enneagramthailand.org

บทความจากท่านสันติกโร

 

1.พลังชีวิต


VIRS* เป็นภาษาลาติน หมายถึง "พลังชีวิต" ภาษาจีนคือ "ชิ" หรือ "ชี่" หมายรวมถึงพลังกาย พลังใจ และพลังชีวิต ตามปกติในช่วงที่ยังไม่มีอะไรมารบกวนเด็ก ใจสบาย ไม่อึดอัด เวลานั้น ๆ พลังจะไหลเวียนทั้งใจและกายอย่างสบาย ไม่มีอะไรติดขัด ก็จะมีความสุขตามธรรมชาติ ช่วงเด็ก ๆ เรามีเวลาอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรรบกวน ลึก ๆ เราก็จำได้ แต่อาจจำรายละเอียดไม่ได้ แต่รู้ว่าเราเคยมีช่วงเวลาที่เราสบาย อยู่ตามธรรมชาติของเรา

ปัญหาของพวกเราคือ พลังชีวิตถูกรบกวนจากสิ่งภายนอก และ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ถูกรบกวนหรือถูกบีบ โดยความพยายาม (อวิชชา) ของเราที่จะปกป้องตนเอง เพราะลักษณ์ของเราจะควบคุมพลังชีวิต จะปิดกั้นพลังชีวิต จนกว่าเป็นทุกข์ เครียด อาจจะเปรียบเทียบระหว่างช่วงที่พลังไหลเวียนตามธรรมชาติ กับเวลาที่พลังติดขัดถูกบีดรัด ปิดกั้น ทั้งนี้สภาพความจริงที่เป็นแก่นแท้ของเด็กแต่ดั้งเดิมคือ “คุณธรรม” หรือ "บารมี" ที่เป็นพลังตามธรรมชาติ แต่กิเลสเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เราสร้างขึ้นมาเอง ทำให้พลังธรรมชาติติดขัด

Emotional Passion (กิเลสทางอารมณ์)
พลังชีวิตดั้งเดิมถูกปิดกั้นและแปรเปลี่ยนไปเป็นกิเลสทางอารมณ์ เกิดขึ้นเพราะเราไม่สามารถแสดงพลังธรรมชาติได้

Opposition (การถูกแทรกแซง)
คือสิ่งกีดกั้น โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเนื่องจากไม่เข้าใจเด็ก เลี้ยงตามความรู้สึกของตน เด็กจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น

VIRS (พลังชีวิต)
คือ พลังชีวิตที่ไหลเวียนตามธรรมชาติ มีในเด็กในภาวะดั้งเดิม

1 เมื่อพลังชีวิตไหลเวียน จะรู้สึกเย็นสงบ ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจของลักษณ์นี้คือ “ความสงบเย็น” แต่เมื่อพลังชีวิตติดขัดจะเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ อารมณ์โกรธ

ลักษณ์ 2 เมื่อพลังชีวิตไหลเวียน เวลาต้องการอะไร ก็ยอมรับ ยอมขอร้องจากคนอื่น ใครจะช่วยก็รับได้โดยไม่ละอาย ไม่อึดอัด ให้ใครก็ให้ฟรี ๆ ไม่มีเงื่อนไขอะไร ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจของลักษณ์นี้คือ “ความถ่อมตน” แต่เมื่อพลังชีวิตติดขัดจะเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ ความถือตัว

ลักษณ์ 3 เมื่อพลังชีวิตไหลเวียน จะทำอะไรก็เป็นปัจจุบัน หวังเพียงสิ่งที่ทำปัจจุบัน ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจของลักษณ์นี้คือ “ความหวัง” แต่เมื่อพลังชีวิตติดขัดจะเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ “ความหลอกลวง” เพราะมีเป้าหมายจึงต้องทำ

ลักษณ์ 4 เมื่อพลังชีวิตไหลเวียน จะเห็นตนเองในลักษณะธรรมชาติตามความเป็นจริง เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ถือเป็นต้นแบบของใครของมัน ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจของลักษณ์นี้คือ “ความเป็นต้นแบบ” แต่เมื่อพลังชีวิตติดขัดจะเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ ความอิจฉา รู้สึกตนเองว่าขาด ด้อยกว่าคนอื่น จึงเกิดความรู้สึกอิจฉาสิ่งที่คนอื่นมีหรือได้

ลักษณ์ 5 เมื่อพลังชีวิตไหลเวียน จะไม่กลัวกังวลว่าพลังงาน ความรู้ไม่พอ แสวงหาเท่าที่มีอยู่ในโลก โดยไม่ต้องอยากได้เพิ่มเติมจากที่จำเป็น จึงไม่ยึดติดกับสิ่งที่หวงแหนไว้ ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจของลักษณ์นี้คือ “ความไม่ยึดติด” แต่เมื่อพลังชีวิตติดขัดจะเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ ความโลภ

ลักษณ์ 6 เมื่อพลังชีวิตไหลเวียน จะทำอะไรตามปัจจัยทางธรรมชาติ ไม่ต้องเกรงกลัวอะไร ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจของลักษณ์นี้คือ “ความกล้าหาญ” แต่เมื่อพลังชีวิตติดขัดจะเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ ความกลัว

ลักษณ์ 7 เมื่อพลังชีวิตไหลเวียน จะเสพเท่าที่มีปัจจัยในชีวิต ไม่ได้อยากจะเสพในสิ่งที่ไม่มี เสพเท่าที่จำเป็นในชีวิต ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจของลักษณ์นี้คือ “ความไม่มัวเมา” แต่เมื่อพลังชีวิตติดขัดจะเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ ความตะกละ

ลักษณ์ 8 เมื่อพลังชีวิตไหลเวียน จะทำอะไรอย่างเด็ก ๆ ไร้เดียงสา ไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ไม่ต้องควบคุม ไม่เล่นกับอำนาจ ไม่ต้องไปจัดการกับใคร ต่อสู้กับใคร เป็นตัวเราแบบซื่อ ๆ ง่าย ๆ ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจของลักษณ์นี้คือ “ความไร้เดียงสา” แต่เมื่อพลังชีวิตติดขัดจะเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ ความกำหนัด

ลักษณ์ 9 เมื่อพลังชีวิตไหลเวียน จะทำอะไรเหมาะกับตัวเอง ไม่ต้องกังวลถึงผู้อื่น ซึ่งเป็นคุณธรรมประจำใจของลักษณ์นี้คือ “การกระทำ” แต่เมื่อพลังชีวิตติดขัดจะเกิดอารมณ์ตรงกันข้าม คือ การหลงลืมตน

ความไม่รู้ ไม่เข้าใจเด็กของผู้เลี้ยงดู จะปิดกั้นเด็กมิให้แสดงพลังธรรมชาติของตน ทำให้เด็กอึดอัดขัดข้อง พลังชีวิตถูกปิดกั้น ทำให้พลังชีวิตดั้งเดิมถูกบิดเบือนไปเป็นกิเลสทางอารมณ์ เมื่อเกิดติดขัดในพลังชีวิต ในจิตใจจะเริ่มมองหากลไกป้องกันตนเอง ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามแนวโน้มของเด็กลักษณ์นั้น แทนที่จะอาศัยพลังชีวิตตามธรรมชาติ ก็จะหลอกตัวเองไปแสดงพฤติกรรมตามกลไกป้องกันตนเอง เมื่อใจเกิดสิ่งเหล่านี้ เกิดความอึดอัด ทุกข์มาก ปานกลางหรือ น้อยก็แล้วแต่ กลไกป้องกันตนเองก็จะเข้ามาจัดการ กลไกป้องกันตนเองก็ไม่สามารถจัดการได้อย่างเต็มที่ เพียงพอเอาตัวรอดเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาลักษณ์ย่อยกลไกป้องกันตนเองเป็นวิธีทางธรรมชาติที่จะเข้ามาจัดการกิเลส

นอกจากนี้ยังมีกลไกชนิดสากลคือ "Projection" โดยเฉพาะเมื่อเด็กเริ่มคิดเป็น ก็จะหาวิธีโยนเข้าไปสู่โลกภายนอก เช่น ลักษณ์ 7 ตะกละ จะฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น ก็จะพยายามหาเหตุผลต่าง ๆ (Rationalization) ว่าสิ่งนี้น่าสนใจ น่าสนุก คล้ายกับว่า หาเหตุผลให้กับสิ่งที่สอดคล้องกับกิเลสของตน เช่น ทำไมฉันโมโหเพราะคุณผิด ทำไมฉันถือตัวเพราะคุณไม่ได้ทำอะไรสักอย่างแต่ฉันช่วยคุณตลอดเวลา หรือ หาเหตุผลว่าฉันต้องเล่นบทบาททั้งหลายเพราะพวกคุณไม่รู้จักตัวเราจริง ๆ เอาแต่ชมผลสำเร็จของเรา/ผลงานของเรา หรือฉันอิจฉาเพราะคุณไม่เข้าใจฉัน ไม่สามารถมองเห็นความในใจที่ดี ๆ ของฉันได้ลึกซึ้ง และมักทำอะไรให้ฉันเสียใจอยู่เรื่อย ๆ หรือ เราโลภเพราะสังคมหรือคนรอบ ๆชอบจะเข้ามาแทรกแซงมาดึงพลัง/ความรู้/เวลาของเราไป ฉันกลัวเพราะข้างนอกอันตรายไว้ใจไม่ได้ ถ้าไม่กลัวก็คือโง่ เพราะถ้าไม่กลัวก็ไม่เตรียม เมื่อกลัวก็เตรียมการเพื่อป้องกันอันตรายทั้งหลาย จะทำอะไรก็ต้องทำเต็มที่ถ้าไม่ทำเต็มที่พวกบ้าอำนาจก็จะมาทำลายเรา หรือ เราต้องเฉื่อยชาเพราะใคร ๆ ก็มองข้ามเราตลอดไม่มีใครเห็นความสำคัญของฉัน ถ้าฉันเป็นตัวของตัวเองเมื่อไรไม่มีใครสนใจไม่มีใครเห็น

จะเห็นว่า มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดความคับข้องติดขัดก็หาเหตุผลไม่ได้ ก็เลยไปโทษสิ่งอื่น ๆ รอบตัวเอง กลไกประจำลักษณ์จึงมีบทบาทสำคัญ Projection เป็นกลไกของลักษณ์ 6 ที่เป็นสากล เมื่อกลไกป้องกันตัวเองทำงาน จะเกิดผลต่อตัวเองในการรับรู้โลกภายนอก เช่น เราจะเลือกรับรู้ สนใจกับสิ่งที่เราใส่ใจ แต่ถ้าพลังชีวิตของเราไหลเวียนเปิดกว้าง จะสามารถเปิดรับโลกภายนอกได้กว้างขวางขึ้น เพราะไม่ติดขัดถูกบีบรัด แต่เปลือกเหล่านี้ก็มีประโยชน์ เพราะช่วยให้เด็กอยู่ได้ บางส่วนที่เรามองเห็นก็เป็นจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดไม่ใช่ตลอดเวลา เช่น ความผิดพลาดมีจริง แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่ต้องถูกลงโทษตลอดเวลา แต่เพราะเราใส่ใจกับความผิดพลาด จึงทำให้เราเชื่อว่าคนผิดต้องถูกลงโทษ เพราะเราขยายความเชื่อของเราไปอธิบายเรื่องทั้งหมด หรือลักษณ์ 4 ก็จริงที่บางเวลา เด็กไม่มีเวลาใส่ใจเรา ทำให้เราขาดความรักไปชั่วคราว แต่ไม่ใช่จริงตลอดเวลา แต่เพราะเราไม่ยึดติดกับมัน จึงเอาความจริงเพียง 10% ไปอธิบายเรื่องทั้งหมดในโลก หรือแม้แต่ภายในข้อจำกัดของโลก (ที่เบอร์ 7 หลีกเลี่ยงไม่ชอบ) ก็ยังสามารถทำอะไรได้มีประโยชน์ แต่เบอร์ 7 ไม่ทำ ไม่อยากทำ หลีกเลี่ยงไปทำอย่างอื่น ทำให้เสียประโยชน์ตรงนั้นไป

เมื่อเราเริ่มรู้ตัวว่า กิเลสแบบไหนที่ครอบงำเรา กลไกป้องกันตนเองของเราจัดการกับชีวิตของเราเกินควร มองโลกแคบไปหยุดอยู่เพียง 10% ของโลกทั้งหมด เมื่อเราเห็น ก็จะเริ่มแสวงหา จะเป็นวิธีไหนก็ตาม เราอาจจะค่อยศึกษาสิ่งที่กำลังสรุปอยู่ เป้าหมายของเราคือ สามารถกลับมาอยู่กับพลังชีวิตตามธรรมชาติ ให้เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ต้องจัดการโดยกลไกอะไร ข้างในโล่งสบาย บารมีก็จะพบในตัวเราเอง เราสามารถรับรู้ชีวิตทุกด้าน คล้ายกับมองโลกได้รอบ 360 องศา ไม่ใช่เพียง 30 องศา อย่างที่เป็นอยู่ นี่คือ แนวทางศึกษาหลัก ๆ ของพวกเรา

 

2.ใช้นพลักษณ์แก้ปัญหาความขัดแย้ง


ความขัดแย้งเกิดขึ้นในชีวิตเราด้วยสาเหตุหลายอย่าง พุทธศาสนาสอนให้เราแก้ไขความขัดแย้งที่สาเหตุ แต่สาเหตุที่เกิดจากภายนอกก็อาจแก้ไขยาก เมื่อเราศึกษานพลักษณ์ เราสามารถค้นหาสาเหตุที่อยู่ในตัวเรา อันเนื่องจากลักษณ์ของเรา ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราพอจะทำอะไรกับมันได้ด้วยตัวเราเอง โดยการผ่อนคลายมัน คลี่คลายมัน ทำให้สาเหตุลดลงได้

ปุถุชนทั่วไป เวลามีปัญหาก็จะโยนสาเหตุใส่คนอื่น โยนใส่สิ่งภายนอก พวกเราชาวพุทธ จะเน้นที่การจัดการกับภายในก่อน และบางครั้งก็จัดการกับภายนอกด้วย แต่ต้องไม่ลืมส่วนสำคัญที่อยู่ในตัวเรา ก็คือ “กิเลส” ที่อยู่ประจำตัวเรา บางคนอาจมองไม่ออกว่า กิเลสเหล่านี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้อย่างไร ถ้าเข้าข้างตัวเองก็ไม่ยอมรับ แต่ถ้าจริงจังกับการศึกษาและเฝ้าสังเกตตัวเอง ก็จะมองเห็นว่ากิเลสเกิดขึ้นอย่างไร มันก่อปัญหาทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างไร

นอกจากกิเลสของเรา คนอื่นรอบตัวเขาก็มีกิเลสของเขา บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งเกิดจากกิเลสในตัวเราไปขัดแย้งกับกิเลสในตัวคนอื่น ๆ ถ้าเป็นปุถุชนเต็มที่ กิเลสทั้ง 2 ฝ่ายก็ทำสงครามกันตามลักษณะของกิเลสแต่ละลักษณ์ จนกว่าจะระงับปัญหาได้ ในทางโลกคนส่วนใหญ่มักจะโยน(สาเหตุของความขัดแย้ง)ใส่คนอื่น ว่าเป็นความผิดของเขา แต่เพื่อประโยชน์ในการศึกษาธรรมะ เราจะกลับมาดูตัวเราในฐานะเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง

ในการทำความเข้าใจกระบวนการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตัวเรา เพื่อการมีสติรู้เท่าทันแทนที่จะปล่อยไปตามกลไกการจัดการที่ทำอยู่โดยอัตโนมัติ เราอาจเริ่มต้นด้วยการหัดสังเกตุ “ความรู้สึก” ทางจิตใจ, ร่างกาย, และทางความคิด ของเราเองเช่น ความรู้สึกทางใจ ได้แก่ ความโกรธ เกลียด กลัว แค้น กังวล เสียใจ อึดอัด ต่อต้าน หงุดหงิด เบื่อ ดีใจ ซาบซึ้ง สะใจ เสียศักดิ์ศรี ประทับใจ ไม่ดี เศร้า รัก รู้สึกผิด สบายใจ ผ่อนคลาย สงบ ตื่นเต้น เหนื่อยใจ เหงา เก็บกด ว้าเหว่ ท้อแท้ หมดกำลังใจ น้อยใจ เป็นต้น ความรู้สึกทางกาย ได้แก่ ความหิว เหนื่อยล้า ปั่นป่วน ความรู้สึกทางความคิด ได้แก่ สับสน ต้องจัดการ สงสัย มึนงง ไม่เข้าใจ จากตัวอย่างข้างต้น สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง มักอยู่ในกลุ่มของ ความโกรธ เกลียด กลัว แค้น กังวล เสียใจ หงุดหงิด เบื่อ สะใจ น้อยเนื้อต่ำใจ หดหู่ ต่อต้าน ไม่ดี เศร้า รู้สึกผิด หมดกำลังใจ ตื่นเต้น เหนื่อยใจ เหงา ว้าเหว่ ท้อแท้ น้อยใจ

อีกเรื่องหนึ่งที่จะมีบทบาทในเรื่องความขัดแย้งคือ กลไกทางจิต ที่เรียกว่า การ projection  หมายถึง โทษผู้อื่น ด้วยการโยน(สาเหตุของความขัดแย้ง)ใส่คนอื่น เมื่อเราเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว อันเกิดขึ้นภายในจิตใจตัวเรา ถ้าความรู้จำกัดอยู่เพียงภายในตัวเรา เรื่องก็คงจบแค่นั้น ถ้าเราสามารถอยู่กับมันอย่างสงบ แต่เพราะมีอารมณ์ต่าง ๆ จนเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้ง มากกว่าจะเป็นผลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ถ้าอึดอัดไม่สงบในตัวเรา จะทำให้ความขัดแย้งเกิดต่อเนื่องกันไป หรือทวีความรุนแรงมากขึ้น ตัวที่ก่อปัญหาคือ projection ทั้งสองฝ่ายต่างโยนโทษใส่กัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความขัดแย้งจากสาเหตุนี้ ขอให้เรากลับมาเน้นที่การศึกษาภายในจิตใจของเรา วิธีการหนึ่งที่มนุษย์ชอบใช้คือ โยนใส่หรือโทษผู้อื่น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะแรก ๆ ถ้าเป็นความรู้สึกหรือกิเลสประจำลักษณ์ เช่น ถือตัว หลอกลวง อิจฉา กำหนัด ตะกละ ฯลฯ กลไกป้องกันของลักษณ์เรา จะพยายามจัดการกับมัน เพื่อให้สงบลง แต่บางกรณีความรู้สึกมาก รุนแรงมาก มันเกินความสามารถของกลไกภายในตัวเอง เราจะอึดอัดมาก เพราะกิเลสรุนแรง มันท่วมท้นเกินกว่ากลไกจะจัดการได้ ตรงนี้จึงต้องอาศัย Projection โยนใส่หรือโทษคนอื่น
ตัวอย่าง เช่น คนลักษณ์ 1 เกิดขัดแย้ง โมโห ตอนแรกก็คุมไว้ โดยการใช้กลไก Reaction formation พอจัดการไม่ได้ ข้างในก็โมโห แทนที่จะยอมรับว่า “ฉันโมโห” ก็เลยโยนใส่เขาว่า ฉันโมโหเพราะคุณเป็นอย่างนี้ คุณทำไม่ดี” นี่คือผลของการที่กลไกจัดการกับกิเลสไม่ได้ ก็เลยอาศัยการโทษผู้อื่น จะโทษอย่างไรก็แล้วแต่วิธีคิดของลักษณ์ของเราการโทษคนอื่น ทำให้เรามองเห็นเขาในมุมมองที่ไม่เป็นจริง กลายเป็นอคติ เป็นเป้าหมายของการโจมตีของกิเลสของเรา เมื่อมองไม่เห็นตัวจริงของเขา ก็ขาดน้ำใจ ขาดความเข้าใจ ง่ายที่จะเกิดความขัดแย้งใหญ่โต

เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเหล่านี้ เราต้องมองเห็นความสำคัญของการรู้เท่าทันกลไกการโทษคนอื่น ฃึ่งอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปแบบเฉพาะตัว และเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสอนไม่ต้องฝึก ถ้าเราสามารถจับลักษณะของมันได้ และเริ่มเท่าทันมัน แทนที่จะปล่อยให้มันเกิดอัตโนมัติ เราก็อาจพอรู้ตัวและสามารถจับมันและคลี่คลายปัญหาไปได้
ประเด็นต่อไป คือ ศึกษาถึงเบื้องหลังของอารมณ์ ถ้ากิเลสเป็นความขัดแย้งภายในตัวเรา แล้วเราโยนความขัดแย้งนี้ไปให้คนอื่น  ความขัดแย้งภายในตัวเราเกิดขึ้นได้อย่างไร จากอะไร ถ้าพิจารณาให้ดีความขัดแย้งเกิดจาก “ความอยาก หรือ ความต้องการ” แต่แทนที่จะได้หรือพอใจในสิ่งที่มีอยู่ เกิดมีอะไรมาแทรกแซงทำให้ไม่ได้ในสิ่งปรารถนา ก็จะเกิดกิเลส มันมีความขัดแย้งระหว่างความอยาก กับ โลกภายนอก สถานการณ์ บุคคล ที่ขัดขวางไม่ให้ความต้องการ หรือ ความอยาก นี้ประสบผล จึงเกิดกลไกโยนใส่หรือโทษว่าภายนอก ที่ทำให้เราผิดหวังไม่ได้ตามต้องการ เป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนา เราอยากได้ แต่ไม่ได้สมหวัง ก็เกิดทุกข์ เมื่อมีความอยาก ก็เกิดยึดมั่นถือมั่น เกิดกิเลส เกิดทุกข์ ลองวาดภาพถึงสิ่งขัดขวางต่าง ๆ แล้วทำให้เกิดกิเลสในตัว เรา ดังนั้นกิเลสประจำลักษณ์ จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญที่จะต้องศึกษาให้ลึกซึ้งพวกเรามีความต้องการหลายอย่างที่เราไม่รู้ตัวความรู้สึกฝ่ายกิเลสบ่งบอกถึงความต้องการและความอยากที่กำลังเคลื่อนไหว และทำงานอยู่ภายในชีวิตของเรา      

ในขั้นสุดท้ายนี้ขอให้ทบทวนว่า ความขัดแย้งอันเนื่องจากกิเลสประจำลักษณ์ของเรา เพื่อศึกษาให้ชัดเจนก็จะต้องศึกษากิเลสของเราก่อน แล้วศึกษาความอยากที่อยู่เบื้องหลังกิเลส


3.ทิฐุปาทาน


เมื่อพิจารณาดูเรื่องโลกทัศน์หรือความเชื่อพื้นฐานต่างๆ ทั้ง 9 อย่าง ก็ไม่ใช่ผิดเสียทีเดียว อย่างของคน 6 โลกมันอันตราย  เราต้องป้องกัน มันก็จริงหรือมองแบบคน 5 ว่าทรัพยากรไม่เพียงพอ  มันก็จริงทรัพยากรมีจำกัดหรือมองแบบคน 2ถ้าเราให้คนอื่น เขาก็จะเอาอะไรมาให้เรา มันก็มีอยู่บ่อยๆ แต่มันเป็นความจริงอย่างแคบๆ จริงเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด ปัญหาก็คือมันกลายเป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาเรียกว่าทิฏฐุปาทาน เป็นอุปาทานในทิฏฐิ แล้วเราไปยึดการเห็นแบบนี้จนมองโลกทั้งหมดในแง่นี้เป็นการมองแบบตายตัว ไม่เห็นวิธีอื่นเพี้ยนจากสัจธรรม  ปิดบังความจริงที่ใหญ่กว่า เอาความจริงมาเปลี่ยนเป็นความโง่เป็นอวิชชา

การศึกษาโลกทัศน์ศึกษาโดยการทบทวนตัวเอง  เราเป็นเบอร์ไหนก็ดูว่า  โลกทัศน์เหล่านี้มีอยู่ในตัวเราอย่างไร เช่นถ้าเราเป็นเบอร์ 7 ก็พยายามดูว่ามีอะไรที่จำกัดเรา ทบทวนเหตุการณ์ในอดีต ทบทวนเรื่อยๆ แล้วจะเห็นในชีวิตประจำวันด้วย  เช่นเดี๋ยวนี้ถ้าอาตมา (ลักษณ์ 1) พูดคำว่า “ถูกต้อง” ก็หยุดดูว่าถูกต้องมันมาอย่างไร  หรือเมื่อเราแนะนำใครว่าควรทำอย่างนี้ เราก็พยายามนึกทบทวนว่าคำว่า  “ควร” คำว่า  “ต้อง” มาจากไหน ได้ทบทวนมากพอจนรู้ว่าคำเหล่านี้มันไม่น่าเชื่อถือ  เมื่อเรา (เบอร์ 1)  พูดหรือถ้าเบอร์ 8  พูด “มันไม่ยุติธรรม” ต้องจัดการ  เราก็ไม่เชื่อ  มันเป็นสัญญาณว่าตัวตนเกิดขึ้นแล้วหรือถ้าเบอร์ 2 ทำให้ใครไม่พอใจ  แล้วพูดโดยอาการโกรธว่า “เพราะหวังดีกับท่าน” คำพูดแบบนี้ก็ไม่ค่อยน่าเชื่อถือเพราะนั่นเป็นอัตตาของคน 2

หลักพระพุทธศาสนาโดยสรุป เมื่อใดเรามีสติดำรงอยู่และจิตตั้งมั่นภายใน สงบภายใน มีสมาธิ เราก็สามารถเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริง เกิดญาณทัศนะ  นี่คือ วิปัสสนา เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลง เห็นอารมณ์ (สิ่งที่จิตยึดเหนี่ยว) ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลง แทนที่จะเห็นสิ่งนี้สิ่งนั้นเป็นตัวตน จะเห็นกลไก  เห็นกระบวนการของมัน เข้าถึงความไม่เที่ยง  มันไม่ตายตัว  แปรสภาพอยู่เรื่อยและเข้าถึงทุกขลักษณะ  การที่เป็นทุกข์ในตัวของมันเอง  มันทนอยู่ไม่ได้  ควบคุมไม่ได้  เหลือวิสัยที่เราจะเข้าไปควบคุมจัดการ  ครอบครองเป็นเจ้าของ  ทุกสิ่งเป็นอนัตตา มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เห็นแจ้งว่าไม่มีอะไรเป็นแก่นสารที่เราจะยึดมั่นถือมั่น ความรู้สึกที่แล้วมามันหลอกเรา  มันเหมือนมีมูลมีแก่นสาร  เมื่อเห็นว่ามันไม่มีแก่นสารก็เลยปล่อยวางได้

เมื่อปล่อยวางแล้วไม่ใช่ว่าจะดีไปหมด  สบายไปหมด ความเจ็บปวดยังมีอยู่ แต่เราไม่เป็นทุกข์กับมันเพราะว่าพอความรู้สึกกำลังก่อตัวมันปล่อยวางได้ ปล่อยวางโลกทัศน์ด้วย ไม่สามารถมองแบบแคบๆ  ปล่อยวางความรู้สึก ปล่อยวางตัวตนหรือมายา เข้าถึงบารมี เมื่อปล่อยวางแล้วมันเห็น สิ่งที่เห็นไม่ใช่เรื่องตายตัว  แล้วแต่เหตุการณ์  แล้วแต่เหตุปัจจัย เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับจิตใจ มันก็เห็น

นพลักษณ์จะอธิบาย  ‘ญาณทัศนะ’ เปรียบเทียบกับ ‘ความเชื่อพื้นฐาน’ ความเชื่อพื้นฐานหรือโลกทัศน์ทั้ง  9 แบบ  มันเพี้ยนจากญาณทัศนะ เช่น คน 1 จะเห็นว่าสิ่งต่างๆมันมีถูกต้องของมันและถูกต้องต้องอย่างนี้มีถูกต้องเดียว เป็นทิฏฐุปาทานแบบเบอร์ 1  แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามที่เรียกญาณทัศนะแบบเบอร์ 1  ก็คือ  เมื่อเห็นทุกอย่างเป็นตถตา (เป็นเช่นนั้นเอง) มีความถูกต้องในรูปแบบของมันเอง  เป็นไปตามธรรมชาติ  มันมีความถูกต้องพอดีของมัน ซึ่งไม่ใช่ความถูกต้องที่เราต้องไปกระทำ ทุกอย่างมันมีความถูกต้องในตัวของมันเอง มันถูกต้องหรือสมบูรณ์ของมันเอง

กรณีเบอร์ 4 ญาณทัศนะคือการเห็นว่าทุกอย่างมัน  Unique  มันเป็นต้นฉบับของมันเองอยู่แล้ว ทุกอย่างโดยเหตุปัจจัยจะไม่เหมือนที่เคยเกิดมาก่อน มันเปลี่ยนแปลงไม่ตายตัว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีอะไรที่น่าสนใจที่พิเศษของมันเอง มี  “ความเป็นต้นฉบับ”  หรือต้นแบบ ซึ่งเบอร์  4  ไม่ต้องไปปรุงแต่งใดๆอีก เมื่อเข้าไปปรุงแต่งจะมีตัวตน ตัวตนก็คือผู้กระทำ พอมีตัวตนจะมีความพิเศษที่เบอร์ 4 จะจัดจะทำจะตกแต่งไม่ใช่เป็นไปตามธรรมชาติ

กรณีเบอร์ 5 ญาณทัศนะคือความรอบรู้  เป็นความรู้ที่คน 5 ทำเพื่อรู้ล่วงหน้าโดยทบทวนอดีตเพื่อสร้างความรู้ต่ออนาคต ความรู้แบบนี้ไม่ใช่ความรู้ ณ ปัจจุบัน เมื่อมีผู้กระทำความรู้ก็มีตัวตนแบบเบอร์ 5

เมื่อเราปล่อยวางโลกทัศน์ เราก็จะเห็นโลกตามที่เป็นจริงเห็นกว้างทั้ง 9  มุม  มองเห็นโลก 360  องศา จากที่เคยมองโลกแค่ 40 องศาที่มันจำกัดเราหรืออย่างน้อยก็ให้มองดูมุมกลับเพื่อขยายเป็น 70 หรือ 80 องศาก็ยังดี บารมี ฝ่ายญาณทัศนะไม่ใช่เรื่องตายตัว เราอยากจะมีการมองที่ตายตัวเพราะว่ามันดูชัดเจนมั่นคงเข้าใจง่ายแต่มันแก้ปัญหาไม่ได้

สุดท้ายอยากจะฝากเอาไว้ว่า ญาณทัศนะหรือที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า  ‘สัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่เป็นเรื่องท่องจำแล้วยึดไว้ พอยึดไว้มันไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ มองไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่กำลังเป็นอยู่ ณ บัดนี้  เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรก็ไม่รู้  รู้แต่ว่าเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย การเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยจะเป็นอย่างไรเราอาจรู้คร่าวๆ  เพราะว่าเคยสังเกตเรื่องที่คล้ายๆกันแต่ก็ไม่แน่นอน ถ้าเราเอากรอบความคิดความเชื่อหรือความจำจากอดีตมาตัดสินล่วงหน้าก็จะไม่เห็นปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ

หน้าที่ของเราในเรื่องบารมีคือ ศึกษา ค้นพบและให้โอกาส ไม่ต้องพยายามสร้างบารมี ถ้าสร้างขึ้นมามันเป็นของปลอม แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาก

 

4.การปฏิบัติเพื่อไปสู่บารมีของนพลักษณ์


เนื่องจากศาสตร์นพลักษณ์เป็นเรื่องของจิตใจและจิตวิญญาณหรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเรื่องของชีวิตด้านในของมนุษย์ที่มีบริบทกว้างและลึกกว่าเรื่องของวัตถุธาตุภายนอก การที่จะทำความเข้าใจถึงสาระ, โครงสร้าง, และกลไกของนพลักษณ์ให้บรรลุผลนั้นจะต้องอาศัยขั้นตอนและวิถีทางที่ละเอียดและซับซ้อนมากกว่าการศึกษาทางโลกทั่วไป ซึ่งอาจพอแบ่งได้เป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้

1.    ปริยัติ   
ในขั้นแรกศึกษาคำศัพท์ต่าง ๆ ว่ามีความหมายอย่างไร กิเลสแต่ละอย่างมีความหมายอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำงานอย่างไร ทฤษฎีที่อธิบายและที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้เกี่ยวโยงกันเป็นกระบวนการอย่างไร ถ้าจะเข้าใจนพลักษณ์ต้องเข้าใจกระบวนการอย่างน้อยเข้าใจในระดับความรู้เชิงทฤษฎีก่อน

2.    ปฏิบัติ  
โดยมีสติสังเกต แล้วศึกษาจากชีวิตจริง  มองเข้าไปข้างใน  โดยตั้งสติสังเกต  หลังจากรู้จักศัพท์ต่างๆ แล้ว หาตัวมันที่มีอยู่จริงในตัวเรา ความจริงที่เราพบอาจจะต่างจากทฤษฎีที่เราเข้าใจ  การปฏิบัติจะช่วยปรับความเข้าใจให้ตรงกับที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณ์ของเรา  ส่วนการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องของลักษณ์อื่น ๆ นั้น  ต้องอาศัยการสนทนาและรับฟังคนลักษณ์นั้น ๆ อธิบาย  หากจะเข้าใจนพลักษณ์ให้ทั่วถึงต้องมีเพื่อนที่จะศึกษาร่วมกัน

3.    ผ่อนคลายและเปิดใจรับ  
รู้จักผ่อนคลายกับสิ่งเหล่านี้ ให้รู้ตัวว่าเมื่อบุคลิกก่อตัวมันเครียด  เบอร์ 7 หลอกตัวเองโดยเหตุผลของเบอร์ 7 ว่ามันสุขสบาย แต่ความจริงมันเครียด  เบอร์ 1 ถูกต้องแต่เครียด เบอร์ 2 ช่วยคนอื่น แต่ก็เครียด ให้รู้ว่าเครียดอย่างไร แล้วค่อยผ่อนคลาย เปิดใจรับสถานการณ์  ถ้าใจยังแคบโดยความเชื่อพื้นฐานมันจะมองไม่ลึก ไม่กว้าง ไม่ทั่วถึงแต่ถ้าฝึกผ่อนคลาย สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นแต่จะเห็นชัดเจนและ ละเอียดขึ้น แล้วก็จะเห็นกลไกจากความเชื่อพื้นฐานด้วยซึ่งเป็นชั้นที่ละเอียดกว่า ตรงนี้ลมหายใจยาว ๆ ลมหายใจลึก ๆ จะช่วยได้มากช่วยทำให้เกิดความสงบผ่อนคลาย

4.   ยอมรับ  
เมื่อมีสิ่งมากระทบก็ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าฉันเป็นอย่างนี้ตลอดเวลา แต่เมื่อมันเกิดขึ้นรู้จักมันตามที่มันเป็นและยอมรับว่ามันเป็นอย่างนี้ เมื่อมันหายก็รู้ว่ามันหาย

5.   ปล่อยวาง 
ไม่ยึดไว้ว่าเป็นตัวเรา ของเรา ไม่ยึดไว้ว่าดี ไม่ยึดไว้ว่าจำเป็นต่อชีวิตฉัน สิ่งเหล่านี้มีหลายเปอร์เซ็นต์ที่เราหลงว่าจำเป็น ถ้าไม่ระวังมาก ๆ ถ้าไม่ตั้งคำถาม  ก็จะเป็นไปตามกลไก เช่น ถ้าคน 6 คิดว่าอะไรอะไรจะมาทำร้ายเรา เราก็จำเป็นต้องวิตกกังวล คน 5 เราต้องประหยัด ถ้าเราไม่ประหยัดเราจะมีอะไรไม่เพียงพอ มักจะหลอกตัวเองอย่างนี้ เราต้องหัดปล่อยวาง

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแนวปฏิบัติกับฝ่ายที่เป็น “กิเลส” เป็นบุคลิกภาพธรรมดาทั่วไป ซึ่งขับเคลื่อนด้วยอำนาจกิเลส อำนาจความไม่รู้จริง

ถ้าเรามีสติ ผ่อนคลายเปิดรับ รู้จักสิ่งเหล่านี้ตามที่เป็นจริง ยอมรับมันแล้วปล่อยวางได้ จึงจะสามารถเข้าไปศึกษาในส่วนของฝ่าย “บารมี”  หากเราจมอยู่ในบุคลิกภาพ แม้จะรู้จักว่าบารมีควรเป็นอย่างไร แต่เราทำไม่ได้เพราะเรารู้สึกเครียดกับมันอยู่ เราจะปกป้องตัวเองโดยใช้กลไกประจำลักษณ์ แต่หากเราเริ่มสามารถผ่อนคลายปล่อยวาง เราจึงจะสามารถเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกิเลส (ซึ่งก็คือ บารมี)

เบื้องหลังความเชื่อพื้นฐานหรือโลกทัศน์จะมีสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “สัจธรรมพื้นฐาน” เช่นเบอร์ 7 เชื่อว่าโลกนี้จำกัดเรา ทำให้เราเจ็บปวดลำบาก ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ก็จะสามารถอนุมานไปสู่สัจธรรมที่แท้จริง ที่ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรจำกัดเราได้ ยกเว้นความเชื่อผิด ๆ พลาด ๆ ของเราเอง การยึดติดตัวตนของเรา ดังนั้นหากปล่อยวางได้โดยไม่มีตัวตนเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่ถูกจำกัดหรือการที่เรามองโลกว่าไม่ยุติธรรมแบบคน 8  ทำให้เราต้องปกป้องตัวเอง ไม่ให้ใครมาก้าวก่าย เอาเปรียบเรา จากจุดนี้ก็สามารถอนุมานไปสู่สิ่งตรงกันข้ามได้ว่าควรเป็นอย่างไร ซึ่งก็คือ “ความไร้เดียงสา” นั่นเองที่จะทำให้เห็นสัจธรรมทุกอย่าง เห็นว่าเมื่อโลกมีสัจจะแล้วทุกสิ่งก็มีอิสระของมันเอง โดยเราไม่ต้องไปจัดการ ลักษณะเหล่านี้ เราไม่ควรไปยึดติดแต่ให้ยอมรับมัน

ความเชื่อพื้นฐานเป็นสิ่งที่เพี้ยนจากสัจธรรม ดังนั้นเมื่อเราสามารถผ่อนคลายปล่อยวาง(จากความเชื่อพื้นฐานของเรา) สังเกตตรงนั้นว่าโลกมีหน้าตาแท้จริงอย่างไร ซึ่งตามปกติตามลักษณ์เราจะมีโลกทัศน์แบบหนึ่ง แต่เมื่อผ่อนคลายปล่อยวางได้เท่ากับไม่มีโลกทัศน์  ไม่มีความเชื่อที่เพี้ยนจากสัจธรรม พอมีประสบการณ์ตรงนี้แล้วสังเกตตรงนี้ เราจะเริ่มเห็นบารมีที่มีอยู่แต่มันถูกบดบังกลบทับอยู่  สิ่งนี้เรียกว่าบารมีฝ่าย ญาณทัศนะหรือภาษาโบราณเรียกว่า “Holy Idea”

บารมีอีกฝ่ายหนึ่งจะแสดงออกมาเมื่อไม่มีกิเลสครอบงำ เช่น พอเบอร์ 1 ตระหนักได้ถึงความโมโห ความหงุดหงิดขัดเคืองของตัวเอง เมื่อมองเห็นตัวนี้ได้ชัดก็สามารถอนุมานในทางตรงกันข้ามได้ว่าความไม่โกรธเป็นอย่างไร 

นอกจากนี้ เรายังสามารถศึกษาบารมีจากประสบการณ์ในอดีตที่เรียกว่า “Peak Experience” หรือ “ประสบการณ์สุดยอด” เช่นนักกีฬามีบางครั้งที่ทำสถิติเกินขีดจำกัดปกติของตนเองหรือนักปีนเขาที่รู้สึกกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลเมื่อยืนอยู่บนยอดเขา  หรือนักเขียนที่บางครั้งเขียนได้ดีจริง ๆ แล้วสังเกตดูตัวเองในขณะนั้น ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร ? มีความคิดความรู้สึกต่างจากในเวลาปกติอย่างไร  อย่างเช่นสมมุติว่าเราเป็นลักษณ์ 5  ในช่วง Peak Experience ของเรา เราจะปราศจากความตระหนี่ ปราศจากความโลภ ไม่หวงเวลา ไม่หวงทรัพยากรอย่างไร ก็พิจารณาหรือคน 3 ไม่หลอกลวง ไม่ยุ่งวุ่นวายอย่างไร สรุปคือให้ดูตอนที่ไม่มีกิเลสแล้วมันจะค่อยเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามที่เกิดขึ้น เมื่อเราสามารถมีสติผ่อนคลาย ปล่อยวาง 
ในชีวิตจะมีเป็นบางช่วงที่ไม่มีกิเลส อาจารย์พุทธทาสเรียกว่า “นิพพานน้อย ๆ” หรือ “นิพพานลองชิมดู” มันอาจจะไม่เด่นชัดมาก แต่ถ้ารู้จักสังเกตส่วนที่ไม่มีกิเลสหรือมีแต่น้อยมาก เราจะเริ่มเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกิเลสประจำลักษณ์เราและสามารถเข้าไปศึกษาบารมี เข้าใจมันมากขึ้น คุ้นเคยกับมัน แล้วตรงนี้ไม่ต้องพยายามที่จะสร้างบารมี พวกที่พยายามสร้างบารมีก็จะกลับมาอยู่กับอวิชชาหรือความเชื่อพื้นฐาน กลับมาอยู่กับกลไกป้องกันที่มาจากอวิชา เป็นการปรุงแต่ง เป็นตัณหาอุปาทาน แต่ถ้าให้มันออกมาโดยธรรมชาติและคุ้นเคยกับมันจะเป็นบารมีที่แท้จริง

 

5.องค์ประกอบสามระดับชั้นของนพลักษณ์


เพื่อให้เห็นภาพรวมขององค์ประกอบต่าง ๆ ของนพลักษณ์ในตัวบุคคลได้ชัดเจนขึ้น  เราอาจแบ่งโครงสร้างทฤษฎีและองค์ความรู้ของนพลักษณ์ออกเป็น 3 ระดับชั้น ตามรูปภาพประกอบ ดังนี้

องค์ประกอบ 3 ระดับชั้นของบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพชั้นนอก:
พฤติกรรมลักษณ์ย่อย: ผดุงตนให้อยู่รอด, สังคม, ความสัมพันธ์ใกล้ชิด

บุคลิกภาพชั้นใน:
กิเลส, ความคิดยึดติด, อัตลักษณ์

แก่นกลางบุคลิกภาพ:
โลกทัศน์-ความเชื่อพื้นฐาน, กลไกป้องกันตนเอง, สิ่งหลีกเลี่ยง


1. ชั้นในสุด :  แก่นบุคลิกภาพ (โลกทัศน์-ความเชื่อพื้นฐาน, กลไกป้องกันตนเอง, สิ่งหลีกเลี่ยง)


องค์ประกอบชั้นในสุด ที่เป็นเสมือนแก่นกลางของโครงสร้างบุคลิกภาพบุคคลจะเริ่มก่อรูปขึ้นมาตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดาซึ่งเป็นที่ที่เด็กในท้องจะรู้สึก อบอุ่น สบาย ไม่มีปัญหา  เรียกว่า  “อุ้มกอด” สบาย  เมื่อเด็กคลอดออกมาสู่โลกที่เราเป็นอยู่ เด็กจะเริ่มรู้สึกว่ามีปัญหา น่ากลัว  ตรงนี้เรียกว่า อุ้มกอดถูกกระแทก เมื่ออุ้มกอดถูกกระแทก เด็กจะพลัดพรากจากสัจธรรมพื้นฐาน (Basic trust) ที่มาจากการเห็นโลกตามความเป็นจริง แต่กลับไปยึดเอาความเชื่อส่วนตัวที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  ความเชื่อพื้นฐานหรือ “โลกทัศน์” นี้จะกำหนดและผลักดันยุทธศาสตร์ของลักษณ์แต่ละลักษณ์  เป็นยุทธศาสตร์ในความหมายที่ละเอียดและลึกซึ่งไม่ค่อยรู้ตัวเป็นไปโดยอัตโนมัติหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ “กลไกป้องกันตนเอง”

กลไกป้องกันตนเองนี้เป็นเสมือนเครื่องมือ ที่คนทุกลักษณ์จะดึงออกมาใช้ทันทีและโดยอัตโนมัติ เพื่อปกป้องตัวเอง  ก่อนที่จะได้รับการกระทบจากสิ่งที่คนแต่ละลักษณ์พยายามหลีกเลี่ยง เนื่องจากเกรงว่าการเผชิญกับสิ่งนั้นโดยตรงแล้ว จะทำให้ตัวเองต้องได้รับความเจ็บปวดหรือเป็นทุกข์ 

ความเชื่อพื้นฐานจะเป็นตัวกำหนดว่า  กระแสสำนึกจะแล่นไปที่ยุทธศาสตร์หรือกลไกป้องกันตนเองแบบใด  ซึ่งจะสัมพันธ์กับลักษณ์แต่ละลักษณ์  ในชีวิตจริงคนทุกลักษณ์ก็จะใช้กลไกป้องกันตนเองทั้ง 9 แบบนี้ เพื่อตอบโต้กับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความเคยชินและความถนัดที่แตกต่างกัน คนแต่ละลักษณ์ก็จะใช้กลไกบางประเภทมากที่สุด จนกลายมาเป็นกลไกประจำตัวที่แตกต่างกัน เรียกว่า “กลไกประจำลักษณ์” ดังนี้

ลักษณ์ 1 : การแสดงออกในทางตรงกันข้าม  (Reaction - Formation)
ลักษณ์ 2 : การเก็บกด  (Repression)
ลักษณ์ 3 : การผูก/แสวงหาอัตลักษณ์  (Identification)
ลักษณ์ 4 : การรับเอาสิ่งนอก (พิเศษ) มาไว้ในตัว   (Introjection)
ลักษณ์ 5 : การแยกตัวออกจากอารมณ์ความรู้สึก  (Detachment)
ลักษณ์ 6 : การโทษสิ่งภายนอก/การโยนใส่ผู้อื่น  (Projection)
ลักษณ์ 7 : การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง  (Rationalization)
ลักษณ์ 8 : การปฏิเสธ  (Denial)
ลักษณ์ 9 : การทำตนเองให้มึนชา  (Narcotizaion)

ในที่นี้จะขอขยายความกลไกหลัก 3 ประเภท ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น “กลไกประจำศูนย์” หมายถึงวิธีการที่คนแต่ละศุนย์ใช้มากที่สุดในการป้องกันตนเอง ดังนี้

การผูกอัตลักษณ์  (Identification)
คือการผูกใจไว้กับบุคคลพิเศษที่จะให้ความรัก ให้ความยอมรับ กลไกนี้จะใช้มากที่สุดในคนศูนย์ใจ

การโยนใส่ (Projection)
คือการโยนสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ภายในตัวเองเช่น ความผิดหรือความไม่พอใจของตัวเองไปใส่ผู้อื่นแล้วอ้างว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากคนผู้นั้น กลไกนี้จะใช้มากที่สุดในคนศูนย์หัว

การหลงลืมตนเอง (Narcotization)
คือการทำให้มึนชา ลืมชีวิตภายในของตัวเอง ไปสนใจกับเรื่องภายนอก  กลไกนี้จะใช้จะมากที่ในคนศูนย์ท้อง

สรุปได้ว่าคนทุกคนจะใช้กลไกป้องกันตนเองทั้ง ๙ ประเภท แต่จะมีกลไกที่ถนัดหรือใช้บ่อยที่สุด 2 ประเภท คือ “กลไกประจำลักษณ์” และ “กลไกประจำศูนย์” ของตน โดยคน 3 จะผูกอัตลักษณ์ไว้ 2  เท่า คน 6 โยนใส่ 2 เท่า คน 9 หลงลืมตนเอง 2 เท่า เมื่อเทียบกับคนลักษณ์อื่น 

การทำงานของกลไกเหล่านี้เป็นคล้ายกับพลังใต้จิตสำนึก เป็นส่วนที่ละเอียด  ซึ่งจะมีปฏิกิริยากับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยมีความเชื่อพื้นฐานเป็นตัวกำหนด  ในชั้นนี้ นอกจากความเชื่อพื้นฐานและกลไกป้องกันตนเองดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว  ยังมีเรื่องของสิ่งหลีกเลี่ยงประจำลักษณ์  ซึ่งหมายถึงสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดที่สุดให้กับคนแต่ละลักษณ์  เป็นเหตุให้คนลักษณ์นั้น ๆ พยายามหลีกเลี่ยงสิ่ง ๆ นั้นอยู่เป็นประจำ (รายละเอียดเรื่องความเชื่อพื้นฐาน, กลไกป้องกันตนเอง, และสิ่งหลีกเลี่ยงประจำแต่ละลักษณ์  สามารถดูได้จากคอลัมน์ “ทฤษฎี: พจนานุกรมคำศัพท์”) 


2. ชั้นกลาง :  บุคลิกภาพภายใน (กิเลส, ความคิดยึดติด, อัตลักษณ์)

องค์ประกอบของบุคลิกภาพในชั้นถัดมา เป็นชั้นที่หยาบกว่าชั้นแรกและเป็นส่วนรวมกันเป็นบุคลิกภาพภายในของบุคคล  ซึ่งประกอบด้วย กิเลส, ความคิดยึดติดประจำลักษณ์  และ อัตลักษณ์หรือการมองตัวเองของคนแต่ละลักษณ์ (ดูรายละเอียดได้จากบทความก่อน ๆ ในคอลัมน์ บทความพิเศษ : จากสันติกโร)


3. ชั้นนอกสุด : บุคลิกภาพภายนอก (พฤติกรรม-ลักษณ์ย่อย)

องค์ประกอบของบุคลิกภาพบุคคลที่อยู่ชั้นนอกสุด  เป็นส่วนของพฤติกรรมภายนอก  ซึ่งสังเกตได้ง่ายเพราะเป็นส่วนที่หยาบกว่า 2 ส่วนแรก  และเป็นช่องทางที่กิเลสของแต่ละลักษณ์จะแสดงออกมาโดยผ่านพฤติกรรมตามลักษณ์ย่อยของตน หรือสัญชาติญาณ 3  ด้าน (ด้านการผดุงตนให้อยู่รอด, ด้านสังคม, ด้านความสัมพันธ์ใกล้ชิด)  สัญชาติญาณเหล่านี้ไม่ได้ทำงานอย่างบริสุทธ์ แต่ถูกครอบงำโดยกิเลส ซึ่งเกิดจากความเชื่อพื้นฐานและกลไกป้องกัน   ซึ่งกลไกป้องกันจะเริ่มทำงานเมื่อมีอะไรมากระทบกระแทก ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เพื่อที่จะไม่ให้เราเป็นทุกข์มาก เราก็จะหาวิธีหรือยุทธศาสตร์และสร้างบุคลิกที่กำหนดพฤติกรรมออกมา  แล้วเราก็วนอยู่ในสิ่งเหล่านี้


6.การใส่ใจ


หนังสือเกี่ยวกับ Enneagram จำนวนมาก รวมทั้งของเฮเลน พาล์มเมอร์ ด้วย จะมีคำว่า “attention” กับ “awareness”  ให้พบเห็นบ่อยมาก คำว่า attention กับ awareness นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแนวของนพลักษณ์ที่เน้นชีวิตด้านใน สองคำนี้มีความหมายใกล้เคียงกัน หรือเกี่ยวโยงกันแต่ไม่เหมือนกัน จึงขอแยกแยะให้ชัดเจนขึ้นบ้าง ดังนี้

คำว่า awareness จะมีความหมายตรงกับความรู้ตัว การรู้สึกตัวหรือการมีสติ  ส่วนคำว่า attention มีความหมายอยู่ที่การจดจ่อ การเอาใจใส่หรือการใส่ใจ  ซึ่งอาจจะรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง  awareness นี้จะใกล้เคียงกับคำว่า “สติ” ในพุทธศาสนา คือต้องรู้ตัวระดับหนึ่ง หรืออาจจะรู้ตัวอย่างละเอียดลึกซึ้ง  แต่ attention อาจจะไม่รู้ตัวก็ได้

Attention การใส่ใจ การจดจ่อก็เป็นลักษณะของจิตเราที่เมื่อถูกกระตุ้นโดยสิ่งต่างๆ ในชีวิต ความสนใจก็จะไปที่สิ่งบางสิ่ง ซึ่งลักษณ์แต่ละลักษณ์จะใส่ใจในเรื่องที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ถ้าอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน คน 1 ก็จะใส่ใจตามมิติ เช่น ถูกผิด ดีชั่ว มีหลักการอย่างไร มีกฎระเบียบหลักการอย่างไร  คน 3 ก็จะมองในแง่ควรจะทำอะไร อย่างไรเพื่อจะได้ประสบความสำเร็จเพื่อคนอื่นจะได้ยอมรับ  คน 4 ก็ใส่ใจไปในทางที่มีสิ่งขาดหายไป  หรือสิ่งที่สวยแปลกหรือลึกซึ้ง ไม่เป็นสิ่งธรรมดาๆ และคน 6 ก็จะใส่ใจในด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อันตราย ไว้ใจได้  ไว้ใจไม่ได้ เป็นต้น

แต่นิสัยของลักษณ์แต่ละลักษณ์ ก็จะใส่ใจในบางสิ่งบางอย่างเป็นพิเศษ  หรือแม้แต่สนใจเรื่องเดียววันแต่มองคนละด้านของเรื่องนั้นเช่น คน 1 มองในด้านความถูกต้อง คน 6 มองในด้านความปลอดภัย ทำให้โลกของแต่ละลักษณ์ออกมาไม่เหมือน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียด แต่มีอิทธิพลต่อชีวิตมากอยู่

อีกประการคือ attention นั้นเป็นสิ่งที่เราฝึกเป็นนิสัยตั้งแต่เด็ก เลยมักจะไม่รู้ตัว แม้แต่เราจะมองเห็นโลกและชีวิตเพียงแค่แง่มุมบางส่วน  เราก็ถือว่านี่คือโลก(ทั้งหมด) แต่ที่จริงเรามองโลกเพียงไม่กี่องศา แทนที่จะมองรอบด้าน 360 องศา เรามองได้เพียง 30-40 องศา คือ เราใส่ใจในด้านหนึ่งมากเกินไป เช่น คน 2 ใส่ใจความต้องการของคนอื่นจนเห็นแต่เรื่องนี้  และบางทีคนอื่นไม่เห็น หรือไม่ต้องการอะไร แต่คน 2 ก็ต้องมองให้เขาเห็นให้เขามี ซึ่งทำให้มันเกินจริง เกินพอดีหรือคน 5 มองในแง่ความขาดแคลน  แต่บางเรื่องทรัพยากรก็พอใช้ได้ แต่เบอร์ 5 ก็มองแต่แง่มุมว่ามันไม่พอ เพราะฉะนั้นหากเราไม่สามารถฝึก awareness ตรงนี้ได้ โลกเราก็จะแคบตลอดไป แต่พอเมื่อรู้ตัวในเรื่อง attention นี้ เราสามารถฝึกที่จะใส่ใจในสิ่งที่เรามักจะมองข้าม เช่น บางคนคิดตลอดเวลา ไม่ใส่ใจกับด้านอารมณ์ความรู้สึกหรือบางคนทำอะไรก็ฉับไวแต่ไม่ค่อยนึกคิด  เราสามารถเพิ่มแง่มุมด้านต่างๆ ของชีวิตให้สมบูรณ์ สละสลวย ลึกซึ้งมากขึ้น

ผู้ศึกษานพลักษณ์เพื่อการพัฒนาตนเอง จึงต้องเอาใจใส่เรื่อง attention  และฝึกสังเกตแนวการใส่ใจของตนเองซึ่งจะได้รับอิทธิพลจากลักษณ์อย่างสูงมากอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ถ้าเกิดมี awareness หรือสติ รู้ตัวกับสิ่งนี้หรือองค์ประกอบของลักษณ์เรา เราก็สามารถเรียนรู้ เข้าใจ ยอมรับ คลี่คลายและปล่อยวางซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ถ้าไม่รู้ตัว หรือไม่มี awareness ก็ไม่มีทางที่จะหลุดจากเกราะหรือตะรางได้  attention จึงเป็นส่วนหนึ่งของเกราะหรือลักษณ์ แต่ awareness เป็นหัวใจของทางปฏิบัติเพื่อจะเป็นอิสระ(จากเกราะหรือตะราง) และไม่มีทุกข์

ในที่สุดการศึกษานพลักษณ์จึงตรงกับพุทธศาสนาอยู่ที่การเจริญสติ หรือฝึกมี awareness ในชั้นหยาบก่อนเช่น ตัวเองมีปัญหาอย่างไร แล้วปัญหานั้นมันเกี่ยวเนื่องกับกิเลสประจำลักษณ์อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องหยาบแล้วค่อยโยงเรื่องหยาบกับเรื่องที่ละเอียดลงไปเช่น ภาพลักษณ์ ความคิดยึดติด ความยึดมั่นถือมั่นประจำลักษณ์จนถึงชั้นละเอียดที่ค่อนข้างใต้สำนึก เช่น กลไกป้องกันตัวของลักษณ์ ถ้าเราเจริญสติในสิ่งเหล่านี้ชีวิตจะอิสระมากขึ้น จะสะดวกสบาย โปร่งใสมากขึ้นซึ่งก็จะมีความสุขภายในและมีน้ำใจ ความรักต่อผู้อื่นโดยสะดวกขึ้น

 

7.ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ


บุคคลผู้มีพื้นฐานจิตใจสูง มีเมตตา มีคุณธรรม กับบุคคลที่จิตใจมีกิเลส เห็นแก่ตัว เป็นพื้นฐาน แม้เขาทั้งสองจะได้รับความรู้ที่เท่าเทียมกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่เท่ากัน ในการเรียนนพลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน

แต่จุดดีจากการเรียนรู้แบบ panel ที่พวกเราใช้กันในการศึกษานพลักษณ์ได้ช่วยขัดเกลาพื้นฐานจิต เมื่อผู้อื่นเปิดใจเล่าถึงชีวิตซึ่งทั้งสุขและทุกข์อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าเขาบอกเล่าเรื่องที่มีเป็นทุกข์อย่างจริงใจ มันง่ายมากที่ผู้ฟังจะเกิดความเห็นใจ เกิดความเมตตา เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย อาจมีบุคคลบางกลุ่มที่ไม่เกิดความรู้สึกเหล่านั้น ซึ่งคงจะต้องเป็นคนที่ดื้อจริงๆ อาตมาถือว่านี่คือการปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่ง ขณะที่บางคนเข้าใจการปฏิบัติธรรมอย่างแคบว่ามีเพียงนั่งสมาธิ  แต่ในความเป็นจริงการสวด เดินจงกรม  บิณฑบาตร ช่วยเหลือผู้อื่น การแลกเปลี่ยนความจริงของชีวิตเพื่อให้เข้าใจกันคือการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น

ระดับขั้นการศึกษานพลักษณ์เพื่อให้พ้นทุกข์จริงๆ นั้นต้องเกิดขึ้นทั้ง 3 ระดับ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ  ปริยัติ คือการศึกษาทฤษฎี หรือเฝ้าดูตัวเองเป็นหลัก แลกเปลี่ยนหรือพูดคุยทำความเข้าใจ  สามารถอธิบายได้ว่าตนเองเป็นลักษณ์ใด ปีกใด  แต่ก็ยังไม่พ้นทุกข์อะไร  หากจะให้บังเกิดผลจริงๆ ต้องนำความรู้ในขั้นปริยัตินั้นไปใช้ในชีวิตจริง ด้วยการเฝ้าดูตัวเอง พยายามพัฒนาตนเอง และหมั่นฝึกที่จะช่วยเหลือผู้อื่น นี่คือขั้น ปฏิบัติ ซึ่งในช่วงแรกๆ อาจรู้สึกต้องฝืนตัวเองอยู่บ้าง ต่อเมื่อมีการปฏิบัติเป็นประจำ สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง จนกลายเป็นนิสัย หรือบุคลิกใหม่ประจำตัว ทำให้การปฏิบัติเป็นไปโดยอัตโนมัติ  ความรู้สึกฝืนตัวเองที่เคยเกิดก็หมดไป คือ ขั้นปฏิเวธ

ถ้าจะพูดตามภาษานพลักษณ์ การศึกษานพลักษณ์ในขั้นปฏิบัติ คือให้มีสติเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของบุคลิกในชีวิตประจำวันของตน บางเวลานั่งสมาธิจะเห็นการเคลื่อนไหวอย่างละเอียดของบุคลิกด้วย ถ้าจิตสงบบุคลิกจะยังเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ แต่จะเบาบางและละเอียดกว่า และเราก็ยังเห็นกลไกของมันเฉพาะอย่างยิ่งด้านที่ละเอียดเช่น ความเชื่อพื้นฐาน โลกทัศน์ กลไกป้องกันตนเองซึ่งเป็นส่วนที่จับยากตามยากแต่สามารถทำได้ จากนั้นจะหลุดจากด้านที่ค่อนข้างเป็นโทษและเริ่มเรียนรู้ว่าในลักษณ์ของตนเองมีด้านใดที่เป็นคุณ เช่น ลักษณ์ 7 เก่งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ก็จะเป็นประโยชน์ที่นำมาใช้เพื่อตนเองและผู้อื่น  ขยับขึ้นมากอีกนิดหนึ่งสามารถเข้าใจเรื่องบารมีในลักษณ์ตนเอง  และใช้ในการพัฒนาชีวิต จนกว่ามันเริ่มจะมีแรงเฉื่อยที่จะไปเองโดยไม่ต้องตั้งใจมาก คือเข้าสู่ขั้นปฏิเวธ แล้วในที่สุดก็เข้าถึงสิ่งที่นพลักษณ์เรียกว่าแก่นแท้และหมดทุกข์

ตรงนี้ขอแทรกทัศนะใหม่ว่า ในส่วนที่กำลังจะหลุดจากส่วนที่เป็นโทษ แล้วอยู่กับส่วนที่เป็นคุณของบุคลิกของตนเอง แม้ว่ายังเป็นการยึดมั่นถือมั่นกับตัวตน แต่เป็นตัวตนที่น่ารัก ขยัน ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นก็เรียกว่าฝ่ายที่เป็นคุณ  ซึ่งเป็นการพัฒนาตามสามเหลี่ยมที่ทุกคนอยู่ มี 3 สามเหลี่ยม คือ 3-6-9 , 1-4-7 และ 2-5-8 เมื่อเป็นด้านที่เป็นคุณนอกจากด้านของคุณในลักษณ์เราก็เชื่อมกับด้านที่เป็นคุณของอีก 2 ลักษณ์ที่อยู่ในสามเหลี่ยมกัน เช่น อาตมาลักษณ์ 1 ก็สามารถดึงคุณของเบอร์ 7 และ 4 มา ประกอบเป็นองค์รวมของชีวิตและค่อยปรับให้สิ่งเหล่านี้สมดุลกันด้วย จากนั้นก็จะเป็นฝ่ายบารมีและแก่นแท้ การศึกษานพลักษณ์ ต้องมีสติ และสมาธิไปด้วยพร้อมๆกันจึงจะเข้าถึง ถ้าจะได้ประโยชน์ในระดับสูง ก็ต้องฝึกฝนจิตใจด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับจิตใจซึ่งก็มีหลายวิธี


8.ลอกเปลือก เลือกแก่น


เรื่องที่จะบรรยายนี้อาจคล้ายกับสิ่งที่เคยเสนอบ้าง ส่วนภาพที่ใช้ประกอบนี้เป็นสัญลักษณ์ของทฤษฎีซึ่งก็ไม่ใช่ความจริง
ในโรงเรียนเขาอาจบอกเราว่าทฤษฎีเป็นความจริง แต่ไม่จริง ความจริงอยู่ที่โลกหรือชีวิต ทฤษฎีที่ใช้เพียงสรุปความจริงอย่างมีประโยชน์ เพื่อช่วยเราให้เข้าใจความจริง เข้าถึงความจริง อุปมาก็เหมือนภาพสัญลักษณ์ที่เราจะใช้ต่อไปนี้ ลองมาดูว่าภาพนี้ใช้ได้หรือไม่

เริ่มจากวงในที่สุด คือ สัญลักษณ์ในทางนพลักษณ์เรียกว่า “แก่นแท้” หรือในพุทธศาสนา คือสิ่งที่ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ไม่มีที่มา ไม่มีที่ไป คำนวณมันไม่ได้ จะพูดว่า เป็นเล็กที่สุดก็ได้ ใหญ่ที่สุดก็ได้ แต่ในภาพเขียนไว้เล็ก ๆ เพราะต้องเหลือที่ว่างไว้เขียนอย่างอื่น

ที่เขียน แก่นแท้ไว้ตรงกลาง เพราะในนพลักษณ์เชื่อว่าลึกที่สุดและแท้จริงที่สุดของชีวิต พุทธศาสนาก็มีสิ่งที่คล้าย ๆ กันเรียกว่า พุทธภาวะ ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิด เมื่อเด็กเติบโตขึ้น การก่อตัวของบุคลิกภาพประจำตัว ทำให้เบี่ยงเบียนออกจากแก่นแท้ของตัวเอง เด็กซึ่งอาจไม่ใช้ความคิดเท่าไร แต่อย่างน้อย ความรู้สึก การมองโลก จะเริ่มคลาดเคลื่อนจากแก่นแท้ เรียกว่า สมมุติฐานพื้นฐาน หรือ โลกทัศน์ แต่ถ้าในทางพุทธศาสนา เรียกว่า อวิชชา

ซึ่งชาวพุทธมักจะเข้าใจว่าอวิชชา คือ ความผิดหรือส่วนที่ผิดอย่างเดียว แต่ที่เราจะคุยกัน นี้ สมมุติฐานพื้นฐาน หรือ อวิชชา ไม่ได้ผิดทั้งหมด มันอาจมีความจริงผสมผสานอยู่ แต่พอยึดมั่น มันก็กลายเป็นไม่จริง เพราะว่ามันขาดความสมบูรณ์ ฉะนั้นในบุคลิกภาพของทุกคนส่วนที่ลึกที่สุดก็มี แก่นแท้เมื่อใจเราสงบ ตั้งมั่นมีสมาธิ รู้ตัว เราจะใกล้ชิดสิ่งนี้ แต่เมื่อเราอยู่ในภาวะปกติของชีวิต เมื่อมีอะไรมากระตุ้นทางตา จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็คลาดเคลื่อนจากแก่นแท้มาสู่ สมมุติฐานพื้นฐาน ของเรา

“สมมุติฐานพื้นฐาน” นี้มันใกล้เคียงกับ “แก่นแท้” แตกต่างกันไม่มาก แต่ต่างกันพอที่จะมองโลกคนละแบบ ทำให้เรามองโลกผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากที่มันเป็นจริง เพราะเอาส่วนที่จริงเพียงบางส่วน มากำหนดว่าโลกเป็นอย่างนี้ และมองโลกตามนั้น เช่น คน 7 มองโลกว่า ต้องสนุก ต้องไม่มีข้อจำกัด ต้องมีอิสระ มีทางเลือกอยู่ตลอดเวลา โลกนี้ต้องไม่มีความเจ็บปวด ก็มองอย่างนั้น

ถ้าเรามองโลกตามสมมุติฐานที่ตัวเองถนัด เราก็จะขยับออกห่างจากแก่นแท้ไปด้วยอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "แรงจูงใจ" (Motivation) กับ "สิ่งที่หลีกเลี่ยง" (Avoidance) ในด้านบวกก็คือ “แรงจูงใจ” ในด้านลบก็คือ “สิ่งที่หลีกเลี่ยง” หมายถึง บางสิ่ง บางอย่าง บางเรื่องที่เราทนไม่ได้ ถ้าต้องเผชิญหน้ากับมัน เช่น ความผิดพลาด (ของคน 1), ความต้องพึ่งพิงคนอื่น (ของคน 2), ความล้มเหลว (ของคน 3), ความสามัญธรรมดาทั่วไป(ของคน 4), ความสูญเปล่า (ของคน 5), ความไม่มั่นคง (ของคน 6), ข้อจำกัด และ ความลำบากไม่สะดวก (ของคน 7), ความอ่อนแอ (ของคน 8) หรือความขัดแย้ง (ของคน 9) สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสะเทือนมาก เพราะว่าเรามองโลกด้านเดียว ที่จริงสิ่งเหล่านี้ที่เราจะหลีกเลี่ยง ไม่ได้เป็นปัญหายิ่งใหญ่อย่างที่เราคิด เรารู้สึก มันเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ของชีวิต ที่ต้องมีเรื่องผิดพลาด เกิดความเจ็บปวด หรือรู้สึกอ่อนแอ แต่เนื่องจากการมองโลกที่ผิดเพี้ยนทำให้เราเห็นมันเป็นเรื่องใหญ่ โดยเริ่มจากที่ใดมีวี่แววของสิ่งเหล่านี้ เราจะหลีกเลี่ยง เห็นอะไร ได้ยินอะไร รู้สึกอย่างไร คิดอะไร ถ้าเริ่มเข้าทางของสิ่งเหล่านั้น จะเริ่มกระสับกระส่าย มีอารมณ์เพื่อที่จะหลีกเลี่ยง

ในทางตรงกันข้ามกับ “แรงจูงใจ” การมองโลกเพียงด้านเดียวของเรา จะทำให้เห็นว่ามันมีอะไรบางอย่าง ที่จำเป็นที่สุด ที่จะต้องแสวงหา ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ค่อนข้างตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อยู่คนละด้าน ทั้งสองเป็นผลมาจาก “สมมุติฐานพื้นฐาน” 
เช่น คน 1 ลีกเลี่ยงความผิดพลาด แล้วก็มีแรงจูงใจ ในทางที่จะสมบูรณ์ถูกต้อง ตามมาตรฐานให้มันดีที่สุด คน 2 หลีกเลี่ยง ความพึ่งพิงคนอื่น แต่จะมีแรงจูงใจที่จะเอาใจคนสำคัญ เอาใจใส่เขาให้เขาสมหวัง แสวงหาอภิสิทธิ์ คน 5 หลีกเลี่ยงความสูญเปล่า ขณะที่มีแรงจูงใจเรื่องความรู้ ความหมาย ข้อมูล เพราะคน 5 เข้าใจผิด ว่าถ้าหาความรู้มากพอ มันจะรู้สึกเต็ม ไม่รู้สึกสูญเปล่า แต่มันเป็นมายา เหมือนความสมบูรณ์แบบ ถูกต้องตามหลักการของคนเบอร์ 1 ก็คิดเอาเอง สมมุติเอาเอง แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหา ไม่ใช่การกลับมาอยู่กับแก่นแท้

คน 6 หลีกเลี่ยงความไม่มั่นคง ความไม่ปลอดภัย อันตราย เลยแสวงหาความเชื่อมั่น การมีศรัทธา ศรัทธาในสิ่งภายนอก ไม่ใช่ศรัทธาที่แท้จริง หรืออย่างคน 4 มีอะไรแปลก ๆ ก็รู้สึกสนใจ ตรงนี้มันน่าจะมีอะไรลึกซึ้ง มีความหมาย ก็ถูกจูงไป หรือที่ไหนมันมีอะไรที่ดูว่าเป็นเป้าหมาย เป็นความสำเร็จ มันก็จูงคน 3 ไป แต่ถ้าเป็นคน 7 ที่ไหนมีอะไรแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น น่ากระตุ้น มันก็จูงไป

ตรงนี้อันตรายของมันคือเราเชื่อว่า สิ่งนี้คือคำตอบของชีวิต ที่จริงมันแค่ความธรรมดา สิ่งที่หลีกเลี่ยงก็ธรรมดา สิ่งที่จูงใจเราก็ธรรมดา ชีวิตทั่วๆ ไปก็มีสิ่งที่หลีกเลี่ยง และ จูงใจครบทั้ง 9 แบบ แต่มันจะสร้างปัญหา เมื่อเราเชื่อว่าถ้าได้สิ่งเหล่านี้ชีวิตเราจะดี มีความสุข มั่นคง เพราะคิดว่ามันเป็นคำตอบแต่ไม่ใช่ “สิ่งที่หลีกเลี่ยง” ไม่ใช่ตัวปัญหา และ ”แรงจูงใจ” ก็ไม่ใช่คำตอบ แต่เราเชื่ออย่างนั้น เพราะอวิชชา เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

จากส่วนซึ่งค่อนข้างไม่รู้ตัว เพราะว่าเป็นมาตั้งแต่เล็ก ๆ และเป็นเรื่องค่อนข้างลึก ก็จะเป็นบุคลิกภาพภายนอก 4 อย่าง (กิเลส ความยึดติด พฤติกรรมประจำ อัตตลักษณ์) และเห็นได้ค่อนข้างไม่ยาก ที่เรียกว่า กลไกป้องกันตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้กลไกป้องกันมันจะเคลื่อนไป อาตมาจึงเขียนโดยลูกศร กลไกป้องกันค่อนข้างอยู่ใต้สำนึก แต่มีผลที่รู้สึกได้ ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่ามันทำงานอยู่ในจิตใต้สำนึกแต่เมื่อไรที่ออกมามันสร้างสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยกัน มันมีโลกแบบยึดติด ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Fixation เป็นชั้นอยู่ด้านหลัง มี กิเลสกับ ความคิดยึดติด ก็ออกมาจากกลไกป้องกัน มี “พฤติกรรมประจำ” เป็นนิสัยทางกายภาพและมี “อัตตลักษณ์” (Identity) นี้ก็คือ ภาพทั้งหมดอาตมา ไม่รู้ว่า ทำให้เราเข้าใจอะไรดีขึ้นหรือสับสน

ในการศึกษานพลักษณ์ เรามักจะเริ่มจากชั้นนอก ที่เราสังเกตได้ไม่ยาก เช่น พฤติกรรมที่แสดงออกมาบ่อย ๆ และเราจะดูว่ามันเนื่องกับกิเลสอย่างไร เนื่องกับการคิดยึดติดอย่างไร เช่น เบอร์ 8 มีพฤติกรรมชอบทำอะไรเต็มที่ ชอบสั่งการ เอามือไปชี้พูดเสียงดัง ทำอะไรสุดเหวี่ยงมีพลังมาก เป็นพวกมีพฤติกรรมนิสัยประจำที่พอจะเห็นไม่ยาก เนื่องกับกิเลส คือ กำหนัดซึ่งเบอร์ 8 มีอยู่มากเวลาทำอะไรจึงต้องให้มัน ให้สะใจ แล้วก็จะมีความคิดยึดติด คือ การแก้แค้น เมื่อมีใครทำให้เราเจ็บ ทำให้เราลำบาก เราต้องไปแก้แค้นมัน และมีอัตตลักษณ์ คือ ฉันใหญ่ ฉันมีพลัง ฉันเป็นเจ้านาย เป็นต้น

นี่เป็นเปลือกนอกที่เห็นไม่ยาก ซึ่งออกมาจากกลไกป้องกันตนเองในกรณีเบอร์ 8 คือ การปฏิเสธ เช่น การกระทำด้วยความกำหนัด ก็จะปฏิเสธความเรียบง่าย ปฏิเสธที่จะทำอะไรพอดี ๆ ปฏิเสธความประหยัด ปฏิเสธความสงบ เป็นต้น ส่วนอัตตลักษณ์ความยิ่งใหญ่ก็คือปฏิเสธความอ่อนแอ สิ่งที่เบอร์ 8 หลีกเลี่ยงคือ ความอ่อนแอหรือความบอบบาง ขณะที่สิ่งที่แสวงหาคือ อำนาจ การพึ่งตัวเอง เพื่อใครจะครอบงำอะไรเราไม่ได้ เพราะการถูกครอบงำเป็นสิ่งที่เบอร์ 8 หลีกเลี่ยง จึงต้องสร้างกลไกไม่ให้ตัวเองถูกครอบงำ บางทีตัวเองจะครอบงำผู้อื่นบ้าง เพื่อพิสูจน์ว่าคนอื่นฟังเรา


9.ข้อคิดในช่วงเทศกาลปีใหม่ (พศ. 2545)


ก่อนอื่นขอพูดถึงเรื่องที่โลกเรากำลังตื่นเต้นอยู่ คือ การก่อการร้าย เรื่องก่อการร้ายมีมานานแล้วในโลก คนที่ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายนั้นมีมาตลอด   หลายครั้งอเมริกามีส่วนร่วมไม่โดยตรงก็โดยอ้อม   แต่คนอเมริกันอยู่ในกำแพงที่สร้างความสะดวกสบายฟุ่มเฟือยหลงใหลในการบริโภค  จึงมักจะมองไม่เห็นความทุกข์ที่คนในหลายๆประเทศประสบกันอยู่  ร่วมถึงคนยากไร้ในอเมริกาเอง หรือมองเห็นแต่ก็ไม่ใส่ใจใจมากนัก

แต่ก็น่าแปลกที่เหตุการณ์นี้มากระตุ้นให้คนอเมริกัน ต้องยอมรับในสภาพความจริงบางส่วนของโลกปัจจุบัน เช่น ระบบโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ให้ความสะดวกอย่างเดียว มันยังเอื้อโอกาสให้เกิดการก่อการร้ายด้วย  ที่แปลกกว่านั้นก็คือหลายประเทศตื่นเต้นกับเรื่องนี้ไม่ใช่น้อย  คนไทยก็ตื่นเต้นพอสมควร  แม้เหตุการณ์นี้ไม่ได้กระทบคนไทยโดยตรง   เมืองไทยก็ไม่ได้เกิดการก่อการร้ายมากหรือน้อยกว่าที่มีใน 4-5 ปีที่ผ่านมา  ระบบการเมืองของเมืองไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากจากเหตุการณ์นี้  ระบบเศรษฐกิจก็ไม่เปลี่ยน  ยกเว้นที่อเมริกามาบีบ  แต่อย่างไรมันทำให้โลกทัศน์ของคนทั่วโลกเปลี่ยนไปบ้าง

สิ่งที่อยากจะฝากไว้กับเพื่อนคนไทย โดยเฉพาะในแวดวงนพลักษณ์ คือแม้เมืองไทยจะมีปัญหาพอสมควรแต่ยังมีเรื่องน่ารัก  ที่เราเองควรเคารพนับถือเอาไว้  บางส่วนเป็นเรื่องของพุทธศาสนา บางส่วนเป็นเรื่องของวัฒนธรรมเก่าแก่ 

ในยุคที่โลกเรากำลังเดือดร้อน  อยากให้คนไทยรู้จักบรรพบุรุษอย่างแท้จริง  เพราะถ้าไปตามกระแสอเมริกันอย่างเดียวโลกของเราจะน่าเบื่อมาก  เพราะแม้จะมีส่วนที่ดี  ก็มีส่วนที่งี่เง่าอีกด้วย คนไทยก็เช่นเดียวกัน   แต่อย่างน้อยให้มันหลากหลาย ยึดเอาของดีๆแบบไทยมาเป็นเรื่องจริงจังส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ จิตวิญญาณ ปัญหาที่โลกกำลังมีอยู่มันเนื่องจากจิตวิญญาณมันต่ำ หรือว่าคนแปลกแยกจากแก่นแท้ คนเหล่านี้จะเห็นแก่ตัวจัดซึ่งปัจจุบันมีกันทั่วโลก

สำหรับพวกเราที่สนใจนพลักษณ์ ก็มีกุญแจ มีหนทางที่จะเข้าใจส่วนที่ตนเองยังเห็นแก่ตัวอยู่  เห็นทางที่มีความสุขเหนือกว่านั้นและมีชีวิตที่มีคุณค่าเหนือกว่านั้น โดยนพลักษณ์ก็ดี โดยพุทธศาสนาก็ดี โดยทางอื่นๆ ก็ดี ถ้าพวกเราช่วยกันทำตรงนี้ นอกจากเราจะมีคุณค่ามากขึ้น เราก็ยังทำประโยชน์ให้สังคมระดับหนึ่ง เราไปบังคับคนอื่นไม่ได้  แต่ถ้าพวกเราอยู่อย่างมีความสุขและเอื้ออาทรอย่างแท้จริง ซึ่งคนไทยชอบพูด แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เอื้ออาทรอย่างแท้จริง มันก็จะเป็นนิมิตรที่ดีแก่สังคม และมนุษยชาติด้วย

สิ่งที่มนุษยชาติต้องการอย่างยิ่ง ในสมัยนี้ที่เทคโนโลยี่เพียบพร้อม คือ  การพัฒนาในด้านจิตวิญญาณ (spiritual growth)

ส่วนที่เป็นพรปีใหม่ สำหรับอาตมาปีใหม่นี้จะเป็นปีที่อยู่วัดใหม่ที่อเมริกา ฃึ่งจะเริ่มอยู่ประจำ  ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ อาตมาไปอาศัยอยู่วัดของเพื่อน และจะทดลองว่าจะอยู่ระยะยาวได้หรือไม่ ถ้าได้ที่นั้นก็จะเป็นที่อาศัยของอาตมาในระยะยาว 

สำหรับสิ่งที่จะฝากฝังไว้กับชุมชนนพลักษณ์ในเมืองไทย ก็ไม่ต้องมีอะไรเป็นพิเศษจากที่ได้ทำกันอยู่แล้ว เช่น ช่วยกันจัดอบรม ช่วยกันแปลหนังสือ ช่วยกันทำเว็บไซต์ ช่วยกันวิจัยโครงการของหมอจันทร์เพ็ญ ให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม แล้วเรียนรู้ตัวเองและมีความสุขพร้อมกันไป  

ในส่วนของชุมชนวงกว้าง คือเพื่อนๆที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการใดๆ  ก็ขอให้ช่วยเท่าที่ทำได้ เข้าอบรมบ้าง ฝากความคิดกับเว็บไซต์  ศึกษานพลักษณ์ต่อไป  งานนพลักษณ์ของเรา