enneagramthailand.org

ความเครียดกับบุคลิกภาพ


เวลาที่คุณเครียด คุณเป็นอย่างไร? การแสดงออกทางบุคลิกภาพของคุณเป็นอย่างไร? แล้วภายในใจคือ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ มันเป็นอย่างไร

นพลักษณ์อธิบายว่าภายใต้ภาวะเครียดจัดซึ่งเป็นภาวะที่เราแต่ละคนรู้สึกถูกกดดันอยู่ในสภาพอึดอัดเป็นวิกฤติ  สภาพนี้รุนแรงมากจนกลไกบุคลิกภาพตามปกติประจำลักษณ์ลักษณ์ของเราไม่สามารถจัดการกับภาวะเครียดจัดนี้ได้  คนแต่ละลักษณ์จะมีการปรับพฤติกรรมโดยไม่ค่อยรู้ตัวให้มีพฤติกรรมในอีกลักษณ์หนึ่งตามภาวะลูกศร ดังเช่น คน 4 ความรู้สึกผิดหวังรุนแรง รู้สึกถึงความด้อยคุณค่าที่รุนแรงในภาวะเครียดจัดคน 4 จะมีการปรับพฤติกรรมคล้ายคน 2 ที่เข้าหาผู้คนมากขึ้นด้วยท่าทีเอาอกเอาใจ ใส่ใจคนอื่นเพื่อแสวงหาการยอมรับจาคนภายนอกจากเดิมที่คน 4 มักแสวงหา และเชื่อมั่นในคุณค่าความพิเศษของตนเองหรือคน 1 ที่มีชีวิตอยู่กับเรื่อง “ควร” “ไม่ควร” “ต้อง…อย่างนั้น อย่างนี้” ในภาวะเครียดจัดคน 1 ก็จะมีพฤติกรรมคล้ายคน 4 ที่อยู่ในภาวะอารมณ์ความโศกซึ้ง โหยหาบางสิ่งและต้องการสิ่งที่รู้สึกว่ามีคุณค่า มีความหมายกับชีวิตมากกว่าเรื่องของกฏระเบียบตามนิสัยเดิมๆ ของคน 1

ในสภาพที่ความเครียดไม่รุนแรงมาก คนแต่ละลักษณ์ก็จะมีกลไกป้องกันตน อันเป็นกลไกทางจิตวิทยาที่คนแต่ละลักษณ์มักใช้โดยไม่รู้ตัวและใช้อยู่เสมอๆ เวลาที่มีเรื่องไม่สบายใจเข้ามากระทบจิตใจ ดังเช่น กลไกป้องกันตนของคน 7 ที่เรียกว่า “การหาเหตุผลอธิบายใหม่” (rationalization)  โดยให้เหตุผลอธิบาย หรือเลือกมุมมองบางแง่มุมในเรื่องราวที่มากระทบใจในลักษณะที่ตัวคน 7 รู้สึกยอมรับ รู้สึกสบายใจกับความคิด กับเหตุผลที่สร้างขึ้นมา  หรือคน 9 ที่มีกลไกป้องกันตนที่ใช้เสมอคือ การทำให้มึนเมา (narcotization) เป็นลักษณะการมุ่งหาสิ่งทดแทน สิ่งชดเชยจากภายนอกเพื่อตอบสนองความสุข ความพอใจเล็กๆน้อยๆ โดยมุ่งหมายเพียงเพื่อหลงลืมตนเอง ไม่ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งสำคัญหรือเรื่องราวสำคัญที่อยู่ตรงหน้า

ตัวอย่างเช่น คน 7 กับคน 9 ในสภาพการณ์ที่ถูกเพื่อนร่วมงานวิพากษ์วิจารณ์ผลงานอย่างรุนแรง  กลไกป้องกันตนของคน 7 อาจทำให้คน 7 เลือกมองเหตุการณ์นี้ว่า เป็นเหตุการณ์ทีเปิดโอกาสให้ตนเองได้ยกระดับความสามารถการนำเสนอความคิด ผลงานให้ดีกว่าในครั้งต่อไป   หรือในส่วนของคน 9 อาจใช้การนิ่งเงียบ ไม่รับรู้เนื้อหาสาระการวิพากษ์วิจารณ์นั้นๆ หรืออาจพยายามเปลี่ยนประเด็นไปในเรื่องอื่นแทน  และหากบรรยากาศโต้เถียงมีความขัดแย้งสูง คน 9 ก็อาจพยายามหลีกเลี่ยงโดยวิธีใดๆ ก็ได้

ความเครียดเกิดขึ้นในเวลาใดก็ได้ เมื่อเรามีความคาดหวังในเหตุการณ์ข้างหน้าซึ่งมีความหมาย ความสำคัญต่อตัวเรา  เรารู้สึกได้เองว่าเหตุการณ์นั้นกระทบกับความมีชีวิตของเรา ทั้งในเชิงบวกเมื่อเราได้ความชื่นชม หรือสมหวังจากเหตุการณ์นั้นหรือในเชิงลบเมื่อเราผิดหวัง ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ หรือถูกข่มขู่  ดังนั้นความเครียดบางอย่างสามารถเพิ่มพูนสมรรถภาพในความมีชีวิตที่ดีให้กับเราได้  และความเครียดบางอย่างบั่นทอนความสามารถในการทำงานและการเติบโตของเราได้

ระดับของความเครียดถูกกำหนดจากการรับรู้ของเราที่มีต่อเหตุการณ์หนึ่งๆ ในยามที่มีการเผชิญหน้า  การตัดสินใจเบื้องแรกที่เรากำหนดขึ้นว่าจะจัดการกับสภาพการณ์หนึ่งๆ อย่างไร  การพิจารณาดูได้จากทางเลือกในการรับมือกับความเครียดที่เข้ามารุมเร้า  ยุทธวิธีการรับมือกับความเครียดเป็นความพยายามด้านพฤติกรรม อารมณ์และสติปัญญาในการจัดการความต้องการ ทั้งที่มาจากภายนอกและภายในตัวเรา  ซึ่งถูกประเมินว่าความต้องการนั้น จะมาชักดึงหรือมาเพิ่มพูนทรัพยากรบางอย่างของเรา

เราพัฒนา “แบบแผนทางบุคลิกภาพ” ก็เพื่อรับมือกับความเครียด  บุคลิกภาพช่วยเราคาดการณ์และบรรลุผลที่ต้องการได้ว่าอะไรมีคุณค่าต่อเรา อะไรคืออันตรายที่เราหลีกเลี่ยง  พร้อมกันนั้นแบบแผนพฤติกรรมเดียวกันสามารถสร้างความเครียดได้ หากการคิดนึกประเมินผิดพลาด หรือสร้างความคาดหวังผิดๆ จากการยึดถือในบุคลิกภาพนั้นๆ เกินไป

นพลักษณ์ช่วยหยิบยกคลังทรัพยากร และยุทธศาสตร์แนวทางที่มีประสิทธิภาพ และปรับประยุกต์ใช้ได้ของคนในแต่ละลักษณ์ และย้ำเตือนเราถึงวิธีการลดทอนแบบแผนบุคลิกภาพ ภาพลักษณ์ของเราไม่ให้เพิ่มความเครียดให้กับตัวเรา


ต่อไปนี้จะเป็นการหยิบยกแง่มุมของบุคลิกภาพทั้ง 9 ลักษณ์ต่อเหตุการณ์ความรุนแรง 11 กันยายน 2544  ซึ่งก็ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญกระทบต่อสังคมโลกและต่อประชาคมโลก ปฏิกิริยาในการรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ในคนแต่ละลักษณ์เป็นอย่างไร

หลังจากทราบข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง  


คนหนึ่งเล่าว่าเขากลับบ้าน ทำความสะอาดที่พักอาศัย ตลาดหุ้นที่นิวยอร์คดิ่งลงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ คนหนึ่งหลายคนรู้สึกโกรธ โมโห เศร้าและเสียใจในการที่พวกเขาทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการออมเงิน แทนที่จะใช้จ่ายเงินตามใจชอบแล้ว แต่ต้องมาเห็นเงินที่ออมไว้สูญหายไปในตลาดหุ้น มันไม่ยุติธรรมเลย คนหนึ่งบางท่านลดความเครียดด้วยการวางระเบียบและควบคุมชีวิตมากขึ้น  และคนหนึ่งบางท่านก็เพิ่มความเครียดด้วยความรู้สึกขุ่นเคืองในใจ และสร้างความคาดหวังกับตัวเองมากขึ้น

คนสองรู้สึกถึงความต้องการที่อยากไปติดต่อ พบปะเพื่อนๆ และต้องการที่จะไปนิวยอร์ค เพื่อช่วยเหลืออาสาสมัครกู้ภัยที่นั่น  คนสองบางคนคิดถึงเพื่อนมุสลิมที่อยู่ในสหรัฐฯ และครุ่นคิดว่าจะช่วยปกป้องเพื่อนๆ เหล่านี้ได้อย่างไร  คนสองจัดการกับความเครียดด้วยการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และใส่ใจที่ความต้องการของคนอื่นและด้วยการถ่ายถอนความต้องการของตัวเอง ออกจากการคิดนึกของตัวเอง  ซึ่งวิธีหลังนี้อาจเพิ่มความเครียดในตัวพวกเขาได้

คนสามรวบรวมทรัพย์สินเพื่อผ่อนคลายความรู้สึกบากบั่นอันเนื่องจากการทำงาน ขณะที่คนสามบางท่านขายทรัพย์สินเพื่อการผักผ่อน และซื้อหาทรัพย์สินเพื่อความมั่นคงเอาไว้แทน  คนสามหลายคนจัดการกับความเครียดด้วยการฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์ และใช้ประโยชน์จากแนวโน้มสถานการณ์ในขณะนั้น พวกเขาสร้างความเครียดด้วยการทำงานมากขึ้น และให้เวลาคิดนึกตรึกตรองกับตนเองน้อยลง

คนสี่จินตนาการตนเองเป็นคนหนึ่งในกลุ่มผู้โดยสารที่ถูกจี้เครื่องบิน และรู้สึกได้ถึงความโหดร้ายทารุณ ความรู้สึกหดหู่เศร้าหมอง คนสี่ใช้การจินตนาการทางอารมณ์ ความรู้สึกในความเห็นอกเห็นใจเพื่อเยียวยาความเครียด  การคิดฝันของคนสี่เช่นนี้สามารถเบี่ยงเบนความเป็นจริงของเหตุการณ์และทำให้คนสี่เศร้า หดหู่โดยไม่จำเป็นก็ได้

คนห้าบอกเล่าว่าช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ เธอศึกษาและหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิสลามและความเป็นของอัฟกานิสถาน  ผู้เขียน(ซึ่งเป็นคนห้า) ได้ร่วมแบ่งปันบทความที่กำลังศึกษาอยู่กับเธอด้วยเช่นกัน  คนห้าจัดการกับความเครียดด้วยการพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์เหตุการณ์นั้นๆ ความล้มเหลวในการทำลงมือทำอะไรในช่วงเกิดสถานการณ์จริง สามารถสร้างความเครียดให้กับคนห้าได้

คนหกเล่าว่าหลังเหตุการณ์เขากลับไปอยู่กับครอบครัวทันที เขารู้สึกประหลาดใจที่เขาดูสงบและไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอย่างคนอื่น  พวกเขารู้สึกมั่นคงเมื่อพวกเขารับรู้ได้ถึงความรู้สึกของความผูกพันเมื่อพวกเขาได้อยู่กับบุคคลที่พวกเขารู้สึกรัก และปลอดภัยเมื่อยู่ร่วมด้วย  สิ่งเดียวที่คนหก รู้สึกกลัวก็คือตัวความกลัวนั่นเองซึ่งเป็นตัวเพิ่มความหดหู่ เศร้าหมองให้กับตัวคนหก

เมื่อคนเจ็ดถูกถามถึงปฏิกิริยาที่มีต่อเหตุการณ์ความรุนแรง 11 กันยายน คนเจ็ดตอบโดยไม่รู้สึกลังเลว่า “ฉันแน่ใจเลยว่า บางสิ่งที่ดีๆ กำลังเกิดขึ้นจากเหตุการณ์คราวนี้”  คนเจ็ดตอบสนองโศกนาฎกรรมด้วยการค้นหาแง่บวก  คนเจ็ดมักจะลืมว่าความโศกเศร้าเป็นวิธีธรรมชาติในการผ่อนคลายความเครียด

คนแปดพูดเชิงออกตัวว่า นอกเหนือจากความรู้สึกเศร้าสลดกับเหตุการณ์และเห็นใจในเคราะห์กรรมของผู้เคราะห์ร้ายแล้ว คนแปดรู้สึกพึงพอใจกับสภาพการแก้แค้น จากที่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ คุกคามประเทศอื่นๆ สิ่งที่เรียกว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ดังก้องอยู่ในหัวคนแปด  คนแปดจัดการกับความเครียดด้วยการออกกำลังกับเรื่อง “อำนาจ” ซึ่งก็เป็นการทำให้การโต้ตอบยาวนานออกไปและทำให้ความเครียดเพิ่มมากขึ้นด้วย

คนเก้าเล่าว่าพวกเขารู้สึกทำอะไรไม่ถูก พวกเขาดูทีวีเป็นเวลาร่วมชั่วโมงในตอนนั้น  คนเก้าจัดการกับความเครียดด้วยการปล่อยให้ตนเองอยู่ในภาวะมึนงง ไม่ชัดเจนในปฏิกิริยาว่าจะตอบโต้แสดงออกอย่างไร อย่างไรก็ตามคนเก้าบวกว่าปฏิกิริยาเริ่มแรกตอนนั้น คือ การปฏิเสธและไม่เชื่อในเรื่องราวที่เกิดขึ้น  การปิดสวิทซ์ไม่รับรู้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของคนเราโดยทั่วไปเมื่อมีเหตุการณ์ที่เราปรับตัวไม่ได้  จนกว่าเราพร้อมที่จะรับรู้กับเหตุการณ์นั้น  คนเก้ารับมือกับความเครียดด้วยการไม่ยอมจัดการกับสาเหตุความเครียดที่แท้จริง

สำหรับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ถ้าเราสามารถสัมพันธ์กับเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยบุคลิกภาพด้านสูงที่หลุดจากกิเลส ซึ่งก็คือ บารมี ตามธรรมชาติในลักษณ์ของเราได้  ตรงนี้เราสามารถเข้าสู่ตัวตนที่เป็นทุกข์น้อยกว่าและสามารถจัดการกับเหตุการณ์ตามความเป็นจริงของสถานการณ์นั่นๆ ได้  และที่สำคัญสามารถจัดการกับความเครียดที่เข้ามารุมเร้าได้ดีกว่า แต่เมื่อเราโต้ตอบสภาพแวดล้อมด้วยบุคลิกภาพตามอุปนิสัย ตามกิเลสเราก็จะมีแนวโน้มที่จะอยู่กับบุคลิกภาพตัวตนตามกิเลส  และสัมพันธ์กับสภาพการณ์ที่เข้ามาตามบุคลิกภาพของลักษณ์ประจำตัว ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ การถูกรุมเร้าด้วยความเครียดที่เราสร้างขึ้นเอง .