enneagramthailand.org

ในกระบวนการการศึกษาศาสตร์นพลักษณ์ มีแนวโน้มอันหนึ่งที่ค่อนข้างไม่สร้างสรรค์ จนถึงขั้นเข้าข่ายอันตราย นั่นคือการนำเอาองค์ความรู้นพลักษณ์ไปใช้เพื่อการจัดการกับผู้อื่น เช่น การติดป้าย แจกเบอร์ให้ทุกคน แล้วเหมาเอาว่าเนื่องจากเขาเป็นเบอร์นั้น เบอร์นี้ เขาจึงต้องเป็นคนแบบนั้น แบบนี้ เช่น เบอร์ 1 ต้องช่างวิพากษ์วิจารณ์ ทุกอย่างต้อง Perfect เบอร์ 5 ต้องขี้เหนียวคอยตั้งกำแพงกับผู้อื่น ๆ เบอร์ 7 ต้องเอาแต่เล่นสนุกไร้สาระไม่จริงจังกับการงาน การด่วนสรุปเบอร์ให้คนอื่นแล้วเอากรอบบุคลิกหยาบๆ ของเบอร์นั้นไปสวมว่า เขาต้องเป็นคนเช่นนั้น นับว่าเป็นการกระทำจากผู้ที่ด้านหนึ่งยังมีความรู้ความเข้าใจทฤษฎีนพลักษณ์แบบค่อนข้างผิวเผิน และตายตัวอย่างมาก และอีกด้านหนึ่งก็ยังขาดพื้นฐานทางจิตใจ ที่ถูกต้องเหมาะสม แก่การรองรับองค์ความรู้นพลักษณ์ อย่างได้ผลและเกิดประโยชน์ที่แท้จริง  


ก่อนอื่นศาสตร์นพลักษณ์นั้นมีความละเอียดและซับซ้อนมากกว่าการสรุปรวบยอด บุคลิกของคนเบอร์หนึ่ง ๆ อย่างง่าย ๆ สั้น ๆ เช่นนั้น เพราะนั่นเป็นเพียงด้านใดด้านหนึ่งมิใช่ทั้งหมดของลักษณ์นั้น ๆ ประการต่อมาแม้ในลักษณ์เดียวกันก็ยังมีควาามหลากหลายของบุคลิกลักษณะของคนลักษณ์นั้นๆ อยู่มากมาย ทั้งนี้ด้วยอิทธิพลของปีก ลูกศร ลักษณ์ย่อย สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม พื้นฐานอารมณ์ต่าง ๆ ที่มีผลกำหนดพฤติกรรมและระบบวิธีคิดของบุคคล


จุดประสงค์ของการศึกษานพลักษณ์ในอันดับแรกคือเพื่อเข้าใจตนเองและเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้ตนพ้นจากความทุกข์ที่ครอบงำชีวิต ซึ่งเกิดจากวิธีคิดและพฤติกรรมที่เป็นพิษกับตนเอง จุดประสงค์รองลงมาคือ การเข้าใจโลก เข้าใจผู้อื่น แต่มิใช่เพื่อไปตั้งแง่รังเกียจและเพิ่มความมีอคติต่อเขา หรือหวังที่จะเปลี่ยนแปลงเขาให้ได้ดังใจ(กิเลส) ของเราแต่ความเข้าใจในผู้อื่นที่ได้จากความรู้นพลักษณ์นั้น ก็เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเราเองอีกเช่นกัน หมายถึงการปรับตัวรวมทั้งวิธีการคิดและปฎิบัติของเราต่อเขาให้เหมาะสมกับบุคลิกและธรรมชาติของเขามากยิ่งขึ้น


ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องพื้นฐานของจิตใจที่จำเป็นต้องมีในระดับสูงระดับหนึ่ง เพื่อให้ความรู้นพลักษณ์เกิดดอกออกผลอย่างแท้จริง พูดอีกนัยหนึ่ง ความรู้นพลักษณ์นั้นก็เสมือนอาวุธที่แหลมคม ทรงพลัง แต่อาวุธนี้จะเกิดคุณประโยชน์ขึ้นได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ในมือของผู้มีคุณธรรมเท่านั้น คุณธรรมทางจิตใจที่จำเป็นสำหรับศึกษานพลักษณ์นั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ


1. คุณธรรมต่อตัวเอง


ความรู้นพลักษณ์จะมีความหมายหรือบังเกิดผลดีได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ศึกษานพลักษณ์นั้นมีคุณธรรมของจิตใจที่ “ไม่เห็นแก่ตัว” ไม่เอาแต่ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ และซื่อสัตย์ต่อตัวเอง พร้อมยอมรับในข้อเสียของตนเอง ไม่ติดยึดกับอัตตาของตน เขาผู้นี้คือผู้ที่สนใจและจริงจังกับการสำรวจ ตรวจสอบ สภาวะภายในจิตใจตัวเอง และ “เข้มงวดต่อตัวเอง”  พร้อมจะแก้ไขต่อสู้กับกิเลสและอัตตาของตัวเอง เพื่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตนเอง (ซึ่งเป็นกระบวนการที่เจ็บปวด) ผู้ที่พร้อมจะนำความรู้นพลักษณ์ไปเปิดโปงและแก้ไขจุดบกพร่องของตนเอง มักเป็นผู้ที่เห็นการโยงใยของบุคลิกตัวตนกับความทุกข์ของตนเอง ผู้ที่จะไม่ได้รับประโยชน์จากความรู้นพลักษณ์ในส่วนนี้ก็คือ ผู้ที่ยังมองไม่เห็นความทุกข์จากบุคลิก(ตัวตน)ปัจจุบันของตนเอง และยังยึดมั่นถือมั่นกับอัตตาของตนอย่างเหนียวแน่น พวกเขามักจะเอาความรู้นพลักษณ์ไปใช้ในทางตรงกันข้าม คือเอาไปเข้มงวดต่อผู้อื่นและผ่อนปรนให้ตนเอง


2. คุณธรรมต่อผู้อื่น


การเอาความรู้นพลักษณ์ไปใช้กับผู้อื่นนั้นเสมือนดาบสองคม ดังนั้นการมีคุณธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นและจะเป็นตัวกำหนดว่าการนำไปใช้นั้น จะเป็นไปในทางที่ดีและเกิดประโยชน์หรือโทษกันแน่ คุณธรรมที่สำคัญในข้อนี้คือ “เมตตาธรรม”และ “สามัคคีธรรม” เราเอาทฤษฎีนพลักษณ์ไปมองดูผู้อื่นเพื่อเข้าใจเขามากขึ้น และหากเรามีคุณธรรมความเมตตาเป็นพื้นฐานในจิตใจอยู่แล้ว ความเข้าใจนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีต่อกันมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน หากการมีความรู้นพลักษณ์มากขึ้นแล้ว ยิ่งทำให้เกิดความชิงชัง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายต่อกัน ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงระดับพื้นฐานทางจิตใจที่ยังไม่พร้อมในการศึกษานพลักษณ์ให้เกิดผลคณูปการใด ๆ ได้ สำหรับผู้ที่ยังมีพื้นฐานจิตใจที่เต็มไปด้วยกิเลสของความเกลียด โกรธ ริษยา พยาบาท ทฤษฎีนพลักษณ์นั้นแทบไม่มีประโยชน์อันใดและอาจเป็นโทษด้วยซ้ำ เพราะตัวกิเลสเหล่านี้จะหยิบฉวยเอาความรู้ที่ทรงพลังนี้ไปให้ตอบสนองความต้องการแบ่งแยกและทำลายกันมากกว่า


ดังนั้นการที่จะให้ความรู้นพลักษณ์ ได้เกิดดอกออกผลเป็นคณูปการได้อย่างแท้จริงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาพัฒนา ทั้งด้านในและด้านนอกของตัวมนุษย์ควบคู่กันไปอยู่เสมอ กล่าวคือด้านนอกคือการศึกษา ทำความเข้าใจกับองค์ความรู้นพลักษณ์เอง และส่วนด้านในก็คือการฝึกฝนพัฒนาจิตใจทางด้านคุณธรรม เพื่อยกระดับพื้นฐานของจิตใจให้พร้อมที่จะรองรับความรู้นพลักษณ์ ให้เกิดดอกออกผลได้จริง เพราะหากมีแต่ความรู้ทางทฤษฎีนพลักษณ์ที่แตกฉาน(ในหัวสมอง) แต่ปราศจากซึ่งคุณธรรม(ในจิตใจ)เป็นพื้นฐานรองรับ ความรู้นพลักษณ์นี้ก็อาจเรียกว่าแทบจะไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่การยังประโยชน์สุขให้กับตนเองและต่อสังคมโดยรวม