นพลักษณ์เน้นให้เราสังเกตการทำงานของ “กิเลส” ที่อยู่ประจำตัวเรา บางคนอาจมองไม่ออกว่า กิเลสเหล่านี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้อย่างไร ถ้าเข้าข้างตัวเองก็ไม่ยอมรับ แต่ถ้าจริงจังกับการศึกษาและเฝ้าสังเกตตัวเอง ก็จะมองเห็นว่ากิเลสเกิดขึ้นอย่างไร มันก่อปัญหาทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างไร นั่นคือ เราใช้ “นพลักษณ์” เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สาเหตุแห่งทุกข์ (ที่เกิดจากความขัดแย้งนั่นเอง)
นอกจากกิเลสของเรา คนอื่นรอบตัวเขาก็มีกิเลสของเขา บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งเกิดจากกิเลสในตัวเราไปขัดแย้งกับกิเลสในตัวคนอื่น ๆ ถ้าเป็นปุถุชนเต็มที่ กิเลสทั้ง 2 ฝ่ายก็ทำสงครามกันตามลักษณะของกิเลสแต่ละลักษณ์ จนกว่าจะระงับปัญหาได้ ในการทำความเข้าใจกระบวนการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตัวเรา เพื่อการมีสติรู้เท่าทันแทนที่จะปล่อยไปตามกลไกการจัดการที่ทำอยู่โดยอัตโนมัติ เราอาจเริ่มต้นด้วยการหัดสังเกต “ความรู้สึก” ทางจิตใจ, ร่างกาย, และทางความคิด ของเราเองเช่น
ความรู้สึกทางใจ ได้แก่ ความโกรธ เกลียด กลัว แค้น กังวล เสียใจ อึดอัด ต่อต้าน หงุดหงิด เบื่อ ดีใจ ซาบซึ้ง สะใจ เสียศักดิ์ศรี ประทับใจ ไม่ดี เศร้า รัก รู้สึกผิด สบายใจ ผ่อนคลาย สงบ ตื่นเต้น เหนื่อยใจ เหงา เก็บกด ว้าเหว่ ท้อแท้ หมดกำลังใจ น้อยใจ เป็นต้น
ความรู้สึกทางกาย ได้แก่ ความหิว เหนื่อยล้า ปั่นป่วน ความรู้สึกทางความคิด ได้แก่ สับสน ต้องจัดการ สงสัย มึนงง ไม่เข้าใจ จากตัวอย่างข้างต้น สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง มักอยู่ในกลุ่มของ ความโกรธ เกลียด กลัว แค้น กังวล เสียใจ หงุดหงิด เบื่อ สะใจ น้อยเนื้อต่ำใจ หดหู่ ต่อต้าน ไม่ดี เศร้า รู้สึกผิด หมดกำลังใจ ตื่นเต้น เหนื่อยใจ เหงา ว้าเหว่ ท้อแท้ น้อยใจ
อีกเรื่องหนึ่งที่จะมีบทบาทในเรื่องความขัดแย้งคือ กลไกทางจิต ที่เรียกว่า projection หรือ การโทษผู้อื่น ด้วยการโยน(สาเหตุของความขัดแย้ง)ใส่คนอื่น เมื่อเราเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว อันเกิดขึ้นภายในจิตใจตัวเรา ถ้าความรู้จำกัดอยู่เพียงภายในตัวเรา เรื่องก็คงจบแค่นั้น ถ้าเราสามารถอยู่กับมันอย่างสงบ แต่เพราะมีอารมณ์ต่าง ๆ จนเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้ง มากกว่าจะเป็นผลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ถ้าอึดอัดไม่สงบในตัวเรา จะทำให้ความขัดแย้งเกิดต่อเนื่องกันไป หรือทวีความรุนแรงมากขึ้น ตัวที่ก่อปัญหาคือ projection ทั้งสองฝ่ายต่างโยนโทษใส่กัน
ลักษณ์ |
กิเลสประจำลักษณ์ |
กิเลสมักแสดงตัวเมื่อ |
สิ่งที่เพื่อนร่วมงานมักจะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่สร้างความขัดแย้ง |
1 |
โกรธ |
เมื่อตนเองและผู้อื่น หรือสิ่งต่างๆรอบตัว ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือ สิ่งที่ถูก ที่ควร จะเกิดอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิดง่าย |
โมโหง่าย หงุดหงิดง่าย |
2 |
ถือตัว |
เมื่อตนเองมีความต้องการ แต่ไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองให้คนรู้ได้ และโยนใส่ว่าทำไมไม่รู้ หรือไม่ทำในสิ่งที่ฉันต้องการให้ฉันบ้าง |
การเอาใจใส่ของคนสอง ทำให้คนอื่นสงสัย ระแวงถึงเบื้องหลังของพฤติกรรม |
3 |
หลอกลวง |
เมื่อมุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จ เป้าหมาย จึงสร้างอัตลักษณ์ให้ตนเองทำทุกอย่างเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นๆ โดยลืมความเป็นจริงทั้งเรื่องของศักยภาพของตนเอง และของผู้อื่น จึงลืมที่จะใส่ใจสุขภาพของตนเอง และความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน |
รู้สึกเหมือนถูกหลอกใช้ |
4 |
อิจฉา |
เมื่อมีการเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือ เปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นอุดมคติที่ตนเองสร้างขึ้น จึงพบว่าตนเองขาด ไม่สมบูรณ์ |
อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เข้าใจยาก (อารมณ์ศิลปิน) |
5 |
โลภ |
เมื่อรู้สึกว่าข้อมูลที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ เมื่อรู้สึกว่าพลังงานของตนเองไม่เพียงพอ จึงสงวนสิ่งเหล่านั้นไว้ ไม่แบ่งปันให้กับคนใกล้ตัว หรือเพื่อนร่วมงาน |
สงวนท่าที หรือ เก็บตัวมากเกินไป ทำให้เพื่อนร่วมงานอึดอัด |
6 |
กลัว |
เมื่อมีความรู้สึกไม่มั่นคง ระแวง สงสัยในเจตนาที่ซ่อนเร้นของคนอื่น ของสถานการณ์ และหลายครั้ง |
เป็นมนุษย์เจ้าปัญหา ขี้สงสัย หลายครั้งทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกเหมือนถูกไม่ไว้วางใจ |
7 |
ตะกละ |
เมื่อรู้สึกว่ามีข้อจำกัดกับชีวิต หรือการทำงาน จึงต้องแสวงหาความสุข ความสนุกในรูปแบบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา |
สนุกไปวันๆ เลยหย่อนยานเรื่องความรับผิดชอบ |
8 |
กำหนัด |
เมื่อรู้สึกว่าต้องควบคุม ต้องจัดการ จึงกำหนัด(แสดงออกอย่างมากมาย- สนุกในการแสดงพลัง) ในพลัง อำนาจของตนเอง |
ภาษาท่าทาง และน้ำเสียง มีลักษณะคุกคาม ก้าวร้าว |
9 |
เฉื่อยชา |
สำหรับความต้องการของตนเองแล้ว คนเก้าจะเฉื่อยชาที่จะกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อนตนเอง |
สื่อสารวกวน คลุมเครือ ไม่ชัดเจน |
ตัวอย่าง เช่น คนลักษณ์ 1 เกิดขัดแย้ง โมโห ตอนแรกก็คุมไว้ โดยการใช้กลไก Reaction formation พอจัดการไม่ได้ ข้างในก็โมโห แทนที่จะยอมรับว่า “ฉันโมโห” ก็เลยโยนใส่เขาว่า ฉันโมโหเพราะคุณเป็นอย่างนี้ คุณทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง” นี่คือผลของการที่กลไกจัดการกับกิเลสไม่ได้ ก็เลยอาศัยการโทษผู้อื่น จะโทษอย่างไรก็แล้วแต่วิธีคิดของลักษณ์ของเรา การโทษคนอื่น ทำให้เรามองเห็นเขาในมุมมองที่ไม่เป็นจริง กลายเป็นอคติ เป็นเป้าหมายของการโจมตีของกิเลสของเรา เมื่อมองไม่เห็นตัวจริงของเขา ก็ขาดน้ำใจ ขาดความเข้าใจ ง่ายที่จะเกิดความขัดแย้งใหญ่โต
เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเหล่านี้ เราต้องมองเห็นความสำคัญของการรู้เท่าทันกลไกการโทษคนอื่น ซึ่งอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปแบบเฉพาะตัว และเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสอนไม่ต้องฝึก ถ้าเราสามารถจับลักษณะของมันได้ และเริ่มเท่าทันมัน แทนที่จะปล่อยให้มันเกิดอัตโนมัติ เราก็อาจพอรู้ตัวและสามารถจับมันและคลี่คลายปัญหาไปได้