การฟุ้งซ่านของคน 9 ลักษณ์
เมื่อพวกเราพยายามนั่งสมาธิ อาจสังเกตพบว่าเราจะมีความฟุ้งซ่านแตกต่างกันไป ตามลักษณ์ของตนเอง ฃึ่งพอจำแนกคร่าวๆได้ ดังนี้
ศูนย์หัว
ความคิดมักจะมีเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ตามแบบลักษณ์ 6 , 7, 5 ซึ่งอาจจะมีความฟุ้งซ่านชนิดที่บางคนเป็นแบบเบอร์ 6 มากกว่า เบอร์ 7 มากกว่าหรือเบอร์ 5 มากกว่าหรือเราอาจจะปนกันทั้ง 6 , 7 หรือ 5 ให้ลองสังเกตดูเอาเอง แม้แต่พวกเราที่ไม่ใช่ศูนย์หัว เราจะเป็นแบบไหนอาจจะเป็นว่าถ้าเราลักษณ์ 2 หรือลักษณ์ 8 จะฟุ้งซ่านคล้ายเบอร์ 5 ถ้าเราลักษณ์ 9 หรือ 3 อาจฟุ้งซ่านแบบลักษณ์ 6 ถ้าลักษณ์ 1 หรือ 4 จะฟุ้งซ่านแบบลักษณ์ 7 ให้ดูเอาเองว่าเมื่อคิดฟุ้งซ่านมันจะเป็นอย่างไร
ลักษณ์ 6
ฟุ้งซ่านแบบลักษณ์ 6 ก็จะฟุ้งซ่านแบบสิ่งที่ไม่แน่นอนก็คือทุกสิ่งทุกอย่าง มันวิตกกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้น สงสัยอยู่เรื่อย ๆ เผอิญโลกเราก็เต็มไปด้วยสิ่งไม่แน่ไม่นอนก็เลยมีวัตถุที่จะสงสัยตลอดเวลา ลมหายใจเข้าแล้ว เดี๋ยวจะหายใจออกหรือเปล่า ลมหายใจออกแล้วเดี๋ยวจะหายใจเข้าหรือเปล่า ขาเหน็บชาเดี๋ยวจะตายหรือเปล่า ง่วงนอนเดี๋ยวจะเป็นลมหรือเปล่า ไม่รู้มันคิดอย่างไร แต่มันคิดได้สารพัดอย่างเพราะเราอยู่ในโลกที่ไม่แน่นอนอยู่แล้ว สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย เราจะมองว่าลึก ๆ คน 6 รู้จักสัจธรรมตรงนี้ ว่าตามธรรมชาติทุกอย่างมันอนิจจัง มันไม่เที่ยงไม่แน่นอนเพราะฉะนั้นคน 6 จะเก่งในการสงสัยแม้ในปัจจุบัน มันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกกันแน่ มันแปลกดี พอมันคิดก็เอาเรื่องที่แจ่มแจ้งเฉพาะหน้าแต่พอไปคิดมันอาจจะสับสนได้ ถ้าพยายามคิดจะทำให้ตัวเองสับสนได้ แต่ถ้าไม่คิด เอาสติของตัวเองไปจับดูว่ามันหายใจเข้าหรือออก มันจะง่ายกว่ากันเยอะ พอนึกเรื่องอนาคตยิ่งไปกันใหญ่ เพราะว่าอนาคตยิ่งไม่แน่นอน โอกาสจะฟุ้งซ่านก็เยอะขึ้น จนถึงกลัวก็ได้ ถ้าฟุ้งซ่านแบบนี้ กังวลเรื่องอนาคต สับสนกับปัจจุบัน มีผลทำให้
1. ก็อาจจะทำให้กลัว ต้องจับอารมณ์ว่ากลัวหรือเปล่า
2. การหายใจแบบลักษณ์ 6 ที่หายใจแบบที่เรียกว่า เหมือนกระต่าย ค่อนข้างสะอึก และถ้าสติดีอาจจะจับสังเกตกลไกป้องกันตนเองของลักษณ์ 6 คือ การโยนใส่
สิ่งเหล่านี้เชื่อมกันระหว่างนิสัยทางการคิด นิสัยทางอารมณ์ โลกทัศน์ที่มองว่าโลกนี้มันน่ากลัวโลกนี้เต็มไปด้วยอันตรายที่อาจทำลายเราได้
ลักษณ์ 5
สำหรับลักษณ์ 5 วิธีคิดก็คือ มีอะไรกำลังจะหมด หรือ หมดแล้วทำให้หดตัว เก็บตัว เพื่อคิดพิจารณา การสังเกตของลักษณ์ 5 ไม่ใช่แค่สังเกตเห็นภาพ มันคิดเสียมากกว่า อาจจะต้องการแยกเพื่อชัด ๆ ก็จะ
คิด ๆ ๆ ๆ คิดเรื่อยเปื่อย คิดหาข้อสรุป เพื่อจะสบายใจจะได้จัดการถูกว่าควรทำอย่างไรกับสิ่งนี้ จะป้องกันไม่ให้เสียเวลา ไม่ให้เรียกร้องอะไรจากเรา เราจะมีวิธีที่ไม่ให้ถูกครอบงำ มักจะเรียกว่า “ผู้สังเกต” หากลักษณ์ 5 สังเกตด้วยสติและเห็นภาพที่เป็นจริง อันนั้นก็เป็นบารมี พวกเราหลาย ๆ คน อาจจะคิดตามแบบลักษณ์ 5 นี้บ้างบางเรื่อง แต่คนลักษณ์ 5 จะคิดแบบนี้เป็นประจำ มันเชื่อมกับอารมณ์ที่เรียกว่า โลภะ หรือกระหายความรู้ การหายใจก็เบา ๆ ค่อย ๆ อ่อนแอ แบบคนที่กลัวว่าโลกจะแทรกแซง บุกรุกตัวเรา ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตนเองของลักษณ์ 5 คือการแยกตัวเองออกจากความรู้สึก
ลักษณ์ 7
สำหรับลักษณ์ 7 พอมีอะไรที่เข้ามา ที่เจ็บ ซ้ำซาก น่าเบื่อ ลำบากหรือแคบ จิตจะหนีทันที จะหนีไปทางที่สนุก เพลิดเพลิน สร้างสรรค์ มักจะเรียกว่า “การวางแผน” วางแผนที่จะทำสิ่งนี้ สิ่งโน้น ที่สนุกกว่า ดีกว่า น่าสนใจกว่า ก็แล่นไปในอนาคตเสียแล้ว ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่กับความจริง จะฝันไปทางไหนก็สนุกไป หาที่เป็นสุขกว่า บางทีแบบธรรมะ ธรรมโม สิ่งที่ฝันอาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสงบ เห็นภาพตัวเองนั่งสมาธิบนภูเขา มีต้นไม้สวย ตัวเองนั่งขัดสมาธิดีมาก ๆ และฝันว่าใจตัวเองสงบ อาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ แล้วอ้างนั่นคือการให้กำลังใจตัวเองแต่จุดอ่อนอยู่ที่ว่ามันไม่เป็นจริงแล้วถ้าฝันไปเรื่อยๆ มันก็ไม่มีทางที่จะเป็นจริงด้วยเพราะว่าการฝันก็ไม่ใช่ทางที่จะเป็นสมาธิจะให้ภาพนั้นเป็นจริงก็ต้องปฏิบัติอยู่กับปัจจุบัน อารมณ์ที่ไปด้วยกันก็คือ ตะกละ การหายใจก็เป็นแบบไม่ลึก ค่อนข้างผิวเผิน ตื่นเต้นเสียหน่อย จะหายใจสั้นคล้ายเบอร์ 6 ตื่นเต้นคนละแบบ แต่อาจตื่นเต้นด้วยความกลัวบ้าง
ศูนย์ใจ
ลักษณ์ 3
คนลักษณ์ 3 มักจะมุ่งไปในเรื่องที่จะทำต่อไป คน 5 ก็อาจจะคิดเรื่องนี้ด้วยแต่ต่างกันอยู่ที่คน 5 หดตัวเพื่อคิด แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะคิดในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และร่วมในสิ่งที่กำลังจะทำและสิ่งอื่น ๆด้วย แต่คน 3 จะเน้นไปในเรื่องที่เราจะทำ เราจะทำนี่ ! เราจะทำโน่น! เพราะว่าใจคน 3 ก็อยู่กับการกระทำอยู่แล้ว สิ่งที่จะทำเพื่อสร้างภาพแห่งความสำเร็จ คิดแต่เรื่องที่จะทำและโดยนิสัยเมื่อคน 3 คิดเรื่องอะไร วิธีคิดนั้นเป็นการให้กำลังใจตนเอง เลยจะสร้างกำลังใจที่จะทำนี่ทำโน่น ทำให้อยากจะทำ ความอยากจะทำ ทำให้นั่งนิ่งลำบากเพราะใจกำลังไปแล้ว เผลอ ๆ ก็มีเป้าหมาย คน 3 ก็จะมีเยอะ นึกถึงการปฏิบัติของตนเอง สรุปเอาเป็นเป้าหมาย จากนี้ต่อไปฉันจะปฏิบัติถึงขั้นนี้ จะได้อย่างนี้ คือไม่ได้อยู่กับความจริง แต่อยู่กับเป้าหมายที่คิดว่าน่าจะได้และถ้าได้ก็เรียกว่าสำเร็จ ไปอวดเพื่อนด้วย อวดกับตัวเอง เพื่อให้ตนเองปลื้มใจ ภาพเหล่านั้นอาจจะเป็นภาพที่คิดว่าคนอื่นจะยอมรับเรา ในบางทีคน 3 ก็สร้างภาพดี ๆ นั่งดีมากแต่ข้างในมันไม่สงบก็เป็นได้ คนอื่นอาจจะเป็นอย่างนี้บ้างแต่คน 3 เก่งกว่า
ฟุ้งซ่านแบบนี้ก็ไปด้วยกันกับอารมณ์ของคนลักษณ์ 3 คือ หลอกลวง มันหลอกตัวเองโดยไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน แม้แต่ตัวเองตามหลักศาสนาก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ แต่เบอร์ 3ไม่สนใจ ไปยึดภาพความสำเร็จไว้ ลมหายใจจะค่อนข้างเร็ว แต่มีพลังมากกว่าพวกเบอร์หัว มันจะเร็วและสร้างพลังกับตัวเองที่จะออกไปทำนี่ทำโน่น มันมีพลังและเบอร์ 3 อาจจะรู้สึกว่ามีความสุขด้วยแต่ดูดี ๆ มันเครียด อาจจะไม่เรียกว่าตึงเครียด แต่มันเครียด เพราะว่าผลักดันตัวเองมากไป แต่ถ้าดูการหายใจ ก็อาจจะหัวใจวายได้ในอนาคตเพราะว่าบีบหัวใจให้ทำงานมากไป เร็วไป วันข้างหน้าหัวใจก็ไม่ไหว
ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตนเองของลักษณ์ 3 คือผูกอัตตลักษณ์ มีความรู้สึกภายในโดยผูกอัตตลักษณ์ไว้กับภาพ ภาพที่สร้างสรรค์อยู่
ลักษณ์ 2
สำหรับคนลักษณ์ 2 จิตจะฟุ้งไปหาคนอื่น คนนี้เป็นอย่างไร คนนี้มีความสุขไหม สบายดีไหม เขาต้องการอะไร เขาจะอยู่โดยไม่มีเราช่วยเขาได้ไหม คือดูดี ๆ นึกถึงคนอื่น แต่ต้องมีตัวเราด้วย นึกถึงคนอื่นเพื่อจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยเขา แต่จิตยังมีภาพตัวเองเชื่อมอยู่ จิตก็พุ่งไปถึงคนอื่น คนที่มีความสำคัญกับเรา ที่เราอาจจะช่วยหรือทำอะไรให้เขา อารมณ์ก็คือ ถือตัว รู้สึกในใจว่าหยิ่งกว่าใคร ดีกว่าใคร จะยกตนข่มท่านหรือคน 2 แม้แต่จิตไม่พุ่งไปข้างนอกเท่าไร แต่ก็นึกถึงการนั่งสมาธิว่า ฉันจะปฏิบัติให้ได้ เพื่อฉันจะได้มีอะไรดี ๆ ที่จะแบ่งปันกับเพื่อนก็อ้างเหตุผลแบบคน 2 ถ้าเราคิดแบบนี้ การคิดแบบนี้ไม่ใช่ไม่ดี ทุกคนอาจเอาเป็นกำลังใจในการปฏิบัติแต่ถ้าเรานั่งคิดแบบนี้เรื่อย ๆ ว่าฉันจะปฏิบัติให้สงบ เพื่อจะเป็นเพื่อนที่ดีกับคนอื่นก็ดี ซึ่งในเวลาปฏิบัติไม่ต้องคิด ช่วงเริ่มต้นอาจจะต้องสร้างความมั่นใจสักนิดก็พอ การหายใจแบบคน 2 นี้ก็ค่อนข้างยืดเยื้อเกินธรรมชาติ ใช้พลังมากไป หายใจเข้าอาจจะไม่ค่อยรู้ตัว ไม่ได้หายใจเข้าลึกถึงท้อง หายใจออกก็ผลักไสให้มันยาวเกินปกติ มันก็จะเหนื่อย
ลักษณ์ 4
คนลักษณ์ 4 จะฟุ้งซ่านแบบคิดถึง คิดถึงนี้ ! คิดถึงโน่น ! อาจจะคิดถึงเรื่องในอดีต ประเภทอาลัยอาวรณ์ อาจจะเป็นภาพ คือ ลักษณ์ 4 ก็ยังเป็นลักษณ์ใจที่เรื่องภาพลักษณ์เป็นสำคัญ อาจจะเป็นภาพแห่งความรัก แห่งความสวยงามหรืออะไรที่ลึกซึ้ง เราจะนึกถึงมัน หรืออาจจะเป็นภาพของเพื่อนที่อยู่ห่างไกลจากเรา อาจจะมีอารมณ์เศร้าโศกบ้าง เศร้าโศกนี้ก็พ่วงกับอิจฉา อิจฉาใครที่ลืมตามองคนอื่นที่เขานั่งสมาธิเรียบร้อย เขามีความสุข ทำไมฉันทำไม่ได้ อิจฉาสงสารตัวเองเป็นต้น สิ่งที่จะมองแบบลักษณ์ 4 ก็คือ ภาพแห่งกรรมฐาน หรือเป้าหมาย หรืออะไรเกี่ยวกับการปฏิบัติในเชิงอุดมคติ ปรุงแต่งเป็นภาพ ค่อนข้างหรูหรา สวยงาม อาจจะมีการนึกถึงความลึกซึ้งที่จะปฏิบัติให้ถึง แต่พอเกิดภาพนี้ ก็จะรู้สึกห่างจากตัวเรา ห่างจากสิ่งนั้น มองว่าเราไม่ดีพอ เราทำไม่ได้ ก็สงสารตัวเอง การหายใจก็หายใจเข้าเยอะ ๆ เกินไป หายใจออกก็ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตนของคน 4 คือ ภาพเชิงอุดมคติหรือภาพแห่งความรักเอามาไว้ในใจ
ศูนย์ท้อง
ลักษณ์ 9
คนลักษณ์ 9 ก็มีจิตฟุ้งซ่านตามนิสัย ฟุ้งไปที่ไหนก็นึกถึงคนนี้คนนั้น ใจก็คล้อยตามคนอื่น ไปร่วมกับคนอื่น ไม่ค่อยมีเป้าหมายอย่างคน 3 แล้วก็ไม่ใช่เพื่อสนุกสนานแบบคน 7 แต่ก็คิดถึงคนนั้นคนนี้ ซึ่งก็ธรรมดา แต่ก็อีกแบบหนึ่งของคน 9 จิตก็จะกระจาย กระจายจนไม่ได้คิดอะไรชัดเจน เป็นแต่ว่าคิดนี้คิดโน่น กระจายไปทั่ว ๆ แทนที่จะคิดอย่างชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไร ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรก็มักจะคล้อยตามเรื่องราวของผู้อื่น อาจจะรู้สึกสงบหน่อย ตามนิสัยของตัวเอง แต่พลังมันกระจาย มันจะมีอารมณ์เกี่ยจคร้านอยู่ ไม่ค่อยมีอารมณ์ที่จะปฏิบัติ แม้ขณะนั่งสมาธิ อาจกำหนดลมหายใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจอย่างชัดเจนไม่ได้เพียรพยายาม มันก็เรื่อย ๆ เป็นการหายใจที่สบาย สบายแบบหายใจเข้า มันสบาย แล้วก็หาย เดี๋ยวเจอมันใหม่ มันก็อ่อนแล้วก็หาย จับเบื้องต้นเบื้องปลายมันลำบาก ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตนเองของลักษณ์ 9 ก็คือ ทำให้ตนเองรู้สึกมึนชา
ลักษณ์ 8
การคิดของคนลักษณ์ 8 คงจะไปอยู่กับเรื่องการจัดการเช่น จัดการเรื่องคนในออฟฟิศที่สร้างปัญหา จัดการคนที่บ้าน จัดการกับลมหายใจตนเอง ใช้อำนาจไปจัดการนี่จัดการโน่น ถ้าไม่คิดในทางจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ก็จะคิดในทำนองน้อยใจ เสียใจที่เขาเอาเปรียบเราหรือเขาบังคับให้เราทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ คน 8 จะน้อยใจมาก อารมณ์ก็คือ กำหนัด มันรู้สึกมันกับพลังชีวิตแต่การหายใจอาจเป็นการหายใจแบบเบ่งออก ไม่ใช่การหายใจที่ลึกอย่างสบาย แต่หายใจแบบเบ่งท้องออกให้ตัวเองรู้สึกใหญ่ แต่หายใจออกจะเหนื่อยหน่อย หายใจเข้าก็เบ่ง หายใจออกก็ไม่สมดุล มันก็เหนื่อย
ลักษณ์ 1
คนลักษณ์ 1 มักจะไปคิดในเรื่องความผิดถูก ความถูกต้องกับไม่ถูกต้องและอีกอย่างหนึ่ง ก็คิดไปในสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจากมีนิสัยที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาด คน 1 ก็จะสนใจในเรื่องนี้ หรือถึงกับทำให้กังวลว่า สิ่งที่ทำมาก็ดีถูกหรือผิดหรือสิ่งที่กำลังคิดจะทำ มันต้องทบทวนความคิดโดยละเอียด เพื่อหาความถูกต้องที่ชัดเจนและหลายอย่างเมื่อมองชีวิต มองโลกว่าเจออะไรที่ตัวเองรู้สึกไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ นิสัยของคน 1 จะแก้ไข และสิ่งนี้เลยกลายมาเป็นสิ่งที่ตัวเองต้องทำ ที่จริงไม่ต้องมีใครมาบอกคน 1 ว่า “ต้องทำ” แต่เขาจะรู้สึกตัวเองว่าต้องทำนี่ ต้องทำโน่น จนกลายเป็นภาระ แม้ขณะนั่งสมาธิแทนที่จะมาอยู่กับลมหายใจ ก็เลยมาอยู่กับสิ่งที่ต้องทำ และบางทีก็หมกมุ่นเครียดกับภาะที่แบกไว้กับสิ่งนี้ ไม่อย่างนั้นมานึกถึงลมหายใจ ก็บางที เอ๊ะ ! หายใจเข้าแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่า หรือที่เราปฏิบัติ ตรงกับที่อาจารย์สอน หรือตรงกับตำราหรือไม่ ? แล้วแต่คน 1 จะยึดหลักการหรือมาตรฐานอย่างไร ก็จะเอามาตรฐานเหล่านั้นมาตรวจสอบตัวเองว่าถูกหรือผิดหรือบางเวลา อาจจะรู้สึกเบื่อหรืออึดอัดที่จะมาตรวจสอบตัวเองอย่างนี้จนเครียด ก็เลยเริ่มไปสนใจคนอื่น เขาทำถูกหรือผิดเช่น เพื่อนขยับตัวเสียงดัง ก็ไปหาว่า เอ๊ะ ! มันมัวทำเสียงดัง ทำไมไม่รู้จักกฎระเบียบหรือ ในใจก็ว่าเขา ก็จะคิดแบบนี้กันพอสมควร
บทสรุป
ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นตัวอย่างบางอย่างที่ลักษณ์แต่ละลักษณ์จะเจอในตัวเองเมื่อพยายามจะนั่งสมาธิ ที่จริงแต่ละลักษณ์ก็จะมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งกว่านี้แต่สำหรับครั้งนี้ก็จะพูดส่วนที่จะพบหรือรู้ตัวง่าย ๆ แต่ถ้าใครเจอแบบนี้ในตัวของตัวเอง ก็อาจจะเป็นประโยชน์ในการรู้นิสัยที่จะสร้างปัญหาและอุปสรรคกับการปฏิบัติทำสมาธิและวิปัสสนาภาวนา ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ตั้งใจจะศึกษาตนเองและปฏิบัติเพื่อบรรลุบรมธรรมสูงสุด.