงานเร็ว

 

 เข้าสู่อาชีพ 
หลังจบ ทำงานราชการ ก็พบว่า ธรรมชาติของตนไม่เหมาะกับระบบที่แข็งทื่อ สนใจความเคลื่อนไหวแปลกใหม่ และเห็นการเมืองเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ น่าลองน่ารู้มากกว่า ทำงานสไตล์แม็คโคร หรือเน้นภาพรวมกว้าง ต้องมีคนตามเก็บไมโครหรือส่วนย่อย   ผ่านชีวิตทำงานหลายอย่างค้นพบตนเองว่า อนาคตต้องเป็นนักการเมือง พยายามดุลสองบทบาท คือ คุมเข้ม กับ รับใช้สังคม ประสาน ตัวเชื่อมนักการเมืองรุ่นเก่าและใหม่

 

ด้านธุรกิจ เริ่มต้นเปิดร้านขายผ้าไหม 1 เดือน รู้ว่าไปไม่รอด ก็เลิก (ญาติว่าทำไมไม่สู้ .... ท่านตอบว่า ไม่ทนต่อสู้ในสงครามที่รู้ว่าจะมีจุดจบที่ความพ่ายแพ้ .... กล้าได้กล้าเสีย ดับเครื่องชน มีสิทธิโกรธแต่อย่าแค้น มุมมองต่อการแก้แค้น (ต่างจากลักษณ์ 8 ชัดเจน) ก็คือ ความแค้นทำให้เราไขว้เขว มัวแต่ปรับกระบวนยุทธ์เพื่อการล้างแค้น ซึ่งจะนำไปสู่ความล่มจม

 

ด้านภาพลักษณ์ แสดงออกไม่ค่อยชัดเจนนัก มีอยู่บางตอนที่กล่าวถึง “...กลัวเขาเห็นบ้านซอมซ่อแล้วจะไม่ทำธุรกิจด้วย ไม่ยอมให้ใครมาบ้าน (สมัยยังอยู่บ้านไม้ 2 ชั้น)” เมื่อต้องผจญแรงเสียดทานมาก จึงต้องก้าวลงจากธุรกิจก่อนจึงเข้าการเมือง แม้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ไม่กระทบมาก เพราะวัฒนธรรมการบริหารแบบไม่เหมือนใคร นั่นคือ ยึด ความสามารถของบุคลากร ประสิทธิภาพของระบบ ความโปร่งใสทางการเงิน ปรับจากการบริหารแบบครอบครัว มาเป็นระบบมืออาชีพเต็มตัว  ชื่นชอบผู้บริหารที่กล้าตัดสินใจ แม้ผิดพลาดก็ให้อภัย กะทัดรัด มีประสิทธิภาพ วางตำแหน่งยืดหยุ่นสูง ปรับได้ตลอด กระตุ้นให้คนคิดใหม่เสมอ

 

 

 เข้าสู่ถนนการเมือง 
เป้าหมายชัดเจน การทำงานให้บ้านเมือง อดีตนายกฯท่านหนึ่งเป็น role model ด้านความเรียบง่าย ซื่อสัตย์ สมถะ ชื่มชมอีกท่านหนึ่งด้านความสมัยใหม่ มีวิสัยทัศน์ ฉับไว กล้าตัดสินใจ ตำแหน่งผู้กำหนดนโยบายระดับสูงเป็นแค่ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบให้ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจให้สำเร็จเท่านั้น บริหารแบบเศรษฐกิจนำการเมือง  เน้นสาระมากกว่ารูปแบบ และเน้นการใช้ความสัมพันธ์ช่วยให้เจรจาราบรื่น เดินทางด้วยเครื่องบินทหารเพื่อให้เห็นว่าใกล้ชิดกัน การทูตเชิงรุก  เจรจาการเมืองไปกับการเล่นกอล์ฟ ใช้ให้ถูกจังหวะ แม้จะก้าวร้าวบ้าง -  ต้องมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ – ยิ่งกดดันมาก ก็ยิ่งสู้มากขึ้น      ยึดถือ “ประชารัฐ” เป็นทิศทาง พรรคการเมืองแม้จะรักษาคุณธรรม ก็ต้องปรับตัวให้ “ทันสมัย” เมื่อแก้ไขไม่ได้ ก็ไม่ทนสู้ในสงครามที่รู้ว่าจุดจบคือความพ่ายแพ้ และไม่เสียเวลากับการแก้ปัญหาที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางสำเร็จ จึง “พักยก” ทางการเมือง ตั้งเป้าหมายต่อไปคือ “ปฏิรูปการเมือง” หวังเข้าร่วมแต่พลาด เสียโอกาสแต่เป็นการสร้างโอกาสให้ ตรึกตรอง และ “คิดใหม่” ยามท้อแท้ได้กำลังใจจากครอบครัว

 

มุมมองที่คิดว่าเป็น keyword อีกอย่างคือ “พระเจ้ายุติธรรมกับมนุษย์อย่างหนึ่ง คือ ท่านให้ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันหมด ทีนี้ใครจะเก่งกว่าใครก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการใช้ 24 ชั่วโมงนี้...”  ภายหลังวิเคราะห์พบว่า ต้นตอแห่งความผิดพลาดทางการเมืองที่ผ่านมาคือ ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง จึงยอมรับและปรับตัว มิฉะนั้นจะทำงานการเมืองไม่สำเร็จ จึงเริ่มสร้าง “พรรคการเมืองในความใฝ่ฝัน” ของท่าน ยึดหลักการบริหารนำการเมือง นำกฎหมาย คิดนอกกรอบระบบราชการ ลัดขั้นตอนเพื่อประสิทธิภาพและความฉับไว และนั่นคือบทจบของหนังสือที่จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2542 นับจนถึงวันนี้ พวกเราคงได้มองเห็นการนำของท่านค่อนข้างชัดเจน

 

ต่อไปนี้คงจะเป็นบทเสนอว่า พวกเราจะเรียนรู้ศักยภาพของคนลักษณ์ 3 อะไรได้บ้าง วิธีการที่ใช้วิเคราะห์กับตนเองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็คือ เมื่อได้สังเกตวิธีคิด (ที่สื่อออกมา) รวมทั้งปฏิกิริยาต่าง ๆ ทั้งด้านบวกและลบ) นำมาทบทวนกับตนเองว่า ถ้าเป็นเรา(ลักษณ์ 8) เราจะคิดอย่างไร จะทำอย่างไร และทำไมเราจึงไม่คิดแบบท่าน และทำอย่างท่านไม่ได้ ซึ่งก็พบว่า ได้เรียนรู้อะไรมากมายทีเดียว

 เป้าหมายกับความสำเร็จ 
Keyword (ต้องขอโทษที่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะมันสื่อความหมายได้ดีกว่า และสั้นกว่าอธิบายด้วยภาษาไทย) ที่สำคัญมากซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือเกือบทั้งเล่มก็คือ “เป้าหมาย กับ ความสำเร็จ” สำหรับผู้ศึกษานพลักษณ์ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า เป็นหลักชัยสำคัญของคนลักษณ์ 3 จุดเด่นที่เห็นชัดเจนก็คือ การพุ่งไปสู่เป้าหมาย สามารถใช้กลยุทธ์พลิกแพลงได้ทุกรูปแบบ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่จะนำพาไปสู่ธงชัย แม้จะมีหลักการอยู่ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักกับความสำเร็จแล้ว ก็สามารถผ่อนปรนหลักการบางอย่างลงได้บ้าง ไม่ตายตัวเหมือนลักษณ์ 1 หรือ 8 ซึ่งอาจจะต้องกล่าวว่า เหมาะกับสังคมทุนนิยมจริง ๆ ในความเจ็บปวดของคนลักษณ์อื่น ลักษณ์ 3 เกิดมากับการพุ่งเป้าและการแข่งขัน (ไม่รู้ว่าไข่เกิดก่อนไก่หรือไก่เกิดก่อนไข่ คนที่สถาปนาทุนนิยมอาจเป็นคนลักษณ์ 3 ซึ่งคุ้นเคยและสนุกท้าทายกับการแข่งขัน และทำมาหากินกับการกระตุ้นกิเลสของคน)

 การเน้นประสิทธิภาพ และผลลัพท์ 
ซึ่งปรับเปลี่ยนไปได้ตามการประเมินสถานการณ์ ก็คือ การที่ไม่ “ดันทุรัง” เมื่อประเมินว่าสงครามนี้ไม่ชนะในเร็ววัน อาจชนะในระยะยาวซึ่งจะต้องเจ็บปวดและอาจบาดเจ็บสาหัส (หรือไม่ก็ได้) แต่ลักษณ์ 3 ยอมเปลี่ยนธงได้ตลอด ตรงนี้สำหรับตนเองถือว่า ต้องเรียนรู้จากลักษณ์ 3 ให้มาก เพื่อแก้ไข “ภาวะดันทุรัง” ทั้งที่รู้ว่าอาจจะแพ้ แต่ด้วยความยึดติดกับโลกทัศน์ที่ไม่ยอมก้มหัวกับความไม่เป็นธรรม (อย่าลืมว่า เป็นกิเลสของลักษณ์) โดยอาจลืมเรื่อง “เหตุปัจจัย” แวดล้อมที่จะเอื้อหรือไม่เอื้อกับการต่อสู้

 

 การแสดงตน 
กล้าทำกล้าเสี่ยง ดูแล้วอาจคล้ายลักษณ์ 8 แต่เป็นความกล้าที่มีเทคนิคมากกว่า (ตรงนี้อาจขึ้นกับประสบการณ์ในชีวิตของแต่ละคนด้วย) ชอบเรื่องท้าทาย แปลกใหม่ จินตนาการ ใฝ่ฝัน ก็ดูคล้ายลักษณ์ 7 แต่แตกต่างกันที่เมื่อฝันแล้ว ต้องลงมือทำไปให้ถึงฝัน จึงไม่ฝันมาก หรือหลายเรื่องแบบลักษณ์ 7 แต่จะฝันเป็นระบบอยู่ในบริบทของเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งลักษณ์ 7 ควรศึกษาจากลักษณ์ 3 ในเรื่องนี้ แม้ดูเหมือนลักษณ์ 7 จะมีทางเลือกมากมาย เพราะจินตนาการเก่ง แต่เนื่องจากความสุขมักอยู่ที่การได้ฝัน หรือ ได้ลองทำสิ่งแปลก ๆ สนุกๆ จึงจะไปถึงปลายทางฝันได้ยาก เพราะทำไปนาน ๆ หมดสนุก มันเบื่อเสียก่อน

 

 ทำงานหนัก


คนหลายลักษณ์ก็ทำงานหนัก แต่จะเห็นว่า การทำงานหนักของแต่ละลักษณ์มีจุดเน้นแตกต่างกัน เบอร์ 1 ทำงานหนักเพราะรู้สึกเป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบและทำให้สมบูรณ์ จึงลงรายละเอียดมากในทุกเรื่อง และเอาเรื่องต้องให้ถูกต้องไปหมด เครียดแต่สุดท้ายก็พบว่าหาความสมบูรณ์ไม่พบ คนเบอร์ 2 ทำงานหนักเพราะคอยช่วยเหลือเอาใจคนอื่นทั้งที่ใจก็อยากได้อยากให้คนอื่นเอาใจ จึงเป็นทุกข์เพราะทำเท่าไรคนอื่นก็เดาใจเราไม่ออกเสียที เบอร์ 4 ก็ทำงานหนักเพื่อตามหาอุดมคติในชีวิตหรือทำให้ตัวเองแตกต่างพิเศษกว่าใคร จึงทำงานหนักท่ามกลางความเศร้าเพราะนึกว่าพบแล้ว แต่ก็กลับไม่ใช่อีก ส่วนคน 5 ทำงานหนักทางความคิดเพื่อให้รู้ลึกซึ้งในเรื่องที่สนใจ แต่ไม่ยอมลงมือทำ เอาแต่คิดและเสนอหลักการ มัวแต่จัดระบบความคิดจึงไปไม่ถึงการปฏิบัติ ลักษณ์ 6 ทำงานหนักเพราะคาดการณ์เรื่องร้าย ๆ และต้องทำอะไร ๆ ให้มากเข้าไว้ให้แน่ใจว่ามั่นคงปลอดภัยในชีวิต และได้ป้องกันทุกปัญหาไว้แล้ว และก็พบว่าใช้พลังงานไปมากกับการป้องกันที่มากเกินความจำเป็น (แต่ก็ต้องทำทุกทีเพราะใจมันคอยระแวงอยู่เรื่อย ๆ) ส่วนเบอร์ 7 ทำงานหนักเพราะสนุกกับเรื่องแปลกใหม่ แต่ก็จะไปไม่ค่อยตลอด มันจะหาของสนุกอยู่เรื่อย จึงทำงานหนักแบบคนจับจด ทิ้งไว้ให้คนอื่นสานต่ออยู่เรื่อย ๆ มาถึงลักษณ์ 8 ทำงานหนัก ลุยแหลกเพราะต้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม อยากแก้ไขสังคมให้มันยุติธรรม ช่วยคนอ่อนแอ หรือไม่ก็แก้แค้น ใช้พลังเกินความจำเป็นไปกับเรื่องต้องต่อสู้เกินความจำเป็น คน 9 ทำงานหนักเพราะปฏิเสธคนอื่นได้ยาก รับงานไปเรื่อย ใครมาขอก็ช่วยเขาไปหมด จนไม่รู้ว่าตัวเองมีเป้าหมายอะไร อะไรคืองานเพื่อตัวเอง เพราะสุดท้ายไปช่วยคนอื่นก่อนทุกที แล้วก็มานั่งทุกข์ว่าทำงานหนักแต่งานเราทำไม่ดีสักที

 

ถ้าเทียบกับลักษณ์ 3 ซึ่งก็ทำงานหนักไม่มีเวลาพักผ่อนก็เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้นั่นเอง และโดยมากก็ทำงานหนักมากเกินไป เพราะเป้าหมายเปลี่ยนไป สูงขึ้นเรื่อย ๆ แรก ๆ ก็ตั้งเป้าของตัวเอง ต่อมาก็เป้าของกลุ่ม และเมื่อมีครอบครัว ก็เป้าหมายของครอบครัวและคนที่รับทุกข์หนักก็มักจะเป็นลูก ๆ เพราะพ่อแม่ลักษณ์ 3 คาดหวังความสำเร็จของลูกเช่นเดียวกับที่ตัวเองเป็น...... ก็คงไม่มีใครทำงานหนักกว่าใคร หรือ ทำได้ดีกว่าใคร เพราะล้วนต่างก็ทำไปตามแรงจูงใจและผลักดันของกิเลสประจำลักษณ์ทั้งนั้น เราจึงมักพบว่าตัวเองทำมากไปหรือน้อยไปในบางเรื่องบางราว ถ้าถึงจุดที่เราทำงานโดยไม่อยู่ภายใต้บงการของ “กิเลสประจำลักษณ์” การทำงานตามหน้าที่และเหตุปัจจัยก็จะแตกต่างไปจากวิธีทำงานแบบเดิม ๆ ของตัวเอง

 

ภาพลักษณ์ 
แม้จะเป็นเรื่องสำคัญของลักษณ์ 3 แต่ท่านผู้นำไม่ค่อยได้เขียนไว้มากเท่าไร มีเขียนอยู่บ้าง ในเรื่องอายเมื่อผิดพลาดหรือล้มเหลว อายที่จะให้คนอื่นเห็นฐานะ (ในบางช่วงเวลา เพราะจะกระทบกับการพุ่งไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะในโลกธุรกิจที่คนเชื่อถือกันด้วยหน้าตาและฐานะ) นี่อาจเป็นจุดอ่อนที่สุดของคนลักษณ์ 3 ก็คือ เมื่อมีผู้วิจารณ์หรือโจมตีภาพลักษณ์ หรือ เมื่อลักษณ์ 3 รู้สึกว่า ภาพลักษณ์เสียไปในสายตาของสาธารณะชน จะแสดงปฏิกิริยาที่รุนแรง จนบางทีก็เสียศูนย์ไป ถ้าเงียบ ๆ เฉย ๆ ไว้ไม่ต้องตอบโต้ จะดีเสียกว่า (เห็นได้จากข่าวที่ออกมาเนือง ๆ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์)

อย่างไรก็ตาม ลักษณ์อื่นก็คำนึงถึงภาพลักษณ์เหมือนกันโดยเฉพาะเมื่อถูกตีจุดเจ็บ หรือ จุดอ่อนของตัวเอง เช่น เรื่องทำไม่ถูก/ไม่สมบูรณ์ ความถือตัว ความล้มเหลว ธรรมดาๆไม่พิเศษ ความตระหนี่ ความกลัว/หวาดระแวง จับจด/ทำอะไรไม่ได้นาน ความอ่อนแอ ความขัดแย้ง ดังนั้น การฝึกสติกับลมหายใจจะเป็นหนทางให้เราลดละการรักษาภาพลักษณ์ และทำให้มีสติที่จะมีพฤติกรรมเมื่อถูกกระทบภาพลักษณ์

 

 การแสดงบทบาท 
ตรงนี้คงเป็นเรื่องถนัดของผู้นำลักษณ์ 3 จะเห็นว่า ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์อะไร ไปอยู่ในตำแหน่งอะไร ก็สามารถแสดงบทบาทได้อย่างค่อนข้างกลมกลืน บางครั้งดีกว่าเจ้าของบทบาทเดิมเสียด้วย เช่น ต้องลุกขึ้นมาเป็นมือปราบแบบตำรวจ/ทหาร เป็นนักลอบบี้เมื่อต้องเข้าสู่ถนนการเมืองที่มีแต่ผลประโยชน์ เป็นครูเพื่อสอนครูให้รู้จักหน้าที่และวิธีคิดแบบครูสมัยใหม่ เป็นหมอ/นักการสาธารณสุขเพราะคิดและผลักดันให้เกิดนโยบายรักษาทุกโรค ฯ และสารพัด

 

และการแสดงบทบาทมากนี่เอง ก็คือ จุดสำคัญสำหรับการพัฒนาจิตวิญญาณที่ต้องหันมาถามตัวเองอยู่เสมอว่า “เราเป็นใคร” แท้จริงเราเป็นใคร บุคลิกภาพที่เป็นตัวของเราเองจริง ๆ อยู่ตรงไหน ตรงนี้ยากมากสำหรับลักษณ์ 3 เพราะคุ้นชินกับการแสดงบทบาทอยู่ตลอดเวลา เรียนรู้และเลียนแบบสิ่งดี ๆ ของคนที่อยู่ในดวงใจมาเป็นบุคลิกของตนเอง จึงสามารถพูดและแสดงได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าสังเกตดี ๆ ก็จะเห็นความไม่กลมกลืนเล็ก ๆ น้อย ๆ ตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนเมื่อพูดถึงเรื่องจิตวิญญาณ .... ใครอยากรู้กลับไปซื้อเทปมาดูใหม่ได้

 

จุดอ่อน
สิ่งที่น่าจะเป็นจุดอ่อนที่สุดสำหรับลักษณ์ 3 ก็คือ “แยกไม่ออกระหว่างเป้าหมายของตัวเอง กับเป้าหมายขององค์กร”เพราะเมื่ออยู่ในฐานะผู้นำ ลักษณ์ 3 จะผลักดันเป้าหมายของตนเองให้ไปเป็นเป้าหมายขององค์กร และโน้มน้าวให้คนในองค์กรคล้อยตามและปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตนวางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่มีสติเหนี่ยวรั้งและทำความเข้าใจกิเลสพื้นฐานก็จะตกหล่มของศักยภาพตนเองได้ง่าย จนกระทั่งศักยภาพ “การมีเป้าหมาย” นี้กลายเป็นข้อจำกัดขององค์กร (ซึ่งลักษณ์ 3 จะถือว่า ข้อจำกัดก็คือโอกาสการบรรลุความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งด้วย)ประเด็นนี้ เราได้ทำความเข้าใจไปอีกระดับหนึ่งหลังจากศึกษาและเปรียบเทียบกับศักยภาพของลักษณ์ 8 ที่กลายเป็นข้อจำกัดของตนเองไปด้วย

 

 ความหลอกลวง (ตัวเอง)
และที่ต้องไม่ลืมก็คือ กิเลสตัวสำคัญของคนลักษณ์ 3 ก็คือ “ความหลอกลวง (ตัวเอง)” ซึ่งเป็นกับดักอันใหญ่ที่ทำให้คนลักษณ์ 3 ไม่มีความสุขในชีวิตเท่าที่ควร เพราะชีวิตมีเป้าหมาย และภาพลักษณ์ของตนก็ผูกอยู่กับเป้าหมายตรงนั้น มันหยุดไม่ได้ วางไม่ได้ พักไม่ได้ เพื่อน ๆ ลักษณ์ 3 ก็คงเข้าใจเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว จึงจะไม่กล่าวมากนัก นอกจากก่อความทุกข์ให้ตนเองแล้ว ประสบการณ์ที่ได้รับฟังจากคนลักษณ์ 3 ที่มาเข้าอบรม ก็คือ มันก่อความทุกข์ให้คนรอบข้าง เพราะแรงผลักที่ต้องไปถึงเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา จนลืมนึกถึง “น้ำใจ ความรู้สึก” และ ปฏิสัมพันธ์ของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้วางอยู่บนเป้าหมาย หรือ ประโยชน์ หรือ ประสิทธิภาพ คนลักษณ์ 3 จำนวนมาก มักพบว่า ตัวเองไม่ค่อยมี “เพื่อนแท้” เพราะคนรอบข้างนั้นล้วนพึ่งพาและหวังประโยชน์ที่จะได้จากเป้าหมายกันทั้งนั้น (อันนี้ก็โทษใครไม่ได้ เพราะคนลักษณ์ 3 ก็ดึงดูดคนอื่นด้วยเป้าหมายเหมือนกัน ความเป็น “มิตรแท้” ที่ไม่มีเป้าหมายจึงเกิดได้ยาก) ดังนั้น หากเขาพบมิตรแท้สักคนที่ช่วยเหลือเขาโดยไม่หวังเป้าหมายจริง ๆ ก็จะจดจำกันไปนาน และต้องตอบแทนบุญคุณกันยาวทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม วิธีคิดและพฤติกรรมที่ถูกกำหนดโดย “กิเลสพื้นฐาน” ประจำลักษณ์ ก็ยังแตกต่างกันไปตามความ ฉลาด และ ประสบการณ์ พื้นฐานชีวิต ดังนั้น ข้อสังเกตและเรียนรู้ที่ได้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนก็ถือเป็นเพียงตัวอย่าง ที่จะสะท้อนให้เห็นว่า คนแต่ละลักษณ์สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาจากคนลักษณ์อื่น แต่อย่างที่ได้กล่าวในตอนต้นก็คือ จุดขัดขวางการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับทุกลักษณ์ก็คือ “กิเลสและความคิดยึดติด การมองโลก การใส่ใจจดจ่อ” ที่มันคอยผลักดันเราแต่ละคนให้เดินไปตามทางที่คุ้นเคยต้อย ๆ โดยจะคิดหรือพยายามเรียนรู้จากคนอื่นก็ยังยาก แต่หากเราแต่ละคนเข้าใจกระบวนทางจิตของเราเองได้ชัดเจนทีละเล็กละน้อย ฝึกฝนปฏิบัติ มีสติสมาธิอยู่กับการกระทำ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และปฏิกิริยาต่าง ๆ ของเราอยู่สม่ำเสมอ ก็จะค่อย ๆ มองเห็นกับดักหรือบ่วงแห่งกรรมที่เรากำลังเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ได้ไม่ยากเย็นนัก โดยมุ่งหวังว่าจุดสุดท้ายที่สำคัญก็คือ “การปลดตนเองจากพันธนาการหรือกับดักของบุคลิกภาพ” ที่ครอบงำความคิด อารมณ์ และ จูงจมูกให้เราทำโน่นทำนี่ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารแห่งบ่วงกรรมที่เราสร้างขึ้นมาเอง 

พวกเราทุกคนพ้นทุกข์ร่วมกันได้ด้วยความเพียร

 

3. การพัฒนาของเด็กกับนพลักษณ์

จากสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนสิงหาคม(2548) ที่ผ่านมานี้ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมนานาชาติของสมาคม “นพลักษณ์” นานาชาติ ที่เมืองซานตาโมนิคา รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วนที่น่าสนใจมากในการประชุมนี้มีหลายประเด็น จะค่อย ๆ เล่าไปแต่ละเรื่อง คิดว่าจุดสนใจหลัก ๆ (สำหรับตนเอง) มี 2-3 เรื่องคือ ปาฐกถาพิเศษของ Dr.Claudio Naranjo ซึ่งเป็นครูนพลักษณ์รุ่นแรก ๆ ที่ได้ร่ำเรียนจาก Ichaso แล้วนำมาเผยแพร่ในโลกตะวันตก เอาไว้ค่อยถอดความมาให้อ่านในคราวหลัง อีกประเด็นคือ เรื่องการประยุกต์ใช้นพลักษณ์ในแวดวงต่าง ๆ เช่น ด้านธุรกิจ การศึกษา จิตวิทยา จิตวิญญาณ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างกว้างขวางมาก ก็ค่อย ๆ เล่ากันต่อไปอีกที สำหรับฉบับนี้ ขอเล่าเรื่องที่ตนเองสนใจมากเป็นพิเศษ 
คือ เด็ก ๆ กับนพลักษณ์

เป็นเรื่องที่ถกเถียงและสนใจกันมากทีเดียวว่า เด็กจะสามารถค้นพบลักษณ์ของตนเองได้ไหม พ่อแม่หรือครูจะทำอย่างไร และการที่เด็กได้รู้จักลักษณะของตนจะช่วยให้เด็กค้นพบตนเองและก้าวไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณเพื่อความรู้ตื่นและเบิกบานได้หรือไม่อย่างไร เป็นคำตอบที่อาจจะยังต้องการการค้นคว้า และ ปฏิบัติกันอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ มีพ่อแม่ และครูจำนวนหนึ่งซึ่งได้ใช้นพลักษณ์กับลูก ๆ และนักเรียนในชั้นของตน นำประสบการณ์มาถ่ายทอดและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้นำเด็กจำนวนหนึ่งซึ่งรู้จักนพลักษณ์ขึ้นเวทีอภิปรายกันอย่างสนุกสนานด้วยจึงจะถ่ายทอดให้ผู้สนใจเป็นประเด็นสำคัญ ๆ คือ

1. หลักการที่สำคัญก่อนอื่น ก็เหมือนที่พวกเราศึกษานพลักษณ์กันมา เด็กพัฒนาลักษณ์จากทั้ง แก่นแท้ ปัจจัยการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม สำหรับเด็ก ๆ การส่งเสริมพัฒนาการตามวัยและลักษณะเฉพาะของเด็กถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่สำคัญคือต้องเน้นที่การมีสติรู้ระลึกตนเอง เป็นหลักการที่ต้องพัฒนาให้เด็ก เพื่อมิให้เกิดปัญหาการเลียนแบบ หรือ เป็นข้ออ้างให้เด็กแสดงความเป็นลักษณ์ของตนมากเกินธรรมชาติ

2. จะเริ่มสังเกตเห็นลักษณ์ของเด็กเมื่ออายุเท่าไร หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พ่อแม่จะสามารถสังเกตเห็นลักษณ์ของเด็กจำนวนหนึ่งได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ตัวอย่าง แม่คนหนึ่งเล่าว่า ลูกชายอายุ 4 ขวบเป็นเด็กโกรธแรง เล่นแรง active มาก ไม่กลัวอะไร แม่ห้ามก็จะทำทุกอย่าง อยากลองอยากรู้ไปหมด (แม่ก็สงสัยว่าน่าจะเป็นลักษณ์ 8) วันหนึ่งลูกพูดกับแม่ว่า “แม่จ๋า สมองหนูมันมี 2 ข้าง ข้างหนึ่งบอกให้หนูอ่อนโยน ทำดีกับคนอื่น แต่อีกข้างหนึ่งมันคอยแต่จะโกรธและแสดงความโกรธรุนแรงอยู่เรื่อย” เห็นไหมคะ แม้แต่เด็กเล็ก ๆ เขาก็สามารถจะสังเกตความเป็นไปภายในตัวเขาเองได้ ถ้าเพียงแต่พ่อแม่เปิดโอกาส และ กระตุ้นฝึกสอนให้ลูกรู้จักสังเกตความโกรธ ความกลัว ความกังวลของตัวเอง ในที่ประชุมพ่อแม่และครูก็แลกเปลี่ยนรูปธรรมกันว่า เขาสังเกตเห็นอะไรในตัวเด็กที่จะบอกว่าเป็นลักษณ์อะไร อันที่จริงในทฤษฎีพัฒนาการเด็ก มีการพูดถึงเรื่อง “พื้นอารมณ์ (temperament) ของเด็กมานานพอสมควร โดยเขาแบ่งประเภทพื้นอารมณ์ของเด็กเป็น 9 ด้านตามลักษณะการแสดงออกต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ ในโครงการวิจัยระยะยาวกำลังพยายามโยงเรื่องพื้นอารมณ์เข้ากับลักษณ์ของเด็ก (ขอให้ติดตามต่อไป) ใครสนใจจะเข้ามาช่วยก็เข้าร่วมเสวนาในการประชุมวิชาการได้ (ดูรายละเอียดจาก website นพลักษณ์ไทยก็ได้ค่ะ) ครูที่ใช้นพลักษณ์มาเป็นสิบปี ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า ช่วงระดับประถมศึกษาปีที่ 4-5 เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการเริ่มให้เด็กรู้จักนพลักษณ์

3. มีวิธีการใดบ้างที่จะช่วยให้เด็กค้นพบลักษณ์ของตนเอง ทุกคนเห็นตรงกันว่า จุดสำคัญที่สุดคือ เรื่องการสังเกต ทั้งนี้ทุกคนเน้นตรงกันว่า พ่อแม่และครูที่จะใช้นพลักษณ์ต้องเข้าใจลักษณ์ของตนเองพอสมควร เพื่อเข้าใจอคติในการมองโลกที่จะมีผลไปถึงการคาดเดาเด็ก ต้องไม่เอากรอบของเบอร์ไปครอบเด็ก และ ไม่ทำให้เด็กเลียนแบบหรือแสดงความเป็นตัวตนหรือลักษณ์ของตนอย่างไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้น “สติ” และการรู้จักตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องการใช้นพลักษณ์เพื่อการพัฒนาเด็ก ครูระดับประถมศึกษาคนหนึ่งได้ใช้กระบวนการหลายอย่างในการช่วยให้เด็กเข้าใจตนเอง โดยไม่ต้องพูดถึงนพลักษณ์ก็ได้ เพียงแต่อธิบายว่า คนเราแตกต่างกัน แต่ละคนมีลักษณะเฉพาะของตนเอง แล้วเริ่มด้วยการให้เด็กหัดสังเกตตนเองว่า มีอารมณ์อย่างไร ชอบคิดอะไร ทำอะไร โตขึ้นอยากเป็นอะไร ให้เด็กเล่นเกมที่ดีหลายอันที่จะทำให้เห็นโลกทัศน์ของเด็ก ให้เพื่อน ๆ ช่วยเขียนลักษณะที่เขามองเห็น ครู พ่อแม่ช่วยเขียน ทุกกระบวนการทำอย่างโปร่งใส เปิดเผย คือเด็กต้องรู้ด้วย เพื่อมิให้เกิดความอคติว่าถูกมอง เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์โดยแท้ มิใช่การวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่หมอทำกับคนไข้ แต่เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้จุดเด่น จุดอ่อน ลักษณะเฉพาะ และที่มาแห่งพฤติกรรมของตนได้อย่างเปิดเผย และพ่อแม่กับครูจะต้องให้ความเคารพในฐานะของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช้การครอบงำหรืออิทธิพลอำนาจกับเด็ก

4. นำเด็กขึ้น panel ได้หรือไม่ ในที่ประชุมได้มีการจัดให้เด็ก (มาพร้อมพ่อแม่) 9 คนขึ้นเล่าเรื่องของตนเองใน panel (ผู้ที่เคยผ่านการอบรมแล้ว คงจะรู้จักการทำ panel ว่าเป็นอย่างไร) เด็กเหล่านี้อยู่ในวัยตั้งแต่ 9-14 ปี โดยผู้สัมภาษณ์คือ Dr.David Daniel (ลักษณ์ 6) อาจารย์นพลักษณ์ที่มีชื่อเสียง การนำเด็กขึ้นอภิปรายก็เหมือนกับผู้ใหญ่ ผู้นำอภิปรายจะต้องพูดถึง อคติจากลักษณ์ของตนเอง เพื่อเป็นการเปิดเผยให้เด็ก ๆ รู้และมีความไว้วางใจที่จะตอบคำถาม เนื่องจากไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ว่ากันสด ๆ เป็น panel ที่ดีมาก เด็กทุกคนตอบได้อย่างฉาดฉานและตรงไปตรงมา (ดีกว่าผู้ใหญ่เสียอีก) มีการพาดพิงถึงพ่อแม่บ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ารัก และ บางครั้งก็ตลกขบขัน เนื่องจากพ่อแม่เข้าใจนพลักษณ์ดีแล้ว จึงไม่มีปัญหาที่พ่อแม่ลำบากใจที่ถูกพาดพิงถึง

5. เด็กแต่ละลักษณ์พูดถึงตนเองอย่างไรบ้าง คงไม่แปลกใจที่เด็กเหล่านี้พูดถึงตนเองเหมือนที่พวกเราพูด ๆ กันทุกอย่าง จะยกตัวอย่างให้เห็นแต่ละลักษณ์ จะขอเล่าเป็นภาษาอังกฤษเท่าที่จดมาได้จะดีกว่า เพื่อมิให้มีอคติจากการแปล (ใครไม่เข้าใจเปิดพจนานุกรม หรือ ถามเพื่อน ๆ ก็ได้ค่ะ)

6. ควรสนับสนุนเด็กอย่างไร ในการช่วยเหลือเด็กให้รู้จักตนเอง พ่อแม่ครูควรสร้างบรรยากาศที่รัก สนับสนุน อบอุ่น เป็นมิตร (มิใช่จับผิดหรือคาดคั้น) ช่วยเด็กในการฝึกสังเกตตนเองเป็นหลัก ช่วยเหลือในการคลายเครียดหรือความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน สนับสนุนให้เห็นจุดเด่นของเด็ก และให้เหมาะสมกับอายุด้วย ให้เด็ก feedback เสมอ พ่อแม่ต้องพูดถึงอคติของตนเสมอ เพื่อให้เด็กเข้าใจและกล้าที่จะแสดงความเห็น

เอาล่ะค่ะ ฉบับนี้ไว้แค่นี้ก่อน คราวหน้าไปดูเรื่องน่าสนใจอื่น ๆ กัน

 

4. เด็ก ๆ กับนพลักษณ์

คุณตามใจหรือลงโทษลูกหรือเปล่า หรือเลี้ยงลูกไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรที่จะเป็นพ่อแม่ ถ้าอยากเป็นพ่อแม่ที่ดีตั้งแต่ต้น หรืออยากเปลี่ยนแปลงตัวเองแต่ไม่รู้วิธี ภูมิปัญญาของนพลักษณ์ช่วยคุณได้ คนทั่วไปมีความกังวลบ่อย ๆ ว่าจะเลี้ยงลูกให้โตในแบบที่ต้องการไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถเลือกลูกที่มีบุคลิกภาพอย่างที่ต้องการได้ ดังนั้นเราจึงพยายามบีบบังคับลูกให้เป็นไปอย่างที่เรามุ่งหวัง เราต้องเรียนรู้วิธีปรับตัวให้เหมาะสมกับลูกแต่ละแบบ และช่วยส่งเสริมให้เขาเติบโตไปตามทางที่เหมาะสมของเขา

ก่อนฉันจะมีลูก ฉับขบคิดว่าควรจะเป็นแม่ที่ดีแบบใด ฉันเชื่อว่าด้วยความรักอันเปี่ยมล้นกับความละเอียดอ่อนของฉัน ลูก ๆ จะต้องเติบโตขึ้นมาและเราคงเข้ากันได้ดีในเกือบทุกด้าน ในเวลานั้น คนมักจะคิดว่า เด็ก ๆ คลี่คลายบุคลิกภาพของตนจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่มากกว่าที่จะเติบโตจากภายในตัวเอง ดังนั้น สภาพทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในบ้าน จะมีบทบาทสำคัญในการปั้นคนขึ้นมาให้เป็นไปอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น แต่แท้ที่จริงแล้ว เมื่อเราเรียนรู้เฝ้าสังเกตลูก ๆ ของเราให้ดี เราจะเรียนรู้ว่าเด็ก ๆ เกิดมาพร้อมธรรมชาติในตัวเอง เขาจะเติบโตไปตามแนวโน้มในแบบของเขาเอง คือ เขาอาจจะเป็นแบบชอบเก็บตัวอยู่กับตัวเองหรือแบบโลดโผนกระโจนออกไปข้างนอก เป็นแบบไวหรือไม่ไวต่อสิ่งเร้า เป็นพวกชอบผจญภัยหรือขี้อาย ยอมตายหรือก้าวร้าว จะว่าไปแล้ว เด็กยังเกิดมาพร้อมกับแนวโน้มที่จะเป็นคนไร้ระเบียบหรือเนี๊ยบ ไม่ใช่เพราะการเลี้ยงดูของพ่อแม่แต่ฝ่ายเดียว

ผู้ใหญ่ใช้นพลักษณ์ในการเข้าใจคนอื่นและพัฒนาตนเอง นพลักษณ์ก็สามารถปรับใช้กับเด็ก ๆ ได้เช่นกัน แต่ต้องด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง จุดสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ พ่อแม่ควรใช้นพลักษณ์เพื่อเข้าใจธรรมชาติของลูก และเพื่อช่วยปรับตัวเอง ปรับวิธีการเลี้ยงดูของตัวเองให้เหมาะกับธรรมชาติของเด็ก หากพ่อแม่ช่างสังเกตมีความมานะพากเพียรในการเข้าใจธรรมชาติของลูก ก็จะมองเห็นทางว่าควรจะเลี้ยงดูปลูกฝังเด็กที่มีมีความรู้สึกไว หรือ ใจเป็นศิลปะอย่างไร แตกต่างจากการเลี้ยงดูเด็กที่กร้าว และยุ่งเหยิงอย่างไร จะปราบพวกโลภ ตระหนี่ หรือใจกว้างเป็นแม่น้ำได้อย่างไร อย่าลืมว่า เด็กเกิดมาพร้อมธรรมชาติของเขาเอง และไม่มีใครทำร้ายลูกได้เท่ากับที่พ่อแม่ทำร้ายลูก เป็นการทำร้ายอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ทำร้ายลูกเพราะอคติทิฐิของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเป็นไปดังใจหวัง หรือ ด้วยความเชื่อ/หรือได้รับการบอกเล่ากันต่อมาว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ปลูกฝังให้ลูกเป็นแบบที่ดีดังใจหวัง ทั้ง ๆ ที่ฝืนหรือขัดแย้งกับธรรมชาติของลูก อย่าลืมว่า ความดี/ไม่ดี ถูก/ผิด ควร/ไม่ควร คำเหล่านี้ล้วนแต่มีเบื้องหลังของความเชื่อ ค่านิยม มาตรฐานทางสังคม กำกับอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

ความถูกผิดในสังคมไทยอาจแตกต่างจากสังคมประเทศอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิงก็ได้ ดังนั้น การที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยอคติก็อาจเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ คือ เด็กเบอร์ 8 มักจะแสดงพลังของตนออกมาตรง ๆ และบางครั้งถึงขั้นก้าวร้าว (ในสายตาของพ่อแม่) อย่าลืมว่าเด็กไม่ได้ตั้งใจก้าวร้าว แต่เพราะเขาต้องการแสดงพลังของตนเองให้พ่อแม่เห็น และต้องการการหนุนชูช่วยเหลือจากพ่อแม่ให้เขาแสดงพลังได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่ค่านิยมในสังคมไทยหรือกับพ่อแม่บางคนเห็นว่า การแสดงพลังของลูกเป็นการก้าวร้าว ไม่เหมาะสม อยากให้ลูกเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ (โดยเฉพาะลูกสาว) เมื่อพ่อแม่เริ่มต้นด้วยอคติเช่นนี้ ย่อมจะมีพฤติกรรมแสดงออกในทางกดเก็บหรือบีบบังคับลูกมิให้แสดงพลังออกมาตรง ๆ อันเป็นการฝืนธรรมชาติของเด็ก พ่อแม่ที่เข้าใจลูกเบอร์ 8 ควรพยายามหาวิธีแนะนำปลอบประโลมให้เด็กแสดงพลังของตนไปในทางสร้างสรรค์ เช่น ช่วยพ่อแม่ทำงานขุดดิน เช็ดถูบ้าน หรืออื่น ๆ แทนที่จะบีบบังคับให้ลูกเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้

นพลักษณ์ ทำให้เรารู้ว่าแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะของตน เด็กก็เช่นเดียวกัน พ่อแม่จึงอาจใช้นพลักษณ์เป็นเครื่องมือในการเฝ้าสังเกตดูว่าธรรมชาติของลูกที่แท้เป็นอย่างไร อย่าลืมว่า เด็กยังไม่แสดงความเป็นลักษณ์ใดลักษณ์หนึ่งอย่างชัดเจน แต่จะแสดงให้เห็นแนวโน้มของบางลักษณ์ออกมาได้ ด้วยการเฝ้าสังเกตนี้ พ่อแม่ก็จะค้นพบและเข้าใจลูกของตนได้ชัดเจน และคิดค้นหาวิธีช่วยหนุนชูโอบอุ้มให้ลูกรักเติบโตไปสอดคล้องกับธรรมชาติของเขา เพื่อเราจะไม่ทำร้ายเขาโดยไม่ตั้งใจ แม้จะด้วยความรักอย่างสุดซึ้ง แต่ความผิดพลาดในการเลี้ยงดูลูกเกิดขึ้นได้ หากเราละเลยไม่เคารพความเป็นตัวของตัวเองและธรรมชาติของลูก

 

5. นพลักษณ์กับการเป็นผู้นำ

การพัฒนาความเป็นผู้นำกำลังเป็นเรื่องฮือฮาในวงการต่าง ๆ ก็เพราะการจัดการเป็นเรื่องใหญ่สำหรับทุกองค์กร รวมไปถึงการปฏิรูประบบต่าง ๆ ของประเทศที่กำลังเป็นกระแสหลักในสังคมไทยยุคปัจจุบัน  ใคร ๆ ก็พูดถึงการปฏิรูปในเชิงแนวคิด ฟังแล้วดูดีมีความหวังเสียจริง แต่อย่าลืมว่า แนวคิดต่าง ๆ มิอาจเกิดผลได้หากไม่มีการจัดการที่ดี  และการจัดการที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเรามีผู้นำที่เก่งกล้าสามารถ

ความเป็นผู้นำมาจากไหน หลายคนอาจคิดว่าเป็นพรสวรรค์ เพราะบางคนก็มีแววความเป็นผู้นำมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็อาจจะถูกเป็นบางส่วนหากเราเชื่อทฤษฎีว่าด้วยแก่นแท้ แต่เราก็คงไม่อาจปฏิเสธบทบาทของการเลี้ยงดู และ สิ่งแวดล้อมรวมไปถึงประสบการณ์ของแต่ละคนว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน  หากทั้งแก่นแท้และสิ่งแวดล้อมผสมผสานกลมกลืนกันได้อย่างเหมาะเจาะ เราก็คงได้ผู้นำที่เก่งกล้าสามารถดังที่หวัง

ในความเป็นคนลักษณ์ 8 ซึ่งได้ชื่อว่า เจ้านายหรือ ผู้กล้ารักษาสิทธิ  เติบโตในฐานะเป็นพี่สาวคนโตในครอบครัวคนจีน  ซึ่งถูกคาดหวังและผลักดันให้ต้องทำงานและจัดการเรื่องต่างๆ ประกอบกับประสบการณ์ตลอดชั่วชีวิตการทำงานในภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ถือเป็นหนทางยาวไกลที่ให้โอกาสในการสั่งสมศักยภาพความเป็นผู้นำ  ในการทำงานประจำวันถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้  ผู้นำต้องถือ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” เป็นสรณะ เพราะหากหยุดเรียนรู้ พออกพอใจกับความสามารถของตนเมื่อใด ก็เท่ากับเราหยุดเติบโตหรือแม้แต่ถดถอยลงทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่หยุดศึกษาตนเอง เรียนรู้ตนเอง เพราะหากผู้นำไม่รู้จักตนเอง นั่นคือหนทางหายนะของการจัดการองค์กรและก่อปัญหามากมายกับทั้งตนเองและสมาชิกในองค์กรอีกด้วย

ผู้นำในองค์กรต่าง ๆ จำนวนมากพยายามแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำของตนเอง ด้วยการอ่านตำรา เข้าฝึกอบรม ประชุมสัมมนา แม้แต่ลงทุนมากมายเพื่อไปศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอกด้านการจัดการโดยคิดว่าการอ่านตำรา เข้าฝึกอบรม ฯลฯ เหล่านี้มีความ หมายเท่ากับการ “เรียนรู้”  แท้ที่จริงผู้นำจำนวนมากอ้างอิง “ทฤษฎี หรือ เทคนิค” ต่าง ๆ ก็เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำเอง  หากสังเกตให้ลึกซึ้งทุก ๆ คนย่อมมีทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนในตัวเอง การแสดงจุดแข็งมากเกินไปกลับกลายเป็นจุดอ่อนของเรา เช่น คนลักษณ์ 8 ซึ่งมีความสามารถในการจัดการแต่เมื่อใช้การจัดการอย่างเกินพอดี ย่อมกลายเป็นการควบคุมสั่งการบนพื้นฐานของอคติของตน จึงย่อมเกิดปัญหาในองค์กรมากกว่าจะเกิดผลดี  ดังนั้นผู้นำจึงจะต้องมีสติกับความเป็นตัวตนของตน โดยเฉพาะมีสติกับแรงจูงใจอันเป็นสิ่งผลักดันพฤติกรรมต่าง ๆ ออกไป

การศึกษานพลักษณ์ให้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจตนเองทั้งในด้านพฤติกรรมที่ฉาบอยู่ข้างหน้า กับสิ่งที่อยู่ลึกภายในกลไกจิตใจของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเข้าใจโลกทัศน์ กิเลส ความคิดยึดติด อคติ และกลไกป้องกันตนเองของเรา อันจะเป็นหนทางเปิดประตูสู่ความเป็นผู้นำที่มีศักยภาพสูงสุดเท่าที่แต่ละคนจะพึงมี

นพลักษณ์ช่วยทำอะไรในการพัฒนาความเป็นผู้นำ

ถ้าหน้าที่ของผู้นำคือการจัดการองค์กรให้ดำเนินไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ เพื่อบรรลุปรัชญา หรือ เป้าหมายหลักขององค์กรนั้น ๆ ดังนั้น ผู้นำที่เก่งกล้าสามารถย่อมจะต้องมีศักยภาพ ในการจินตนาการ คิด วิเคราะห์ วางแผน ตัดสินใจ สั่งการ ประสาน แก้ปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ภายในองค์กร ภายใต้ข้อจำกัดเท่าที่ทรัพยากรจะอำนวย คือ องค์ความรู้ บุคลากร งบประมาณ สิ่งสนับสนุนต่างๆ ลองมาดูตัวอย่างจริงอันเป็นประสบการณ์ของผู้เขียนในการจัดการ องค์กรหนึ่งที่มีบุคลากรภายในโครงการอยู่เกือบ 100 ชีวิต

1. ศึกษานพลักษณ์เพื่อรู้จักตนเอง

ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดในการจัดการองค์กรก็คือ การที่ผู้นำต้องรู้จักตนเอง เพราะทุกคนมีลักษณะเฉพาะของตนเองแตกต่างกันไป แม้เป็นคนลักษณ์เดียวกันก็มีความแตกต่างกัน และแม้มีพื้นฐานกิเลสเหมือน ๆ กัน แต่การแสดงออกหรือการทำงานของกิเลสของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไปตามสภาพการพัฒนาเติบโต  หากผู้นำไม่รู้จักตนเองดีพอ ก็จะขาดสติระลึกรู้ในพฤติกรรมต่าง ๆ ของตน เราก็จะถูกผลักดันให้ทำพฤติกรรมตามจิตใต้สำนึก ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนในการจัดการ เราคงเห็นตัวอย่างมากมายในสังคมที่ผู้นำเอาแต่จัดการกับคนอื่น โดยไม่สามารถแม้แต่จัดการกับปัญหาของตนเอง หรือจัดการปัญหาภายในครอบครัวของตัวเอง  หากผู้นำรู้จักตนเองและฝึกการมีสติอยู่กับตนเอง “ปัญญา” จะเกิด และสามารถใช้จุดแข็ง จุดอ่อนของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ศึกษานพลักษณ์เพื่อสร้างทีม

การศึกษานพลักษณ์ร่วมกันกับบุคลากรในทีม นอกจากทำให้ผู้นำรู้จักตนเองได้ดีแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เราทำความเข้าใจสมาชิกในทีมอย่างถึงแก่นทีเดียว และสมาชิกในทีมก็จะเข้าใจมองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของผู้นำด้วย ทั้งนี้การทำความรู้จักซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง เบื้องต้นก็เกิดผลดีอย่างยิ่งในการสร้างความยอมรับซึ่งกันและกัน และสมาชิกแต่ละคนก็มีความระมัดระวังในการติดต่อกับคนอื่น ขณะเดียวกันก็มีความเอื้ออาทร เมตตากรุณากันมากขึ้น เพราะเห็นชัดเจนว่าแต่ละคนก็ตกอยู่ในกองทุกข์เหมือน ๆ กัน ไม่มีใครดีกว่าใคร ล้วนเป็นเหยื่อของกิเลส ความหลงผิดต่าง ๆ กันไป ความเป็นมิตรอย่างแท้ก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อย

3. ศึกษานพลักษณ์เพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

เมื่อคนจำนวนมากมาทำงานร่วมกัน แต่ละคนต้องสื่อสารกับตนเองและคนอื่น ๆ อยู่เกือบตลอดเวลา ปัญหามากมายเกิดขึ้นเนื่องจาก ความล้มเหลวในการสื่อสาร คือ ต่างคนต่างก็สื่อสารกันภายใต้ข้อจำกัดในความเป็นตัวตนของตนเอง ขณะเดียวกันก็คาดหวังให้คนอื่นสื่อสารกับเราอย่างมีประสิทธิภาพ  การศึกษานพลักษณ์จะช่วยทำให้เราเข้าใจวิธีการสื่อสารของเรา ผู้นำรู้ว่าตนเองมีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร ชอบสื่อสารแบบไหน และเพื่อนร่วมทีมมีลักษณะเฉพาะอย่างไร สื่อสารแบบไหน ด้วยความรู้ เท่าทันนี้ จะทำให้ผู้นำสามารถกำหนดกลวิธีที่เหมาะสมในการสื่อสารระหว่างสมาชิกในทีม และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น (ซึ่งแน่ละ ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะแต่ละคนก็ยังมีกิเลสพื้นฐานติดตัวอยู่ จึงคาดเดาได้แล้วว่า แม้จะวางกลวิธีไว้แล้วก็ยังจะต้องเกิดปัญหาขึ้นแน่ ๆ แต่ปัญหาต่างๆ อาจจะน้อยลงหรือไม่ขยายตัวเป็นเรื่องใหญ่โต) ก็สามารถหาวิธีคลี่คลายได้ง่ายขึ้นและทันท่วงที

4. ศึกษานพลักษณ์เพื่อสร้างวิสัยทัศน์

ผู้นำที่มีสติรู้เท่าทันตนเอง เข้าใจตนเองพอสมควรโดยเฉพาะในส่วนลึกของกลไกทางจิต จะมีส่วนช่วยให้ผู้นำสร้างและพัฒนาวิสัยทัศน์อันจะสามารถดึงความผูกพันและความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น  ผู้นำที่มีอคติน้อยที่สุด จะสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรได้บนพื้นฐานของ “ธรรมะ” และ “ปัญญา” ได้มากขึ้น เพราะไม่ถูกบดบังโดยอคติที่เกิดจากกิเลสหรือแรงจูงใจส่วนบุคคล

5. ศึกษานพลักษณ์เพื่อจัดการข้อขัดแย้ง

ระหว่างกิเลสส่วนบุคคล กับ เป้าหมายขององค์กร  ย่อมเกิดข้อขัดแย้งเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะต้องหาทางแก้ไข หรือ แม้แต่วางกลวิธีป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า (หากเป็นไปได้) หากผู้นำทำความรู้จักตนเองและผู้ร่วมงานในองค์กรได้อย่างลึกซึ้ง  เท่ากับ "รู้เขารู้เรา" และอาจมองเห็นหรือคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีคนต่างลักษณ์กันมาทำงานร่วมกัน  ยามเมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้นก็จะสามารถวิเคราะห์และมองเข้าไปลึกถึงแก่นของปัญหา แทนที่จะมองเพียงผิวเผินแค่ระดับพฤติกรรม  ก็ย่อมจะมีภาษีดีกว่าในการพิจารณาวิธีจัดการความขัดแย้งให้เหมาะสม และ หาทางผสมผสานจุดยึดติด กิเลส หรือ โลกทัศน์ของคนแต่ละลักษณ์ ให้สอดคล้องกับไปเป้าหมายขององค์กรได้ง่ายขึ้น แต่แน่ละ เรื่องนี้ ย่อมต้องอาศัยประสบการณ์และความสุขุมลุ่มลึกพอสมควร  ซึ่งผู้นำจะทำเช่นนั้นได้  การรู้จักตนเองอย่างดีจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดอคติในการจัดการข้อขัดแย้งได้ดี

6. ศึกษานพลักษณ์เพื่อตระหนักและรู้เท่าทันความไม่แน่นอนในองค์กร

เหตุเพราะทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีธรรมชาติ และ มีเหตุปัจจัยตามธรรมชาติของมัน ทุกองค์กรจึงตั้งอยู่บนฐานของความไม่แน่นอน  วันนี้เรายังมีชีวิตอยู่สุขสบายดี พรุ่งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แม้เราจะสามารถวางแผนไปข้างหน้าในระยะยาว  แต่ก็จะต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท โดยเฉพาะในธรรมชาติของคนแต่ละลักษณ์ซึ่งหากเผชิญภาวะวิกฤติหรือความเครียดที่อยู่รอบตัว ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมซึ่งอาจมีผลต่อองค์กรในทางใดทางหนึ่ง  ผู้นำจึงจะต้องมีสติอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวและรู้เท่าทันอยู่ตลอดเวลา  เพื่อสามารถจัดการกับความไม่แน่นอนได้อย่างสงบ สันติ และ ไม่ก่อทุกข์ทั้งกับตนเองและบุคลากรในองค์กร

7. ศึกษานพลักษณ์เพื่อเป็นผู้นำที่กล้าหาญ 

ส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นผู้นำที่ดีก็คือ ความกล้าหาญ เพราะเมื่อต้องเข้ามาจัดการในองค์กร ก็อยู่ในฐานะที่ต้องตัดสินใจ และ กล้ารับผิดชอบต่อการตัดสินใจหรือการดำเนินการใด ๆ ภายในองค์กร  แม้แต่เหตุการณ์บางอย่างอาจเกิดขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมของสมาชิกในองค์กร มิใช่พฤติกรรมของผู้นำก็ตาม แต่เมื่ออยู่ในฐานะผู้นำก็ต้องรับผิดชอบอย่างหน้าชื่นตาบาน และ กล้าหาญ ยอมรับผลที่จะเกิดทั้งในทางดีและไม่ดี  หากผู้นำที่ศึกษาตนเอง เข้าใจตนเอง มีสติกับตนเอง ลดละความเป็นตัวตนของตนลงได้พอสมควร  ก็จะสามารถเป็นผู้นำที่หาญกล้าได้ไม่ยากนัก ไม่ว่าผู้นำจะเป็นลักษณ์อะไร  แม้แต่ลักษณ์ 6 ซึ่งมีกิเลสและยึดติดกับความกลัว  ก็จะสามารถพัฒนาความกล้าหาญในการนำองค์กรได้อย่างสง่างาม

8. ศึกษานพลักษณ์เพื่อเป็นผู้นำที่คิดอย่างเชื่อมโยง

ผู้นำจะต้องตระหนักว่าเราและองค์กรของเรามิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวบนโลกนี้ เราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยและระบบย่อยก็เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่   แม้ในแผนภาพนพลักษณ์จุดทุกจุดในวงกลมจะมีเส้นเชื่อมโยงกับจุดอื่น  เป็นสิ่งเตือนใจให้เห็นได้อย่างดีว่า ทุกสรรพสิ่ง ทุกชีวิต และ คนแต่ละคนมีความเชื่อมโยงกัน  เราแต่ละลักษณ์จะได้รับอิทธิพลจากลักษณะของคนลักษณ์อื่นๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งทำให้คนลักษณ์เดียวกันมีความแตกต่างกันไปตามระดับอิทธิพลของลักษณ์ที่อยู่ใกล้เคียงกับเรา หรือ เชื่อมโยงกับเรา  เท่ากับเป็นการเปิดโลก การมองโลก และวิสัยทัศน์ของเราให้กว้างกว่าเดิม มิใช่ยึดติดอยู่เพียงผลประโยชน์ขององค์กรอย่างเดียว แต่ยังจะต้องคำนึงถึงผลขององค์กรของเราต่อสภาพสังคม และ สิ่งแวดล้อมในโลกนี้ด้วย  จึงจะเป็นผู้นำที่มีแนวคิดกว้างไกลและใจกว้างที่จะเปิดรับสิ่งต่าง ๆ จากภายนอกด้วย

เพื่อน ๆ ที่ได้อ่านข้อเขียนนี้แล้ว มีประสบการณ์ของตนที่อยากจะแลกเปลี่ยน ขอเชิญนะคะ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อตัวเราเอง และ เพื่อน ๆ ที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละคนผ่านสื่อที่จะเชื่อมโยงหัวใจของเราเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์โลกนี้ให้น่าอยู่และสุขสันติจริง ๆ

 

6.ประสบการณ์การใช้นพลักษณ์ทำงานกับคนลักษณ์อื่น

ลักษณ์ 8 ทำงานกับ  "คนเนี้ยบ"
ซึ่งต้องอยู่ในกฏเกณฑ์ ถูกต้อง ระเบียบ ลักษณ์ 8 ชอบแหกกฏ, โกรธง่ายทั้งคู่แต่คนละประเด็น เบอร์ 1 รำคาญจุกจิกและบ่นกับความไม่ถูกต้องของเบอร์ 8 ถ้าเบอร์ 1 เป็น ผบ. ควรให้พื้นที่กับเบอร์ 8 ที่จะใช้พลังอย่างเต็มที่ ถ้าเบอร์ 8 เป็น ผบ. ควรมอบงานที่ต้องการความละเอียดให้คน 1

ลักษณ์ 8 ทำงานกับ  "ผู้ให้" 
ทั้งเบอร์ 8 และ เบอร์ 2 ทั้งคู่  ต่างเป็นผู้ชอบใช้พลังอำนาจ  ชอบจัดการ  ไม่ค่อยสนใจกฏกติกา  ซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานร่วมกันได้ดี  หรือก็ต้องสู้ลองพลังกัน ในภาวะที่มั่นคง  ด้านดี  ทั้งคู่ชอบช่วยเหลือคนอื่น (ด้วยแรงผลักดันต่างกัน) ในภาวะเครียด  ใช้พลังเข้าไปจัดการกันมากเกินไป  เบอร์ 2 ใช้การสนองตอบความต้องการของเบอร์ 8  เพื่อเข้าไปจัดกับเบอร์ 8  โดยอาจเอาไปอ้างว่าเพราะเจ้านายต้องการ