Albert Mehrabian ได้ค้นพบในงานวิจัยของเขาเมื่อปี 1972 ว่า อารมณ์ของคนเรานั้น แสดงออกผ่านทางคำพูดเพียงแค่ 7% เท่านั้น อีก 38% สื่อสารออกมาทางการใช้เสียงซึ่งไม่ใช่คำพูด ที่เหลือส่วนใหญ่คือ 55% นั้นสื่อสารออกมาโดยไม่ใช้ทั้งคำพูดหรือเสียง ซึ่งได้แก่ ท่าทาง สีหน้า เป็นต้น ดั้งนั้นเราจึงเห็นได้ว่า การสื่อสารที่ไม่ไช้คำพูดซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “ภาษาท่าทาง” นี้เป็นการแสดงความหมายทางอารมณ์ที่แท้จริงของคนเรา
เมื่อต้นปี 2544 ผู้เขียนได้เข้าอบรมหลักสูตร Enneagram Professional Training Program กับ Helen Palmerและ David Daniels ที่เมือง Menlo Park รัฐ California เป็นเวลา 2 สัปดาห์ วิธีการสอนเป็นไปแบบที่เรียกว่า Oral tradition คือ ผู้สอนจะชี้ให้เห็นประเด็นหรือเนื้อหาของลักษณ์ต่าง ๆ จากเรื่องราวของผู้เข้าอบรมที่พูดบนเวทีสัมมนา (panel) ในช่วงการอบรมช่วงหนึ่ง HelenและDavid ได้ให้ผู้เข้าอบรมคน
อื่น ๆ สังเกตุภาษาท่าทาง ของคนที่กำลังพูดอยู่บนเวที panel ของแต่ละลักษณ์ รวมทั้งความรู้สึกถึงพลังที่แสดงออกมา แล้วสรุปออกมาเป็นลักษณะร่วมของคนแต่ละลักษณ์ ผู้เขียนขอนำมาเผยแพร่ต่อพวกเราชาวนพลักษณ์ดังนี้
คนหนึ่ง
หงุดหงิด รำคาญ เคือง เคร่งเครียด พยักหน้าบ่อย ๆ ชอบพูดเน้น ไม่ค่อยใช้คำพูดที่เกี่ยวกับอารมณ์ ท่าทางเกร็ง ๆ แข็ง ๆ กระวนกระวาย ดูไม่ค่อยสบายใจ โน้มตัวไปข้างหน้า เลือกใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง ชัดเจน
คนสอง
โน้มตัวไปข้างหน้าขณะพูด รู้สึกมีพลังออกจากตัว มีพลังมากเพื่อจะช่วยเหลือคนอื่น ประสานตากับคู่สนทนา ไม่ค่อยมีช่วงเงียบมากนัก ชวนคุย พูดเร็ว ออกท่าออกทาง ยิ้ม ท่าทางสุภาพ เตรียมพร้อม
คนสาม
เต็มเปี่ยมด้วยพลังงาน ท่าทางแบบผู้ชนะ รวดเร็ว ไม่ค่อยหยุดนิ่ง พูดชัด เร็ว ตรง ตื่นตัว ประสานตา ตามีประกาย ยิ้ม
คนสี่
เลือกแต่งตัวอย่างใช้ความคิดพิจารณา พูดเข้าใจยาก จับจุดไม่ถูก แสดงออกเหมือนตัวละครที่มีความพิเศษ แสดงออกถึงพลังในแบบผลัก ๆ ดึง ๆ
คนห้า
ควบคุมตัวเอง เกร็ง ดูสงบ ราบเรียบ พูดแล้วหยุดเป็นช่วง ๆ ทำมือทำไม้เข้าสู่ตัวเอง เอนตัวไปข้างหลัง เลิกคิ้ว นุ่มนวล ไม่รุกล้ำ ทอดสายตาต่ำ พูดน้อย ใช้คำพูดเชิงความคิด คอยสังเกตุการณ์ ครุ่นคิด
คนหก
เก็บความรู้สึกตัวเอง ตื่นตัว ระมัดระวังเหมือนพลังงานอยู่ที่หัว ไหล่ตก (พวกหวาดกลัว) สอดส่ายสายตาตรวจสอบ เห็นร่องรอยความเครียดที่กราม อาจดูกร้าวร้าว กระวนกระวาย
คนเจ็ด
มีพลังงานเยอะ รวดเร็ว ชอบขัดจังหวะ ไม่ค่อยอดทน ไม่รู้สึกเจ็บปวด เคร่งเครียดหรือกลัวในขณะที่คนอื่นรู้สึก มีท่าที เตรียมพร้อม พูดเร็ว ตอบคำถามที่ต้องการตอบ ยิ้ม มีเสน่ห์
คนแปด
เหมือนมีพลังงานเยอะพุ่งไปที่คู่สนทนา เสียงดัง ชัดเจน ห้วน ครอบครองพื้นที่ ประกาศตัวเองออกไป
คนเก้า
มองคู่สนทนาตรง ๆ ประสานกลมกลืน นิ่ง ความรู้สึกอยู่ที่ตัว ไม่ค่อยใช้คำว่า “ฉัน” ผ่อนคลาย พูดช้า หยุดพูดบ่อย ใช้คำพูดมาก ประเด็นกระจัดกระจาย
หมายเหตุ :
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ผู้เข้าอบรมสังเกตุเห็นในตัวคนแต่ละลักษณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก ซึ่งอาจมีส่วนต่างจากชาวตะวันออกอย่างพวกเรา และข้อสรุปข้างต้นก็ไม่ได้หมายความว่า คนในลักษณ์หนึ่ง ๆ จะมีลักษณะหรือใช้ภาษาท่าทางเหมือนกันหมด เพราะทุกคนย่อมมีเอกลักษณ์ของตนเองที่แตกต่างจากคนอื่น ตัวอย่างเช่น แม้เราจะพบคนเจ็ดที่พูดเร็วอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า คนเจ็ดทุกคนจะพูดเร็ว ดังเช่นคนเจ็ดที่เป็น Webmaster ของเราเป็นต้น
นอกจากนี้ ความหมายของภาษาท่าทางแต่ละอย่างก็อาจขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ แม้การยิ้มจะแสดงออกถึงความดีใจของคนทุกชนชาติ แต่ก็มีภาษาท่าทางอื่น ๆ ที่มีความหมายแตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรม ผู้เขียนจึงเห็นว่า เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับชุมชนชาวนพลักษณ์ของเรา ที่จะสังเกตุหรือศึกษาความหมายที่แสดงออกด้วยภาษาท่าทางของชาวสยามเรานี้ ในแง่มุมที่สะท้อนความเป็นลักษณ์ของเรา จึงขอเสนอให้ใช้เวทีกระดานสนทนาเป็นที่แสดงความเห็นแล้วเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาษาท่าทางของคนแต่ละลักษณ์ เพื่อเป็นองค์ความรู้อีกอย่างหนึ่งของพวกเราชาวนพลักษณ์แห่งสยามประเทศ (ออกลิเกยังไงไม่รู้เนอะ)
ป.ล. (ใน Session เดียวกันนี้ ยังมีข้อสังเกตุจากผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับคำพูด วลี หรือแนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะการใส่ใจหรือเรื่องหมกมุ่นของแต่ละลักษณ์ ถ้าเป็นที่สนใจ ผู้เขียนขอนำเสนอในโอกาสต่อไป) .