enneagramthailand.org

ทฤษฏีนพลักษณ์เบื้องต้น


1. ความเป็นมาและคุณค่าของนพลักษณ์

นพลักษณ์ (Enneagram) เป็นศาสตร์องค์ความรู้โบราณระบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นแถบเอเชียกลางมานานนับสหัสวรรษ โดยอาจารย์กลุ่มซูฟี ซึ่งเป็นนักภาวนาในศาสนาอิสลามที่ได้ศึกษาบุคลิกภาพก่นแท้ของมนุษย์ และพัฒนาเป็นศาสตร์ที่มีการถ่ายทอดในวงเฉพาะระหว่างครู อาจารย์ทางจิตวิญญาณ) กับลูกศิษย์ อาจารย์จะแนะนำให้ลูกศิษย์ ซึ่งต่างมีบุคลิกลักษณะพื้นฐานนิสัยใจคอที่แตกต่างกันไปให้แต่ละคนได้รู้จัก  และเฝ้าสังเกตกระบวนการรู้สึกคิดนึกภายใน เฉพาะอย่างยิ่งด้านที่เป็นกิเลส ซึ่งสร้างความเห็นแก่ตัวและพฤติกรรมอันเป็นปัญหากับผู้อื่น เมื่อสังเกตฝ่ายกิเลสแล้ว จะสะท้อนให้เห็นถึงฝ่ายตรงกันข้ามหรือที่เรียกว่าฝ่ายบารมี  ธรรมะที่นำข้ามพ้นห้วงวัฎสงสาร ทั้งนี้เป็นไปเพื่อช่วยลูกศิษย์ ได้รู้จักตนเองทั้งด้านบวกและด้านลบ เพื่อเป็นพื้นฐาน นำไปสู่การยกระดับจิตวิญญาณของตน

ในช่วงราวคริสต์ศักราชที่ 1920 นพลักษณ์ถูกนำเข้ามาในทวีปยุโรปโดยจี.ไอ.เกอร์ดเจฟ [G.I. Gurdjieff]  โดยยังคงบทบาทคุณค่าของนพลักษณ์ในการเสริมสร้าง พัฒนาจิตวิญญาณให้แก่ลูกศิษย์ของตน แต่ยังคงถ่ายทอดในวงเฉพาะ จนเมื่อประมาณปลายทศวรรษที่ 1960 ออสการ์ อิซาโซ  [Oscar Ichazo] ได้ริเริ่มและฝึกอบรมเรื่องจิตวิญญาณ ตามแนวของเขา ณ เมืองอริกา ประเทศชิลี โดยมีนักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงได้เข้าร่วมฝึกอบรมด้วยและได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อศึกษาเรียนรู้ลักษณะบุคลิกภาพที่อธิบายไว้ในนพลักษณ์ นารานโจ เน้นใช้วิธีอภิปราย ในระหว่างผู้รู้ว่าตนจัดอยู่ในลักษณ์แบบไหน ต่อมา เฮเลน พาล์มเมอร์ นักจิตวิทยาและ บอบ ออร์ช นักบวชชาวโรมันคาทอลิก ร่วมกันเก็บข้อมูลนพลักษณ์ จากผู้คนที่ตั้งใจใช้นพลักษณ์ ศึกษาชีวิตภายในของตน จากนั้นได้มีการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ และจัดให้เป็นระบบตามแผนภาพนพลักษณ์ โดยอาศัยหลักจิตวิทยา เข้ามาสนับสนุนสร้างเป็นหลักเกณฑ์  ในราวทศวรรษ 1970 และ 1980 และสืบเนื่องมาเรื่อยๆ จนเป็นที่เข้าใจกว้างขวางขึ้น  และใช้สอนในวิชาของท่านด้วยพาล์มเมอร์ยังได้ขยายความคิด ของนารานโจ ให้กว้างลึก เป็นเรื่องการวิเคราะห์ตนเองสำหรับผู้แสวงหา จากจุดนี้เอง เป็นแหล่งแห่งฐานให้นพลักษณ์

แผ่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ในทศวรรษนี้ จุดมุ่งหมายสูงสุดของนพลักษณ์ อยู่ที่การบรรลุภาวะสูงสุดของจิตวิญญาณ  แต่เมื่อเข้ามาใช้ที่สหรัฐอเมริกาก็ได้ผสมผสานกับหลักจิตวิทยาใหม่ๆ เฉพาะอย่างยิ่ง Transpersonal เพื่อให้บุคคลสามารถจัดการกับชีวิตส่วนตัว ครอบครัวและการงาน ภายหลังนักบริหารธุรกิจ ก็ได้เข้ามาใช้ในแวดวงของตนด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วนพลักษณ์เป็นศาสตร์เพื่อรู้จักตนเองเพื่อแก้ปัญหาทางจิตวิทยาซึ่งเป็นระดับโลกียะเพื่อนำไปสู่ระดับจิตวิญาณหรือระดับโลกุตตระ

 

2.  การทำงานของนพลักษณ์
2.1 โครงสร้างนพลักษณ์

โครงสร้างนพลักษณ์  สามารถสื่ออธิบายง่ายๆ ด้วยแผนภาพวงกลมบนเส้นรอบวงประกอบด้วย ตำแหน่งของเบอร์ 1 ถึงเบอร์ 9 แต่ละเบอร์แทนความหมายของลักษณ์ทั้งหมด 9 ลักษณ์ โดยแต่ละลักษณ์จะสื่อความเป็นตัวแทน ประเภทแห่งบุคลิกภาพพื้นฐานทั้งอารมณ์ ความรู้สึก นึกคิดและพฤติกรรมการกระทำซึ่งจัดแบ่งเป็น  9 ลักษณะบุคลิกภาพบนเส้นรอบวงที่มีตัวเลข 1 ถึง 9 ร้อยเรียงเป็นวงกลม ดังนั้นแต่ละเบอร์หรือลักษณ์ จะมีลักษณ์ประกบซ้ายและขวา ดังเช่น ลักษณ์ 9 ก็จะมีลักษณ์ประกบข้างซ้ายและข้างขวาคือ ลักษณ์ 8 และ 1 ตามลำดับ  และเช่นกัน ลักษณ์ 1 ก็จะมีลักษณ์ 9 และ 2 เป็นลักษณ์ด้านข้างและลักษณ์ด้านข้างซ้าย ข้างขวานี้เอง นพลักษณ์เรียกว่า ปีก ภายในวงกลม จะมีเส้นลูกศรวิ่งเข้าและวิ่งออกจากแต่ละลักษณ์เช่น ลักษณ์ 3 มีลูกศรวิ่งไปลักษณ์ 9 และยังมีลูกศรวิ่งเข้ามาจากลักษณ์ 6 ทิศทางของลูกศรจะสื่อการแสดงออกของบุคลิกภาพชั่วคราว ที่ต่างจากบุคลิกภาพพื้นฐาน นอกจากนี้วงกลมที่แสดงแผนภาพนพลักษณ์ยังได้จัดระเบียบ 9 ลักษณ์ออกเป็น 3 กลุ่มแต่ละกลุ่มเรียกว่า ศูนย์ ประกอบด้วยศูนย์หัว(ซึ่งรวมลักษณ์ 5, 6 และ 7) ศูนย์ใจ(ซึ่งรวมลักษณ์ 2, 3 และ 4)  และศูนย์ท้อง(ซึ่งรวมลักษณ์ 8, 9 และ 1) รายละเอียดจะอยู่ในหัวข้อต่อไป
ประมวลลักษณะของ "ลักษณ์"
ชื่อของ "ลักษณ์" ทั้ง 9 ลักษณ์ อาจเรียกแทนด้วยหมายเลข 1 ถึง 9 แต่ละ ลักษณ์ หรือหมายเลขจะสื่อแทนประเภทแห่งบุคลิกภาพ  ที่อาจารย์ทางนพลักษณ์ ได้จัดระบบแบ่งสรรออกเป็น 9 ลักษณะ จะเรียกแต่ละลักษณ์ ด้วยหมายเลข เช่น  คน 1  คน 5  คน 8 หรือ จะเรียกชื่อของลักษณ์นั้นๆ ว่า คนเนี้ยบ(คน 1) นักสังเกตการณ์(คน 5)  หรือเจ้านาย (คน 8)   ก็ได้  แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า "บุคลิกภาพ"  ซึ่งสื่อออกเป็นลักษณ์ต่างๆ  9 ลักษณ์นั้น แท้จริงเป็นเพียงสิ่งสะท้อน ถึงสภาวะตรงข้าม คือ แก่นแท้ ซึ่งก็คือ ธาตุแท้หรือชีวิตจิตใจฝ่ายสูงของเรานั้นเองบุคลิกภาพเป็นเพียง เปลือกที่ห่อหุ้มแก่นแท้  บุคลิกภาพจึงมิใช่ศัตรูที่เรามุ่งพิชิต หากแท้จริงเป็นเพื่อนสนิทที่จะบ่งบอกถึงบทเรียนที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และวิธีการเรียนรู้ หน้าที่ของผู้ศึกษาตอนนี้ ก็คือ ทำความเข้าใจลักษณะโดยย่อ ของแต่ละลักษณ์

 

 

คน 1 : คนเนี้ยบ (The Perfectionist)


คน 1 วิพากษ์ทั้งตนเองและผู้อื่นเสมอ เขาจะมีบัญชีหางว่าวอยู่ในใจว่าอะไร "ควร" และ "ไม่ควร" เขาจะจริงจังกับความรับผิดชอบ อีกทั้งปรารถนาจะให้สิ่งที่ตนกระทำ ปราศจากข้อบกพร่องแม้กระผีกเป็นการยากยิ่ง ที่จะปล่อยให้ตนรู้สึกเพลิดเพลิน เพียงเพื่อให้มีความสุข เพราะเขากำกับพฤติกรรมของตน ด้วยมาตรฐานที่สูงยิ่งและมักรู้สึกว่าต้องทำอะไร ๆ มากกว่านี้อีก บางทีผลัดผ่อนเพราะกลัวจะทำได้ไม่ดี ไม่สมบูรณ์แบบด้วยความที่รู้สึกว่าตนเองสูงส่งด้วยคุณธรรม คน 1 อาจจะเป็นเดือดเป็นแค้น ถ้าใครไม่เดินตามกฎโดยเฉพาะหากหลีกเลี่ยงซึ่ง ๆ หน้า คน 1 เป็นนักจัดการชั้นยอดซึ่งสามารถชี้จุดบกพร่องได้ทันทีและบอกได้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร จึงจะถูกต้อง

 

คน 2 : ผู้ให้ (The Giver)


คน 2 เป็นคนกระตือรือร้น ชอบช่วยเหลือมักมองโลกในแง่ดีใจเมตตา อุทิศเวลา พลังกายและทรัพย์สิ่งของเพราะคน 2 ยากที่จะรู้จักความต้องการของตัวเองหรือร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เขาจึงสนองความต้องการของตัวเอง อย่างไม่รู้ตัวโดยการสร้างความสัมพันธ์และจะเป็นสุขที่สุด เมื่อเป็นคนที่คนอื่นขาดเสียไม่ได้ คน 2 ไวมากต่อความต้องการและความรู้สึกของผู้อื่นจึงสามารถแสดงแค่บุคลิกบางส่วนที่สามารถดึงดูดให้คนเข้าหาความที่เป็นคนคุ้นเคยกับการให้ มากกว่ารับจึงทำให้บางครั้งเป็นหัวเรือใหญ่ จอมบงการ เขาให้เพื่อที่จะได้มา แต่บางครั้ง ก็ทำด้วยความเอาใจใส่และเกื้อหนุนอย่างจริงใจ ด้วยมีธรรมชาติที่เห็นใจเข้าใจผู้อื่น คน 2 จึงสามารถให้  ในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจริงๆ เพื่อความสำเร็จและความผาสุก

 

คน 3 : นักแสดง (The Performer)


คน 3 เป็นพวกบ้างานที่พลังเปี่ยมล้น เขาต่อสู้สุดชีวิตเพื่อความสำเร็จเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานภาพและการยอมรับ มีนิสัยแข่งขันสูงแต่เป็นเพราะรักการท้าทายความสามารถของตนมากกว่าจะคิดเอาชนะคนอื่น เขามุ่งสัมฤทธิ์ผลในทุกสถานะ เช่น เป็นบิดามารดาที่ประสบความสำเร็จ เป็นคู่ครองที่เชิดหน้าชูตา นักธุรกิจทะลุเป้า คู่เล่นที่เก่ง แพทย์ผู้ประสบความสำเร็จหรือแม้แต่เป็นฮิปปี้ คนลักษณ์นี้สามารถเปลี่ยนโฉมได้ทุกรูปแบบตามกลุ่มที่ตนร่วมเสวนา แม้ไม่อาจสัมผัสความรู้สึกแท้จริงของตน  เพราะกลัวว่าจะขัดขวางความสำเร็จ แต่ถ้าจำเป็นก็สามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมดีเยี่ยม คน 3 ไม่มีวันหน่าย จดจ่อมุ่งมั่นสู่เป้าหมายจนตลอดรอดฝั่ง สามารถเป็นผู้นำที่วิเศษ ปลุกพลังพรรคพวกให้เชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้

 

คน 4 : คนโศกซึ้ง (The Romantic)


คน 4 มีอารมณ์ศิลปิน หมกมุ่นในอารมณ์ แสวงหาคู่อุดมคติหรืองานอันเป็นแก่นแท้ ความหมายแห่งชีวิตเขามีชีวิตอยู่ท่ามกลางความรู้สึกว่า บางสิ่งที่จำเป็นในชีวิตขาดหายไป รู้สึกว่าตนเองจะสมบูรณ์พร้อม ถ้าค้นพบคู่ที่แท้จริง  ทำให้มีแนวโน้มที่จะยึดถือ สิ่งที่ห่างไกลเป็นอุดมคติและตำหนิสิ่งที่มีอยู่ว่าเป็นของธรรมดาๆ เขาจะถูกดูดดึงสู่สุดยอดและก้นบึ้งแห่งอารมณ์ความรู้สึกและแสดงความพิเศษหนึ่งเดียวให้ปรากฏ พูดง่ายๆ ว่าสุดขั้วตกขอบ ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นด้านไหนของชีวิตคน 4 จะสะท้อนถึงการค้นหาคุณค่าและนัยแห่งชีวิตแม้ว่า ตนเองจะตกหลุมอารมณ์ปางตายเพียงใดแต่เขาก็สามารถเข้าใจ และเกื้อหนุนผู้อื่น ที่กำลังระทมทุกข์ทางอารมณ์ ได้อย่างดีเยี่ยม

 

คน 5 : นักสังเกตการณ์ (The Observer) 


คน 5  หลบเลี่ยงภาวะที่ต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ทุกชนิด ดำเนินชีวิตโดยวางตัวอยู่ห่างๆ เฝ้าจับตาสังเกตการณ์ มากกว่านำตนเข้าข้องแวะเป็นคนที่ชอบความเป็นส่วนตัวมากจะรู้สึกหมดกำลังและกระสับกระส่ายหากไม่มีเวลาพอ สำหรับตัวเอง เพื่อใช้ทบทวนเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาและสัมผัสกับอารมณ์เหล่านั้นอย่างปลอดภัย ซึ่งเขาไม่สามารถรู้สึกได้ เมื่อถูกห้อมล้อมจากสิ่งรอบข้าง ชีวิตแห่งการคิดเป็นสิ่งสำคัญ เขาโปรดปรานการหาข้อมูลโดยมากมักเป็นเรื่องเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะด้าน คน 5 แบ่งแยกชีวิตออกเป็นส่วนๆ ถึงจะไม่ชอบตารางระเบียบที่ตายตัว แต่ก็ชอบรู้เรื่องล่วงหน้าว่า ใครคาดหวังอะไรจากเขา ทั้งเรื่องงานและการพักผ่อน เขาสามารถเป็นผู้ตัดสินใจและนักคิดสร้างสรรค์ได้อย่างวิเศษ

 

คน 6 : นักปุจฉา (The Royal Skeptic)


แม้คน 6 จะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามีความหวาดกลัวเป็นทุนแต่คน 6 ก็มองโลกว่าช่างคุกคามเสียนี่กระไร เขาจึงต้องกราดหาแหล่งต้นตอแห่งการคุกคามและจินตนาการไปถึงผลร้ายสุด ๆ เพื่อจะได้ป้องกันได้ทันท่วงที กรอบความคิดที่พกพาแต่ความสงสัย อาจทำให้ผลัดผ่อน (ลังเลที่จะดำเนินการตามความใฝ่ฝัน) หรือสนเท่ห์เจตนาของคนอื่น คน 6 เกลียดหรือกลัวผู้ที่มีอำนาจ เขาจะเข้าข้างฝ่าย หรือเรื่องที่เสียเปรียบ และเขาไม่สะดวกใจ ในการแสดงอำนาจหรือมีความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง (ที่ทำให้ตนเองโดดเด่น) คน 6 บางคน ชอบเก็บตัว และปกป้องตนเองจากภาวะคุกคามต่างๆ แต่บางส่วนก็ปกป้องตนเองโดยพุ่งพรวดออกไปเผชิญเสียเลย  เลยกลายเป็นเรื่องก้าวร้าวไปโดยไม่เจตนา แต่ถ้าทำให้เขาไว้วางใจได้เมื่อใด เขาจะเป็นมิตรที่สัตย์ซื่อ  และผูกพันกับกลุ่มที่เชื่อได้เลยว่าร่วมเป็นร่วมตาย

 

คน 7 : นักผจญภัย (The Epicure)


คน 7  เป็นคนมองโลกในแง่ดี กระฉับกระเฉงมีเสน่ห์และหลบหลีกเก่ง มีคุณสมบัติเหมือน Peter Pan (เด็กที่ไม่ยอมโต ยังรักการผจญภัย) เขาเกลียดชังการติดกับหรือถูกบังคับและสำรองทางเลือกแห่งความสำราญสนุกสนาน ไว้มากที่สุดที่จะคิดได้ในยามไม่สบายใจ จิตจะหลีกหนีไปตามความฝัน คน 7 เป็นพวกมุ่งอนาคตและมีแผนในใจซึ่งรวมทุก ๆ อย่างที่เขาต้องการจะทำให้สำเร็จในฝันและมักจะปรับแผนให้ทันปัจจุบัน เมื่อมีทางเลือกใหม่ ๆ ผ่านเข้ามา ความปรารถนาที่จะรักษาคงไว้ซึ่งชีวิตที่สนุกสนานทำให้เขาปรับเปลี่ยนความเป็นจริงรอบ ๆ ตัวเพื่อขจัดอารมณ์ที่ไม่ชอบใจและสิ่งที่จะรบกวนภาพลักษณ์ของตนเอง เขาจะชื่นบานอยู่กับประสบการณ์ใหม่ๆ คนใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ และสามารถเป็นนักสร้างเครือข่าย นักสังเคราะห์และนักทฤษฎีที่สร้างสรรค์

 

คน 8 : เจ้านาย (The Protector) 


คน 8 เป็นคนกล้าแสดงสิทธิ์จนถึงก้าวร้าวเป็นครั้งคราวดำเนินชีวิตแบบต้องได้ทั้งหมด หรือไม่เช่นนั้นจะไม่เอาเลย  เขามักเป็นผู้นำหรือไม่ก็เป็นตัวของตัวเองอย่างดุเดือดกล้าแข็ง สามารถปกป้องเพื่อนหรือคนในปกครองอย่างเข้มแข็ง รู้ว่าตัวเองคิดอะไร มุ่งรักษาความยุติธรรม เที่ยงธรรมเที่ยงตรงและมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อผดุงไว้ คน 8 สามารถที่จะถูกชักชวนให้สำเริงสำราญได้สุดเหวี่ยง นับตั้งแต่ดื่มเมามายกับเพื่อนฝูงหรือร่วมกลุ่มถกเถียงทางความคิด  เขาตระหนักว่าอำนาจอยู่ ณ หนใด จึงไม่ปล่อยตนเองถูกควบคุม แต่อาจครอบงำผู้อื่น คน 8 สามารถใช้พลังอำนาจของตน  เพื่อสนับสนุนสิ่งที่เขาเห็นว่ามีคุณค่าอย่างจงรักภักดีและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

 

คน 9 : ผู้ประสานไมตรี (The Mediator)


คน 9 เป็นคนใฝ่สันติ เข้าอกเข้าใจมุมมองของคนทั้งหลายได้อย่างยอดเยี่ยมแต่ไม่เข้าใจความคิด ความต้องการของตัวเองดีนัก คน 9 ชอบชีวิตที่ราบรื่นกลมกลืน สะดวกสบายจึงมีความเห็นคล้อยตามไปกับแผนการของทุกๆ คน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง  อย่างไรก็ตามในภาวะที่ถูกกดดัน คน 9 ก็อาจจะดื้อดึงดันทุรัง แถมโกรธเกรี้ยวขึ้นมาได้ ปกติแล้วคนลักษณ์นี้จะกระฉับกระเฉง มากด้วยความสนใจใคร่รู้ แต่ก็แปลกที่จะชอบผัดผ่อนสิ่งที่จำเป็นต้องทำจนนาทีสุดท้าย เขามักจะทำให้ตัวเองง่วงเหงา ด้วยการทำกิจกรรมที่ไม่อยู่ในอันดับสำคัญ เช่น อ่านหนังสือเล่นๆ ล่องลอยเฮฮาไปมาในวงเพื่อน ๆ หรือดูวิดีโอ คน 9 เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และนักเจรจาต่อรองที่ดีและสามารถทำให้การทำงานเป็นทีมมีจุดร่วม.